Parin+Supawut Studio ก่อตั้งโดยสองนักออกแบบที่ทำงานออกแบบโดยให้ความสำคัญกับกระบวนการคิดและการค้นหาคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในงาน ปล่อยให้กระบวนการ นำพาไปสู่ผลงานหลากรูปแบบที่ตอบโจทย์กับบริบท
TEXT & PHOTO COURTESY OF PARIN+SUPAWUT STUDIO
(For English, press here)
WHO
Parin+Supawut Studio เป็นสตูดิโอออกแบบที่ทำงานด้วยกระบวนการแบบ research base ก่อตั้งโดยนักออกแบบสองคนได้แก่ ปิง (ปรินทร์ นวชาติโฆษิท) และ ลีโอ (ศุภวุฒิ ธีระวัฒนชัย)
พวกเราก่อตั้งสตูดิโอนี้ขึ้นจากความสนใจร่วมกันในที่มาที่ไปและกระบวนการที่ไร้ขีดจำกัดของงานสถาปัตยกรรม โดยพัฒนาวิธีการทำงานออกแบบเฉพาะตัวของเราขึ้นมาที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการคิดและการค้นหาคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในงาน
WHAT
เมื่อพูดถึงงานออกแบบและสถาปัตยกรรม เราสองคนมักจะให้ความสำคัญถึงวิธีการคิดและกระบวนการทำงาน ทุกงานของเราผ่านกระบวนการคิดที่ละเอียดอ่อน การค้นคว้าและการสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปสู่การวาง concept และผลงานออกแบบที่ตอบโจทย์กับแต่ละบริบท (contextual) สตูดิโอของเรายึดเอารากฐานของวิธีการคิดและวิธีการทำงานมาจากงานสถาปัตยกรรมแต่ปล่อยให้กระบวนการเหล่านี้แตกแขนงออกเป็นรูปแบบและขนาดที่หลากหลายไม่ตายตัว งานของเราจึงมีทั้งงานออกแบบสถาปัตยกรรม ออกแบบภายใน ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงขั้นตอนการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ตั้งแต่บ้าน อาคาร ไปจนถึงมือจับประตูหรือแม้แต่สูตรการผสมสี
WHEN
พวกเราสองคนเริ่มคุยกันเรื่องเปิดสตูดิโอตั้งแต่เรียนปี 1 ที่ Bartlett School of Architecture (UCL) ประเทศอังกฤษ โดยมักจะคุยเรื่องงานและแนวคิดต่างๆ ที่เราสนใจกันอยู่ตลอดในเวลาว่าง หลังจากที่เรียนจบและทำงานในสตูดิโอออกแบบที่ลอนดอนได้ระยะหนึ่ง เราจึงตัดสินใจกลับมาทำงานร่วมกันที่กรุงเทพฯ ที่เรารู้จักและคุ้นเคย
WHERE
เราเลือกเมืองอย่างกรุงเทพฯ เป็นฐานในการทำงานเพราะเราเห็นพลังขับเคลื่อนที่มากับวัฒนธรรมที่หลากหลาย ผู้คนที่แตกต่าง และการเมืองที่มีความขัดแย้ง ความไม่สมบูรณ์ของเมือง ทำให้บทบาทของการออกแบบมีความชัดเจนขึ้น
WHY
พวกเราสนใจความหมายของคำว่า ‘bespoke’ ซึ่งจะได้ยินอยู่บ่อยๆ ในงานตัดเย็บเสื้อผ้า หมายถึงการออกแบบแพทเทิร์น การเลือกวัสดุ และวิธีการตัดเย็บที่คิดมาโดยเฉพาะเพื่อให้เสื้อผ้าชุดนั้น มีความพอดีกับผู้สวมใส่ เช่นเดียวกันกับงานออกแบบสถาปัตยกรรม เราฝันอยากเห็น Bespoke Quality ในทุกชิ้นงานที่เราทำและเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ภายใต้งบประมาณที่ถูกกำหนด
คุณนิยามสไตล์การออกแบบของตัวเองไว้อย่างไร?
เรามี ‘กระบวนการทำงาน’ ที่ชัดเจนและเป็นเอกลักษณ์ แต่ไม่มี ‘สไตล์งาน’ ไม่ใช่ไม่มีเพราะยังคิดไม่ออกหรือว่ายังหาสไตล์ของตัวเองไม่เจอ แต่เพราะเราเชื่อว่าภาษาและเอกลักษณ์ของงานออกแบบเป็นสิ่งที่ต้องถูกคิดใหม่จากศูนย์เสมอ
อะไรคือแรงบันดาลใจและหลักการในการทำงานแต่ละครั้ง?
แรงบันดาลใจในการออกแบบของเราเกิดขึ้นจากโจทย์และความท้าทายที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา ส่วนที่สำคัญที่สุดคือออกแบบแล้วต้องดีกว่าไม่ออกแบบ เราจึงหาคำตอบอยู่ตลอดว่าในฐานะผู้ออกแบบ หน้าที่ของเราในงานนี้คืออะไร? ยกตัวอย่างเช่นงานออกแบบปรับปรุงบ้านพักครู (Patch House) ก่อนที่เราจะเขียนแบบโครงไม้ของงานภายใน เรานั่งคุยกับช่างก่อนเลยว่าถ้าเป็นเขาจะทำตรงนี้ยังไง ไม่ใช่เพราะใครรู้มากกว่าใคร แต่เราเชื่อว่าในบริบทนั้น งานออกแบบที่สมบูรณ์จะเกิดขึ้นได้จากการหาวิธีการทำงานที่ช่างคุ้นเคยให้เจอก่อนแล้วนำมาประยุกต์เข้ากับจินตนาการของเรา
โปรเจ็กต์ไหนที่คุณภูมิใจมากที่สุด เพราะอะไร?
สำหรับเราทุกโปรเจ็กต์มีโจทย์และคุณค่าที่แตกต่างกันออกไป เราจำรายละเอียดและวิธีการคิดของเราในทุกงานได้หมด จุดที่น่าภูมิใจที่สุดคือจังหวะที่เราค้นพบคุณค่าในงานนั้นๆ บางครั้งมันตรงไปตรงมาและเข้าใจง่าย อย่างเรื่องของความสวยงามหรือคุณภาพชีวิตที่เปลี่ยนไปของผู้อยู่อาศัย บางครั้งมันคือการวางกลยุทธ์ในการออกแบบที่ทำให้เจ้าของโครงการสามารถเก็บโครงสร้างเก่าของอาคารเดิมที่เขาผูกพันไว้ได้มากที่สุด บางครั้งมันคือ BOQ 1 ฉบับที่ช่วยบริหารจัดการงบประมาณการก่อสร้าง
คุณชอบขั้นตอนไหนระหว่างทำงานมากที่สุด?
พวกเรามักจะให้เวลากับการวาง concept ของงานมากเป็นพิเศษเพราะในกระบวนการทำงานแบบ research base สิ่งนี้จะเป็นกระดูกสันหลังของทุกขั้นตอนการออกแบบ การตีโจทย์ ค้นคว้า ทดลองและการค่อยๆ จับหัวใจของคุณค่าในงานนั้นๆ มาแปลงเป็น design brief จะทำให้นักออกแบบทุกคนมีโจทย์เดียวกันในการทำงาน การมี design brief ที่ละเอียดและชัดเจนทำให้เราทำงานอย่างมีเป้าหมายและสามารถบอกได้ว่าสิ่งที่ออกแบบมาไปถึงคุณค่าที่เราวางไว้หรือยัง
ถ้าคุณสามารถเชิญ ‘ครีเอทีฟ’ สักคนไปดื่มกาแฟด้วยกันได้ คุณจะเลือกใครและทำไม?
พวกเราชื่นชม Jacques Herzog ผู้ก่อตั้งบริษัท Herzog & de Meuron มาก จากวิธีการคิดและการทำงานออกแบบ ที่สามารถหาความลงตัวระหว่างคุณค่าในเชิงวิชาการและสถาปัตยกรรม จนสามารถสร้างงานออกแบบมีความกลมกลืนกับบริบท และสะท้อนถึงกระบวนการคิดที่มีความละเอียดอ่อนได้
ความสัมพันธ์และวิธีการทำงานร่วมกันระหว่าง Jacques Herzog และ Pierre de Meuron ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทอีกคน ยังเป็นสิ่งที่เราทั้งสองคนรู้สึกประทับใจและอยากยึดเป็นแบบอย่างในการทำงานร่วมกัน เพราะนอกจากในมุมของธุรกิจ พวกเขายังเป็นเพื่อนกันในชีวิตจริงที่ตีเทนนิสด้วยกัน มีทัศนคติต่องานที่ทำคล้ายๆ กัน และให้คุณค่าต่องานที่ทำเหมือนๆ กัน
คงไม่ถึงกับกล้าชวนเขาสองคนมากินกาแฟด้วยกัน แต่เป็นคนที่น่าจะดีใจมากถ้าได้เจอสักครั้ง ไม่ว่าจะในร้านกาแฟหรือที่ไหนก็ตาม
parinsupawut.com
facebook.com/ParinplusSupawut