FUZHOU TEAHOUSE

IN THIS PROJECT, NERI&HU ONCE AGAIN PROVES THAT THERE IS NO NEED TO ABANDON THE HERITAGE BUILDING IN ORDER TO INTRODUCE THE ‘NEW’ SPIRIT

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: HAO CHEN

(For English, press here

การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของประเทศจีนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาทำให้โครงการก่อสร้างใหม่ๆ ผุดขึ้นพรวดพราดราวกับดอกเห็ด ขณะเดียวกัน มันก็หมายความว่าสถาปัตยกรรมเก่าๆ อันทรงคุณค่า รวมไปถึงภูมิปัญญาความรู้ที่สอดแทรกภายในอาคารก็อาจสูญหายไปได้ แต่ ‘Fuzhou Teahouse’ โปรเจ็คต์โรงน้ำชาในเมือง Fuzhou ประเทศจีนที่ออกแบบโดย Neri&Hu Design and Research Office แสดงให้เราเห็นว่า การสร้าง ‘สิ่งใหม่’ ไม่ได้หมายความว่าเป็นการฝังกลบ ‘สิ่งเก่า’ ให้เลือนหายเสมอไป เพราะ ‘สิ่งใหม่’ ก็ปลุกจิตวิญญาณในอดีตให้กลับมาโลดแล่นได้เหมือนกัน 

โจทย์เริ่มต้นของโครงการ Fuzhou Teahouse คือการสร้างที่กำบังให้โครงสร้างไม้เก่าแก่ที่เคยเป็นบ้านของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในราชวงศ์ชิง (ราชวงศ์สุดท้ายของจีนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่ปี ค.ศ.1644 ถึง 1912) หลังเจ้าของโครงการโยกย้ายโครงสร้างนี้จากเมือง Anhui มาไว้ที่เมือง Fuzhou สถาปนิกตอบรับกับโจทย์อันท้าทายนี้ด้วยการสร้างโรงน้ำชาที่มีหน้าตาเหมือนบ้านบนโขดหินที่มีบ่อน้ำล้อมอยู่โดยรอบ โดยสถาปนิกได้แรงบันดาลใจมาจากรูปภาพ ‘Jinshan Temple’ ภาพถ่ายวัดโบราณกลางน้ำที่บันทึกโดย John Thomson ช่างภาพที่ตระเวนถ่ายภาพเมืองจีนช่วงปลายศตวรรษที่ 19

สำหรับผนังชั้น 1 ของโครงการ ดีไซเนอร์เลือกใช้ผนังดินอัดเพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ของบ้านดินในท้องถิ่น ส่วนกรอบห่อหุ้มด้านบนใช้ทองแดงเป็นวัสดุปิดหุ้ม และมีรูปร่างเป็นหลังคาเพื่อล้อกับโครงสร้างของอาคารเก่าภายใน ในเวลาเดียวกันก็สร้างพื้นที่ชั้นลอยขึ้นเพื่อเปิดให้ผู้เข้าชมได้ยลความงดงามของโครงสร้างหลังคาบ้านเก่าอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีการเจาะช่องให้แสงส่องเข้ามาตามบริเวณต่างๆ อย่างเช่นพื้นที่หลังคา หรือห้องโถงวงกลมใต้ดินที่ดีไซเนอร์ออกแบบให้แสงส่องลอดผ่านผิวน้ำบางๆ ซึ่งช่วยขับพื้นผิววัสดุจากทั้งอาคารเก่าและใหม่ให้โดดเด่น รวมไปถึงสร้างเอฟเฟกต์ของแสงเงาภายในที่สวยงาม

หากลองมองรายละเอียดการดีไซน์โปรเจ็คต์นี้แบบลงลึกไปอีก จะพบว่าเป็นงานออกแบบที่นำของขั้วตรงข้ามมาอยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืนและชาญฉลาด (ซึ่งเป็นลายเซ็นที่พบเห็นได้บ่อยๆ ในงานของ Neri&Hu) อย่างเช่น การนำแสงรำไรที่ส่องทะลุผ่านช่องเปิดบริเวณต่างๆ มาตัดกับความมืดของสเปซ การใช้วัสดุที่ให้ความรู้สึกหนักแน่นอย่างเช่นกำแพงดินอัดมาผสมผสานกับตัวอาคารไม้ด้านในที่ดูแผ่วเบา และที่โดดเด่นมากๆ คือ การนำภาษาดีไซน์ร่วมสมัยเช่นการออกแบบอันเรียบเกลี้ยง หรือการใช้รูปทรงเรขาคณิตต่างๆ ไปสอดแทรกกับโครงสร้างเก่าได้อย่างงดงาม ว่าแล้วก็อยากจะลองไปนั่งดื่มด่ำบรรยากาศของสเปซพร้อมกับจิบชาไปพลางๆ ดูซักจอก

neriandhu.com/en

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *