จากการออกแบบที่ล้อรับการกัดแทะของตัวบีเวอร์สู่คาเฟ่และร้านอาหารย่านดอนเมือง พื้นที่เสริมสร้างการเรียนรู้และขับเคลื่อนแรงบันดาลใจ โดย vice versa
TEXT: SURAWIT BOONJOO
PHOTO: THANAWATCHU
(For English, press here)
ด้วยความเชื่อว่าสิ่งรอบตัวล้วนเชื่อมร้อย ถักทอร่วมสัมพันธ์โยงใยเป็นโครงข่ายซึ่งกระทำการปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกันเสมอ จึงนำไปสู่การปรับประยุกต์ใช้กรอบวิธีบูรณาการพิจารณาหลากหลายบริบท แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ ข้ามผสานแนวสาขาวิชาอื่นที่ไกลออกไป อาทิ ศิลปะ ประวัติศาสตร์ศิลปะ และดนตรี นี่คือวิถีกระบวนการออกแบบเชิงสหวิทยาการของออฟฟิศออกแบบสถาปัตยกรรมและตกแต่งภายใน ‘vice versa’ ซึ่งร่วมก่อตั้งและออกแบบโดย ปัญญ์ สิงหราช และ อริย์ธัช วงศ์อนันต์ สองสถาปนิก-มัณฑนากรรุ่นใหม่ โดยได้เริ่มดำเนินการพลิกกลับ-สลับศาสตร์ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานออกแบบรูปแบบเฉพาะ ที่ก่อประกอบและขยับสร้างความหมายให้เกิดการค้นหาอยู่เสมอมาตั้งแต่ปี 2563
House of Beaver เป็นผลงานการออกแบบเฟอร์นิเจอร์และปรับปรุงตกแต่งพื้นที่ภายในอาคารขนาดย่อมเพียงแค่ 30 ตารางเมตร พื้นที่แฮงเอาท์ในรูปแบบคาเฟ่และร้านอาหาร ท่ามกลางภูมิทัศน์อันร่มรื่นริมสระน้ำบนฉากภาพเขียวขจีของแมกไม้นานาชนิด ในเขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร หนึ่งในโปรเจ็กต์ชิ้นล่าสุดของออฟฟิศที่เพิ่งดำเนินการแล้วเสร็จช่วงกลางปีที่ผ่านมา
แม้บรรยากาศองค์รวมภายในพื้นที่ร้านจะถูกครอบครองด้วยภาพจำของชุดเฉดสีและรายละเอียดการตกแต่งที่เล็กน้อยแบบมินิมอล กระนั้นก็ตามบนความนวลเนียนของผนังสีขาว กลับเป็นพื้นผิวหนานูนจากท่วงจังหวะการปาดปูนที่ต่อเนื่องสม่ำเสมอราวกับเส้นสายของแนวเกลียวคลื่น หรือสีสันและผิวอันเนียนเรียบของประติมากรรมที่ปล่อยเส้นรอยเชื่อมประกอบชิ้นไม้ รวมไปถึงสีจากอายุไม้ที่ไม่เท่ากัน โดยจงใจพร่องไว้ให้ไม่สมบูรณ์แบบ ย้ำให้เห็นถึงความพยายามเชื่อมบริบทภายนอก-ในประพันธ์ผ่านกลวิธีการเรียงร้อยวางขยายวลีต่อคำในวากยสัมพันธ์ของภาษาการออกแบบสถาปัตยกรรมนับตั้งแต่ระดับพื้นผิว ทั้งที่ปรากฏเป็นรูปธรรมและในนามธรรมได้อย่างแยบคาย
สถาปนิกจาก vice versa เน้นย้ำถึงแนวคิดในการปรับปรุงแก้ไขปัญหาของอาคารและบริบทโดยรอบว่า “การทำงานออกแบบคาเฟ่นี้ เราเริ่มด้วยความสนใจโดยทั่วไปที่ต้องการศึกษาพิจารณาแนวทางการพลิกประยุกต์ทางเทคนิค เพื่อสลายข้อจำกัดทางการก่อสร้างในแต่ส่วนของพื้นที่ และสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ในการใช้งานที่น่าสนใจ ประกอบกับการต้องการผลักดันขอบเขตและศักยภาพของพื้นที่คาเฟ่ ให้เป็นมากกว่าสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สู่การเป็นพื้นที่เสริมสร้างการเรียนรู้และขับเคลื่อนแรงบันดาลใจ”
ร้านตั้งอยู่บนผืนภูมิทัศน์บ้านจัดสรรที่เรียงรายต่อเนื่องของบริเวณพื้นที่เขตตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร ส่งเสริมสู่การเลือกกำหนดทิศทางประกอบสร้างการรับรู้และการใช้งานพื้นที่ ด้วยสถานะแหล่งหลบลี้/ โอเอซิสที่โอบล้อมด้วยทุ่งทะเลทรายบ้านจัดสรร นักออกแบบทั้งสองจึงริเริ่มด้วยการผลักดันขยายสร้างพื้นที่ภายใต้การออกแบบให้สามารถตอบรับกับกิจกรรมและการสังสรรค์ของกลุ่มผู้ใช้บริการครอบครัวผู้พักพิงอาศัยโดยรอบได้ลี้หลบแอบอิง เคียงคู่พร้อมกับภาพลักษณ์สื่อแทน ซึ่งสนทนาและสร้างปฏิสัมพันธ์ได้อย่างหลากทิศหลายทาง รวมไปถึงกับผู้ใช้พื้นที่ทุกช่วงวัยด้วยคาแร็กเตอร์ ‘บีเวอร์’ สัตว์ที่มีส่วนร่วมก่อให้เกิดระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ อันตอบรับกับพื้นที่ทางกายภาพของอาคารและความต้องการเสริมสร้างความรู้สึกการใช้พื้นที่ ราวกับได้เข้ามาตั้งแคมป์ปิ้งอยู่ท่ามกลางธรรรมชาติ
อาคารหลังคาทรงจั่วในผังพื้นรูปทรงตัวอักษร ‘L’ จึงล้อรับกับพื้นที่ภายนอกโดยการหยิบยืมองค์ประกอบแก่นตั้งของต้นไม้ในทัศนียภาพอันเขียวขจีของโอเอซิส เข้ามาสร้างเสริมกำหนดพื้นที่ให้เกิดการเหลี่ยมมุมและพลวัตของพื้นที่เปิดโล่งภายในมากยิ่งขึ้น โดยการออกแบบติตตั้งเสารูปทรงฟันเลื่อยหลากหลายขนาดจำนวนสี่ต้นกระจายตำแหน่งทั่วบริเวณ ซึ่งนอกจากจะล้อรับไปกับการกัดแทะของตัวบีเวอร์ รวมถึงสีสันที่สัมพันธ์ไปกับเนื้อไม้ตามธรรมชาติที่เปลือกไม้จะสีเข้มกว่าเนื้อไม้ภายในแล้ว ยังคงสามารถถูกพิจารณา กระทำการราวกับประติมากรรม หรือผลงานศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ได้เช่นกัน ซึ่งก็ฟังดูไม่เกินจริง ด้วยรูปแบบวิธีการงานฝีมือซึ่งช่างไม้ได้ตัดและประกอบชิ้นไม้เหลือใช้จากเวิร์กช็อปไม้ของเจ้าของโครงการ นี่จึงเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทีมช่างในพื้นที่กับสถาปนิก รวมไปถึงส่วนการทดลองและประดิษฐ์สร้างสรรค์ผลงานออกแบบเก้าอี้และโต๊ะสำหรับการใช้งานในร้านที่เย้าหยอกไปกับการเคลื่อนไหวและกลวิธีการเล่าเรื่องเดียวกัน
ภายในป่าที่คราฟต์ขึ้นด้วยฝีมือเชิงช่างแห่งนี้ จึงสัมพันธ์และหยอกล้อกลับไปยังกระบวนการประดิษฐ์สร้างของบีเวอร์ไปพร้อมกัน โดยพื้นผิวไม่เรียบเสมอของผนังแต่ละด้านก็เข้ามาร่วมก่อร่างบรรยากาศความเป็นกันเองและเอื้อให้ไม่แปลกแยกเคอะเขินไปจากภูมิทัศน์ธรรมชาติที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้ นี่จึงเชื้อเชิญให้ย้อนขบคิดถึงความเป็นสถานที่อันสามารถสร้างเสริมแรงบันดาลใจด้วยสภาวะพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ ซึ่งช่วยกระตุ้นความคิดริเริ่มในการสรรค์สร้างสิ่งต่างๆ ผ่านการเย้ายวนให้ลูบสัมผัสทางการมองเห็นและการนึกคิดปะติดปะต่อบนผิวพื้นไม่เสมอเรียบเนียนของผลงานออกแบบ สิ่งกล่าวทั้งหมดนี้ล้วนอาจเริ่มขึ้นเพียงเพราะสภาวะน่าสะดวกสบาย ที่ผู้ใช้บริการสามารถปลีกวิเวกจากความวุ่นวาย และอาจจะเรียบง่ายเพียงเท่านี้ อย่างไรก็ตาม สถาปนิกได้ใส่แนวคิดการออกแบบบนฐานรากความเข้าใจในหลากหลายบริบทแวดล้อมที่ร่วมกระทำการต่อกันได้อย่างถ้วนถี่ House of Beaver จึงเป็นราวกับภาพสะท้อนของความเข้าใจอันลึกซึ้งนั้น ที่สามารถตัด-ละ-เพิ่ม-เสริมหลากหลายองค์ประกอบในการออกแบบได้อย่างน่าสนใจ และนำไปสู่การฉุกคิด ‘ในทางกลับกัน’ ไปได้ไม่รู้จบ