MUNCH MUSEUM

Photo: Adrià Goula

แม้รูปร่างของอาคารพิพิธภัณฑ์ที่ออกแบบโดย Herreros Arquitectos จะเหมือนกับแท่งหินอันหนักอึ้งและดูแปลกตา แต่อาคารก็สะท้อนลักษณะผลงานของ Munch ที่ตั้งคำถามกับศิลปะในยุคก่อน และสะท้อนสปิริตของพิพิธภัณฑ์ที่ต้องการเป็นมากกว่าแค่พิพิธภัณฑ์แบบเดิมๆ

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO CREDIT AS NOTED

(For English, press here

วันที่ 24 สิงหาคม 2004 เกิดเหตุการณ์ที่ทำเอาคนในโลกศิลปะช็อคกันไปตามๆ กัน นั่นก็คือการขโมยภาพวาด Madonna และ The Scream (เวอร์ชั่นปี 1910) ของ Edvard Munch ศิลปินชาวนอร์เวย์ในตำนาน ไปจากพิพิธภัณฑ์ Munch ในเมือง Oslo ประเทศนอร์เวย์ แม้สามเดือนให้หลังตำรวจจะสามารถตามภาพวาดกลับคืนมาได้ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บวกกับตัวพิพิธภัณฑ์ที่กำลังเติบโต ก็เป็นชนวนให้เมือง Olso ตัดสินใจสร้างพิพิธภัณฑ์ Munch ขึ้นมาใหม่ โดยทางเมืองได้จัดการประกวดแบบขึ้นในปี 2008-2009 และผู้ชนะก็คือ Herreros Arquitectos สตูดิโอออกแบบจากประเทศสเปน ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น estudio Herreros 

Photo: Einar Aslaksen/MUNCH

Photo: Guttorm Stilen Johansen

พิพิธภัณฑ์ Munch หลังใหม่ ตั้งตระหง่านอยู่ริมน้ำใจกลางย่าน Bjørvika เมือง Oslo ซึ่งเป็นย่าน cultural district ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาจากพื้นที่ท่าเรือเก่า นอกจากพิพิธภัณฑ์จะเป็นที่รวบรวมผลงานและข้าวของกว่า 28,000 ชิ้นของ Munch แล้ว มันยังถูกวาดหวังให้เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมร่วมสมัย ที่คับคั่งไปด้วยกิจกรรมหลากหลาย เช่น การแสดง เวิร์คช็อป ทั้งยังจัดแสดงงานศิลปะจากศิลปินร่วมสมัยคนอื่นๆ ที่ไม่จำกัดอยู่เพียงแค่ Munch อีกด้วย นี่คงเป็นเหตุผลที่พิพิธภัณฑ์ตั้งชื่อเล่นให้ตัวเองอีกชื่อว่า ‘MUNCH’ ชื่อภาษาอังกฤษตัวใหญ่ ไร้คำว่า museum ต่อท้าย เพื่อเป็นการบ่งบอกว่า ที่นี่เป็นมากกว่าแค่พิพิธภัณฑ์

Photo: Pablo G. Tribello

Photo: Einar Aslaksen

Herreros Arquitectos ออกแบบพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารใหญ่ยักษ์สูง 13 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 26,313 ตารางเมตร ใหญ่กว่าพิพิธภัณฑ์เดิมถึง 4 เท่า ส่วนยอดมีการเอียงตัวเล็กน้อยไปทางทิศตะวันตกที่ใจกลางเมือง Oslo ตั้งอยู่ ดูแล้วอาคารก็คล้ายกับแท่งหินที่ทั้งหนักอึ้ง แน่นิ่ง แต่ก็ดูมีความเคลื่อนไหวในเวลาเดียวกัน Juan Herreros สถาปนิกจาก Herreros Arquitectos เล่าถึงแนวคิดเบื้องหลังฟอร์มอาคารเอาไว้ว่า เป็นการชื่นชมความงามของผืนน้ำ และตัวเมือง Oslo อีกทั้งการโค้งก็ทำให้อาคารดูใกล้ชิดขึ้น และมีตัวตนที่โดดเด่นออกมา พื้นที่ภายในประกอบไปด้วยห้องจัดนิทรรศการถึง 11 ห้องที่มีขนาดเล็กใหญ่ต่างกัน ซึ่งวางกระจายอยู่ตลอดตัว tower ผู้ชมสามารถเลือกเข้าชมห้องไหนก็ได้ตามแต่ใจอยาก เพราะเส้นทางการเดินหลักถูกวางแยกออกมาจากส่วนนิทรรศการ ด้านบนสุดของอาคารเป็นร้านอาหารและบาร์ที่เปิดทิวทัศน์ออกไปหาวิวริมน้ำของ Bjørvika 

Photo: Einar Aslaksen

Photo: Einar Aslaksen/MUNCH

สถาปนิกกรุผนังภายนอกอาคารด้วยแผ่น perforated aluminium โทนสีเทาและสีขาวที่มีดีกรีความโปร่งแตกต่างกัน สะท้อนถึงสภาพอากาศของพื้นที่ ที่มีทั้งความอึมครึมสลับกับความสดใส เหมือนกับภาพเขียนของ Munch ที่แสดงอารมณ์และบรรยากาศอันหลากหลาย (แต่ส่วนมากจะอึมครึม) นอกจากนี้ แผ่น perforated aluminium ยังมีลักษณะเป็นแผ่นโค้งคล้ายลอนคลื่น ซึ่งช่วยสะท้อนแสงแดดและความร้อน ทำให้ความผันผวนของอุณหภูมิในอาคาร (temperature fluctuation) ไม่มากจนเกินไปอีกด้วย 

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2021 ทีผ่านมา หลังจากผ่านกระบวนการก่อสร้างและปัญหาขลุกขลักมาเป็น 10 ปี พิพิธภัณฑ์ Munch ก็ได้ฤกษ์เปิดตัวต่อสาธารณะชนเป็นครั้งแรก จากตัวอาคารที่มีความแปลกตา พิพิธภัณฑ์ก็ไม่พ้นตกเป็นเสียงวิจารณ์กันในหมู่คนท้องที่อย่างหนักหน่วง บ้างก็ว่าอาคารเป็นเหมือน ‘เงาดำทะมึน’ บ้างก็ว่าเป็น ‘ที่แสดงราวกันตกที่ใหญ่ที่สุดในโลก’ (คงเป็นเพราะ facade อันเป็นลอนคลื่นของอาคาร) แต่สำหรับสถาปนิกแล้ว ความแปลกตาของอาคารก็ชวนให้นึกถึงผลงานของ Munch ที่แม้จะมีรากฐานจากศิลปะในยุคก่อน แต่ก็เป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ที่ตั้งคำถามกับความอนุรักษนิยมเช่นกัน 

estudioherreros.com
munchmuseet.no

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *