พาชมผลงานของผู้ชนะรางวัลในงานประกวดแบบ The Future of Co-living 2025 ซึ่งสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยใหม่ๆ ร่วมกับเทคโนโลยีเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน
TEXT: NATHATAI TANGCHADAKORN
PHOTO: WORAPAS DUSADEEWIJAI
(For English, press here)
ท่ามกลางโครงสร้างสังคมที่ค่อยๆ ถูกเปลี่ยนเพื่อตอบสนองต่อปัจจัยภายนอก รูปแบบการดำเนินชีวิตของเราก็ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงตามไปไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะในพื้นที่อยู่อาศัยที่เราใช้เวลากับมันมากมาย ทั้งบ้าน คอนโด หอพัก รวมถึงเหล่าอาคารซึ่งเป็นที่พักพิงชั่วคราวอย่างโรงแรมหรือโฮสเทล art4d จึงร่วมกับ TCL Electronics (Thailand) จัดงานประกวดออกแบบในหัวข้อ The Future of Co-living เพื่อเฟ้นหาพื้นที่สำหรับการอยู่อาศัยร่วมกัน ผ่านการคาดคะเนถึงรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนในอนาคต
The Future of Co-living เปิดให้ผู้เข้าร่วมสร้างสรรค์ typology ของอาคารและพื้นที่อย่างอิสระ โดยต้องมีเครื่องใช้ไฟฟ้าของ TCL ตามที่โจทย์กำหนด ประกอบด้วยโทรทัศน์รุ่น TCL 115″X955 Premium QD-Mini LED หรือ TCL C755 QD-Mini LED 4K หรือ TCL A300W Pro NXTFRAME เครื่องปรับอากาศไทป์ FreshIN 2.0 หรือ FLOOR & CEILING หรือ Round Flow Cassette Type ตู้เย็น Free Built-IN Series ซึ่งเพิ่งเปิดตัวใหม่ และเครื่องซักผ้ารุ่น Wash & Dry

คุณ Gary Zhao ตำแหน่ง Managing Director จาก TCL ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน
เรามีโอกาสเห็นนานาความคิดสร้างสรรค์ที่ผ่านการกลั่นกรองจนใช้งานได้จริง ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมชั่วคราวที่พยายามหาทางแก้ไขปัญหาทางสังคม บ้านที่กำลังรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม การออกแบบที่หวนย้อนกลับมาให้ความสำคัญกับบริบทและเรื่องราวในพื้นที่ หรือเพียงมีจุดประสงค์เพื่อสร้างประสบการณ์พักผ่อนในวันหยุดให้ผู้ใช้งานอย่างเรียบง่าย ผลงานทั้ง 20 รายชื่อที่ผ่านการคัดเลือกก็ล้วนมีคุณค่าและประกายของตัวเองในแง่มุมที่แตกต่างกัน
หลังการนำเสนอผลงานต่อหน้าคณะกรรมการของผู้เข้ารอบสุดท้าย ที่ TCL Electronics (Thailand) ณ อาคารรุ่งโรจน์ธนกุล ผ่านพ้นไปในวันที่ 26 มีนาคม 2568 เราก็ได้รายชื่อเจ้าของรางวัล 3 อันดับแรกทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อย จากการตัดสินอย่างเข้มข้นโดย ยุคลธร ธนาสว่างกุล Portfolio Director และณธษา โล่ห์จินดา Projects Director จาก dwp; ภารดี เสนีวงศ์ ณ อยุธยา Design Director และชินภานุ อธิชาธนบดี Creative Director จาก Trimode Studio; Gary Zhao, Managing Director และ Don Tang, Marketing Director จาก TCL
รางวัลชนะเลิศอันดับ 1: FRAME TO FORM
โดย กัณฐ์กมล นวลล่อง และ ญาตาวี วีรจินต์สิริ จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
FRAME TO FORM เลือกวางที่ตั้งของโครงการในย่านบางมด ด้วยกลิ่นอายของศิลปะและธรรมชาติในพื้นที่ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ห่างไกลจากตัวเมืองจนลิบตา รวมถึงเป็นย่านที่อยู่ในแผนแม่บทของกรุงเทพมหานคร บางมดจึงมีแนวโน้มที่น่าคิดต่อไปในอนาคต
คอนเซ็ปต์ของทีมแบ่งเป็นสองส่วน คือ Future และ Co-living โดยส่วน Future คำนึงถึงการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำในภาคกลางในอนาคต ทีมจึงยกฟังก์ชันทั้งหมดของบ้านให้สูงอย่างน้อย 1 เมตร แล้วปรับภูมิทัศน์ใต้อาคารให้เป็นเนินดิน เว้นพื้นที่ส่วนอื่นเป็นแอ่งแทนพื้นที่อุ้มน้ำ จากนั้นจึงเสริมด้วยระบบคันกั้นน้ำท่วมรอบที่ดิน ด้าน Co-living นั้นก็มีโปรแกรมเป็น homestay ที่มีเจ้าของบ้านเป็นศิลปิน FRAME TO FORM เปิดรับทั้งศิลปินอื่นๆ ที่เดินทางมาหาแรงบันดาลใจและนักท่องเที่ยวธรรมดาเข้าพัก และมีแกลเลอรีจัดแสดงศิลปะให้คนในย่านมาใช้งานด้วย
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1: Hostel De Cuisine
โดย Ms. Ingyin Phoo และ Ms. Htet Paing Pwint Oo จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
อย่างที่ชื่อของผลงานนี้ได้เขียนไว้ Hotel De Cuisine เริ่มต้นจากผู้คนที่มีความสนใจต่ออาหาร ไม่ว่าจะเป็นคนครัว นักชิม ช่างภาพอาหาร และอื่นๆ โดยตั้งเป้าหมายในการเป็นที่พักราคาเป็นมิตร ที่พร้อมด้วยห้องพักที่มีคุณภาพและอุปกรณ์ทำอาหารครบครัน ในขณะเดียวกันก็เข้าถึงแหล่งร้านอาหารในพื้นที่ได้ง่าย ทีมนี้จึงเลือกตั้งโฮสเทลบนตอนหนึ่งของถนนทรงวาด ซึ่งเป็นหนึ่งในย่านเมืองเก่าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
โฮสเทลถอดแพทเทิร์นจากรูปลักษณ์ของตึกแถวรอบๆ จนได้ออกมาเป็นสัดส่วนของเส้นโค้งอันจำเพาะ ก่อนจะนำมาจัดวางองค์ประกอบเสียใหม่เป็นหน้าตาอาคารที่ทันสมัยขึ้น ฟังก์ชันภายในประกอบด้วยส่วนต้อนรับพื้นที่ทานอาหาร semi-outdoor และพื้นที่เวิร์กช็อปในชั้น 1 ห้องรับประทานอาหาร ครัว และห้องซักล้างบนชั้น 2 และห้องพักบนชั้น 3 โดยผู้ออกแบบใช้สีขาว ไม้ และเส้นโค้งที่ต่อเนื่องเข้ามาเป็นองค์ประกอบตกแต่งหลัก
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2: BALANCE STAY
โดย ณัฐศิณีย์ โพธิยะราช, สุชญา ทองไทย และ ภูษณิศา กูลมนุญ จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ใจความของ BALANCE STAY หากจะย่ออย่างสั้นๆ แล้วคือโปรแกรม ‘ฟื้นฟูคน’ ผ่านการทำกิจกรรมที่มุ่งเป้าหมายไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมือง ซึ่งอาจเกิดความเหนื่อยล้าจากการขาดสมดุลที่ดีระหว่างการทำงานและการพักผ่อน เรียกได้ว่าเป็นที่พักเพื่อออกมาทำอะไรใหม่ๆ สำหรับคนที่ไม่อยากท่องเที่ยวไกลๆ หรือทำอะไรผาดโผน เพียงแค่หาจังหวะเปลี่ยนสถานที่ปรับสมดุลของตัวเอง
การใช้งานประกอบด้วยฟังก์ชันพื้นฐานอย่างส่วนนั่งเล่น ส่วนรับประทานอาหาร และส่วนเซอร์วิสต่างๆ ก่อนเสริมด้วยพื้นที่สำหรับออกกำลังกายและโยคะ และการออกแบบพื้นที่ให้มีความโปร่งโล่ง ทั้งจาก open plan และ double space ตั้งแต่ทางเข้า โดยนอกจากจะพยายามเพิ่ม well-being ผ่านกิจกรรมออกกำลังแล้ว ที่นี่ยังเปิดรับแสงธรรมชาติอย่างเต็มที่และแต่งแต้มด้วยสีสว่างทั้งหมดเพื่อหลีกเลี่ยงบรรยากาศมืดทึบ

(ซ้ายไปขวา) ชินภานุ อธิชาธนบดี, ภารดี เสนีวงศ์ ณ อยุธยา, Gary Zhao, ณธษา โล่ห์จินดา, ยุคลธร ธนาสว่างกุล และ Don Tang
ชมกันครบแล้วสำหรับผลงานของน้องๆ ผู้ชนะ The Future of Co-living ทั้งสามทีม ซึ่งมีคอนเซ็ปต์ที่น่าสนใจและความสวยงามสบายตา รวมถึงตอบรับการใช้งานเป็นอย่างดี หวังว่างานประกวดครั้งนี้จะทำให้ทุกคนได้หยุดคิดและไตร่ตรองถึงอนาคตของงานออกแบบอีกหลายแขนง โดยไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แค่การออกแบบที่อยู่อาศัยเท่านั้น เพราะอนาคตยังมีความเป็นไปได้อีกมากที่รอเราอยู่เสมอ