โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ปรับปรุงโฉมใหม่ภายใต้แนวคิด An Icon Reimagined ที่ปรับความเป็นไทยเข้ากับการใช้งานในยุคปัจจุบัน พร้อมให้ผู้เข้าพักรับประสบการณ์การมองกรุงเทพฯ ในรูปแบบใหม่
TEXT: NATHATAI TANGCHADAKORN
PHOTO COURTESY OF DUSIT THANI BANGKOK EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
หลังจากที่รอคอยกันมานานหลายปี ในที่สุดโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ก็พร้อมเปิดให้บริการเป็นคืนแรก เมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา นักออกแบบหลายคนคงจะได้ยลโฉมผลลัพธ์ของการรีโนเวท ภายใต้แนวคิด An Icon Reimagined กันไปบ้างแล้วไม่มากก็น้อย
การปรับปรุงครั้งนี้ได้ Dragon Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศไทย ที่ก่อตั้งโดยสองบริษัทสถาปนิกชั้นนำ ได้แก่ Architects 49 International Limited และ OMA Asia (Hong Kong) Limited มาเป็นผู้ดูแลส่วนโครงสร้าง และ P49 Deesign & Associates มาออกแบบเฉพาะชั้น Heritage Floor โดยอาคารมีความสูง 39 ชั้น และมีฟีเจอร์พิเศษคือห้องพักทั้ง 257 ห้อง จะได้รับทิวทัศน์สีเขียวขจีจากสวนลุมพินี โดยมีเมืองกรุงเทพฯ เป็นฉากหลัง จากการวางผังพื้นห้องพักด้วยระบบ single corridor ทำให้ตั้งแต่ยูนิตขนาดเล็กที่สุดไปจนถึงยูนิตขนาดใหญ่ที่สุด ล้วนได้รับประสบการณ์การมองกรุงเทพฯ ในรูปแบบใหม่ผ่านกระจกไร้รอยต่อผืนยาว รวมถึงห้องนภาลัย แกรนด์บอลรูม ที่อยู่เหนือล็อบบี้ เสมือนเก็บภาพเมืองไว้ในกรอบความทรงจำอันล้ำค่า หรือ Golden Frames of Memories ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคีย์เวิร์ดของดุสิตธานี กรุงเทพ
ด้านการออกแบบตกแต่งภายในที่เป็นส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์จิตวิญญาณของดุสิตธานีที่มี ‘ความเป็นไทย’ เข้มข้นนั้น ทาง André Fu Studio สตูดิโอออกแบบจากฮ่องกงได้ทำงานร่วมกับทีมงาน in-house ของโรงแรมเพื่อชั่งน้ำหนักระหว่างการเก็บรักษาและการออกแบบใหม่ให้ตอบรับความต้องการของผู้เข้าพักภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคปัจจุบัน ผลลัพธ์จึงยังมีการคงองค์ประกอบเดิมที่เป็นแก่นเอาไว้ เช่น งานจิตรกรรมบนเสาหลักสองต้นของ กูฏ หรือไพบูลย์ สุวรรณกูฏ ที่ถูกนำมาตั้งเคียงคู่กับบาร์ที่เป็นจุดรวมสายตาของล็อบบี้ปัจจุบัน งานแกะฉลุไม้และตกแต่งผนังด้วยไม้สักทองที่ถูกถอดและนำมาประกอบใหม่ เป็นต้น สอดคล้องกับรูปลักษณ์ภายนอกที่มีการเก็บยอดแหลมสีทองบนอาคารและชั้นน้ำตกไว้เช่นกัน
สิ่งที่เลือกเก็บไว้เหล่านี้ทำงานร่วมกับองค์ประกอบที่ถูกประยุกต์ใหม่ให้มีความลงตัวและทันสมัย ล็อบบี้ของโรงแรมที่มักเป็นพื้นที่สร้างความประทับใจแรกให้แก่แขก ถูกแบ่งเป็นสัดส่วนด้วยพาร์ทิชันลอยตัว เพื่อลดความอึดอัดจากความแตกต่างระหว่างสเกลมนุษย์กับสเปซลง ส่วนฝ้าของล็อบบี้ ผู้ออกแบบได้นำแพทเทิร์นเดิมมาปรับเข้ากับรูปทรงเรขาคณิต ซึ่งเชื่อมโยงกับลวดลายแปดเหลี่ยมในบริเวณอื่นๆ เป็นการเปิดโอกาสให้งานตกแต่งมีอิสระมากขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องเป็นลายไทยเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการตีความคำว่า ‘ดุสิต’ ซึ่งเป็นชื่อชั้นสวรรค์ในฉกามาพจร แล้วสื่อสารด้วยเมฆ ที่เป็นสัญลักษณ์แทนท้องฟ้า ทั้งบนลายกระเบื้อง ทรงโคมไฟ รวมถึงเหล็กดัดที่ใช้ตกแต่งต่างๆ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีองค์ประกอบมากมายเหลือเกินในดุสิตธานี กรุงเทพเวอร์ชันนี้ ในภาพรวมก็ต้องนับว่าทีมออกแบบสามารถสร้างภาพรวมของงานออกแบบที่กลมกลืนและมีเอกลักษณ์ได้ดีทีเดียว
นอกจากทิวทัศน์แล้ว ทีมออกแบบยังได้เลือกใช้ผนังไม้ที่ถอดแบบให้คล้ายคลึงฝาปะกน มาติดตั้งบนผนังด้านหนึ่งของห้องพัก ช่วยเสริมให้ภายในห้องมีมิติและลูกเล่นมากขึ้นจากการเปลี่ยนวัสดุและแนวระนาบ และใช้สีโทนอ่อนร่วมกับสีของเนื้อไม้และสีเขียวอ่อนเพื่อเพิ่มความเชื่อมต่อกับธรรมชาติภายนอก แตกต่างจากการตกแต่งห้องอาหารโฉมใหม่ในชื่อเดิมอย่าง ‘Pavilion’ ที่สลับเป็นสไตล์ tropical ซึ่งมีสีสันที่จัดจ้านกว่า ช่วยให้การนั่งรับประทานอาหารไทยและอาหารจีนไม่จืดชืด
ทั้งนี้การเปิดตัวโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพเป็นเพียงส่วนแรกของโปรเจกต์ Dusit Central Park ใจกลางย่าน CBD ของกรุงเทพฯ เท่านั้น บาร์และร้านอาหารในโรงแรมเองก็ยังไม่ได้เปิดครบเต็มอัตราศึก ต้องรอดูกันต่อไปว่าร่างสมบูรณ์ของที่นี่จะมีความน่าตื่นเต้นแบบไหนมาให้เราชมอยู่อีกบ้าง