NEW OFFICE AT

New Office AT

New Office AT

การออกแบบสำนักงานของ Office AT ที่สะท้อนปรัชญาและการใช้งานที่ตอบโจทย์ทุกฟังก์ชันของสถาปนิก

TEXT: XAROJ PHRAWONG
PHOTO: RUNGKIT CHAROENWAT

(For English, press  here)

สำนักงานสถาปนิกมี 2 แบบ แบบแรกคือสำนักงานที่ตั้งอยู่ในอาคารที่สถาปนิกไม่ได้ออกแบบเอง และแบบที่สองคือสำนักงานที่ตั้งอยู่ในอาคารที่สถาปนิกได้ออกแบบให้ตัวเอง ซึ่งพื้นที่สำนักงานสถาปนิกอย่างหลังนั้นมีกระบวนการออกแบบที่น่าสนใจ เพราะการตั้งโจทย์ในการออกแบบมาจากความเข้าใจความต้องการของตัวเองจริงๆ รวมถึงยังสะท้อนปรัชญาการออกแบบของตัวเองได้มากที่สุด

New Office AT

สำนักงานสถาปนิก Office AT เดินทางในวงการออกแบบสถาปัตยกรรมมาเป็นเวลา 20 ปี จากแต่เดิมใช้ทาวน์เฮาส์เป็นสำนักงาน จนเมื่อโจทย์ใหม่ได้เริ่มขึ้นจากการได้ที่ดินข้างเคียงสำนักงานเดิม จึงเป็นโอกาสดีในการที่สถาปนิกจะได้ออกแบบสำนักงานของตัวเอง การออกแบบเพื่อรองรับการขยายตัวจึงเริ่มต้นออกแบบในปี พ.ศ. 2562 และก่อสร้างแล้วเสร็จ พ.ศ. 2564 โจทย์เริ่มต้นที่แบ่งตัวอาคารออกเป็น 2 เฟส เฟสแรกเป็นสำนักงานที่เริ่มทำการก่อสร้างก่อนในด้านทิศตะวันตก จากนั้นจึงทำการก่อสร้างส่วนพักอาศัยทางฝั่งตะวันออก ซึ่งเมื่อสร้างจนเสร็จสมบูรณ์ทั้ง 2 เฟส จะเกิดโฮมออฟฟิศที่มีคอร์ทกลางเป็นตัวเชื่อมทั้ง 2 ส่วนเข้าหากัน

New Office AT

การจัดเรียงพื้นที่ใช้สอยเป็นไปตามการตีความของโจทย์ที่มีโปรแกรมคือพื้นที่ทำงานของสถาปนิก การจัดเรียงเน้นไปที่การใช้สอยตามลำดับในแนวดิ่ง พื้นที่ชั้น 1 เป็นส่วนสาธารณะทั้งที่จอดรถ ห้องประชุม 2 ห้อง ที่พร้อมปรับเปลี่ยนการใช้สอยให้มีความยืดหยุ่น สามารถเข้าถึงจากภายนอกได้โดยตรง และรองรับผู้มาเยือนโดยที่ไม่เข้าถึงพื้นที่ทำงานได้ การจัดพื้นที่วางให้ส่วนใช้สอยหลักหันหน้าไปยังทิศตะวันออก โดยมีสวนขนาดเล็กคั่นกลางระหว่างอาคารใหม่และสำนักงานเก่าที่เป็นทาวน์เฮาส์ พื้นที่ด้านทิศตะวันตกถูกวางให้เป็นส่วนบริการทั้งเป็นตู้เก็บของ ห้องน้ำขนาดเล็กที่ใช้งานได้ในพื้นที่กระชับซ่อนตัวมันเองไปกับผนังขาวอย่างแนบเนียน ในบางคราวห้องประชุมกลายเป็นห้องบันเทิงได้ในวาระเฉลิมฉลอง

New Office AT

สถาปนิกเลือกแกนสัญจรแนวตั้งเป็นบันไดทางทิศเหนือ จากชั้น 1 จะเข้าสู่พื้นที่ส่วนตัวสำหรับให้สถาปนิกทำงานที่ชั้น 2 ต้องผ่านการคัดกรองบริเวณทางขึ้นบันได จนเมื่อมาถึงยังพื้นที่ทำงาน การแบ่งส่วนการใช้สอยออกเป็น 2 ส่วนอย่างชัดเจน ฝั่งทิศเหนือถูกวางเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ ทั้งพื้นที่ใต้บันไดเป็นส่วนประชุมขนาดเล็กที่สามารถกลายเป็นโต๊ะทำหุ่นจำลองในบางเวลา ทั้งมีบันไดขึ้นชั้นลอยที่ไม่ได้เป็นแค่ทางสัญจร หากแต่ถูกแทรกด้วยที่นั่งไปกับบันไดแบบที่สถาปนิกเรียกว่า Event Stair ให้รองรับกิจกรรมชุมนุมขนาดย่อมได้ ส่วนพื้นที่ด้านทิศใต้เป็นพื้นที่ทำงานของเหล่าสถาปนิกในสำนักงานที่เป็นโถงสูง 2 ชั้น ปลายส่วนทำงานเป็นห้องทำงานส่วนตัว และห้องน้ำที่ออกแบบให้มีขนาดพอดีต่อการใช้สอยมากที่สุด

New Office AT

New Office AT

พื้นที่ชั้นลอยที่อยู่ระหว่างชั้น 2 และ 3 ยังถูกออกแบบไว้เป็นพื้นที่เก็บตัวอย่างวัสดุและหุ่นจำลองที่มีจำนวนมาก ชั้นวางหุ่นจำลองถูกออกแบบให้ห้อยโครงสร้างชั้นวางจากคานเหล็กที่รับพื้นชั้น 3 อันเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ที่ออกแบบไว้รองรับกิจกรรมนันทนาการที่หลากหลายทั้งการออกกำลังกาย ฉายภาพยนตร์ หรือปรับเป็นแกลเลอรี ตามวาระของการใช้สอยที่หลากหลาย

New Office AT

เมื่อออกมาดูด้านนอก การออกแบบเปลือกอาคารยังได้สะท้อนการใช้สอยภายในอย่างตรงไปตรงมา ส่วนที่สามารถเปิดเผยได้เป็นส่วนที่สถาปนิกใช้กระจกใสหุ้ม เพื่อเผยให้เห็นถึงจุดประสงค์การใช้สอยภายในแบบที่ไม่ต้องตีความ ส่วนทางสัญจรเช่นบันได ทางเดิน ที่ต้องการแสงธรรมชาติเป็นตัวนำทางมีการเลือกใช้วัสดุเป็นกระจกใส ส่วนสำนักงานมีการใช้ผนังทึบเพื่อป้องกันแสงทิศใต้ที่มีความแรงและมีมุมทแยงลึกที่อาจส่องเข้ามารบกวนการทำงาน ในขณะที่ทิศเหนือนั้นมีการใช้ชุดบันไดเหล็กพับตั้งแต่ชั้นที่ 1 ถึงชั้น 3 แทนบันไดแบบหนาที่คุ้นเคย เพื่อเปิดพื้นที่ให้ยังคงสามารถรับแสงทิศเหนือที่มีความนุ่มนวลเข้ามายังอาคารได้

นอกจากบันไดแผ่นเหล็กแล้ว โครงสร้างเสาคานเหล็กยังถูกใช้เพื่อตอบสนองการใช้สอยส่วนพื้นยื่นตั้งแต่ชั้น 2 -3 ด้วยสถาปนิกต้องการให้ที่จอดรถมีการใช้สอยสะดวกด้วยการหลีกเลี่ยงให้เสาปักอยู่กลางที่จอดรถ โครงสร้างยื่นส่วนชั้นลอยจึงมีค้ำยันดึงพื้นชั้นลอย พร้อมกับหิ้วรับโครงสร้างพื้นชั้น 2 ไปพร้อมกัน ผลลัพธ์ที่ได้จึงเป็นที่จอดรถไร้เสา และทำให้ตัวอาคารมีลักษณะเบาลอย ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกส่วนคือการคิดด้วยการตอบสนองกับโปรแกรมเป็นหลัก และเป็นสถาปัตยกรรมที่ออกแบบให้สถาปนิกใช้ ทุกส่วนจึงใช้ประโยชน์ให้สูงสุด จากการรู้ความต้องการของตัวเองอย่างชัดเจน

New Office AT

ในประเด็นของโปรแกรม จุฑาทิพย์ เตชะจำเริญ และสุรชัย เอกภพโยธิน จาก Office AT ได้บอกถึงความหมายว่า

“ไม่ได้หมายถึงฟังก์ชันอย่างเดียว แต่หมายถึงข้อจำกัดที่เป็นโจทย์ในงานออกแบบ อะไรที่เป็นข้อจำกัดก็เป็นโปรแกรมนะ ซึ่ง Office AT เล่นกับความ flexible ของงานอยู่แล้ว โปรแกรมไม่มีทางนิ่ง วันหนึ่งการใช้งานก็อาจจะเปลี่ยน”

officeat.com
facebook.com/officeat

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *