นิทรรศการที่พาเราให้ตั้งคำถามต่อข้าวของเครื่องใช้ที่ความหมายและคุณค่าถูกศิลปิน ‘พร่า’ ‘บิด’ และ ‘เบือน’ ไปให้กลายเป็นสิ่งที่ไม่สมบูรณ์ (error)
TEXT: CHIWIN LAOKETKIT
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
นิทรรศการ ‘808080’ (error objects) เป็นนิทรรศการเดี่ยวของ รุ้ง-นภัสกร นิกรแสน ศิลปิน นักออกแบบ จาก anxiety storage ที่เคยมีผลงานไวรัลในโลกโซเชียลด้วยภาพสามมิติของข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันสุดฮา ครั้งนี้เธอได้เปลี่ยนแปลงภาพสามมิติเหล่านั้นมาเป็นผลงานที่จับต้องได้จริงในพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะของ Saratta Space
โปรเจกต์ ‘808080’ (error objects) ของนภัสกรเป็นผลิตผลจากการท้าทายสังคมที่ไม่ยอมรับความผิดแผก และมองพวกมันเป็นเพียงความแปลกประหลาด เธอเริ่มต้นทำงานกับสิ่งของรอบตัวและตั้งข้อสงสัยต่อคุณค่าของสิ่งนั้นๆ ว่าหากพวกมันไม่สามารถถูกใช้งานตามหน้าที่ได้ จะยังสามารถมีคุณค่าและเป็น ‘ความปกติ’ ในฐานะ ‘error object’ ชิ้นหนึ่งได้หรือไม่ เช่น หวีที่มีขนแปรงเป็นน็อตสกรูปลายแหลม ช้อนที่เป็นรูไม่สามารถใช้ตักอาหาร ฯลฯ ในนิทรรศการท่ามกลางความขบขันและรอยยิ้ม แต่ซุกซ่อนแง่มุมที่ลึกซึ้งให้ผู้ชมขบคิด นภัสกรได้อธิบายที่มาของเลข ‘808080’ เอาไว้ว่า “เพราะเป็นค่าสีที่อยู่กึ่งกลางระหว่างสีขาวกับสีดำ” พาให้คิดถึงความเทาๆ ที่ไม่ได้มีถูกและผิด
เมื่อเข้าสู่พื้นที่ภายในนิทรรศการ สายตาผู้ชมจะปะทะกับไม้ค้ำยันแบบมีล้อ ซึ่งดูเผินๆ อาจไม่ได้มีอะไรผิดปกติ แต่เมื่อถูกใช้งาน ล้อนั้นได้กลายเป็นส่วนเกินที่ย้อนแย้งกับคุณสมบัติของไม้ค้ำยัน รายรอบผลงานชิ้นนี้เป็น ‘วัตถุ’ จำนวนมากที่เกิดจากการตั้งคำถามของนภัสกร เช่น ชั้นวางของที่วางของไม่ได้ จักรยานที่เบาะรองถูกแทนที่ด้วยไม้กวาด พัดลมฟิวชันพัดมือ รวมถึงเหล่าภาพเรนเดอร์ที่เธอใช้สรุปไอเดียก่อนจะสร้างออกมาเป็นชิ้นงานจริงบนผืนผนัง
ผลงานทั้งหมดมีขอบเขตที่พร่าเลือน คล้ายงานผลิตภัณฑ์ งานออกแบบ และงานศิลปะในชิ้นเดียวกัน นภัสกรได้นำเสนอสิ่งของต่างๆ ที่เราคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน และ ‘บิด’ และ ‘เบือน’ มันให้กลายเป็นสิ่งที่ไม่สมบูรณ์ในการใช้งาน บ้างก็ขาด บ้างก็เกิน แต่ทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่ทำให้เห็นตำหนิหรือข้อผิดพลาดไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทำให้เกิดบทสนทนา อันสามารถนำไปสู่การตีความที่หลากหลาย และกระตุ้นความคิดของผู้ชม
วัตถุเหล่านี้ไม่ได้กำลังพยายามจะบอกว่าของที่สมบูรณ์ตามขนบนั้นผิด ของที่ผิดพลาดในนิทรรศการก็ไม่ได้เรียกร้องให้บอกว่ามันถูกต้อง นภัสกรกำลังหาที่ทางให้กับพวกมันที่เป็นเช่นนั้น ในฐานะงานศิลปะหรือเครื่องใช้ชิ้นหนึ่งก็ดี กระทั่งในฐานะตลกร้ายที่เห็นแล้วไม่รู้ว่าจะหัวเราะหรือร้องไห้ และถึงแม้เธอเองจะตั้งชื่อนิทรรศการว่า ‘error objects’ แต่ความหมายของ ‘808080’ ก็เป็นตัวบ่งบอกได้อย่างดีว่านภัสกรไม่ได้มองพวกมันเป็นความผิดพลาดหรือความถูกต้องทั้งสิ้น
หากวันหนึ่งเราสูญเสียคุณค่าที่สำคัญที่สุดของตัวเองไปเหมือนข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้ ก็จงหัวเราะใส่มันเสียเถอะ ไม่ต้องรีบร้อนค้นหาคุณค่าที่ถูกต้องให้ตัวเอง เพราะมนุษย์เราสามารถถูกยอมรับทั้งที่ผิดพลาดได้เหมือนกัน
นิทรรศการ ‘808080’ (error objects) เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม – 17 กันยายน 2567 ที่ Saratta Space
saratta.space
facebook.com/anxietystorage
instagram.com/anxiety.storage