O.OO STUDIO

O.OO Studio

art4d สนทนากับ Pip Lu จาก O.OO Studio จากไต้หวันถึงสถานการณ์ของสิ่งพิมพ์ในไต้หวันและความรักในสิ่งพิมพ์แบบ Risograph ที่กำลังเป็นเหมือนคลื่นลูกใหม่ที่น่าสนใจของวงการออกแบบ

TEXT: KITA THAPANAPHANNITIKUL
PHOTO: KITA THAPANAPHANNITIKUL EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

‘Risograph’ คือรูปแบบของการพิมพ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุค 80s ในประเทศญี่ปุ่น โดยบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Riso Kagaku Corporation ที่มาพร้อมกับความสามารถในการพิมพ์จำนวนมากควบคู่กับเอกลักษณ์ของงานพิมพ์ที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว ซึ่งแม้ว่า Risograph นั้นจะค่อยๆ หายไปตามกาลเวลาและถูกทดแทนด้วยการพิมพ์แบบอุตสาหกรรม แต่ด้วยผลลัพธ์ของงานพิมพ์ที่มีความน่าสนใจจากการผสมผสานระหว่างความเป็นดิจิทัลและอะนาล็อกเข้าด้วย ทำให้ Risograph ได้กลับมาเริ่มเป็นที่นิยมอีกครั้งในทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะในแวดวงศิลปินและนักออกแบบที่ต้องการหากระบวนการผลิตชิ้นงานที่แตกต่างไปจากเดิม

O.OO Studio

เนื่องในโอกาสที่ art4d ได้จัดกิจกรรม art4d PINNED PLACE ที่พาผู้ที่สนใจในงานออกแบบ สถาปัตยกรรมและศิลปะ ออกค้นหาอาณาบริเวณใหม่ๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ ในปลายปี 2023 ที่ผ่านมา เราได้แวะเวียนไปยังประเทศไต้หวันเพื่อพบกับ Pip Lu หนึ่งในผู้ก่อตั้ง O.OO Studio และแลกเปลี่ยนบทสนทนาสั้นๆ เกี่ยวกับความรักในสิ่งพิมพ์แบบ Risograph สถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคตของมัน รวมถึงเรื่องราวเบื้องหลังของหนังสือ ‘No Magic in Riso’ จาก O.OO Studio อันเป็นผลลัพธ์จากการศึกษาและทดลองความเป็นไปได้ในการพิมพ์แบบ Risograph ที่กินระยะเวลายาวนานกว่า 2 ปี จนเกิดเป็นหนังสือ 360 หน้าที่ถ่ายทอดถึงประเด็นหลักเพียงเรื่องเดียวคือความมหัศจรรย์ของ Risograph

O.OO Studio

Photo courtesy of O.OO Studio

art4d: ก่อนอื่น อยากให้คุณช่วยเล่าถึงพื้นหลังของคุณและที่มาของ O.OO Studio ให้เราฟังสักนิด

Pip Lu: ถ้าย้อนกลับไปถึงช่วงมหาวิทยาลัย จริงๆ เราจบการศึกษามาจากสาขาที่เกี่ยวข้องกับการทำ 3D animation ซึ่งเรากลับมาพบภายหลังว่าเราไม่ค่อยสนใจกระบวนการ 3D animation แต่สนใจเรื่องการออกแบบตัวละครกับงานสองมิติมากกว่า หลังจากเรียนจบเราก็ไปทำงานออกแบบเว็บไซต์อยู่ประมาณ 1 ปี

จุดเปลี่ยนของเราเกิดขึ้นในปี 2016 มีวันหนึ่งเราไปเที่ยวที่ฮ่องกงแล้วได้เจอกับโปสการ์ดใบหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกแปลกใจมาก มันเป็นโปสการ์ดที่มี texture ต่างจากงานพิมพ์ไหนๆ ที่เราเคยเห็น พอเราพลิกดู เราก็เห็นกับข้อความด้านหลังที่เขียนว่า ‘risograph’ ตอนนั้นเราค่อนข้างเซอร์ไพรส์อยู่พอสมควร เรารู้จักการพิมพ์ดิจิทัล การพิมพ์ offset แต่ไม่เคยได้ยินเรื่อง ‘risograph’ มาก่อน

หลังจากกลับมาไต้หวัน เราก็เอาคำว่า ‘risograph’ ไปค้นใน Google และพบว่ามันเป็นเทคนิคการพิมพ์ที่กำเนิดมาในยุค 80s และเป็นที่แพร่หลายในบรรดาศิลปินและนักวาดภาพประกอบยุโรปตั้งแต่ปี 2012 แต่ว่าในไต้หวันนั้น Risograph กลับแทบไม่มีใครรู้จักเลย สิ่งนี้เป็นแรงบันดาลใจให้เรากลับมาเปิดสตูดิโอในชื่อ O.OO Studio ร่วมกับ Forty Liu ที่โฟกัสเรื่อง Risograph เป็นหลักโดยที่ยังขยายขอบเขตการทำงานไปยังการออกแบบอีเวนต์ ออกแบบประสบการณ์ และนิทรรศการ รวมถึงการจัดคอนเสิร์ตอีกด้วย

O.OO Studio

art4d: Risograph คืออะไร แล้วทำไมคุณถึงสนใจมันเป็นพิเศษ

PL: หากย้อนกลับไป ประวัติของ Risograph นั้นผูกพันกับสิ่งพิมพ์ที่เน้นจำนวนและความรวดเร็วเป็นหลัก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ คัมภีร์ไบเบิ้ล หรือใบปลิวที่พิมพ์สีเดียว ซึ่งในอดีตสีสำหรับการพิมพ์ Risograph จะมีแค่สีทั่วไปอย่าง ดำ เขียว แดง น้ำเงินเท่านั้น แต่สุดท้ายเราก็มาพบสตูดิโอหนึ่งในฮ่องกงที่มีสีแปลกๆ เยอะมาก ซึ่งก็เป็นสตูดิโอที่ปัจจุบันเราเองยังต้องบินไปซื้อทุกปี เพราะถึงจะดูมีสีสันในตลาดค่อนข้างหลากหลายแล้ว แต่ตัวผู้ผลิตเองนั้นมีน้อยกว่าที่คิด ด้วยกระบวนการสร้างสีที่มี base คือถั่วเหลืองซึ่งมีกระบวนการผลิตที่ค่อนข้างยาก

มีเรื่องเล่าขำๆ ตอนที่เราเดินทางกลับใต้หวัน กระเป๋าของเราเต็มไปด้วยถังหมึก ด้วยความที่เราไม่ได้ซื้อบ่อย เวลาไปฮ่องกงเราเลยมักจะซื้อหมึกทีละเยอะๆ ทีนี้ตัวถังหมึกมันมีหน้าตาเป็นเหมือนสารเคมีอะไรบางอย่าง เราเลยถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองตรวจหลายครั้งเพราะดูเป็นสารอันตราย แต่พอเราบอกว่ามันคือหมึกพิมพ์ เขาก็ปล่อยเราไป

O.OO Studio

O.OO StudioO.OO Studio

O.OO Studio

นั่นแหละ สิ่งที่เราสนใจใน Risograph เป็นพิเศษคือ texture ของมันที่เกิดจากการพิมพ์ซ้ำจากสีต่างๆ ที่ให้ผลลัพธ์น่าสนใจและคาดเดาไม่ได้ เป็นประสบการณ์ที่พิเศษ และคุณต้องทดลองควบคุมสีไปเรื่อยๆ เพื่อจะได้เข้าใจธรรมชาติของมัน

และเมื่อเราทดลองกับกระดาษหลายชนิดทุกวัน สัญชาตญาณการใช้สีและกระดาษของเราก็เกิดขึ้นมา ไม่แน่ใจว่าจะบอกให้เห็นภาพอย่างไร แต่เรารู้สึกว่ากระดาษแต่ละชนิดมีบุคลิกที่ต่างกันเหมือนกับคน เหมาะกับการใช้งานคนละอย่างกัน ทำให้กระดาษมีความพิเศษในแบบของตัวมันเอง

O.OO Studio

O.OO Studio

art4d: community ของคนสร้างสรรค์งาน Risograph ในไต้หวันปัจจุบันเป็นอย่างไร?

PL: ตอนนี้กระแสของ Risograph กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งทั่วโลก ทำให้เกิดเป็นกลุ่มของคนทำงาน Risograph ขึ้นมา ทั้งไทย ไต้หวัน เกาหลี สำหรับเรา Risograph ทำให้เรารู้จักคนมากมาย ชุมชนคนทำ Risograph ในไต้หวันค่อนข้างเล็ก เราเลยคุ้นเคยกับพวกเขาแทบทั้งหมด ส่วนตัวไม่มั่นใจว่ามี Risograph studio กี่แห่งในไต้หวัน แต่คิดว่าน่าจะมีประมาณ 5 หรือ 6 แห่งกระจายตัวอยู่ตามเมืองต่างๆ อย่างไทเป ไถจง ไถหนาน กลุ่มคนเหล่านี้แหละที่เป็นเหมือน community ที่มาแชร์เรื่องต่างๆ ของ Risograph เช่น ปัญหากับตัวเครื่อง วิธีซ่อม หลายครั้งเมื่อเครื่อง Risograph เสียเราจะเรียกหาความช่วยเหลือกับเพื่อนแทนที่จะเป็น supplier ด้วยซ้ำ เพราะบางปัญหาก็แปลกประหลาดเกินกว่า supplier จะหาทางแก้ได้

O.OO Studio

art4d: ข้อจำกัดของการทำงาน Risograph มีอะไรบ้าง?

PL: ความท้าทายสำคัญนอกจากหมึกที่หายาก ราคาสูง และเครื่องที่ต้องการการบำรุงบ่อยครั้ง ยังอยู่ที่เรื่องของกระดาษในการพิมพ์เช่นกัน กระดาษที่ใช้ส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากยุโรปและญี่ปุ่น เหตุผลคือกระดาษนำเข้ามีคุณภาพที่ดีกว่ากระดาษในไต้หวัน เพราะภูมิอากาศเหมาะสมกับการผลิตกระดาษมากกว่า หากนับสัดส่วนกัน กระดาษที่ผลิตในใต้หวันนั้นมีสัดส่วนเพียง 20 % เมื่อเทียบกับกระดาษจากยุโรปและญี่ปุ่นทีมีสัดส่วนถึง 80 % นอกจากนั้นแล้ว โรงงานกระดาษส่วนใหญ่อยากให้เราสั่งกระดาษทีละมากๆ ทำให้ราคาของกระดาษนำเข้าและกระดาษจากไต้หวันแพงพอๆ กัน

O.OO StudioO.OO Studio
O.OO Studio

Photo courtesy of O.OO Studio

art4d: อยากให้คุณเล่าถึงที่มาของหนังสือ ‘No Magic in Riso’

PL: ‘No Magic in Riso’ เกิดจากการค้นคว้าและทดลองในการพิมพ์แบบ Risograph ที่เป็นเหมือนภาคต่อจากหนังสือเล่มแรกที่เราจัดทำขึ้นในปี 2016 อย่าง ‘The Imperfection Booklets’ ซึ่งเป็นเหมือนหนังสือแนะนำเบื้องต้นว่า Risograph คืออะไร โดยในเล่มสองของเรานี้ เราได้ลงลึกในตัวกระบวนการพิมพ์มากขึ้นรวมถึงเลือกที่จะไม่ใช้คำในการอธิบายขั้นตอนและผลการทดลองต่างๆ มากนัก แต่ทำให้เห็นผ่านการทดลองจริงแทน ซึ่งการทดลองครั้งนี้ของเราใช้ทรัพยากรไปเยอะมาก มีสี Risograph 74 หลอด ต้นฉบับ 660 หน้า กระดาษ 695,000 แผ่น เครื่องพิมพ์ Risograph 2 เครื่อง คณะทำงาน 4 คน และพัดลม 3 ตัว

O.OO StudioO.OO StudioO.OO Studio

‘No Magic in Riso’ เลยเป็นเหมือนคู่มือการพิมพ์ Risograph อย่างละเอียดที่ช่วยให้ใครที่สนใจสามารถนำไปพัฒนาการใช้งานด้วยตัวเองได้ เนื้อหาต่างๆ ในหนังสือครอบคลุมตั้งแต่การแยกคู่สีต่างๆ วิธีการเลือกสีที่เหมาะสม การผสมคู่สีต่างๆ ซึ่งช่วยให้คนที่อยากลองใช้ Risograph สามารถประหยัดเวลาที่ต้องใช้ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองได้

อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้ก็ไม่สามารถบอกได้หรอกว่าจริงๆ แล้วการพิมพ์ Risograph ที่ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร

เพราะคำตอบนั้นมันไม่มีอยู่จริง!

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดต่อสั่งซื้อหนังสือ ‘No Magic in Riso’ ในราคา THB 1,600 (รวมค่าจัดส่ง) ได้ที่ Inbox เพจ art4d / โทร 02-2602606

odotoo.com
facebook.com/odotoostudio
instagram.com/odotoo_com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *