art4d สนทนากับ ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม ถึงการออกแบบประติมากรรมที่ดึงกลิ่นอายความเป็นออสเตรเลียในพื้นที่ศุภาลัย ไอคอน สาทร
TEXT: CHIWIN LAOKETKIT
PHOTO: SUKIT SUDNAN
(For English, press here)
หลายคนอาจจะมีภาพจำบนถนนสาทร เป็นอาคารสถานทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ขนาดเกือบ 8 ไร่ เป็นตึกสีเหลืองมัสตาร์ดที่เป็นแลนด์มาร์กคุ้นตา หรือเป็นที่คุ้นเคยกับสถาปนิก นักออกแบบที่สนใจผลงานของ Ken Woolley ที่มี หม่อมหลวงตรีทศยุทธ เทวกุล เป็นที่ปรึกษา เมื่อเวลาของอาคารสถานทูตฯ ที่เปิดทำการมากว่า 39 ปี ต้องย้ายไปยังที่ตั้งแห่งใหม่ผ่านพ้นไป ผืนดินแห่งนี้ได้เป็นที่ตั้งของโครงการศุภาลัย ไอคอน สาทร ซึ่งนำโดย ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม สถาปนิกเจ้าของศุภาลัย ได้วางแผนสานต่อด้วยการดึงกลิ่นอายความเป็นออสเตรเลียที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ พร้อมกับสร้างพื้นที่สีเขียวให้เป็นแลนด์มาร์กของคนกรุงเทพฯ รวมถึงจัดวางประติมากรรมสัตว์อยู่ตามมุมต่างๆ ให้ผู้ใช้อาคารได้รับความเพลิดเพลิน
“พูดถึงออสเตรเลียแล้ว ทำให้ผมนึกถึงสัตว์ของออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลียเป็นทวีปที่แยกออกไปจากผืนแผ่นดินของทวีปอื่น เหล่าสรรพสัตว์จึงมีความไม่เหมือนกับประเทศอื่นๆ ทั้ง จิงโจ้ โคอาลา นกอีมู ตุ่นปากเป็ด อีคิดนา นี่เป็นจุดเริ่มต้นของงานออกแบบประติมากรรมที่ผมเลือกนำมาจัดวางที่ศุภาลัย ไอคอน สาทร”
ล่าสุด ดร.ประทีปบอกกับ art4d ว่า หลังจากขยายธุรกิจเครือศุภาลัยในประเทศออสเตรเลียกว่า 11 ปี ทำให้ได้เห็นชิ้นงานประติมากรรมของเหล่าจิงโจ้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจิงโจ้พ่อแม่ลูกยืนด้วยท่วงท่านิ่งๆ ดร. ประทีป จึงคิดสวนทางประกอบเป็นไอเดียมาสเก็ตช์ภาพของจิงโจ้ 5 ตัวที่ไล่เรียงร่างกายเกาะเกี่ยวกันในท่วงท่ากระโดดที่มีรูปทรงสอดคล้องกับยอดหลังคาที่มีรูปทรงโค้งครึ่งวงกลมของโครงการศุภาลัยฯ แห่งนี้
“เป็นจิงโจ้ที่กระโดดข้ามน้ำพุ เสมือนเป็นอุปสรรคที่เราต้องก้าวไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเสมอ” ดร.ประทีปเล่าแนวคิดพร้อมกับเสริมว่า มีจุดเล็กๆ ถ้าไม่สังเกตจะไม่มีทางเห็น มีจิงโจ้อยู่ 1 ตัวที่มีกระเป๋าหน้าท้องและการโผล่หน้าของลูกจิงโจ้ ทั้งหมดนี้คือประติมากรรม The Leaping–Forward Kangaroos จึงมีจิงโจ้อยู่ 6 ตัว หล่อด้วยโลหะบรอนซ์
นอกจากนั้น ในสวนบริเวณด้านข้างและด้านหลังอาคาร ซึ่งเป็นไอเดียตั้งต้นในการเก็บรักษาต้นไม้ใหญ่ของสถานทูตออสเตรเลียเอาไว้ ดร.ประทีปได้เล่าว่าช่วงไปเรียนต่อด้าน housing ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้คนเริ่มให้ความสนใจเรื่องการสร้างสถาปัตยกรรมจะมีส่วนในการกำหนดพฤติกรรมของผู้คน และในสหรัฐอเมริกามักมีสวนหลังบ้านที่เงียบสงบและให้ความรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย ในสวนของศุภาลัย ไอคอน สาทร จึงยังมีประติมากรรมสัตว์อีกหลายชนิดซุกซ่อนอยู่ ซึ่ง ดร.ประทีปได้ลงมือร่างแบบประติมากรรมอีก 1 ชนิดเป็นเหล่าโคอาลาที่เกาะต้นไม้อยู่ในสวน
“ผมต้องการให้โคอาลาเรืองแสงสว่างไสว ก็ต้องลงรายละเอียดในวัสดุที่เป็นไฟเบอร์กลาสให้มีความน่ารัก ดูตัวกลมๆ นุ่มๆ และเจ้าโคอาลาต้องปีนต้นไม้ จึงสร้างสภาพแวดล้อมที่มีต้นไม้จริง พร้อมกับต้นไม้เทียม ซึ่งควรเป็นทองแดงมาเจาะรูให้แสงส่องออกจากด้านในมาได้ จึงกลายมาเป็น The Illuminating Koalas”
ท้ายที่สุด art4d ได้สอบถาม ดร.ประทีปที่ทำงานมาอย่างต่อเนื่องทั้งการออกแบบสถาปัตยกรรมและประติมากรรมว่ามีเป้าหมายอยากออกแบบอาคารหรืองานศิลปะชิ้นใดอีกบ้างในชีวิต
สถาปนิกเจ้าของศุภาลัยตอบว่า “สิ่งที่ผมคิดอยู่มีโครงการใหญ่บั้นปลายชีวิต ผมอยากสร้างทำ Prateep’s Vision Art Museum เพื่อสร้างศูนย์การเรียนรู้เรื่องสถาปัตยกรรมและผังเมือง พร้อมด้วยการออกแบบนานาชนิด จิตรกรรม ประติมากรรม และภาพถ่าย ไปจนถึงทัศนศิลป์ในด้านต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกและจิตวิญญาณของมนุษย์”
“สำหรับพิพิธภัณฑ์นี้คือสถาปัตยกรรมที่เสมือนประติมากรรมชิ้นใหญ่ที่เราสามารถสัมผัสได้ มีพื้นผิวเรียบ ขรุขระ มีหลายมิติซับซ้อน บางแห่งอาจมีเสียงเข้ามาผสมผสานด้วย อีกส่วนหนึ่งผมมีแผนอยากให้เป็นพื้นที่สำหรับเด็กและเยาวชน ถ้าเด็กๆ ได้เรียนรู้และเล่นกับสิ่งที่สอดแทรกในความเป็นศิลปะกับวิทยาศาสตร์ ยกตัวอย่าง เทคนิคภาพ optical illusion arts ทั้งการมองเส้นตรง เส้นโค้ง จะทำให้สมองทั้ง 2 ข้างของพวกเขาบาลานซ์กันและมีความสุข มีวิสัยทัศน์มองไปข้างหน้า ผมคาดหวังว่าจะสร้างพิพิธภัณฑ์ให้มีขนาดยิ่งใหญ่และสามารถเข้าถึงผู้คนได้กว้างขวาง เพื่อเป็นสถานที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้คนและเยาวชนในด้านศิลปกรรมแขนงต่างๆ ซึ่งประเทศไทยเรายังขาดแคลน”