CHANIDA VORAPHITAK

Chanida Voraphitak
Chanida Voraphitak

PASSCODE, THE DARK DAY

ชนิดา วรพิทักษ์ ศิลปินผู้สร้างสรรค์ ‘แกงค์กาไฟ’ เล่าถึงเบื้องหลังการทำงานแต่ละโปรเจ็กต์และนิทรรศการ โดยเฉพาะบทบาทของเทคโนโลยีในงานศิลปะ

TEXT: CHIWIN LAOKETKIT
PHOTO COURTESY OF THE ARTIST AND BANGKOK CITYCITY GALLERY

(For English, press here)

หลายคนคงเคยได้เห็นคาแร็กเตอร์ความน่ารักของเหล่าสรรพสัตว์ด้วยลุคสุดจี๊ด และกราฟิกอันแสนสดใสผ่านฝีมือและไอเดียของ กุ๊ก-ชนิดา วรพิทักษ์ เจ้าของแบรนด์ ‘Cuscus the Cuckoos’ กันมาบ้างแล้ว บ่ายวันหนึ่งที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี art4d มีโอกาสได้สนทนากับเธอถึงมุมมองต่อการทำงานกับเทคโนโลยี รวมถึงแนวคิดเบื้องหลังของการเชื่อมต่อผู้คนผ่านเรื่องเล่าของเหล่าสรรพสัตว์ แกงค์กาไฟ (Ka-Fai Angles) ที่มีทั้งนางฟ้า นางมารในโลกของวิทยาศาสตร์ และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมกับนิทรรศการ PASSCODE, THE DARK DAY ที่เพิ่งผ่านมา

Chanida Voraphitak

Chanida Voraphitak | Photo: Akkarawin Krairiksh

art4d: คุณมาแสดงงานที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี ได้อย่างไร

Chanida Voraphitak: เราเป็นน้องใหม่กับการจัดเเสดงงานมากๆ ไม่รู้ว่าควรจะพางานไปทางไหน เมื่อนิทรรศการของ PASSCODE, THE DARK DAY ได้รับคำเชิญจากบางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี เรารีบตอบรับทันทีเลย วันแรกเราดีใจมาก วันที่สองเริ่มเครียด ตื่นเต้นเพราะไอเดียพรั่งพรู เราพยายามรวบรวมไอเดียให้เรียบร้อยแล้วก็มาวางแผนกับทีมทำนิทรรศการ เราได้เรียนรู้ใหม่ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ปี

การทำนิทรรศการเป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่ง สำหรับแสงต้องใช้คนที่เก่งเฉพาะทางอย่าง ต้นใหญ่-เรืองฤทธิ์ สันติสุข และพี่ฉิง-พรพรรณ อารยะวีรสิทธิ์ จาก DuckUnit มาช่วยในการออกแบบแสงเงา ส่วนเรื่องเสียงจะได้ยินเสียงก่อสร้าง อันนี้เป็นไอเดียของ แคน-พันแสน คล่องดี กับเอิ๊ก-วรณัฐ วรพิทักษ์ ปกติเรากับสามีทำอีเวนต์ดนตรีชื่อ ShapeShifter อยู่แล้ว ก็เลยให้คุณค่าเสียงกับภาพเท่าๆ กัน เราคิดตลอดตั้งแต่เริ่มวาดว่าต้องทำให้ขยับได้ คิดแบบทำภาพเคลื่อนไหว

Chanida Voraphitak

art4d: ชื่อนิทรรศการ PASSCODE, THE DARK DAY มีความหมายว่าอย่างไร

CV: การเชื่อมจากสิ่งหนึ่งมาสู่อีกสิ่งหนึ่ง เหมือนอยากเลี้ยงหมาสักตัว มีแฟนสักคน ต้องพยายามทลายพื้นที่ตรงกลางเหล่านั้น เราคิดชื่อนานมาก เพราะนิทรรศการพัฒนาจากเรื่องแต่งและเรื่องที่เราสนใจมาทำให้เป็นมวลใหญ่ จึงทำงานก่อนแล้วค่อยคิดชื่อทีหลังสุด คำถามคือต้องทำยังไงไม่ให้เฉลยมาก อยากให้คนคิดไปในทางของเขาเองได้ บางคนบอกว่าเสียงดังแต่ดี บางคนก็บอกว่างานน่ารักกุ๊กกิ๊ก แต่ละคนมีวิธีระบบรับสารไม่เหมือนกัน ตอนทำงานเราไม่กำหนดกรอบอะไรเลย งานมันจึงไม่ได้เฉพาะเจาะจงสำหรับใครบางคน ทุกคนดูได้หมด VR พัฒนามาจากกราฟิก ซึ่งเราพัฒนามาจากชุดวลีที่มีไอเดียประมาณ 20 แบบอีกที อยากให้งานมีความอิสระ

ส่วนชุดไอเดียเคเบิลบอย เราอยากให้เป็นนางฟ้าผสมกับสัตว์พิเศษที่มีส่วนผสมของสายไฟมิวเเทนท์ อยากตกคนที่ชอบรูปร่างหน้าตาของคาแร็กเตอร์การ์ตูนยุค 90 ช่วงที่แสดงนิทรรศการมีเด็กฝรั่งมาเล่น เราก็สังเกตว่าเด็กๆ สามารถอดทนดู VR ได้นานกว่าผู้ใหญ่นะ

Chanida Voraphitak

Cable Boii

art4d: คุณมีการ์ตูนยุค 90 ที่ชอบไหม

CV: ‘Courage the Cowardly Dog’ เป็นเรื่องของน้องหมาที่อยู่กับคุณตาคุณยาย พอตื่นมาก็กลายร่างเป็นซอมบี้ เคอเรจก็ต้องไปช่วยให้คุณตาคุณยายรู้ตัว บางครั้งก็มีโจร มีฉากต่างๆ ไม่เหมือนกัน ท้องฟ้าที่เป็นสีม่วงใน VR เราก็หยิบมาจากเคอเรจด้วย

เราว่าการโตมาในยุค 1990-2000 ในหนัง การ์ตูน หนังสือมักพูดเรื่องโลกแตก หุ่นยนต์ เชื่อมโยงกับอะไรบางอย่าง อย่างโอซามุ เทสึกะ เราอ่านฮิโนโทริ วิหคเพลิง ดาบล่าพญามาร โดโรโระ ทำให้รู้เลยว่าคนเขียนเกิดในยุคสงครามโลก มีไซไฟที่ล้ำยุค บางตอนก็หดหู่ ตัวละครบางตัวก็ตายแล้วกลับชาติมาเกิด เราใช้เวลากับการ์ตูนเยอะมากเลยสนใจ ตอนนี้พวกเทคโนโลยีไซไฟในเรื่องแต่งกำลังถูกทำให้เป็นเรื่องจริง อย่างการฝังชิปของอีลอน มัสก์ ไม่ใช่ใส่เข้าไปแล้วพูดภาษาจีนได้เลย แต่มันอาจจะช่วยคนเป็นโรคอัมพฤกษ์อัมพาตให้ทำงานกับสมองได้เร็วขึ้น สิ่งที่เราติดตามในยุคที่เป็นหนัง มันค่อยๆ เป็นจริงขึ้นมาแล้ว

Chanida Voraphitak

art4d: ดูเหมือนใน VR พาไปดูปัญหาความล้นเกินของเทคโนโลยี และมีการตั้งคำถามประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมด้วย

CV: เราไม่ได้เฉลยตอบจบว่าเป็นแบบไหน อยากให้คนดูคิดเองว่าทำไมต้นไม้ถึงพันรอบตัว ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อมก็คิดนะ ช่วงที่ผ่านมา อยู่ๆ ก็มีการก่อสร้างตึกใกล้ๆ บ้าน ทำให้เราอยากรู้ว่าปูนมาจากไหน สายไฟผลิตอย่างไร อะไรที่ทำให้มีฝุ่น เราแค่สงสัยว่าทำไมฝุ่นมันไม่หายไปก็เลยลองค้นคว้าดู

เช่น เรื่องเหมือง ทำไมคนที่อยู่ใกล้เหมืองถึงเป็นมะเร็ง หรือเรื่องถ่านหินที่ผลิตไฟฟ้าในต่างจังหวัดที่ส่งเข้ามายังกรุงเทพฯ มีกระบวนการผลิตพลังงานอย่างไร ก็เลยทำงานจัดวางในนิทรรศการชื่อ ‘แท่นชาร์จมือถือ’ เราคิดถึงลิเทียม ส่วนประกอบที่เอามาทำที่ชาร์จแบตเตอรี่ เป็นการจำลองขึ้นมาว่าเวลาเปลี่ยน iPhone สักเครื่องมีผลอย่างไรบ้าง มีควันเป็นองค์ประกอบช่วยเพิ่มแฟนตาซีให้รู้สึกว่าเป็นมอนสเตอร์ ซึ่งความจริงแร่พวกนี้มีชีวิตในทางวิทยาศาสตร์

Chanida Voraphitak

Phone Charger

art4d: มอนสเตอร์ในมุมมองของคุณเป็นอย่างไร

CV: เป็นตัวละครที่มีความใหญ่ ความชั่วร้าย มีที่มาที่ไปน่าสนใจ เราชอบตัวละครแบบนี้มากกว่าพระเอก นางเอก ในงานของเราแทบไม่มีมนุษย์เลย เหมือนเป็นเรื่องของวัตถุมากกว่า เป็นวิญญาณ เป็นน้องหมี เป็นมอนสเตอร์ งานเราที่เล่าถึงสัตว์ไม่อยากให้คนแบ่งแยกว่ารักตัวนี้ไม่รักตัวนี้ บางภาพที่วาดเราก็ยังไม่แน่ใจว่าคือหมี กบ หรืออึ่งอ่าง อยากให้น้องมีความเป็นสัตว์พิเศษ แล้วแต่การจัดวางของงานด้วย

อย่างแกงค์กาไฟเป็นมอนสเตอร์ เราจัดประเภทให้เขาเป็นนางฟ้า ดีบ้างร้ายบ้างตามแต่ลักษณะนิสัย แต่สัตว์ที่ชอบที่สุดคงเป็นหมี เราครอบครองมันไม่ได้ ชอบที่สุดคงเป็นหมีกริซลีชอบกินแซลมอน แล้วก็ชอบสะสมตุ๊กตาวินเทจน้องหมี พอไปดูตลาดของนักออกแบบตุ๊กตาเป็นอีกโลกหนึ่งเลย ตุ๊กตามีลายเซ็นของแต่ละแบรนด์ มีตาห่าง ตาใหญ่ ตาเล็ก เราเริ่มจำได้ ตอนนี้เลือกจากความถูกชะตาก่อน เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาค่อยๆ ดูกันไป

Chanida Voraphitak

art4d: เห็นว่าคุณเลี้ยงสัตว์ด้วย หนึ่งวันในสตูดิโอต้องวางแผนทำงานอย่างไร

CV: ทั้งเลี้ยงหมา แมว มีสัตว์ exotic ด้วย แค่ให้อาหารสัตว์หนึ่งวันหมดเวลาแล้ว ไม่ได้หมายความว่าในบ้านสัตว์มากองๆ กันหมดนะ เขามีโซนของเขา เราก็ทำงานสตูดิโอในบ้านอุ่นใจ เช้าตื่นมากินข้าว ดื่มกาแฟคุยกับทีมคือสามี เราแชร์สตูดิโอด้วยกัน ลุยงานเต็มที่ก็น่าจะเที่ยงๆ บ่ายๆ พยายามให้เป็นเวลา 10.00 น. เลิก 19.30 น. หนึ่งวันก็สเก็ตช์ภาพดรออิ้ง ดูชุดสี บางทีเราอาจจะใช้สีแดงน้อยมาก มีสีแดงเยอะสุด หรือไม่มีดอกไม้เลยก็ใส่ดอกไม้เพิ่มบ้าง

ช่วงทำงานจะหยุดดูงานของคนอื่น เพราะภาพอาจจะติดค้างอยู่ในสมอง เราเปิดเพลงหลายๆ แบบไม่ให้ง่วง ช่วงที่ทำงานหนักเป็นช่วง 6 เดือนสุดท้ายก่อนนิทรรศการ เราเเทบจะไม่ได้เช็คว่าใครทำอะไรอยู่บ้างในโลกโซเชียล

Chanida Voraphitak

Chanida Voraphitak Studio | Photo: Akkarawin Krairiksh

art4d: เคยลองทำงานที่ใช้ AI ไหม และรู้สึกอย่างไรเวลาเห็นงานที่มีคนบอกว่าละเมิดลิขสิทธิ์

CV: เคยใช้ GANs (Generative Adversarial Networks) AI ถ่ายงาน พอไปสักพักข้อมูลมันจะซ้ำ นอกจากเราจะไปเทรนให้มันเป็นเรา เเต่ตอนนี้พัฒนาไปไกลแล้ว สามารถทำหนัง ทำวิดีโอได้ ทำให้ได้เห็นว่าสิ่งที่ไม่มีชีวิตคิดอะไร มีเสน่ห์ในมุมมองของคอมพิวเตอร์

บางอย่างละเมิดลิขสิทธิ์ของคนอื่นก็ไม่โอเค ต้องมีขอบเขต แต่ก็ต้องดูกันต่อไปนะ ถ้าศิลปินที่ทำเพ้นท์ งาน conceptual วิธีหาตัวอย่าง มีคนใช้ AI สเก็ตช์งานมาก่อนก็มี MoMA เองก็เปิด AI Art แสดงว่าเขายอมรับ ซึ่งน่าจะทำให้คนทำงานจาก AI มากขึ้น เราเห็นคนที่ทำ AI และต่อยอดเป็นงานเพ้นท์ เราชอบงานเพ้นท์ แต่การใช้ AI มันอาจจะวุ่นวายสำหรับเราไปหน่อย แค่ของในหัวเราก็เอาไม่ออกแล้ว

art4d: หลังจบนิทรรศการ PASSCODE, THE DARK DAY มีโปรเจ็กต์อะไรที่อยากทำต่อบ้าง

CV: อยากทำหนังสือการ์ตูน แต่ไม่กล้าวางพล็อตตอนจบ มีคนบอกให้ทำแกงค์กาไฟเป็นหนังตัวละครเชื่อมกันแบบจักรวาลมาร์เวล เราคิดว่าถ้าทำเป็นหนังคงอยากให้เป็นหนัง 3D ชอบคาแร็กเตอร์ในโลก VR กึ่งเกม กึ่งหนัง มีเกมใหม่ๆ หลายเกมเป็นแบบนั้น คือมีฉากเรื่องเล่ามากกว่าตอนเล่น

และตอนนี้เราเปิดพื้นที่ชื่อ ‘Liquid Metal’ มีหนังสือให้อ่าน มีเครื่องดื่มกับโยเกิร์ตที่ทำเองคล้ายร้านกาแฟ เตรียมรองรับเทศกาลดนตรีของศิลปินที่มาจากต่างประเทศ เขามีผลงานออกแบบ มีหนัง เสียดายถ้ามาเล่นดนตรีคืนเดียวแล้วจบในผับ เราต้องการลำโพงเต็มระบบแบบนั้นจากคลับซีน ตอนกลางวันอาจจะชวนใครสักคนมาทำ อย่าง VR งานเทศกาลหนังในแนวเรา ตอนนี้เป็นพื้นที่เล็กๆ ในอนาคตคงขยับขยายต่อไปอีก

Chanida Voraphitak

Opening Reception Day | Photo: Woratach Paiboon

Chanida Voraphitak

Public Program | Photo: Woratach Paiboon

cuscus.io
instagram.com/cuscus_thecuckoos

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *