ผลงานล่าสุดของ Wes Anderson มีรายละเอียดของาน production design ด้วยสไตล์ที่เขาเคยทำหนังมาตลอด เพื่อสร้างโลกอุดมคติที่ตรงกันข้ามกับความจริงแสนเศร้าในสังคมอเมริกันยุค 50
TEXT: NUTTARAT PUNJAWILAIPIBOON
PHOTO COURTESY OF FOCUS FEATURES
(For English, press here)
หลายคนมีภาพจำของภาพยนตร์ที่กำกับโดย Wes Anderson ว่าเป็นคนทำหนังตลกหน้าตายที่รวมนักแสดงชั้นนำกันคับคั่ง แล้วนำเสนอภาพออกมาเป็นโทนสีพาสเทลที่แต่ละฉากในหนังจัดวางองค์ประกอบที่มีทัศนียภาพแบบสมดุล โดยตัวละครผู้มีบทบาทสำคัญในแต่ละฉากมักจะอยู่ตรงกลางช็อตเสมอ
สำหรับเรื่อง Asteroid City ภาพยนตร์จอเงินเรื่องล่าสุดของเขาที่ออกฉากในปี 2023 ก็ยังคงสไตล์เฉพาะตัวของ Wes Anderson ที่หลายคนคุ้นเคย แบบที่เคยดูมาในเรื่องก่อนๆ อย่าง The Grand Budapest Hotel (2014) และ The French Dispatch (2021) แต่ในเรื่องล่าสุดนี้ ถูกทำออกมาเป็นหนังไซไฟยุค 1950s ว่าด้วยเมืองร้างกลางทะเลทรายรัฐแอริโซนาที่มีการค้นพบอุกกาบาตตกสู่พื้นดิน ทำให้ผู้คนหลากหลายอาชีพพากันไปยังเมืองจุดเกิดเหตุ และเรียกเมืองตามชื่อหนัง ‘Asteroid City’
หนังพาเราไปพบกับผู้คนจากต่างอาชีพ ต่างเชื้อชาติ ที่พากันเข้าไปตั้งถิ่นฐานใน Asteroid City อย่างคับคั่งหลังเหตุการณ์อุกกาบาตตก บางคนไปเพื่อทำข่าวอย่างหนุ่มช่างภาพสงคราม Augie Steenbeck (Jason Schwartzman) ที่แอบหลงรักดาราสาว Midge Campbell (Scarlett Johansson) คุณครูหญิง June (Maya Hawke) พาบรรดานักเรียนไปเพื่อศึกษาดาราศาสตร์ และกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ รวมถึงกองทัพทหารก็รุดไปยัง Asteroid City เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ว่าจะมีเอเลี่ยนมาเยือนโลก ซึ่งที่กล่าวมาคือหน้าหนังที่นำเสนอ และผู้ชมคาดหวังไว้ก่อนชมภาพยนตร์
แต่เรื่องราวแท้จริงที่หนัง Asteroid City ต้องการนำเสนอคือ วิบากชีวิตของนักเขียนบทละครคนหนึ่ง Conrad Earp (Edward Norton) ผู้พยายามสร้างละครเวทีว่าด้วยคุณพ่อของเขา (Bryan Cranston) ผู้คอยบรรยายเรื่องราวทั้งหมดในหนัง (Host) นั้นได้มาเยือนเมืองที่ไม่มีอยู่จริง เป็นความทะเยอทะยานของคนที่คลุกคลีกับละครเวทีที่จะทำละครแนวไซไฟสักเรื่อง ยกโลกวิทยาศาสตร์มาจำลองบนเวที การจัดวางองค์ประกอบของฉากในหนังจึงเหมือนถอดแบบมาจากกระบวนการสร้างละครเวที มีการแบ่งสีชัดเจนว่าช่วงไหนคือเบื้องหลังซึ่งถูกนำเสนอเป็นภาพขาวดำ ช่วงไหนคือละครที่กำลังดำเนินเรื่องอยู่ ซึ่งถูกนำเสนอเป็นภาพสีพาสเทล
เมือง Asteroid City ในละครของ Conrad Earp ที่กำลังสร้างอยู่ มีสไตล์ชัดเจนแบบละครเวที เมืองตั้งอยู่กลางทะเลทรายแต่ปราศจากความแห้งแล้งทุรกันดาร เนินหินเรียบเนียน ไม่มีตัวละครสัมผัสเม็ดทรายหรือเผยรายละเอียดขรุขระหยาบกระด้างของทราย แม้แต่อุกกาบาตที่ตกลงมาก็กลมมน ราวกับสร้างด้วยสิ่งแปลกปลอมแล้วทาสีทับ ยิ่งไปกว่านั้นการปรากฏตัวของมนุษย์ต่างดาวก็นำเสนอออกมาชวนขำขันด้วยเทคนิค stop-motion แบบที่ Wes Anderson เคยทำในอนิเมชัน Fantastic Mr. Fox (2009) และ Isle of Dogs (2018) ชีวิตของคนในเมืองๆ นั้นโดยรวมแล้วห่างไกลจากความแร้นแค้น แบบที่หลายคนรู้สึกเมื่ออยู่ที่ไหนสักแห่งท่ามกลางทะเลทรายอย่างลิบลับ
สิ่งที่น่าสนใจของตัวหนังทั้งหมด คือการแฝงความขบถต่อสังคมทั่วไปในอเมริกายุค 1950s ทั้งในละครเวที และชีวิตจริงของ Conrad Earp สำหรับในละคร บทบาทของเด็กนักเรียนชายชาวเอเชียมีความสำคัญในการดำเนินเรื่อง คือพยายามติดต่อกับโลกภายนอกในช่วงที่เมืองถูกกักบริเวณ หลังจากเอเลี่ยนเยือนโลกเพื่อเก็บอุกกาบาต โดยบริบทของอเมริกาในภาพยนตร์ คนที่ไม่ใช่คนผิวขาวนั้นเป็นได้แค่ชนกลุ่มน้อย ถูกเหยียดหยาม หากนำเสนอในสื่อบันเทิงก็เป็นแค่ตัวประกอบประดับฉากหรือตัวตลก ขณะที่ชีวิตนอกเวที Conrad Earp มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับ Jones Hall นักแสดงหนุ่มผู้สวมบทเป็น Augie Steenbeck ทั้งๆ ที่ Jones เคยมีความผูกพันกับนักแสดงหญิงอีกคนหนึ่ง (Margot Robbie) ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดตัวละคร Midge Campbell และอดีตภรรยาผู้ล่วงลับของ Augie ขึ้นมา ด้วยฉากในละครที่เขากำลังฝังอัฐิที่บรรจุในถ้วยพลาสติก แล้วเขาเผยรูปถ่ายของภรรยาที่มีหน้าตาเหมือนนักแสดงหญิงคนนั้นในชีวิตจริง
การนำเสนอเรื่องราวทั้งในละครไซไฟของ Conrad Earp และเบื้องหลังงานสร้างสำหรับหนัง Asteroid City ทั้งหมด อาจถือว่าเป็นการทดลองอย่างหนึ่งของ Wes Anderson ผู้พยายามสร้างโลกที่เรียกว่า surreal utopia เพราะเป็นโลกอุดมคติที่ทุกคนอยู่ดีกินดีไม่แร้นแค้น ไม่มีการเหยียดเชื้อชาติและเหยียดหยามรสนิยม ทางเพศ ซึ่งต่างจากความจริงอันแสนเศร้าในประวัติศาสตร์อเมริกา