THE CLOSING EVENT ‘DEPARTED ‹ › REVISITED’

the closing event

บทสรุปของการรำลึกถึง มณเฑียร บุญมา ที่หอสมุดธรรมโฆษณ์ วัดอุโมงค์ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผ่านภาพยนตร์สารคดี งานเสวนา และศิลปะที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่โดย นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล

TEXT: TUNYAPORN HONGTONG
PHOTO COURTESY OF NAVIN PRODUCTION

(For English, press here)

ย้อนไปเมื่อ 4 ปีก่อน นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล จัดนิทรรศการ จากไป กลับมา’ (Departed < > Revisited) ที่วัดอุโมงค์ สวนพุทธธรรม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรำลึกถึง มณเฑียร บุญมา ศิลปินและอาจารย์ผู้เป็นที่รักของเขา เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี ของการเสียชีวิตของมณเฑียร

the closing event

ภายในงานเปิดนิทรรศการตลอดเสาร์อาทิตย์สุดท้ายของปี 2563 นอกจากผลงานศิลปะของมณเฑียรที่นาวินและทีมงานจัดทำขึ้นใหม่ และผลงานของนาวินที่สร้างสรรค์เพื่ออุทิศแด่มณเฑียรแล้ว ก็ยังมีกิจกรรมเสวนาที่มีศิลปิน ภัณฑารักษ์ อาจารย์ และนักเขียนหลายท่านที่เคยใกล้ชิดกับมณเฑียรเข้าร่วมพูดคุยเกี่ยวกับชีวิตและผลงานของมณเฑียร รวมทั้งแลกเปลี่ยนเพื่อต่อยอดความคิดเกี่ยวกับศิลปะ มีนิทรรศการร่วมที่เป็นความร่วมมือกับ Montien Atelier จัดขึ้นที่โรงภาพปริศนาธรรม และนิทรรศการคู่ขนาน ‘Becoming Stupa’ ที่ DC Collection รวมถึง Navin Production ยังจัดพิมพ์หนังสือการ์ตูน ‘อุโมงค์อะไรเอ่ย’ ที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของวัดอุโมงค์ พูดง่ายๆ ก็คือ นิทรรศการจัดเต็มสเกลตามสไตล์ของนาวินอย่างที่เรารู้จักกันดี

the closing eventthe closing event

แต่มีอยู่อย่างหนึ่งที่นาวินยังทำไม่สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้เมื่อ 4 ปีก่อน คือหนังสือที่เป็นเรื่องราวและการอุทิศแด่มณเฑียร โดยหนังสือคือสื่อที่เขามักจัดทำควบคู่กับนิทรรศการเพื่อบันทึกข้อมูลสำหรับการค้นคว้าในอนาคต และจริงๆ แล้ว นาวินก็เริ่มวาดโครงการหนังสือเล่มนี้มาตั้งแต่นิทรรศการ ‘กลับไป จากมา’ (Revisited < > Departed) ที่จัดแสดงที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY เมื่อปี 2562 แล้วด้วยซ้ำ

ราวเดือนกรกฎาที่ผ่านมา เมื่อได้ข่าวว่านาวินจะจัดกิจกรรมสรุปโครงการ ‘จากไป กลับมา’ รวมทั้งมีการฉายภาพยนตร์สารคดีและเปิดตัวหนังสือ​ เราจึงได้รู้ว่าไม่เพียงความตั้งใจของเขาในครั้งนั้นจะสำเร็จลุล่วงแล้วเท่านั้น แต่นั่นย่อมแปลว่าตลอดเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา ระหว่างที่ทำงานโครงการอื่นๆ อย่าง Thailand Biennale ฯลฯ นาวินยังคงศึกษาและครุ่นคิดเกี่ยวกับศิลปะของมณเฑียรอย่างต่อเนื่อง

the closing event

กิจกรรมสรุปโครงการครั้งนี้จัดขึ้นสองวันคือ 16 – 17 สิงหาคม 2567 โดยเนื้อหาหลักๆ จะอยู่ที่กิจกรรมวันแรกที่มีการจัดฉายภาพยนตร์สารคดีที่หอสมุดธรรมโฆษณ์ วัดอุโมงค์ จากนั้นช่วงบ่ายจึงมีการเสวนาที่เริ่มจากหัวข้อการจัดทำภาพยนตร์และหนังสือ และความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะและพุทธศาสนา โดยมีประมวล เพ็งจันทร์ เข้าร่วมเสวนา ปิดท้ายด้วยวีดิทัศน์ธรรมโอวาทโดยพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

สำหรับภาพยนตร์สารคดีที่มีความยาวถึง 3 ชั่วโมง 10 นาที นั้น ใช้จดหมายที่นาวินเขียนถึงมณเฑียรเป็นบทภาพยนตร์ และเล่าเรื่องประกอบไปกับภาพของผู้คนในชีวิตของมณเฑียรที่นาวินและทีมงานเดินทางไปพบปะพูดคุยจนออกมาเป็นเรื่องราวในจดหมายดังกล่าว แต่แทนที่จะใช้เสียงของนาวินเป็นผู้เล่าเรื่องเพียงคนเดียว ก็เลือกให้ผู้คนเหล่านั้นมาผลัดกันอ่านเนื้อความในจดหมายเมื่อถึงตอนที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา

the closing event

ภาพยนตร์ดำเนินเรื่องอย่างเรียบง่าย แต่เพราะผู้คนในหนัง ที่มีทั้งศิลปิน ภัณฑารักษ์ แกลเลอริสต์ นักเขียนชื่อดังและศิลปินมากฝีมือที่อาจไม่มีคนรู้จักมากนัก เคยปรากฏให้เราเห็นมาก่อนในจิตรกรรมที่ติดตั้งอยู่ใน ‘Black Question’ (After Montien Boonma) (2563) ผลงานที่นาวินจัดทำขึ้นใน ‘จากไป กลับมา’ เมื่อ 4 ปีก่อน เราจึงเดินทางไปกับเรื่องราวได้ไม่ยาก เพราะตัวหนังพาเราไปรู้จักชีวิต เรื่องราว และความทรงจำของผู้คนเหล่านั้นที่มีต่อมณเฑียรในรายละเอียดและภาพที่จับต้องได้มากขึ้น

และแล้วระหว่างที่หนังเล่าเรื่องที่เรียงร้อยจากการบอกเล่าความทรงจำของผู้คนมากหน้าหลายตานี้เอง ความทรงจำของเราในฐานะผู้ชมที่ห่างหายจากเรื่องราวเหล่านี้ไป 4 ปี ก็ค่อยๆ ถูกปะติดปะต่อขึ้นอีกครั้ง

the closing event

แต่มีประเด็นหนึ่งที่เราสนใจมากที่สุดจากการรับชมภาพยนตร์ในวันนั้น คือ คำถามหนึ่งที่เหมือนดูจะวนเวียนอยู่ในใจนาวินมาตลอด โดยคำถามที่ว่าสะท้อนออกมาผ่าน ‘จดหมาย’ อันเป็นรูปแบบการเขียนที่ประมวลให้ความเห็นว่าสามารถเปิดเผยความรู้สึกนึกคิดภายในออกมาได้อย่างตรงไปตรงมามากที่สุด… นั่นคือ คำถามที่นาวินมีต่อการทำงานศิลปะของเขาเอง โดยเฉพาะในนิทรรศการครั้งนี้ที่ถูกวิจารณ์อย่างมากจากการนำผลงานของมณเฑียรมาสร้างขึ้นใหม่

the closing eventthe closing eventthe closing event

แน่นอนว่าศิลปะกับคำวิจารณ์นั้นเป็นของคู่กันที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะแม้แต่ลูกสาวของนาวินเองที่ศึกษาและเริ่มต้นทำงานศิลปะอยู่ในต่างประเทศ ก็ยังเจอกับคำวิจารณ์จากคนรอบข้างที่มีต่อการทำงานศิลปะของเธอ ส่วนนาวินเอง นี่ไม่ใช่แม้แต่ครั้งแรกที่ศิลปะของเขาถูกวิพากษ์ และก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาเกิดคำถามขึ้นบนเส้นทางศิลปะและชีวิต ซึ่งก็อาจเหมือนที่ วรเทพ อรรคบุตร ภัณฑารักษ์ของงานให้ความเห็นไว้ในหนังสือว่า เครื่องหมายคำถามและเครื่องหมายตกใจในศิลปะของมณเฑียรที่มีช่องว่างระหว่างกันและร้อยต่อกันไม่มีที่สิ้นสุดนี้ อาจตีความได้ว่าเพราะคำตอบที่ค้นพบกลายเป็นคำถามต่อไปไม่รู้จบ

ถึงแม้นาวินจะหวังให้นิทรรศการครั้งนี้เป็นการรำลีกถึงผู้ที่ ‘จากไป’ เพื่อให้เราได้ ‘กลับมา’ ค้นพบบางสิ่งบางอย่างที่เราอาจเคยมองข้ามหรือหลงลืม แต่นาวินก็ไม่ได้ให้คำตอบชัดเจนว่าอะไรคือส่งที่เขาค้นพบ และตลอดสองวันนั้นก็ไม่มีปฏิกิริยาใดตอบสนองออกมาเกี่ยวกับคำวิจารณ์นั้น ไม่ว่าจะในทางบวกหรือทางลบ และไม่ว่าจะเป็นบทสนทนาในสาธารณะหรือส่วนตัว แต่หลังจากติดตามผลงานศิลปะของเขาอย่างต่อเนื่องมามากกว่าสองทศวรรษ เราเชื่อว่า ‘ความจริงใจ’ คือสิ่งที่พบในศิลปะของเขาทุกชิ้น และก็คงเหมือนกับที่เขาให้คำแนะนำลูกสาวเพียงสั้นๆ ถึงการทำงานศิลปะว่า ศิลปะที่ทำนั้น ‘มันพูดกับเราหรือเปล่า’ ก็เท่านั้น

the closing event

the closing event

_
สำหรับผลงานติดตั้งจัดวาง ‘Vipassana-Vessel’ (2536) ของมณเฑียรที่นาวินจัดทำขึ้นใหม่ในปี 2563 ได้ย้ายไปติดตั้งถาวรในโรงภาพปริศนาธรรม พร้อมการจัดแสดงข้อมูลและภาพบันทึกจากนิทรรศการ ‘จากไป กลับมา’​ ส่วน ‘Black Question’ (After Montien Boonma) (2563) ได้ถูกย้ายไปติดตั้งในพื้นที่กลางแจ้งที่ StudiOK ของนาวิน

navinproduction.com
facebook.com/NavinProduction

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *