RETOUCH AYUTTHAYA

RETOUCH AYUTTHAYA

แอปพลิเคชัน AR โดย Conserve Studio ได้ฉายซ้อนภาพสันนิษฐานสถาปัตยกรรม 3 มิติภายในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาในรูปแบบการรีทัชมุมมองผ่านกล้องบนสมาร์ทโฟน

TEXT: SURAWIT BOONJOO
PHOTO & IMAGE COURTESY OF CONSERVE STUDIO

(For English, press here) 

นี่คือแอปพลิเคชัน AR ที่น่าสนใจด้วยรูปแบบการรีทัชมุมมองผ่านกล้องบนสมาร์ทโฟน และฉายภาพสันนิษฐาน 3 มิติ ซ้อนทับลงบนเลนส์ด้วยการเชื่อมร้อยพื้นที่จริงเข้ากับระบบแสดงภาพเสมือนที่สามารถปรับแต่งความโปร่งใสและถ่ายภาพร่วมไปกับภาพจำลอง Retouch Ayutthaya ได้ถ่ายทอดสัมผัสแห่งอดีตของสิ่งต่างๆ รอบตัว พร้อมกับชวนให้ผู้ใช้งานสำรวจโบราณสถานสำคัญๆ ภายในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ วัดมหาธาตุ วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดโลกยสุธา วัดใหญ่ชัยมงคล และวัดไชยวัฒนาราม ด้วยทัศนียภาพของอดีตที่กรุงศรีอยุธยายังคงรุ่งเรือง

RETOUCH AYUTTHAYA

Retouch Ayutthaya เป็นผลงานออกแบบโดย Conserve Studio ออฟฟิศออกแบบและพัฒนาที่ให้ความสนใจการผนวกองค์ความรู้ทางวิชาการจากการศึกษาและวิจัยสถาปัตยกรรมไทยโบราณผสานไปกับหลักการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมในปัจจุบัน ก่อนปรับประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เอื้อให้เกิดความเข้าใจและการรับรู้ในมิติใหม่อันหลากหลาย สตูดิโอแห่งนี้ก่อตั้งโดย นิธิณัช สังสิทธิ, ธิติวุฒิ วิเชียรนุกูล และณัฐพงษ์ นันฑบุญ สามเพื่อนร่วมรุ่นในสาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

RETOUCH AYUTTHAYA

(ซ้ายไปขวา) ณัฐพงษ์ นันฑบุญ, ธิติวุฒิ วิเชียรนุกูล และนิธิณัช สังสิทธิ

“การนำเสนอภาพสันนิษฐานบนแอปพลิเคชันของเรา ประมวลขึ้นจากการเก็บข้อมูลที่ปรากฏอยู่ของซากโบราณสถานนั้นๆ ประกอบกับภาพและข้อมูลการพรรณนาจากเอกสารประวัติศาสตร์และบันทึกโบราณ ตัวอย่างสถาปัตยกรรมที่คงเหลือในปัจจุบัน ภาพถ่าย รวมไปถึงงานศึกษาวิจัยในระดับปริญญาโทและเอกที่มีการสันนิษฐานข้อมูลรายละเอียดลวดลาย สีสันของหลังคา พื้นผิวของเจดีย์ สัดส่วนหรือความสูงของเสาอาคาร” ณัฐพงษ์อธิบายถึงที่มาที่ไปของรูปแบบหรือรายละเอียดของผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่ปรากฏบนแอปพลิเคชัน 

ธิติวุฒิเพิ่มเติมว่า “เราพิจารณาหลักฐานเหล่านั้นมาอย่างถี่ถ้วน ก่อนจะเป็นภาพสันนิษฐานตามที่ปรากฏ หากแต่ในส่วนที่ซากเหลืออยู่ไม่ชัดเจน เราก็จะพยายามสันนิษฐานรูปแบบตามความเป็นไปได้ เทียบเคียงไปกับอาคารที่อยู่ร่วมสมัย ในแต่ละที่ก็จะมีระดับการสันนิษฐานที่ต่างกันออกไป อย่างที่วัดไชยวัฒนารามซึ่งปรากฏหลักฐานรูชัดเจนที่องค์พระปรางค์ จึงนำไปสู่ภาพสันนิษฐานพระปรางค์สีทองจากการประดับแผ่นโลหะทองจังโก ตรงกันข้ามกับองค์พระปรางค์ประธานของวัดมหาธาตุที่พังทลายไม่หลงเหลือเลย เราก็จะใช้เอกสารเก่าอย่างบันทึกราชทูตลังกาที่บรรยายว่า องค์พระปรางค์เป็นสีทองเหลืองอร่าม ร่วมไปกับการสันนิษฐานรูปแบบสถาปัตยกรรมเทียบเคียงกับอาคารร่วมสมัยแห่งอื่น” 

RETOUCH AYUTTHAYARETOUCH AYUTTHAYARETOUCH AYUTTHAYARETOUCH AYUTTHAYARETOUCH AYUTTHAYARETOUCH AYUTTHAYA

นิธิณัชเล่าเสริมว่า ในกรณีของกลุ่มอาคารไม้ที่ตั้งอยู่หลากหลายหลังร่วมกันภายในวัดแห่งนั้น ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีถึงรูปแบบและข้อมูลวัสดุ โดยเฉพาะหลังคาว่ามุงด้วยวัสดุอะไร ก็จะนำไปสู่การสันนิษฐานรูปแบบวัสดุและสีสันของกระเบื้องมุงบนความน่าจะเป็น กล่าวคือ พวกเขาจะเลือกนำแบบกระเบื้องที่ได้รับความนิยมในสมัยกรุงศรีอยุธยาตามข้อมูลจากการศึกษามาเป็นแม่แบบในการสันนิษฐานเบื้องต้น ก่อนจะปรับดัดแปลงให้อาคารแต่ละหลังมีความแตกต่างกันไปในรายละเอียดรูปทรงและสีสัน เพื่อนำเสนอภาพตามความน่าจะเป็นที่อาคารแต่ละหลังจะมีการเลือกใช้วัสดุที่ต่างออกไป แต่ก็ยังคงคล้ายคลึงกัน ด้วยคำนึงถึงระยะเวลาในการสร้างหรือการบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามในช่วงเวลาที่ต่างกันออกไป

RETOUCH AYUTTHAYA

RETOUCH AYUTTHAYA

ทั้งหมดนี้นำไปสู่การออกแบบภาพสันนิษฐานที่สามารถมองเห็นได้รอบทิศทางผ่านกล้อง เมื่อใช้งานแอปพลิเคชันทาบซ้อนไปกับภาพซากหรือฐานรากโบราณ ก็จะปรากฏสถาปัตยกรรมจำลองขึ้นบนสภาพแวดล้อมพื้นที่จริง พร้อมกับการเข้าถึงข้อมูลเบื้องต้นและชมผังอาคารได้อย่างละเอียด อย่างไรก็ตามทีมผู้ออกแบบและพัฒนายังคงเน้นย้ำและมุ่งหวังที่จะสร้างเสริมประสิทธิภาพการใช้งานให้สูงยิ่งขึ้น ทั้งการระบุตำแหน่ง GPS ให้แม่นยำ การบอกเล่าอธิบายข้อมูลสำคัญของแต่ละอาคารในเชิงลึกด้วยการบูรณาการจากการศึกษาและวิจัยทางวิชาการ ทั้งนี้ในอนาคตทีมงานยังมองถึงการขยายขอบเขตพื้นที่ไปยังโบราณสถานแห่งอื่นในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมไปถึงอุทยานประวัติศาสตร์แห่งอื่นในประเทศไทย เช่น สุโขทัย กำแพงเพชร อีกด้วย


Retouch Ayutthaya เป็นแอปพลิเคชันที่ฉายซ้อนภาพสันนิษฐานสถาปัตยกรรม 3 มิติ บนภูมิทัศน์อันคำนึงถึงองค์ประกอบรายละเอียดของความน่าจะเป็น นอกจากจะส่งเสริมสร้างสรรค์ประสบการณ์การมองเห็นและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ด้วยฉากภาพที่ไม่เคยเห็นแล้ว ก็ยังเป็นรากฐานให้เกิดการศึกษาและพัฒนาต่อยอดจากภาพเสมือนอาคารสถาปัตยกรรมโบราณต่อไปในหลายแง่มุมไว้อย่างชวนให้ติดตาม ถ้าหากสนใจก็สามารถดาวน์โหลดและทดลองซ้อนทับรีทัชมุมมองอดีตร่วมกับปัจจุบัน พร้อมกับเรียนรู้ข้อมูลของสถาปัตยกรรมต่างๆ ใน 5 แห่งโบราณสถานสำคัญของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ทั้งจาก App Store และ Play Store

RETOUCH AYUTTHAYA

retouchayutthaya.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *