หนังสือของ Lawrence Chua ได้นำเสนอประวัติศาสตร์ของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่และสภาพแวดล้อมเมืองในกรุงเทพฯ ซึ่งอิงจากความเชื่อทางพุทธศาสนาในระยะเวลาหนึ่งช่วงอายุคน
TEXT: CHIWIN LAOKETKIT
IMAGE COURTESY OF UNIVERSITY OF HAWAII PRESS
(For English, press here)
Bangkok Utopia: Modern Architecture and Buddhist Felicities, 1910–1973
Lawrence Chua
University of Hawaii Press, 2021
7.5 x 1 x 10.5 inches
296 pages
ISBN 978-082-488-460-4
ไม่บ่อยนักที่เราจะได้ยินคำว่า ‘ยูโทเปีย’ กับเมืองอย่างกรุงเทพฯ เมืองที่มักถูกพูดถึงในด้านการเติบโตอย่างรวดเร็วและไร้ระเบียบ รถติด มลพิษ น้ำท่วม ช่องว่างระหว่างชนชั้น และความรุนแรงทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นมาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน เมืองหลวงของประเทศไทยก็ถูกมองข้ามในแง่ของการศึกษาประวัติศาสตร์ของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่และสภาพแวดล้อมเมือง แต่สำหรับนักวิชาการในโลกตะวันตก Lawrence Chua กรุงเทพฯ เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับนักวิจัยด้านความเป็นสมัยใหม่หรือ modernism แม้ว่าความโมเดิร์นและการแสดงออกทางวัฒนธรรมแบบโมเดิร์นมักจะถูกโยงกับความเป็นเหตุเป็นผลเชิงวิทยาศาสตร์ การเกิดขึ้นของชนชั้นกลางที่เป็นอิสระ ประชาธิปไตยเสรี และอุตสาหกรรมในเมืองอย่างกรุงเทพฯ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็ยังมีร่องรอยของความเชื่อทางพุทธศาสนา ความคิดเกี่ยวกับคติจักรวาล ที่มีอิทธิพลต่อการจัดระเบียบสังคม การเมือง ความเป็นเมือง และสถาปัตยกรรมของกรุงเทพ สามารถรองรับคตินิยมและความเชื่อทางศาสนาในขณะที่ตอบสนองต่อประสบการณ์วัฒนธรรมของสมัยใหม่ในแบบของตัวเอง
Lawrence Chua เป็นอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมแห่งมหาวิทยาลัยซีราคิวส์ นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ที่มีพื้นฐานเดิมเป็นนักข่าว นักวิจารณ์ศิลปะและภาพยนตร์ เขาสนใจความคิดในการออกแบบเมืองและสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในหนังสือเล่มนี้ Chua เปิดเผยวิธีการทำงานในการออกแบบและพัฒนาการของการออกแบบเมืองกรุงเทพฯ ด้วยการแบ่งเนื้อหาเป็น 3 ส่วน คือ เครื่องมือ วัสดุ และระบบ ที่เป็นโครงสร้างการเล่าเรื่องราวด้วยมุมมองแบบประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมที่เผยให้เห็นถึงร่องรอยของความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องถึงกัน ตั้งแต่ความคิดไปจนถึงระบบของการออกแบบเมือง ภายใต้กรอบเวลาระหว่างปี พ.ศ. 2453 – 2516
สำหรับกรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2453 ช่วงเวลาภายหลังการปฏิรูประบบราชการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่กรุงเทพฯ เพื่อสร้างความศิวิไลซ์ให้ทัดเทียมอารยธรรมตะวันตกและความเป็นรัฐชาติของสยาม ซึ่งนำมาสู่ปรับเปลี่ยน ปะทะ ผสมผสานความเชื่อดั้งเดิมที่เน้นคติทางพระพุทธศาสนาแบบจักรวาลวิทยาไตรภูมิ Chua ได้เล่าถึง ‘มหานครนิพพาน’ พื้นที่แห่งความสุขในอุดมคติกับการเชื่อมโยงการออกแบบพื้นที่ของกษัตริย์เป็นศูนย์กลางจากพระบรมมหาราชวังไปสู่พระราชวังดุสิต ว่าเป็นพัฒนาการที่นำมาสู่ความสมัยใหม่ที่ผสมผสานพุทธศาสนาอย่างเห็นได้ชัด ขณะเดียวกันก็ได้เสนอสิ่งที่หวือหวาต่อการรับรู้และเข้าใจต่อการสร้างเมืองจำลอง ‘ดุสิตธานี’ ของรัชกาลที่ 6 ต่างออกไปจากความเข้าใจเดิมที่เป็นเมืองจำลองระบอบประชาธิปไตย หากแต่เป็นพื้นที่ของความเป็นเควียร์ (queer) ด้วยเป็นสถานที่สำหรับฝึกข้าราชบริพารฝ่ายชายให้เรียนรู้วัฒนธรรมแบบตะวันตกและการจำลองเพศต่างๆ ในฐานะพื้นที่เมืองผ่านคติทางพุทธศาสนาด้วยความเท่ากันของผู้คนแบบไม่มีเพศ นอกจากความเป็นยูโทเปียแบบไทยๆ แล้ว คำว่า ‘สถาปนิก’ ซึ่งใช้เรียกผู้จัดการโครงการก่อสร้างที่เปลี่ยนแปลงไปจาก ‘นายช่าง’ ก็ได้กำเนิดขึ้นในช่วงเวลานี้ด้วย
นอกจากนี้ พื้นที่สนามหลวง Chua ได้เล่าถึงพัฒนาการของพื้นที่ในฐานะ ‘พระเมรุ’ หรือสถานที่เผาศพของกษัตริย์รัชกาลที่ 6 โดยเชื่อมโยงพื้นที่เขาพระสุเมรุ ที่เป็นศูนย์กลางของจักรวาลความเชื่อแบบเทวราชาและความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ พร้อมกับความทับซ้อนในการใช้งานในฐานะพื้นที่เผาศพของสามัญชนในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย พ.ศ. 2475 ซึ่งมีแผนจะทำให้สนามหลวงกลายเป็นสวนสาธารณะและปอดของเมืองกรุงเทพฯ พร้อมกันนั้นการก้าวเข้ามาของคณะราษฎรได้นำคติความเชื่อเรื่องพระศรีอาริย์ (ยุคแห่งการเกิดใหม่) ที่หมายถึงอนาคตของประชาชนที่เท่าเทียม ผ่านการสร้างพื้นที่อาคารสาธารณะต่างๆ อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยการสร้างอาคารด้วยวัสดุคอนกรีตเสริมเหล็กและได้เปิดเผยนโยบายกำหนดเเบบสถาปัตยกรรมคอนกรีตเผยแพร่เป็นพิมพ์เขียวที่ให้ใช้การก่อสร้างอาคารต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น พระอุโบสถ อาคารส่วนราชการ ซึ่งเป็นที่มาของการเจริญเติบโตของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด
เมื่อเข้าสู่ช่วงรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อันมีความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาในช่วงระเบียบโลกเสรีได้สร้างจุดเปลี่ยนสำคัญในด้านเศรษฐกิจและการเมืองในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไปจนถึงการหลั่งไหลของสินค้าและอิทธิพลทางสื่อ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ โฆษณาต่างๆ นำมาสู่การฟื้นคืนของระบอบกษัตริย์ ‘สวรรค์’ หรือ ‘วิมาน’ ได้ถูกนำมาเรียกพื้นที่เชิงพาณิชย์อย่างธนาคาร โรงแรม ห้างร้าน ผับบาร์ ที่เป็นการขยายตัวของธุรกิจแบบใหม่ตามนโยบายแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 จุดสำคัญที่ผู้เขียนมองว่าเป็นแผนครั้งใหญ่ของสฤษดิ์ในช่วงเป็นนายกรัฐมนตรีได้มีการกำหนดผังเมืองกรุงเทพฯ โดยการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมืองจากสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลมาถึงแผนแม่บทของการพัฒนากรุงเทพฯ พ.ศ. 2533 ที่คาดการณ์การเจริญเติบโตของกรุงเทพฯ และปริมณฑลถึง 575 ปี ซึ่งเน้นการคมนาคมโดยถนน ที่มาพร้อมกับเปลี่ยนแปลงเส้นทางคมนาคมเดิมที่เป็นคลองพร้อมกับการเจริญเติบโตของยานพาหนะประเภทรถยนต์ที่เป็นสิทธิพิเศษในเมืองเพิ่มมากขึ้น
หนังสือเล่มนี้ได้ขยายมุมมองต่อสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ และการออกแบบเมืองที่ทำให้เห็นถึงทิศทางและบริบทการปรับตัวผ่านระบบทุนนิยมและเศรษฐกิจการเมืองในภาพกว้างของประเทศไทย แม้จะเป็นเพียงหนึ่งช่วงอายุคน จะเห็นได้ว่าทิศทางการปรับเปลี่ยนเชิงนโยบายต่อพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ไม่สามารถคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงหรือการเจริญเติบโตในระยะเวลาหลัก 100 ปีได้เลย ความน่าสนใจของสายตาหรือมุมมองที่ Chua ใช้ศึกษากรุงเทพฯ ได้สร้างเรื่องราวที่กระตุ้นความคิด ซึ่งเจาะลึกถึงความซับซ้อนของอัตลักษณ์ การมีส่วนร่วม และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและรูปแบบสถาปัตยกรรมภายใต้สีสันของกรุงเทพมหานครสมัยใหม่ ผ่านข้อเท็จจริงจากการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ กรอบอ้างอิงเกี่ยวกับความเชื่อทางพุทธศาสนาที่เฉพาะเจาะจง และมุมมองของชาวเอเชียอย่าง Chua ที่ใช้ชีวิตอยู่ทั้งโลกตะวันออกและตะวันตก ที่คนไทยหรือคนกรุงเทพฯ เองอาจจะไม่เคยมอง