ARCHITECTURE PROGRAM, KASETSART UNIVERSITY

หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท้าทายให้นิสิตตั้งคำถามและแสดงทักษะการคิดวิเคราะห์ แล้วถ่ายทอดมุมมองทางสถาปัตยกรรม

(For English, press here)

ตลอดระยะเวลาการศึกษา 5 ปี หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต จากภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กระตุ้นให้นิสิตตรวจสอบและตั้งคำถามเป็นระบบเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมรอบตัวและพยายามใช้กระบวนการและเครื่องมือที่เหมาะสมในการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อคิดทบทวนสิ่งที่เคยชินและมองหาทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด ในปีสุดท้ายก่อนจบการศึกษา หลักสูตรจึงท้าทายนิสิตให้แสดงทักษะการคิดวิเคราะห์และสร้างสรรค์ และใช้โอกาสนี้ในการถ่ายทอดมุมมองทางสถาปัตยกรรมส่วนบุคคลผ่านผลงานวิทยานิพนธ์

วิทยานิพนธ์จำนวน 55 ผลงาน ที่สำเร็จในปีการศึกษาที่ผ่านมาแสดงการผสมผสานทักษะ ความสนใจและผลการเรียนรู้ของนิสิตแต่ละคน จากสิ่งก่อสร้างถ่อมตนในพื้นที่เปราะบาง สู่โครงการสาธารณะขนาดใหญ่ในเมือง ผลงานทั้ง 7 ชิ้น ที่ได้รับการคัดเลือกมุ่งตั้งคำถามกับประเด็นเฉพาะซึ่งนำมาสู่ผลงานสถาปัตยกรรมที่หลากหลาย จากสถาปัตยกรรมส่งเสริมไวน์หมากเม่า การยกระดับชุมชนประมงพื้นบ้านเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ศูนย์อนุรักษ์นกชายเลนในพื้นที่นิเวศ และการตีความใหม่ของมัสยิดชุมชน สู่ปรากฏการณ์ทางวัสดุในโรงเกลือเก่า การปรับปรุงศูนย์การค้าเก่าเพื่อเชื่อมต่อบริบทเมือง และสนามบินที่ทำหน้าที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรมธรรมชาติ การแก้ปัญหาด้วยเหตุผลร่วมกับนวัตกรรมสร้างสรรค์ของแต่ละโครงการแสดงความเป็นไปได้และบทบาทหน้าที่ของสถาปัตยกรรมในสายตาของสถาปนิกรุ่นใหม่ และยืนยันความมุ่งมั่นของหลักสูตรไปสู่ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างและสุขภาวะ

 

สถาปัตยกรรมเพื่อการส่งเสริมและการพัฒนา ไวน์หมากเม่า อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร
โดย ชุติพนธ์ กรรจา

หมากเม่า เบอร์รี่ป่ายืนต้นที่ที่พบได้ในท้องถิ่นในเเถบเทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร เป็นหนึ่งในพืชเกษตรที่ได้รับ GI (geographical indication : เครื่องหมายบอกคุณภาพของเเบรนด์ท้องถิ่น) ซึ่งสามารถนำมาแปรรูปเป็นน้ำผลไม้ ไวน์ได้ แต่ยังไม่รู้จักเป็นที่เเพร่หลายเนื่องจากปัญหาหลายปัจจัย จึงทำให้เกิดเป็นโครงการวิทยานิพนธ์ที่ต้องการส่งเสริมไวน์หมากเม่าด้วยการนำบุคคลภายนอกเข้ามาเรียนรู้หมากเม่าผ่านพื้นที่ต่างๆ ทางสถาปัตยกรรม ทั้งการเวิร์กช็อปเพาะพันธุ์บนสวนทดลองปลูก การทดลองทำไวน์และชา พื้นที่เรียนรู้การแปรรูปของชาวบ้าน อาคารสำหรับการ pairing wine กับอาหาร ร่วมกับบรรยากาศของทะเลสาบเทือกเขาภูพาน

นิสิต: ชุติพนธ์ กรรจา
อาจารย์ที่ปรึกษา: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สรนาถ สินอุไรพันธ์
ข้อมูลเพิ่มเติม: https://issuu.com/chutiponkanja/docs/compress
อีเมล: ck.chutiponkanja@gmail.com

 

มัสยิด (เพื่อ) ชุมชน: ชุมชนมุสลิมเกาะเกร็ด
โดย ดียาน่า เพียรพิทักษกุล

ชุมชนมุสลิมเกาะเกร็ด หนึ่งจากสามวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ในพื้นที่ ถูกถ่ายทอดผ่าน ‘มัสยิดเพื่อชุมชน’ ด้วยโอกาสในการทำหน้าที่เป็นพื้นที่ประกอบศาสนกิจ และเป็นเสมือนประตูที่เปิดออกให้คนต่างศาสนาเห็นถึงตัวตนของมุสลิม

แนวคิดในการใช้กลุ่มเสาทลายขอบเขตพื้นที่ในมัสยิด เปลี่ยนพื้นที่ทางศาสนาให้สามารถผสานเข้ากับกิจกรรมทางสังคมที่ยืดหยุ่นของชุมชน โดยหวังถึงการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อวัฒนธรรมของมุสลิมแก่ผู้ที่มาเยือนชุมชน มัสยิดหลังนี้จะเป็นหมุดหมายหนึ่งที่ถูกเพิ่มบนเส้นทางการท่องเที่ยวและสร้างประสบการณ์ร่วมที่น่าจดจำของเกาะเกร็ด และสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างผู้คน

นิสิต: ดียาน่า เพียรพิทักษกุล
อาจารย์ที่ปรึกษา: ดร.ภรพัสุ ศิริคุรุรัตน์
ข้อมูลเพิ่มเติม: https://issuu.com/deeyanap/docs/plate_book_compressed
อีเมล: Deeyana_ptsk@hotmail.com

 

พื้นที่ส่งเสริมและพัฒนาประมงพื้นบ้านเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านไม้รูด
โดย ณิชาภา ศักดาเพชรศิริ

พื้นที่ส่งเสริมและพัฒนาประมงพื้นบ้าน บริเวณชุมชนบ้านไม้รูด จังหวัดตราด เป็นโครงการเพื่อส่งเสริมองค์ความรู้และภูมิปัญญาเกี่ยวกับกระบวนการแปรรูปอาหารทะเลซึ่งเป็นวิถีชีวิตของการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านของคนในชุมชน ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีระบบนิเวศทางธรรมชาติของป่าชายหาดและป่าชายเลนที่สมบูรณ์ โครงการจะประกอบด้วยกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้กระบวนการแปรรูปอาหารทะเลและการเรียนรู้ระบบนิเวศในพื้นที่ผ่านงานสถาปัตยกรรม โดยการออกแบบได้นำเอาองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมาประยุกต์ใช้ให้เป็นจุดเด่นทางสถาปัตยกรรมของโครงการที่สัมพันธ์กับการใช้งานของกระบวนการแปรรูปอาหารทะเล การออกแบบเป็นกลุ่มอาคารตั้งอยู่บนพื้นที่ชุ่มน้ำและเชื่อมต่อด้วยเส้นทางเดินแทรกตัวไปกับสภาพแวดล้อม เพื่อให้เกิดความกลมกลืนกับระบบนิเวศ

นิสิต: ณิชาภา ศักดาเพชรศิริ
อาจารย์ที่ปรึกษา: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ฐิติวุฒิ ชัยสวัสดิ์อารี
ข้อมูลเพิ่มเติม: https://issuu.com/nchpsr15/docs/final_thesis_4_compressed_1_
อีเมล: nchpsr.15@gmail.com

 

เมอร์รี่คิงส์วงเวียนใหญ่: บทบาทการเป็นพื้นที่ส่วนกลางเชื่อมระหว่างเมือง
โดย ภัคพร เจียรวนาลี

เมอร์รี่คิงส์วงเวียนใหญ่ กลายเป็นพื้นที่ส่วนกลางเชื่อมและกระจายระบบเมือง ที่จะถูกรายล้อมไปด้วยกิจกรรมที่แสดงถึงเอกลักษณ์และวิถีชีวิตของคนในย่าน อย่างสวนวงเวียนใหญ่ ตลาดวงเวียนใหญ่ และการเข้ามาของรถไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อให้วงเวียนใหญ่กลับมาเป็นย่านที่มีชีวิตชีวา คงความเป็นเอกลักษณ์ของวงเวียนใหญ่ และกลายเป็นพื้นที่เชื่อมต่อผู้คนเข้ากับกิจกรรมสำคัญในพื้นที่

สถาปัตยกรรมนี้จะกลายเป็นคำถามใหม่ให้กับกรุงเทพมหานครถึงโครงการสาธารณะแบบใหม่ สวนที่ไม่ได้มีแค่พื้นที่สีเขียว หรือ retail ที่ไม่ได้มีแค่ร้านค้า แต่จะรวบรวมกิจกรรมที่สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตและวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯได้อย่างกลมกลืนมากที่สุด

นิสิต: ภัคพร เจียรวนาลี
อาจารย์ที่ปรึกษา: อาจารย์พิช โปษยานนท์
ข้อมูลเพิ่มเติม: https://issuu.com/pakaporn.ji/docs/presentation2
อีเมล: pakaporn.ji@ku.th

 

ท่าอากาศยานบึงกาฬ
โดย ณัฐฐาพร สุรวัฒนะ

การออกแบบสนามบินมักคำนึงถึงเป้าหมายในเชิงประสิทธิภาพ เศรษฐกิจ และมาตรฐานความปลอดภัยสนามบินเป็นสำคัญ โครงการสนามบินจึงมักเกิดขึ้นโดยการแทนที่พื้นที่ธรรมชาติและวัฒนธรรมที่ดำเนินอยู่ในที่ตั้ง วิทยานิพนธ์ตั้งคำถามประเด็น ‘สนามบิน กับ ธรรมชาติและวัฒนธรรม หากถูกคิดผ่านมิติสถาปัตยกรรมไปพร้อมกัน จะเกิดการพึ่งพากันด้วยแนวทางการออกแบบอย่างไร?’

กระบวนการออกแบบเชิงวิพากษ์โครงการภาครัฐ ในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างสนามบิน และสภาพแวดล้อมอันโดดเด่นเฉพาะตัวของบึงกาฬ การเห็นความเป็นไปได้ของกระบวนการหมุนเวียนเกษตรกรรม การผลิตไม้ยางพารากับระบบโครงสร้างที่ยั่งยืน ระบบการก่อสร้างต่อเติม และการบำรุงรักษาในอนาคต โดยไม่ละเลยข้อกำหนดการออกแบบด้านความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และความต้องการระบบโครงสร้างช่วงกว้าง

ในแง่กิจกรรม สนามบินบึงกาฬแห่งใหม่จะมีบทบาทมากกว่าพื้นที่สำหรับกิจกรรมการขนส่ง สนามบินนี้สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรมธรรมชาติที่สร้างประสบการณ์รูปแบบใหม่ระหว่างการเดินทาง สนามบินนี้จะเป็นทั้งจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวแรกอันแสดงถึงบึงกาฬและส่งท้ายความประทับใจก่อนกลับออกไป

นิสิต: ณัฐฐาพร สุรวัฒนะ
อาจารย์ที่ปรึกษา: อาจารย์พิช โปษยานนท์
ข้อมูลเพิ่มเติม: https://issuu.com/sseatalay/docs/presentation_plate
อีเมล: sseatalay@gmail.com

 

โรงเกลือแหลมทอง: พื้นที่แห่งปรากฏการณ์
โดย ทิวาพร ทองก้อน

Salt Factory: Space of Phenomena เกิดจากความสนใจในร่องรอยความเสื่อมโทรมของอาคารที่เกิดจากการที่เกลือได้แทรกตัวเข้าสู่สภาพแวดล้อม และจะค่อยๆ ทำลายวัสดุโดยรอบ ซึ่งความเสื่อมโทรมของวัสดุดังกล่าวมีความจำเพาะต่อสถานที่ และแสดงถึงคุณค่าและเรื่องราวของอาคารได้อย่างชัดเจน จึงได้ศึกษาต่อถึงกระบวนการเกิดและการสลายตัวของเกลือ ซึ่งจะสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม และได้ใช้ข้อจำกัดของอาคารเดิมมาออกแบบปรับปรุงให้สามารถควบคุมสภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการก่อร่างของเกลือได้ โดยให้วัสดุอาคารและสถาปัตยกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนการตีความของผู้คนผ่านร่องรอยที่เกิดจากการสะสมและทำลายสภาพวัสดุของเกลือต่อวัสดุต่างๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปตามฤดูกาลและเวลา

นิสิต: ทิวาพร ทองก้อน
อาจารย์ที่ปรึกษา: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุปรียา หวังพัชรพล
ข้อมูลเพิ่มเติม: https://issuu.com/thiwaporn.thongkon/docs/thesis_-_salt_factory_-_space_of_phenomena
อีเมล: th.thiwporn@gmail.com

 

ศูนย์อนุรักษ์นกชายเลนและส่งเสริมวิถีนาเกลือ
โดย ฐากูร ใจหลัก

โครงการศูนย์อนุรักษ์นกชายเลนและส่งเสริมวิถีนาเกลือ มุ่งนำเสนอแนวทางการออกแบบพื้นที่เพื่อศึกษาวิจัยสำหรับนักปักษีวิทยาในเขตพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่สำหรับศึกษาและท่องเที่ยว เพื่อให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวและคนในชุมชน โครงการประกอบด้วย 2 พื้นที่หลักที่เชื่อมต่อกันโดยมีอาคาร 2 ประเภท ได้แก่ อาคารที่ทำการหลักและสถานีย่อยที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่

การออกแบบจะคำนึงถึงเรื่องการพรางตัวไปกับบริบทโดยรอบ ทั้งรูปทรงของตัวอาคาร วัสดุในการก่อสร้าง และกระบวนการก่อสร้าง โดยเน้นการสร้างพื้นที่ในการทำงานหรือสำรวจได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้พื้นที่น้อยที่สุด เพื่อสร้างสถาปัตยกรรมที่สามารถอยู่รวมกับระบบนิเวศได้อย่างยั่งยืน

นิสิต: ฐากูร ใจหลัก
อาจารย์ที่ปรึกษา: ดร.โอฬาร เจริญชัย
ข้อมูลเพิ่มเติม: https://issuu.com/thakoon_jailuk/docs/6211200404
อีเมล: thakoon.j@ku.th

 

arch.ku.ac.th

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *