หนังสารคดีสั้นซึ่งเป็นเสมือนบทบันทึกประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของวงการออกแบบในอาคารคาอูลินชิ้นนี้ กำลังแง้มพรายว่าอุตสาหกรรมกราฟิกดีไซน์และการออกแบบฟอนต์ในไทยถูกบุกเบิกมาอย่างไร
TEXT: WEE VIRAPORN
PHOTO COURTESY OF CADSON DEMAK
(For English, press here)
‘คาอูลิน ปิดผนึก ภาคผนวก’ เป็นภาพยนตร์สารคดีที่นำชื่อของอาคารที่เคยเป็นที่ตั้งสำนักงานของคัดสรร ดีมาก ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2544 – 2560 เป็นชื่อเรื่อง มีเนื้อหาเป็นเหมือนบันทึกประวัติศาสตร์ร่วมสมัยร่วมสมัยของอุตสาหกรรมกราฟิกดีไซน์ และการออกแบบฟอนต์ในช่วงกลางทศวรรษ 2540 – 2560 ผ่านการพูดคุยกับบุคลากรจาก คัดสรร ดีมาก Practical Design Studio และ Design Sundae สามสตูดิโอที่เช่าพื้นที่ของอาคารนี้อยู่ร่วมกันในช่วงเวลาหนึ่ง
การดำเนินเรื่องตลอดเวลาประมาณ 48 นาที เป็นการนำบทสัมภาษณ์มาตัดสลับกับภาพเก่าๆ ที่แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่อาคารคาอูลิน ตั้งแต่คัดสรรดีมากเริ่มเช่าพื้นที่สำนักงานขนาด 30 ตร.ม. จนขยับขยายออกไปเรื่อยๆ ตามความเติบโตของธุรกิจ ผู้ชมจะได้รับรู้แนวทางการพัฒนาองค์กร การยกระดับอุตสาหกรรมในภาพรวมผ่านการให้การศึกษา ปฏิเสธไม่ได้ว่า community และกิจกรรม เช่น การจัด workshop, การบรรยาย, การประชุมสมาคมวิชาชีพ และบทสนทนาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของอาคารคาอูลิน ซอยทองหล่อ 4 เป็นหมุดหมายอันสำคัญของวงการกราฟิกดีไซน์ในประเทศไทย ตลอดเวลาร่วม 20 ปี ที่คัดสรร ดีมาก เริ่มบุกเบิกสร้างความเข้าใจพื้นฐานเรื่อง typography และทำการออกแบบฟอนต์ให้เป็นอุตสาหกรรม มีตัวละครสำคัญมากมายที่ได้เริ่มทำความรู้จักการออกแบบฟอนต์ หรือมองเห็นแนวทางการเริ่มต้นในธุรกิจนี้ ผ่านกิจกรรมที่มีอาคารคาอูลินเป็นศูนย์กลาง ตัวผู้เขียนเองก็ได้รับความรู้ แรงบันดาลใจ และได้รู้จักคนใหม่ๆ ที่นี่เช่นกัน ทำให้การชมสารคดีนี้พร้อมกับเห็นภาพเพื่อนร่วมอาชีพหลายท่านและตนเองในอดีต มีความหมายต่อจิตใจเป็นพิเศษ แต่เมื่อเนื้อเรื่องดำเนินเข้าสู่ช่วงท้ายที่เล่าถึงเหตุผลในการย้ายออกจากอาคารคาอูลินของทั้ง 3 สตูดิโอ คู่ไปกับการตัดสลับภาพให้เห็นสภาพปัจจุบันของอาคารที่ถูกปล่อยให้ทรุดโทรมไปมาก ขัดกับภาพความทรงจำดีๆ ที่ถูกย้ำให้คิดถึงจนอมยิ้มมาตลอดเรื่อง ก็ทำให้สะเทือนใจอยู่ไม่น้อย
สำหรับคำถามที่ตั้งแง่อยู่ในใจตั้งแต่ได้ชม trailer คือ “แล้วคนนอกวงจะได้อะไรจากสารคดีเรื่องนี้?” ข้อคิดในระดับปัจเจก (ที่แสนจะคลิเช่) คือ ‘คาอูลินไม่ใช่สถานที่ แต่เป็นผู้คน’ เพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ณ คาอูลิน ในช่วงเวลานั้น ได้สร้างบุคลากรที่เป็นกำลังสำคัญออกมาขับเคลื่อนอุตสาหกรรม สร้างความเข้าใจแก่สังคมต่อคุณค่าของงานออกแบบแขนงนี้ และการมีอยู่ของธุรกิจออกแบบตัวอักษร ซึ่งยิ่งสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในการสร้างแบรนด์ของทศวรรษนี้ ส่วนในระดับสังคม ถือว่าสารคดีนี้มีคุณค่าในแง่ ‘การเก็บประวัติศาสตร์ภาคประชาชน’
เพราะเวลาพูดถึง ‘ประวัติศาสตร์’ เรื่องราวของสังคมไทยที่ถูกบันทึกอย่างเป็นกิจจะลักษณะ และมีหลักฐานให้สืบค้น มักจะเป็นเรื่องของรัฐหรือราชสำนัก แต่ไม่ค่อยมีการบันทึกประวัติศาสตร์ภาคประชาชนกันสักเท่าไหร่ ยิ่งเป็นเรื่องราวของวิชาชีพที่ค่อนข้างใหม่ และไม่ได้มีสมาคมวิชาชีพที่เข้มแข็ง อย่างกราฟิกดีไซน์และการออกแบบฟอนต์ ก็ยิ่งยากที่จะปะติดปะต่อเรื่องราวที่มักจะเป็นเพียงเรื่องเล่าจากผู้มีประสบการณ์ตรงเท่านั้น
ถ้าจะมีข้อติติง ก็มีแค่รู้สึกเสียดายที่ ‘อาคารคาอูลิน’ ซึ่งเป็นฉากของเรื่อง ถูกพูดถึงในฐานะสถาปัตยกรรมน้อยเกินไป เมื่อโฟกัสของหนังไปตกอยู่ที่ผู้คนเป็นหลัก ทำให้ไม่มีการนำเสนอประวัติของอาคารอย่างจริงจัง จึงไม่มีเครดิตของผู้ออกแบบ ปีที่สร้าง และไม่มีการ visualize ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของการจัดการพื้นที่ (หรือ floor plan) ในช่วงเวลาต่างๆ ตลอดอายุของอาคาร (หรืออย่างน้อยก็ตลอดช่วงเวลาในเรื่อง) ที่น่าจะช่วยให้สร้างความเข้าใจตัวอาคารนี้ได้มากขึ้น ก่อนที่อาคารหลังนี้จะถูกทุบทำลาย ตามอาคารยุคโมเดิร์นหลังอื่นๆ ในกรุงเทพฯ ไป
สามารถรับชมได้ที่นี่
www.youtube.com/watch?v=doftKL4-KWY&t=385s