ป้ายกำกับ: School

ANUBAN SAMUTSAKHON SCHOOL

Context Studio นำเสนอภาพใหม่ของโรงเรียนรัฐด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ทั้งผู้เรียนและผู้สอน ผ่านคอนเซ็ปต์หลักอย่าง ‘ทะเล’

TEXT: PICHAPOHN SINGNIMITTRAKUL
PHOTO: DOF SKY|GROUND

(For English, press here)

ไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นโรงเรียนรัฐบาล ทุ่มทุนสร้างไปกับการออกแบบและตกแต่งด้านสถาปัตยกรรม เพื่อช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และการเล่นของเด็กๆ เหมือนอย่างโรงเรียนเอกชน แต่โรงเรียนรัฐบาลประจำจังหวัดสมุทรสาคร หรือที่รู้จักกันในชื่อ โรงเรียนอนุบาลสมุทรสาคร แห่งนี้ กลับให้ความสำคัญและกล้าที่จะทุ่มงบประมาณไปกับการปรับปรุงพื้นที่ภายในโรงเรียน จนผู้ปกครองหรือใครหลายคนที่ได้พบเห็น ก็เป็นต้องตั้งคำถามเป็นคำถามเดียวกันว่านี่คือพื้นที่ภายในโรงเรียนรัฐบาลจริงๆ หรือ

ต้น-บดินทร์ พลางกูร จาก Context Studio ผู้ออกแบบเริ่มเล่าให้เราฟังถึงบทสนทนากับ ผอ. โรงเรียน ว่า “ตอน ผอ. โรงเรียนติดต่อเข้ามาก็รู้สึกแปลกใจเหมือนกัน เพราะสำหรับผมและหลายๆ คน น่าจะคิดคล้ายกันว่าคงไม่ค่อยมีโอกาสเห็นโรงเรียนรัฐฯ นำงบประมาณมาใช้กับเรื่องนี้บ่อยๆ หรืออาจไม่เคยมีเลยก็ได้ พอได้คุยกับ ผอ. จริงจังก็เลยรู้ว่าการปรับปรุงโรงเรียนในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากวิสัยทัศน์ของผู้ว่าประจำจังหวัด เค้าอยากเห็นโรงเรียนประจำจังหวัดของเขามีพื้นที่การเรียนรู้ที่ดี ซึ่งมันจะเป็นผลดีต่อเด็กๆ ในจังหวัดและสุดท้ายก็เป็นหน้าเป็นตาให้จังหวัดไปด้วย ส่วน ผอ. ก็คิดเหมือนกันว่าอยากให้พื้นที่ภายในโรงเรียนสามารถเป็นพื้นที่ที่ช่วยเตรียมความพร้อมให้เด็กๆ ได้ออกไปเจอกับโลกกว้างนอกรั้วโรงเรียนได้ และสร้างความภาคภูมิใจให้กับเด็กๆ ด้วยว่ากำลังเรียนอยู่หรือเคยเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้” 

ตำแหน่งที่ตั้งของโรงเรียน ที่อยู่ห่างจากปากอ่าวแม่น้ำท่าจีนเพียง 200 เมตร

จากประโยคบอกเล่าสั้นๆ ช่วงท้ายของ ผอ. นี่เอง ทีมดีไซเนอร์ได้หยิบใจความด้านการเตรียมความพร้อมเด็กๆ ให้ออกไปสู่โลกกว้าง มาใช้กับการออกแบบในครั้งนี้ โดยเปรียบเปรยว่าการออกไปสู่โลกกว้าง ก็เหมือนกับการเตรียมตัวออกเรือสู่ทะเล ซึ่งเมื่อพูดถึงทะเลขึ้นมาแล้ว แนวคิดนี้ก็ยังมีความสอดคล้องไปกับอุตสาหกรรมของจังหวัดและตำแหน่งที่ตั้งของโรงเรียน ที่อยู่ห่างจากปากอ่าวแม่น้ำท่าจีนเพียง 200 เมตร หรือจะเรียกว่าอยู่เกือบริมอ่าวเลยก็ไม่ผิด การออกแบบครั้งนี้จึงถ่ายทอดผ่านองค์ประกอบของแม่น้ำเป็นหลัก โดยพื้นที่ภายในโรงเรียนที่ได้รับการปรับปรุงใหม่นั้น ไม่ได้มีเพียงแค่ห้องเรียนอเนกประสงค์อย่างที่เราเห็นกัน แต่ยังรวมไปถึงโถงใต้อาคาร และห้องพักครูด้วย

“สำหรับโปรเจ็คต์นี้ ส่วนที่เป็นไฮไลท์ที่สุดก็คือห้องเรียนอเนกประสงค์ หรือที่ครูในโรงเรียนเรียกกันว่า ห้องพรีเซนเทชัน ซึ่งจะเป็นห้องเรียนที่ถูกจัดตารางให้เด็กๆ สลับกันเข้ามาใช้งานตามความเหมาะสมของรายวิชา และด้วยการใช้งานที่จะถูกเน้นให้เป็นห้องสำหรับนำเสนองานผ่านจอโปรเจ็คเตอร์ หรือกิจกรรมที่ต้องใช้เสียงเป็นส่วนใหญ่นั้น พวกเราก็เลยพยายามออกแบบ surface ของผนังและเพดานภายในห้องให้สามารถช่วยซับเสียงได้ พอนำมาโยงกับคอนเซปต์ที่เราตั้งไว้เกี่ยวกับแม่น้ำ เพดานของห้องก็เลยมีลักษณะเป็นคลื่นน้ำอย่างที่เห็น แต่มันจะเป็นคลื่นที่ดูโหดร้ายนิดนึง (หัวเราะ) เพราะอยากให้มันช่วยซับเสียงได้จริงๆ” บดินทร์เล่าถึงแนวคิดการออกแบบพื้นที่ในส่วนแรก 

โดยในแง่ของการออกแบบและผลิตเกลียวคลื่นที่ดูโหดร้ายนี้ให้สามารถใช้งานได้จริงก็ไม่ง่ายเลย เพราะเกลียวคลื่นที่เกิดขึ้นจะต้องมีระยะห่างของคลื่นแต่ละลูกที่ค่อนข้างถี่ ดีไซเนอร์จึงออกแบบด้วยการปั้นฟอร์มคลื่นในโปรแกรม Rhino ขึ้นมาทั้งหมด 16 แบบ โดยแต่ละแบบจะมีรูปทรงของคลื่นที่แตกต่างกัน และมีระยะของคลื่นแต่ละลูกที่ถี่พอจะช่วยลดการเกิดเสียงก้องภายในห้องได้ตามตั้งใจ ก่อนจะนำดิจิตอลไฟล์ทั้งหมด 16 แบบนั้น มาผลิตเป็นแม่แบบผ่านกระบวนการ CNC สำหรับหล่อวัสดุไฟเบอร์กลาสผสมใยกระดาษ และนำแต่ละ module ที่ได้ มาประกอบเป็นเพดานเกลียวคลื่นในขั้นตอนสุดท้ายอย่างที่เห็น

ส่วนการออกแบบพื้นและวัสดุปิดผิวผนังภายในห้องเรียนอเนกประสงค์ เลือกใช้เป็นวัสดุไม้เทียมโทนสีอ่อน เพื่อสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรให้กับเด็กๆ ขณะที่ไม้ที่ใช้ในการปิดผิวผนังทั้งหมดนั้น ก็ยังถูกออกแบบให้มีลักษณะเป็นแนวร่อง เพื่อเพิ่มเส้นสายที่ดูสนุกมากขึ้นแทนการออกแบบเป็นเพียงห้องสี่เหลี่ยมที่มีพื้นผิวเรียบๆ และแนวร่องก็ยังสามารถช่วยซับเสียงตามวัตถุประสงค์ของการใช้งานห้องเรียนห้องนี้ได้ในเวลาเดียวกัน

สำหรับพื้นที่ที่ได้รับการปรับปรุงอีกส่วนก็คือห้องพักครู โดยประกอบด้วย ห้อง ผอ. และห้องประชุมคณะครู ถูกออกแบบให้มีโทนสีและการเลือกใช้วัสดุที่เชื่อมโยงกันกับห้องเรียนอเนกประสงค์ คือเลือกใช้วัสดุไม้เป็นหลัก และนำองค์ประกอบของแม่น้ำมาสะท้อนผ่านเพดานที่ถูกออกแบบให้เป็นท้องเรือขนาดใหญ่ ซึ่งการผลิตท้องเรือในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากช่างไม้ต่อเรือฝีมือดีในจังหวัดสมุทรสาครมาช่วยผลิต เป็นการสร้างความสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมระหว่างจังหวัด โรงเรียน และชุมชน ไปพร้อมๆ กัน ส่วนโถงใต้อาคารที่มักเป็นพื้นที่สำหรับให้เด็กๆ วิ่งเล่นและทำกิจกรรม ออกแบบส่วนฝ้าเพดานให้เป็นหลุมคล้ายท้องเรือ มีส่วนโค้งเว้าของเสาเพื่อลดความแข็งและลดการการเกิดอุบัติเหตุจากการวิ่งเล่นของเด็กๆ ไปจนถึงการปรับปรุงพื้นให้เป็นพื้น terrazzo ที่มีส่วนผสมของวัสดุหินขัดและขยะขวดแก้ว เพื่อนำขยะกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และสร้างการตระหนักรู้ต่อการรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับเด็กๆ  

“โปรเจ็คต์นี้เราปรับปรุงไปหลายส่วนแล้วเหมือนกัน ในอนาคตโรงเรียนอนุบาลสมุทรสาคร ก็ตั้งใจที่จะปิดปรับปรุงพื้นที่ส่วนอื่นๆ ไปเรื่อยๆ ด้วย ซึ่งผลลัพธ์สุดท้าย ทุกพื้นที่ภายในโรงเรียนก็คงจะออกมาแตกต่างจากโรงเรียนรัฐฯ แห่งอื่นๆ แน่นอน ผมรู้สึกชื่นชมทางโรงเรียนที่เห็นความสำคัญเชิงพื้นที่พอๆ กับหลักสูตรการศึกษา ผมว่าถ้าโรงเรียนรัฐฯ ที่อื่นจัดสรรงบประมาณเพื่อการปรับปรุงตัวอาคารแบบนี้บ้างก็น่าจะดี” 

จากที่บดินทร์ได้แบ่งปันแนวคิดและมุมมองการปรับปรุงพื้นที่ภายในโรงเรียนอนุบาลสมุทรสาครที่แปลกตาไปจากโรงเรียนรัฐบาลแห่งอื่นๆ ในครั้งนี้ ทำให้พบว่าการจะสร้างโรงเรียนสักแห่งหนึ่ง หรือการจะสร้างผู้ใหญ่จากเด็กสักคนหนึ่งนั้น อาจไม่ได้ถูกอิงจากแค่เรื่องของงบประมาณ หรือหลักสูตรการเรียนเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของมุมมองจากผู้ใหญ่ที่มองกลับมายังเด็กยุคใหม่นี้ว่า แท้จริงแล้วเด็กๆ ต้องการที่จะเรียนรู้เรื่องอะไร และหน้าที่ของผู้ใหญ่ โดยเฉพาะหน้าที่ของครู ก็คงจะต้องสังเกตการณ์กับเรื่องนี้เป็นพิเศษ แม้ว่าสถาปัตยกรรมที่ดีอาจไม่ใช่สูตรตายตัวที่จะทำให้เด็กเติบโตมาได้ดี แต่อย่างน้อยสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และการเสริมสร้างจินตนาการในรูปแบบต่างๆ ก็คงจะช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และจิตใต้สำนึกในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ได้ดีกว่าการนั่งเรียนอยู่ภายในห้องสี่เหลี่ยมมืดๆ อย่างแน่นอน

facebook.com/contextinterior

SCHOOL FOR BLIND AND VISUALLY IMPAIRED CHILDREN

SEALab ออกแบบโรงเรียนสำหรับผู้มีปัญหาทางการมองเห็นในประเทศอินเดีย โดยใส่ใจต่อการออกแบบในสิ่งที่ ‘มองไม่เห็น’ เพื่อสร้างสถาปัตยกรรมที่เอื้อให้เด็กๆ สามารถเรียนรู้และไปไหนมาไหนได้อย่างปลอดภัย

Read More

SISB THONBURI

Plan architect นำเสนอพื้นที่การเรียนรู้ที่ไม่ได้จำกัดแค่ในห้องเรียน แต่เป็นพื้นที่ส่วนกลางที่เด็กๆ สามารถเรียนรู้และมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้

Read More