โปรเจ็กต์นำร่องที่เปิดห้องนิทรรศการของ TCDC Chiang Mai มาเปิดเป็นโรงละครแบบ black box และจัดการแสดงให้ชมฟรี เพื่อเก็บข้อมูลและนำไปพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้านศิลปะการแสดงต่อไป
TEXT: TUNYAPORN HONGTONG
PHOTO COURTESY OF BASE BOX THEATRE
(For English, press here)
ทุกสุดสัปดาห์ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม ไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 8 กันยายนนี้ ที่ TCDC Chiang Mai มีการแสดงโรงเล็กจากหลากหลายกลุ่มละครสลับผลัดเปลี่ยนกันมาจัดแสดง ดูแล้วเหมือนจะเป็นเทศกาลละครอะไรทำนองนั้น แต่ไม่ใช่ และเอาจริงๆ เบื้องลึกเบื้องหลังของโปรเจ็กต์นี้น่าสนใจกว่านั้นอีก
โปรเจ็กต์นี้มีชื่อว่า Base Box Theatre กิจกรรมนำร่อง (pilot project) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy Agency หรือ CEA) ที่เข้ามาทดลองปรับพื้นที่ห้องจัดนิทรรศการของ TCDC Chiang Mai ให้กลายเป็นโรงละครขนาดเล็ก และจัดการแสดงขึ้นทุกศุกร์-อาทิตย์เป็นเวลา 4 สัปดาห์ เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่จะมีการทำแบบสอบถาม เสวนา และเก็บข้อมูลทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนักแสดง ทีมงาน ผู้ชม สถานที่ ฯลฯ เพื่อนำมาประมวลผลก่อนนำไปพัฒนาในด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เกี่ยวกับศิลปะการแสดงต่อไป
กิจกรรมของ Base Box Theatre เริ่มต้นมาจากข้อมูลที่ว่า ปัจจุบันในพื้นที่ภาคเหนือมีกลุ่มศิลปินสาขาการแสดงที่มีศักยภาพเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและนานาชาติมากกว่า 10 กลุ่ม รวมทั้งสถาบันการศึกษาในพื้นที่ก็ผลิตบุคลากรในศิลปะแขนงนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่คำถามคือ ทำไมศักยภาพของกลุ่มศิลปินดังกล่าวถึงไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ หรือพูดให้ง่ายกว่านั้น… ทำไมศิลปินสาขาศิลปะการแสดงที่มีความสามารถ ถึงไม่สามารถสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ต้องไปทำอาชีพอื่น
ปัจจัยหลักที่ Base Box Theatre มองว่าส่งผลสำคัญต่อสถานการณ์ดังกล่าว คือ หนึ่ง-การขาดแคลนพื้นที่สำหรับจัดการแสดงที่มีมาตรฐานที่สามารถรองรับผู้ชมในระดับที่ก่อให้เกิดธุรกิจได้ และ สอง-การบริหารจัดการ การตลาด ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ Base Box Theatre จึงปรับพื้นที่ห้องนิทรรศการใน gallery room ของ TCDC Chiang Mai ให้เป็นโรงละครแบบ black box จัดการแสดงที่น่าจะดึงดูดกลุ่มผู้ชมที่มีความสนใจต่างๆ กันในแต่ละสัปดาห์ โดยแม้แต่เวลาในการจัดแสดงในแต่ละวันก็ยังทดลองให้แตกต่างกันด้วย
ในสัปดาห์แรกที่ art4d ได้มีโอกาสไปดูนั้น เป็นการแสดง performance art ชื่อ On & On จาก Little Shelter Box ที่รวมเอาศิลปะและศิลปินต่างสาขา อย่าง ทัศนศิลป์ งานเขียน มัลติมีเดีย และดนตรี มาไว้บนเวที โดยรูปแบบการแสดงแบบนี้น่าจะจัดเป็นการแสดงที่ผู้ชมละครเวทีไม่ค่อยคุ้นเคยมากนัก แต่ฟีดแบ็กที่ได้รับก็เป็นไปในทางบวก รวมทั้งมีการเสวนาต่อยอดทางความคิดที่น่าสนใจ ในสัปดาห์ต่อมาเป็นการแสดงละครเวทีผสมมิวสิคคัลเรื่อง ‘จดหมายรักจากเมียเช่า’ จากกลุ่มละคร Part Time Theatre ซึ่งได้ข่าวว่าคนดูเต็มแทบทุกรอบการแสดง สัปดาห์ที่สามเป็นเวิร์กช็อปหลักสูตรการแสดงแบบเร่งรัดโดย Base Performing Arts โดยความพิเศษอยู่ที่นอกจากจะเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมเวิร์กช็อปแล้ว ถ้าใครอยากเข้าไปนั่งดูคนอื่นทำเวิร์กช็อปเฉยๆ ก็ได้เช่นกัน ปิดท้ายสัปดาห์สุดท้ายด้วย contemporary dance ชื่อ ‘The Overlapping Extended Version’ โดยกลุ่มละครมะขามป้อม พี่ใหญ่ของวงการที่มีพื้นที่ของตัวเองชื่อ Makhampom Art Space อยู่ที่เชียงดาว โดยระหว่างการแสดงทั้ง 4 สัปดาห์นั้น ก็ยังมีเวิร์กช็อปพิเศษที่ได้ศิลปินต่างชาติจาก Studio 88 Artist Residency มาเข้าร่วมด้วย
เชียงใหม่นั้น เป็นเมืองสร้างสรรค์ที่มีส่วนผสมลงตัวระหว่างวัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่และศิลปะ/งานออกแบบร่วมสมัยอย่างลงตัว เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนหนาแน่นตลอดปี และมีบรรยากาศที่เอื้อต่อการเสพงานศิลปะตรงที่การเดินทางคล่องตัวมากกว่ากรุงเทพฯ (สำหรับคนที่มีรถส่วนตัว) จากปัจจัยเหล่านี้จึงไม่น่าใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้ที่เชียงใหม่จะมีพื้นที่โรงละครเพื่อสนับสนุนให้ศิลปะการแสดงเป็นอีกหนึ่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของเมือง ก็คงต้องมาดูกันต่อไปว่าโปรเจ็กต์นำร่องของ Base Box Theatre ครั้งนี้ จะสามารถช่วยพัฒนาศิลปะการแสดงของเชียงใหม่ได้มากน้อยแค่ไหน