Blood Rain เป็นการนำนิยายโกธิคมาตีความใหม่ในรูปแบบภาพยนตร์ ซึ่งนอกจากจะใช้ความประทับใจพามาสู่เรื่องราวในแบบของตัวเองแล้ว ผู้กำกับยังมอบสุนทรียะอันแสนท้าทายที่เล่นล้อกับคนดูขนานแท้
TEXT: NUTTARAT PUNJAWILAIPIBOON
IMAGE COURTESY OF ACHITAPHON PIANSUKPRASERT
(For English, press here)
‘Blood Rain(ฝนเลือด)’ เป็นผลงานกำกับของอชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ ศิลปิน นักเขียน และนักทำหนังอิสระ ผู้สร้างสรรค์ออกมาในรูปแบบอนิเมชัน (animation) นำเสนอภาพการหลอกหลอนของผีสางกับเสียงฝน โดยอชิตพนธิ์ได้เชื่อมโยงมุมมองของรากศัพท์ของคำเรียกสื่อ ‘อนิเมชัน’ ซึ่งมีรากฐานโยงกับคำภาษาละตินที่มีความหมายดั้งเดิมคือ จิตวิญญาณและลมหายใจ แนวคิดของการให้ชีวิตและลมหายใจเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวนั้น ยังเชื่อมกับแนวคิดวิญญาณนิยม (animism) ที่คำนึงว่าในสรรพสิ่งมีดวงจิตเคลื่อนไหวอยู่อีกด้วย
อชิตพนธิ์เคยพูดไว้ว่าแรงบันดาลใจในการทำหนังของเขาคือ นวนิยายโกธิคเรื่อง Carmilla ประพันธ์โดย Joseph Sheridan Le Fanu ที่ถือเป็นต้นฉบับของวรรณกรรมแนวผีดูดเลือดอันดับต้นๆ ของโลก เนื้อหานำเสนอหญิงสาวนาม Laura ผู้มีความสัมพันธ์เชิงรักเพศเดียวกันกับแวมไพร์สาว Carmilla ทว่า อย่าคาดหวังว่าโครงเรื่องของนิยายเรื่องนี้ จะถูกนำมาทำให้มีชีวิตและนำเสนอบนจอภาพยนตร์ หนังเรื่องนี้เป็นผลงานตัวอย่างของ ‘ความประทับใจที่กลายเป็นแรงบันดาลใจ’ แทนที่จะเป็นการดัดแปลงหรือการทำซ้ำ ดังนั้นผู้กำกับเหมือนได้นำความประทับใจต่อเนื้อหาแล้วตีความแบบขยายแนวคิดเรื่องภูตผี นำมาผสมกับบริบทสังคมไทย
ถ้อยความที่ปรากฏในช็อตแรกคือ ‘คุณคือภูตผี’ เหมือนวัตถุประสงค์ของหนังที่นำพาผู้ชมกลายเป็นตัวละครของผี ตลอดชั่วโมงกว่า ทุกช็อตที่ปรากฏบนจอใหญ่ดูเหมือนภาพที่ภูตผีมอง มันแตกต่างจากการมองของคนมีชีวิตอยู่อย่างชัดเจน มันช่างวิปริตผิดเพี้ยน เหนือจริงและขนลุก ตัวอย่างเช่น ช็อตเปลวไฟในลักษณะเบลอๆ กำลังร่ายรำ ภาพถ่ายเบลอ ภาพของหัวกะโหลกที่มีดาบเสียบแทงอยู่ กระนั้นมันก็สร้างความตราตรึงราวกับเรากำลังก้าวสู่อาณาจักรของวิญญาณเร่ร่อน
ในหนังมีเสียงฝนพรำตลอดทั้งเรื่อง ที่เราอาจจะตีความได้ว่าเหล่าภูตกำลังเร่ร่อนในดินแดนเขตร้อนที่ฝนตกตลอดเวลา (ซึ่งอาจจะอ้างถึงประเทศไทย) มีความรุนแรงและความตาย ฝนที่ตกจึงแปดเปื้อนด้วยเลือดซึ่งสอดคล้องกับชื่อหนัง ‘ฝนเลือด’ ขณะเดียวกันก็มีเสียงราวกับใครบางคนกำลังเคาะบนสสารเนื้อไม้เป็นระยะๆ ราวกับเสียงเคาะโลงในงานศพ โรงภาพยนตร์ที่ฉายเรื่องนี้จึงคล้ายกับโลงศพขนาดใหญ่ก็ไม่ปาน แล้วความรู้สึกก็ชัดเจนเมื่อหนังจบลงด้วยเสียงเตือนดังลั่น ดั่งสัญญาณของการเตรียมตัวเข้าสู่พิธีฌาปนกิจ
คงเป็นไปได้ว่าผู้ชมหลายคนยากที่จะหาความสนุกสนาน เพราะองค์ประกอบของหนังห่างไกลจากสูตรสำเร็จทั่วไปมาก ไม่มีพล็อต ไม่มีไคลแมกซ์ หรือกระทั่งการคลี่คลาย อาจจะเปรียบเทียบกับ Begotten หนังเซอร์รีลปี พ.ศ. 2532 กำกับโดย E. Elias Merhige ที่นำเสนอความรุนแรงโจ่งแจ้งผ่านภาพขาวดำที่สีตัดกันสุดขั้ว แต่ฝนเลือดได้วางตำแหน่งของผู้ชมให้เป็นตัวละครแทน กระนั้น นอกจากนับเป็นความกล้าหาญที่น่าชื่นชมของอชิตพนธิ์ ในการนำเศษส่วนของความประทับใจต่อนิยายทำออกมาเป็นฉบับใหม่ในแบบของตัวเองแล้ว ‘ฝนเลือด’ ยังมอบสุนทรียะอันแสนท้าทายที่เล่นล้อกับคนดูขนานแท้