CONCEAL

conceal art -feature

สุธี คุณาวิชยานนท์ นำรูปลักษณ์แผนที่ของประเทศไทยมาเป็นต้นแบบในการสร้างผลงานศิลปะที่ถ่ายทอดการเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์การเมืองในประเทศ

TEXT: SURAWIT BOONJOO
PHOTO: PREECHA PATTARA

(For English, press here)

“เขตแดนประเทศเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ในยุคสมัยใหม่ที่เกิดการแบ่งประเทศต่างๆ ขึ้นมา แต่ว่าในยุคก่อนหน้านั้น ดินแดนในแถบนี้ (ประเทศไทยและเพื่อนบ้าน) ล้วนมีวัฒนธรรมร่วมกันและไม่ได้แบ่งเป็นประเทศแบบในลักษณะนี้ มีรัฐ อาณาจักร ชุมชนอะไรต่างๆ นานา มันไหลเลื่อนระหว่างกันและกัน ไม่ได้ถูกแบ่งเป็นเขตแดน ประเทศต่างๆ อย่างที่คุ้นเคยในทุกวันนี้”

conceal

สุธี คุณาวิชยานนท์

คำอธิบายขยายความถึงเส้นขอบอันเลือนลางของเส้นสายที่ขีดคั่นแบ่งแยกพื้นที่ภายใต้รูปทรงขวานทองของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ชิด หากมองโดยผิวเผินก็จะเห็นเป็นผืนลวดลายพราง/ ลายทหาร แต่เมื่อพินิจและชมอย่างไตร่ตรอง แผนที่ประเทศไทยที่พรางอยู่ก็จะปรากฏตระหง่านให้เห็นโดยฉับพลัน พร้อมกับท่าทีอันเลือนลางไม่สมบูรณ์และย่อขยายอยู่ตลอดเวลา สอดคล้องไปกับคำอธิบายถึงลักษณะอัน ‘ไหลเลื่อนระหว่างกันและกัน’ ต่อผลงาน ‘ลายพราง (ประเทศไทยและเพื่อนบ้าน) หมายเลข 2’ ของศิลปิน ผลงานชิ้นหนึ่งในนิทรรศการ พราง : CONCEAL โดย สุธี คุณาวิชยานนท์ และมี ชลิต นาคพะวัน เป็นภัณฑารักษ์ จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 9 พฤษภาคม – 19 มิถุนายน 2567 ณ ละลานตา ไฟน์อาร์ต อันว่าด้วยเรื่องของแผนที่ เขตแดน ลายพราง และอำนาจ

conceal

conceal

‘พราง’ คือการหยิบยื่นชุดภาพต่อประกอบให้สามารถสลับ เชื่อมต่อ และตีความบนความพร่าเลือนของความหมายความเป็นชาติไทยที่ถูกเทียบแทนด้วยรูปลักษณ์ของแผนที่ประเทศไทยได้อย่างหลากหลายแง่มุมที่พ่วงร้อยทั้งรูปทรงและลวดลายผนวกรวมเข้าไว้ด้วยกัน ภายในนิทรรศการได้แบ่งแยกให้เห็นถึงการทำงานที่เกี่ยวข้องกับแผนที่ประเทศไทยของสุธี ตั้งแต่ชุดผลงานภาพพิมพ์ก่อนหน้า ที่หยิบยกส่วนประกอบต่างๆ ทั้งจากอนุสาวรีย์ หรือภาพโฆษณาในยุคสร้างชาติสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ในลักษณะเงามาประกอบเป็นแผนที่สีดำ และย้อนกลับมาทำต่อเพื่อตั้งคำถามในยุคที่เกิดการเรียกร้องของกลุ่มคนเสื้อแดง ด้วยภาพพิมพ์แผนที่ประเทศไทยถมด้วยสีแดงและพลิกกลับด้าน ซึ่งทิ้งคำถามให้คิดต่อถึงประเทศไทยที่เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม ต่อเนื่องด้วยผลงานซึ่งพรางแผนที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้ลวดลายพราง ERDL Pattern ประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรมและการทหารจากสหรัฐอเมริกาดังกล่าวถึงในข้างต้น

concealconceal

conceal

นอกจากส่วนหนึ่งนั้นจะพากลับย้อนให้เห็นถึงประเด็นอำนาจทางการเมืองของสองขั้วมหาอำนาจในภูมิทัศน์โลกอันส่งอิทธิพลต่อหลากหลายประเทศในภูมิภาคนับตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งสอง กระทั่งการต่อสู้ทางอุดมการณ์ในสงครามเย็น ก็ยังคงได้ถูกนำย้อนกลับมาตีความใหม่ร่วมไปกับปรากฏการณ์ทางการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ผ่านการนำเสนอแผนที่ประเทศไทยด้วยเทคนิคไดคัตที่ขยายขนาดใหญ่ติดตั้งบนแผ่นลายพรางไวนิลสี่เหลี่ยมผืนผ้าจำนวนสี่สีสัน ส้ม เหลือง แดง เขียว ที่แทนสี่อุดมการณ์ทางการเมือง ณ ยุคสมัยปัจจุบัน พร้อมกันผืนภาพ ‘ระเบียบโลกใหม่ 2567’ เสนอการเรียงตัวของแผนที่ทางอำนาจและการเมืองที่สำคัญด้วยขนาดที่ย่อและขยายให้ไม่ได้เป็นไปตามสัดส่วนที่แท้จริง ซึ่งถูกนำมาเรียงร้อยให้เกิดเป็นผืนภูมิทัศน์ใหม่ขึ้นมา และนำสู่ส่วนสุดท้ายที่จัดแสดงแม่พิมพ์อะคริลิก เพื่อถ่ายทอดถึงกระบวนการเบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงาน 5 ชิ้นล่าสุดของศิลปิน กล่าวได้ว่านอกจากนิทรรศการจะนำเสนอให้เห็นถึงเส้นเรื่องราวประเด็นเดียวกันของการทำงานของศิลปินแล้ว ก็ยังได้ถ่ายทอดข้างหลังส่วนที่มักไม่ได้เห็น อย่างรูปแบบวิธีการทำงานของศิลปิน และในขณะเดียวกันก็ยอกย้อนถึงการพรางที่อีกด้านหนึ่ง นั่นก็คือการขับเน้นให้เด่นชัดด้วยเช่นกัน

concealconcealconceal

“ลายพรางนอกจากจะอ้างอิงถึงเรื่องอำนาจทางการทหารแล้ว ยังเชื่อมโยงถึงเรื่องอำนาจ และความรุนแรงที่แอบแฝงอยู่ ดังนั้นเมื่อหยิบยกนำมาใช้กับสีต่างๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทหาร ก็เพื่อต้องการกล่าวถึงเรื่องของการใช้อำนาจ การช่วงชิงอำนาจ และความรุนแรงที่แอบแฝงอยู่ รวมไปถึงการอำพราง การแสดงตัวชัดเจนแล้ว แต่ก็มีอะไรแอบแฝงอยู่ด้วยเช่นกัน”

conceal

conceal

นิทรรศการ พราง : CONCEAL ถูกขับเน้นด้วยการส่งมอบชิ้นส่วนทางความคิดบนฐานกระบวนการคิดและประเด็นที่หลากหลายให้นำไปสู่การอ่านและก่อประกอบสร้างความหมายของผู้ชมได้อย่างหลากหลายทิศทาง กล่าวคือ สุธี พยายามแนะให้เห็นถึงความแล้วเสร็จของการก่อสร้างร่างความหมายที่เคลื่อนที่และเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทั้งผ่านการย้อนกลับให้ความสนใจในเรื่องแผนที่นำมาตีความซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการทำงานของเขาเอง ด้วยว่าตัวเขาก็ยังมองว่าสิ่งนี้สามารถนำกลับมาทำซ้ำเพราะมีประเด็นให้สามารถถ่ายทอดได้อีก เห็นได้อย่างชัดเจนผ่านชุดงานที่เมื่อเปลี่ยนไป ประเด็นหรือสิ่งที่ต้องการผลักดันนำเสนอก็ปรับขยับไปไม่ซ้ำเดิม และต่อเนื่องไปอย่างน่าสนใจ ท้ายที่สุดก็ยังชวนให้ติดตามยิ่งขึ้นไปต่อ บนการตีความที่ทาบทับรวมหลากหลายมิติเหล่านี้ เข้าร่วมกันประกอบกับบริบทซึ่งนิทรรศการพยายามขับเน้นกำกับอย่าง ‘ยุคสงครามเย็นครั้งที่ 2’ ที่กำลังดำเนินอยู่ นิยามความหมายและผลงานแผนที่ประเทศไทย (ที่มักไม่สามารถเห็นหรือรับรู้โดยชาวต่างชาติ) นั่นจะถูกเชื่อมร้อยและประดิษฐ์ขึ้นด้วยวากยสัมพันธ์และกลายเป็นรูปลักษณ์เช่นไร นับเป็นอีกสิ่งที่น่าติดตามไม่แพ้กัน

concealconcealconceal

lalanta.com
facebook.com/LalantaFineArt

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *