วิทยานิพนธ์ 6 เรื่องจากนักศึกษาหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
(For English, press here)
วิทยานิพนธ์ทางสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นโครงการออกแบบขั้นสุดท้ายในการเรียนหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความพร้อมในด้านวิชาชีพสถาปัตยกรรมและนำกระบวนการเรียนรู้ไปประยุกต์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ปัจจุบัน จึงกำหนดให้มีแนวทางในการออกแบบวิทยานิพนธ์ 4 แนวทางเพื่อให้ตอบทักษะและความสนใจในการเรียนรู้รายบุคคล ประกอบด้วย การออกแบบเชิงทดลอง การออกแบบที่เน้นประเด็นด้านมานุษยวิทยาและบริบท การออกแบบสอดคล้องกับการประกอบวิชาชีพและการออกแบบเน้นด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ผลงานออกแบบสะท้อนความหลากหลายตามแนวทางตั้งแต่การกำหนดรายละเอียดและขอบเขตของโปรแกรม จนถึงผลลัพธ์การออกแบบสถาปัตยกรรมที่สะท้อนการถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างเป็นรูปธรรม
ผลงานในปีการศึกษานี้ จึงประกอบด้วยโครงการตั้งแต่ระดับชุมชน จนกระทั่งเป็นอาคารขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อน มีเงื่อนไขสภาพแวดล้อมที่ตั้งที่หลากหลาย มีองค์ประกอบโครงการที่ซับซ้อนทั้งด้านโปรแกรมการออกแบบและแนวคิดที่เป็นนามธรรม ผลงานทั้ง 6 ชิ้นจึงเป็นตัวแทนของความหลากหลายของโครงการวิทยานิพนธ์ตัวอย่างเช่น ศูนย์ตระหนักรู้ป่าพรุโต๊ะแดง คราฟท์คอมมูนิตี้ พิพิธภัณฑ์ศิลปะแสง พิพิธภัณฑ์อากาศยานในสงครามอินโดจีน ศูนย์การเรียนรู้ฉลามวาฬ โรงแรมริมทะเล
ศูนย์ตระหนักรู้ป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส
โดย ณัฎฐนิช สมรส
ป่าพรุโต๊ะแดง ป่าพรุผืนสุดท้ายของประเทศไทย ป่าชุ่มน้ำที่มีลักษณะจำเพาะ มีดินที่อุ้มตะกอนแห่งชีวิตหลายร้อยล้านปี และยังเป็นป่าที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับระบบนิเวศทางทะเล มีความสามารถเปลี่ยนแปลงและควบคุมสภาพภูมิอากาศของพื้นที่ชายฝั่งทะเลได้
โครงการศูนย์ตระหนักรู้ป่าพรุโต๊ะแดง มีจุดประสงค์เพื่อคงความสวยงามและบริบทของพื้นที่ป่าพรุเดิมให้งามที่สุด และแสดงให้เห็นความสวยงามของธรรมชาติป่าพรุโต๊ะแดง พร้อมสอดแทรกเนื้อหาผ่านการเล่าเรื่องราว นำทางความรู้สึกของผู้เยี่ยมเยือนให้เห็นความสำคัญและลักษณะพิเศษของพื้นที่ป่าผ่านมุมมองทางสถาปัตยกรรม
นักศึกษา: ณัฎฐนิช สมรส
อาจารย์ที่ปรึกษา: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทนีย์ จิรัณธนัฐ
ข้อมูลเพิ่มเติม: https://www.facebook.com/share/p/8Tmi4Pd4rSvxMM11/
อีเมล: Nss20270@gmail.com
‘คราฟท์ แก่น’
โดย วศิน กิจพงษ์ประพันธ์
ประเทศไทยเมื่อผ่านยุคสมัยมามากมายและเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ที่ได้รับวัฒนธรรมจากต่างประเทศ ทำให้ในด้านของศิลปหัตถกรรมไทยดั้งเดิมก็จําต้องปรับประยุกต์ตามรูปแบบ ในขณะเดียวกัน เมคเกอร์สัญชาติไทยรุ่นใหม่ก็อาจมองไม่เห็นประโยชน์ที่จะอนุรักษ์งานฝีมือไว้ โดยไม่มีการพัฒนาองค์ความรู้ให้เข้ากับยุคสมัย ในเมื่องานหัตถกรรมนั้นคิดค้นขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์การใช้สอยในชีวิตประจําวัน ถ้ารูปแบบชีวิตเปลี่ยนแปลงไป ทําไมรูปแบบหัตถกรรมจะเปลี่ยนตามไม่ได้
จึงเกิดเป็นโครงการ ‘คราฟท์ แก่น’ ที่จะช่วยสร้างพื้นที่ให้ผู้คนเข้ามาศึกษา แลกเปลี่ยน และซื้อขายงานคราฟท์ที่ตนเองสนใจ รวมถึงสร้างพื้นที่โอกาสให้สำหรับผู้ผลิตงานคราฟท์รุ่นใหม่ ให้สามารถเริ่มต้นฝันของตนเองได้ แนวคิดในการออกแบบโครงการจะเน้นการนำเสนอ structure detail design ที่จะนำมา integrate กับการตอบโจทย์การใช้งานของแต่ละพื้นที่ต่างๆ โดยภายในโครงการจะประกอบไปด้วย 4 โซน นั่นคือ 1.Textile&Craft Studio 2.Ceremic Studio 3.Craft Central Lab 4.Craft Exhibition
นักศึกษา: วศิน กิจพงษ์ประพันธ์
อาจารย์ที่ปรึกษา: อ.ดร.วรัฐ ลาชโรจน์
ข้อมูลเพิ่มเติม: https://www.facebook.com/share/p/6i4qAbig7do7ZYVT
พิพิธภัณฑ์ศิลปะแสง
โดย กรรธิการ์ สาธร
‘ศิลปะแสง’ คือศิลปะที่ใช้แสงเป็นหัวใจหลักในการถ่ายทอดผลงาน สิ่งที่สำคัญคือ ความหมายที่ศิลปินต้องการจะสื่อออกมา ปัจจุบันประเทศไทยมีพิพิธภัณฑ์จำนวนมากแต่ยังไม่มีสถาปัตยกรรมที่รองรับกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปะแสงที่หลากหลายโดยเฉพาะ ในพิพิธภัณฑ์หลายๆ ที่อาจจะยังไม่ได้ตอบโจทย์สำหรับบุคคลที่ต้องการศึกษาเกี่ยวกับแสงธรรมชาติและแสงประดิษฐ์ควบคู่กันไป
พิพิธภัณฑ์ศิลปะแสงนี้จะเป็นหัวใจสำคัญในการรวบรวมข้อมูลและจัดแสดงศิลปะแสง ให้ผู้คนที่สนใจได้เรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์ทำกิจกรรมที่หลากหลาย สนุกกับศิลปะของแสงในรูปแบบต่างๆ เกิดการตีความ วิจารณ์จากประสบการณ์ที่ได้รับ
นักศึกษา: กรรธิการ์ สาธร
อาจารย์ที่ปรึกษา: รศ.กุลศรี ตั้งสกุล
ข้อมูลเพิ่มเติม: https://www.facebook.com/share/p/1qEUDmdModuV6WzP/
อีเมล: kantika.sathorn@gmail.com
พิพิธภัณฑ์อากาศยานในสงครามอินโดจีน
โดย ธนภัทร กุลกิตติภัทร
พิพิธภัณฑ์อากาศยานในสงครามอินโดจีนเป็นโครงการศึกษาออกแบบอาคารพิพิธภัณฑ์อากาศยานในสงครามอินโดจีน โดยเลือกจังหวัดอุดรธานีเป็นที่ตั้ง เนื่องจากมีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับสงครามอินโดจีนโดยเฉพาะช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกาได้ตั้งฐานทัพที่สนามบินอุดร โครงการพิพิธภัณฑ์นี้จึงเสนอให้เป็นการรวบรวมอากาศยานที่ใช้ในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ และเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับอากาศยาน รวมไปถึงยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในสงครามอินโดจีน
พื้นที่ภายในท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานีถูกเลือกเป็นที่ตั้งโครงการ เพราะอยู่ในพื้นที่ที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์ ทั้งยังเป็นพื้นที่สามารถดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการสนามบิน ที่ตั้งสามารถเข้าถึงโดยง่ายจากตัวเมือง มีพื้นที่ที่เพียงพอ โครงการมีองค์ประกอบหลักได้แก่ พิพิธภัณฑ์ถาวร พิพิธภัณฑ์หมุนเวียน ร้านขายของที่ระลึก โรงภาพยนตร์ ห้องสมุด ลานกิจกรรม เป็นต้น การออกแบบได้เน้นแนวความคิดเป็นอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นการสร้างพื้นที่สีเขียวให้พื้นที่ โดยมีรูปทรงอาคารที่ได้แรงบันดาลใจจากการโบยบินและปีกเครื่องบิน ผสมผสานกับการจัดวางประโยชน์ใช้สอยในอาคาร
นักศึกษา: ธนภัทร กุลกิตติภัทร
อาจารย์ที่ปรึกษา: ผศ.ดร.ชำนาญ บุญญาพุทธิพงศ์
ข้อมูลเพิ่มเติม: https://www.facebook.com/share/FBhoAJrrpNcfV6SK/
อีเมล: Ut.thanaphat@kkumail.com
ศูนย์การเรียนรู้ฉลามวาฬ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
โดย ภพธร กิตติปรียา
ปัจจุบันสถานภาพฉลามวาฬได้รับการประเมินสถานภาพเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Red List of Threatened Species) ของ IUCN โครงการศูนย์การเรียนรู้ฉลามวาฬจึงเป็นศูนย์ให้บริการและความรู้เกี่ยวกับฉลามวาฬและกิจกรรมกลางแจ้งต่างๆ แก่ประชาชน เพื่อสร้างความตระหนัก และมีส่วนในการหยุดการลดจำนวนประชากรฉลามวาฬในปัจจุบันและอนาคต ส่วนจัดแสดงออกแบบตามความลึกของมหาสมุทร กลุ่มอาคารทั้งหมดมาจากแนวความคิดที่นำเส้นสายจากธรรมชาติของฟองอากาศบนผิวน้ำทะเล มาจัดกลุ่มอาคาร ส่วนจัดแสดงเริ่มที่ระดับความลึกที่สุดจนจรดผิวน้ำ แทรกพื้นที่สีเขียวจำลองระบบนิเวศ จากความเชื่อที่ว่าหากพบฉลามวาฬที่ไหน ที่นั่นย่อมธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ดี
นักศึกษา: ภพธร กิตติปรียา
อาจารย์ที่ปรึกษา: รศ.ดร.นพดล ตั้งสกุล
ข้อมูลเพิ่มเติม: https://www.facebook.com/share/p/yc1ee6f6syXiJpH2/?mibextid=WC7FNe
อีเมล: phoptorn.kt@gmail.com
ซีไซด์ จอมเทียน โฮเต็ล
โดย ทัสมา ตรีศาสตร์
โครงการ ซีไซด์ จอมเทียน โฮเต็ล เป็นโรงแรมสูงระดับ luxury ที่ติดชายหาดจอมเทียน มีจำนวนห้องพักทั้งหมด 335 units ด้วยขนาดเริ่มต้นที่ 49.5 ตร.ม. พร้อม facilities ครบครัน พร้อมจุดชมวิวทะเลและ sky lounge ที่อยู่บนดาดฟ้าของอาคาร ทำให้แขกที่มาใช้บริการสามารถใช้เวลาทั้งวันอยู่กับโรงแรมแห่งนี้ได้
ตัวอาคารมีแนวคิดการออกแบบอาคารแบบยั่งยืนด้วยการใช้ประโยชน์จากแสงอาทิตย์โดยใช้ photovoltaic shading device ประกบเป็น façade ของอาคารและใช้ลมทะเลในการผลิตไฟฟ้าจาก wind turbine ลดการใช้พลังงานจากเครื่องปรับอากาศโดยใช้วิธี passive design เพื่อช่วยระบายอากาศภายในอาคารขนาดใหญ่พิเศษ เช่น การเปลี่ยนโถง atrium ให้ไม่มีการปรับอากาศ แล้วแบ่งส่วนปรับอากาศเป็นพื้นที่ reception และทำ pot ปรับอากาศเล็กๆ สำหรับการนั่งพักคอยในพื้นที่โถงขนาดใหญ่ ทำให้โครงการซีไซด์ จอมเทียน โฮเต็ล มีอัตลักษณ์ต่างจากโรงแรมแห่งอื่น และสามารถที่จะกลายเป็นหนึ่งใน landmark ของหาดจอมเทียนในอนาคตได้
นักศึกษา: ทัสมา ตรีศาสตร์
อาจารย์ที่ปรึกษา: ผศ.ดร.ฐานันดร์ ศรีธงไชย
ข้อมูลเพิ่มเติม: https://www.facebook.com/share/p/Sf6mrkFMvyeeKNEN/
อีเมล: Tathsma.tri@gmail.com