AFTER THE COLLABORATION WITH THE BUILD FOUNDATION IN THE DESIGN OF A SCHOOL IN MAE HONG SON, VIN VARAVARN ARCHITECT HAS BEEN ASSIGNED TO DESIGN A NEW BUILDING FOR BARN KLONG BON SCHOOL SITUATED ON KOH YAO YAI ISLAND OF PHANG-NGA PROVINCE, REPLACING THE OLD STRUCTURE THAT HAD DETERIORATED OVER TIME
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
หลังจากเคยร่วมงานกับ มูลนิธิ The Build Foundation มาแล้วในการออกแบบโรงเรียนที่แม่ฮ่องสอน ในครั้งนี้ Vin Varavarn Architect ได้รับมอบหมายให้ออกแบบอาคารเรียนใหม่ของโรงเรียนบ้านคลองบอน ที่เกาะยาวใหญ่ จ.พังงา แทนอาคารเดิมที่มีความทรุดโทรม
ทีมงานได้ลงสำรวจพื้นที่และพูดคุยกับบุคลากรของโรงเรียน และพบว่าโรงเรียนธรรมดาที่อยู่ห่างไกลและเข้าถึงได้ยากแห่งนี้ กลับมีนักเรียนที่มีทักษะทางศิลปะโดดเด่นและเคยคว้ารางวัลในการประกวดระดับประเทศมาแล้ว สิ่งนี้จุดประกายให้ทีมงานตัดสินใจออกแบบอาคารเรียนที่มาพร้อมกับพื้นที่ส่งเสริมทักษะด้านศิลปะให้กับนักเรียน เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้มากไปกว่าจากการเรียนในห้องทั่วไป
เพื่อให้เกิดพื้นที่เสริมสร้างการเรียนรู้ศิลปะ การใช้ลักษณะอาคารเรียนรูปแบบเดิมที่เป็นห้องเรียนติดกันเป็นแถวคงไม่ตอบโจทย์ ทีม Vin Varavarn Architect จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบอาคารเรียนโดยหมุนแปลนห้องเรียนชั้น 2 ไป 90 องศา แยกห้องเรียนแต่ละห้องออกจากกัน และเชื่อมต่อด้วยระเบียงทางเดินบริเวณด้านหลังอาคาร ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดพื้นที่ว่างระหว่างห้องเรียนแต่ละห้อง และทำให้ชั้นบนมีความโปร่งตลอดจนมีการไหลเวียนของอากาศที่ดีขึ้น ยังสร้างความเชื่อมต่อระหว่างชั้นบนและชั้นล่างที่เป็นห้องเรียนศิลปะได้อย่างน่าสนใจ
อุปสรรคหนึ่งที่ทางทีมสถาปนิกพบในการออกแบบอาคารคือ ในบริเวณกึ่งกลางของอาคารนั้นเป็นบริเวณจุดเปลี่ยนของระดับดินเดิมพอดี แทนที่จะใช้วิธีการปรับระดับดินซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น ทีมสถาปนิกใช้ประโยชน์จากข้อจำกัดนี้ ด้วยการสร้างอัฒจันทร์ปูนขนาดย่อม เป็นพื้นที่ที่เด็กๆ สามารถนั่งชมสื่อศิลปะจากการฉายโปรเจคเตอร์ได้
ระดับดินที่แตกต่างกันยังทำให้พื้นที่ชั้น 1 ของอาคารมีทั้งพื้นที่ที่อยู่ในระดับดินที่สูงและระดับต่ำ ซึ่งเกิดความแตกต่างกันในระดับความสูงของฝ้า สำหรับพื้นที่ที่มีระดับฝ้าสูง ทีมนักออกแบบจัดวางให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ที่ปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ ไม่ว่าจะใช้อ่านหนังสือ หรือจัดกิจกรรมของชุมชน ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากระดับฝ้าที่สูงที่ให้ความรู้สึกเปิดโล่งได้อย่างลงตัว ส่วนพื้นที่ในระดับฝ้าต่ำกว่านั้น ถูกตระเตรียมเป็นห้องเรียนศิลปะซึ่งต้องการความเป็นส่วนตัวมากกว่า
อีกข้อจำกัดหนึ่งในการก่อสร้างคือที่ตั้งของโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลและเข้าถึงได้ยาก ดังนั้น ทีมงานจึงเลือกระบบโครงสร้างของโรงเรียนเป็นแบบ precast ซึ่งเป็นชิ้นส่วนคอนกรีตหล่อสำเร็จรูปเรียบร้อยแล้ว ทำให้สามารถขนส่งชิ้นส่วนทางเรือและนำมาประกอบได้ภายในระยะเวลารวดเร็ว ในขณะเดียวกัน ตัวอาคารก็มีความน่าสนใจในด้านการใช้วัสดุ มีการใช้แผ่นลอนโปร่งแสงบนโครงเหล็กสำหรับบานประตูและบานหน้าต่าง ซึ่งสามารถเปิดรับแสงธรรมชาติเข้ามาแต่ก็ยังป้องกันฝนสาดได้ดี
ตัวผนังชั้น 2 มีการกรุผิวอาคารด้วยไม้ไผ่ ทำให้อาคารดูเป็นมิตรและกลมกลืนกับธรรมชาติภายนอกมากขึ้น และในอนาคต ทีมนักออกแบบ มูลนิธิ และโรงแรมที่จะสร้างบนเกาะยาวใหญ่อย่าง InterContinental Yao Yai Resort ยังหวังว่า พื้นที่อาคารเรียนนี้จะสามารถใช้จัดกิจกรรมหรือจัดแสดงงานหัตถกรรมชาวบ้าน เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะยาวใหญ่อีกด้วย นี่เป็นอีกผลงานหนึ่งของ Vin Varavarn Architect ที่สะท้อนแนวคิดการออกแบบที่คำนึงความยั่งยืนในหลากหลายมิติได้เป็นอย่างดี
fb.com/VinVaravarnArchitectsLimited