นิทรรศการปฐมฤกษ์ของ POLY MGM MUSEUM ที่ MGM MACAU ซึ่งพาผู้ชมไปสัมผัสกับศิลปวัตถุและงานศิลปะที่น่าประทับใจกว่า 228 ชิ้นจาก 184 ชุด ที่บอกเล่าเรื่องราวของ ‘เส้นทางสายไหมทางทะเล’
TEXT: NATHATAI TANGCHADAKORN
PHOTO COURTESY OF POLY MGM MUSEUM EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
Maritime Silk Road เป็นนิทรรศการที่จัดขึ้นเพื่อประเดิมการเปิดตัวของสถานที่อย่าง POLY MGM MUSEUM โดย Poly Culture และ MGM ในมาเก๊า ที่เพิ่งเปิดให้เข้าชมเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยนิทรรศการนี้ได้รับความร่วมมือจากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติและสถาบันด้านวัฒนธรรมชั้นนำต่างๆ ในจีนกว่า 20 แห่ง เพื่อนำชิ้นงานกว่า 228 ชิ้นจาก 184 ชุด มาจัดแสดงและเสริมความต่อเนื่องของ ‘เส้นทางสายไหม’ ที่ครั้งหนึ่งเคยเชื่อมต่อนานาประเทศไว้ด้วยกัน
หลายคนอาจคุ้นเคยชื่อเส้นทางสายไหมในฐานะเส้นทางการค้าขายซึ่งเชื่อมโลกตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกันผ่านเส้นทางบก และรุ่งเรืองถึงขีดสุดด้วยสินค้าเลื่องชื่อจากแผ่นดินจีนอย่างผ้าไหม แต่ความจริงแล้วเส้นทางสายไหมยังมีเส้นทางน้ำสำหรับเรือที่ลำเลียงสินค้าไปตามเมืองท่าเช่นกัน โดยเส้นทางสายไหมทางทะเลหรือ Maritime Silk Road นี้ได้ล่องผ่านคาบสมุทรมลายู มหาสมุทรอินเดีย ทะเลอาหรับ และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน กล่าวคือเปี่ยมด้วยความหลากหลายที่แตกต่างกับเส้นทางบก ทั้งยังเหมาะสมกับทำเลของ POLY MGM MUSEUM ที่เปิดตัวในเมืองท่าพหุวัฒนธรรมอย่างมาเก๊า
เนื้อหาของงานนิทรรศการถูกแบ่งเป็น 4 บท โดยบทแรก ‘Monsoon’ พาผู้ชมไปทำความเข้าใจรากฐาน ความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับทะเลในอดีตกาล ซึ่งแต่เดิมเริ่มต้นจากความเชื่อและความเคารพในตัวตนอันศักดิ์สิทธิ์ อันจะเห็นได้จากปกรณัมในภูมิภาคต่างๆ ที่ล้วนมี ‘เทพแห่งการเดินเรือ’ หรือ ‘เทพแห่งท้องทะเล’ อยู่เสมอ ก่อนจะพัฒนามาสู่การเดินเรืออย่างมีหลักการตามองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น จากนั้นในบทที่สอง ‘Cultural Origin’ ค่อยเข้าสู่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของ Maritime Silk Road ผ่านวัตถุโบราณที่ถูกเก็บกู้ขึ้นมาจากก้นทะเล วัตถุที่นำมาจัดแสดงในบทนี้ขับเน้นให้เห็นว่าวัฒนธรรมของแต่ละชาติถูกแลกเปลี่ยนกันอย่างไร และแลกเปลี่ยนอะไรบ้าง โดยมีตัวละครหลักเป็นภาชนะพอร์ซเลนของจีนตั้งแต่ยุคราชวงศ์ฮั่นจนถึงซ่ง ซึ่งมีความแตกต่างจากพอร์ซเลนในภาพจำของเราที่เป็นพื้นขาวลายน้ำเงิน โดยนอกจากงานฝีมือที่น่าตื่นตาแล้ว ตู้กระจกที่ใช้จัดแสดงยังรองรับระบบ interactive ให้ผู้ชมสามารถหมุนโมเดล 3 มิติเล่นได้อีกด้วย
ถัดมาคือบทที่มีชื่อว่า ‘Integration’ ซึ่งพูดถึงยุคปัจจุบันที่เป็นผลลัพธ์ของสิ่งที่เกิดขึ้นในบทก่อนหน้า ทั้งวัฒนธรรมบางส่วนของชาวตะวันออกและตะวันตกที่หลอมเข้ากันอย่างกลมกลืนหลังการแลกเปลี่ยนสินค้าและองค์ความรู้ หรือความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างเมืองต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยบทนี้แบ่งหัวข้อย่อยลงไปอีก 4 ส่วน ได้แก่ trade commodities (การค้าขาย), pioneering envoys (การทูต), cultural heritage (มรดกทางวัฒนธรรม) และ immigration boom (การอพยพย้ายถิ่นฐาน)ความน่าสนุกของนิทรรศการคือไม่ได้เป็นเพียงการจัดแสดงให้ผู้ชมเห็นภาพในอดีต ทว่าพยายามเชื่อมโยงไปสู่อนาคตด้วย ในบทสุดท้าย ‘Connections’ จึงเป็นการบอกเล่าถึงทะเลผ่านสื่อสมัยใหม่ทั้งหลาย อาทิ รูปถ่าย รูปวาด รวมถึงงานอินสตอลเลชัน โดยมีทั้งวัตถุโบราณต่างๆ ที่ถูกจัดแสดงด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยจนกลายเป็นประสบการณ์ใหม่ให้เราได้สัมผัส และงานศิลปะที่ผู้สร้างสรรค์ในยุคใหม่ประยุกต์ใช้เทคนิคแบบเดิม เป็นการจบการเดินชมนิทรรศการด้วยความคาดหวังต่ออนาคต ทั้งด้านนวัตกรรมและความสามารถของมนุษย์เรา
แม้ว่านิทรรศการจะแบ่งออกเป็น 4 บทตามช่วงเวลาอย่างชัดเจน ทว่าการเดินชมกลับไม่ถูกบังคับให้เป็นไปตามลำดับหรือแยกห้องออกจากกัน POLY MGM MUSEUM เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เดินสำรวจเนื้อหาส่วนต่างๆ อย่างอิสระได้ด้วย โดยแบ่งสัดส่วนด้วยพาร์ทิชันให้เราสามารถเห็นวัตถุจัดแสดงอีกมุมหนึ่งของห้องได้ไกลๆ คนที่ต้องการรับรู้เรื่องราวของแต่ละบทก็แค่เดินตรงไปตามทาง หรือจะออกสำรวจสบายๆ เดินเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาตามของที่สะดุดตาก็ได้เหมือนกัน
Maritime Silk Road วนเวียนอยู่ระหว่างความเชื่อมโยงของฟากตะวันออกและตะวันตกของโลก สิ่งที่จับต้องได้อย่างงานศิลปะกับสิ่งที่จับต้องไม่ได้อย่างวัฒนธรรมและความเชื่อ วัตถุเก่าและเทคโนโลยีใหม่ ประวัติศาสตร์และการคาดเดาสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่ทุกส่วนนั้นสามารถไหลลื่นต่อกันอย่างเป็นธรรมชาติภายในพื้นที่ของ POLY MGM MUSEUM ที่ตัวมันเองก็เป็นเสมือนวัตถุจัดแสดงชิ้นหนึ่ง หากแต่อยู่ในรูปแบบขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของจีนที่ล้อมรอบผู้ชม
Maritime Silk Road กำลังจัดแสดงอยู่ที่ POLY MGM MUSEUM ที่โรงแรม MGM MACAU และจะมีให้ดูกันยาวๆ ไปถึงเดือนกันยายน 2568 โดยสามารถจองรอบการเข้าชมล่วงหน้าได้ที่ museum.mgm.mo โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
museum.mgm.mo