ประเดิมคอลัมน์ใหม่จากอาจารย์ต้นข้าว ปาณินท์ ที่จะมาแนะนำสถาปนิกรุ่นใหม่รอบโลกให้ได้รู้จักกัน ด้วยการแนะนำ Fala Atelier ทีมสถาปนิกจากโปรตุเกสที่โดดเด่นและแปลกตาออกมาจากทิศทางของสถาปัตยกรรมแบบ ‘No Rhetoric’ หรือ ‘ไร้ภาษา’ ในยุโรป ด้วยการใช้ ‘สัญชาติญาณ’ และความ ‘ไร้เดียงสา’ ในการทำงาน
TEXT: TONKAO PANIN
PHOTO COURTESY OF FALA ATELIER
(For English, press here)
ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา งานสถาปัตยกรรมจากสถาปนิกรุ่นใหม่ในยุโรปดูจะมีทิศทางที่ไม่ต่างกันมากนัก ความเรียบน้อยตรงไปตรงมาของภาษาภายนอก ทำงานร่วมกับระบบพื้นที่ที่ถูกพัฒนาเปลี่ยนแปลงจากบรรทัดฐานเดิมๆ ของอาคารแต่ละประเภท โดยมีปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมเป็นประเด็นหลัก ผ่านความธรรมดาสามัญของวัสดุและวิธีการก่อสร้างที่ประหยัดรวดเร็ว ซึ่งคุณลักษณะร่วมของงานจากสถาปนิกเหล่านี้ก็ดูจะชัดเจนขึ้นมากมาย เมื่อ Lacaton & Vassal ทีมสถาปนิกชาวฝรั่งเศสรุ่นใหญ่ ที่ทำงานมายาวนาน ได้รับรางวัล Pritzker เมื่อปีที่ผ่านมา
ทิศทางการทำงานที่ตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจ และการใช้ทรัพยากรในทุกๆ ด้านอย่างคุ้มค่าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ผนวกกับโปรแกรมธรรมดาสามัญที่ดูจะเน้นประโยชน์ใช้สอย มากกว่าการสื่อสาร เมื่อประเด็นเหล่านี้ ทำงานร่วมกับ ทิศทางความคิดของสถาปนิกรุ่นนี้ ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 30-45 ที่เลิกเชื่อในการสร้างภาษาภายนอกของงานสถาปัตยกรรมเพื่อสื่อสาร หรือเพื่อสร้างอัตลักษณ์ของอาคาร แต่เน้นการศึกษาระบบพื้นที่บนพื้นฐาน Typology เดิม ผ่านการไม่พยายามสื่อสาร แต่ปล่อยให้การใช้สอยภายในแสดงตัวตนออกมาเอง จนเกิดเป็นแนวทางที่เรียกง่ายๆ ว่า ‘No Rhetoric’ หรือสถาปัตยกรรมไร้ภาษา ที่เราเห็นได้ชัดมากในงานของออฟฟิศอย่าง OFFICE Kersten Geers David van Severen, Studio Muoto หรือ Arrhov Frick
จากปรัชญาในการออกแบบที่คล้ายคลึงกัน ทำให้งานจากสถาปนิกรุ่นใหม่ในยุโรปในช่วงหลังๆ นี้ มีความคล้ายกันมาก จนแยกออกได้ยากมาก ว่างานเหล่านี้มาจากออฟฟิศไหน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลก เพราะลายเซ็น หรือ authorship ไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับสถาปนิกรุ่นนี้อีกต่อไปแล้ว เมื่อเราศึกษาอย่างละเอียดอ่อนเท่านั้น เราจึงจะเห็นความแตกต่างระหว่างออฟฟิศ หรือความแตกต่างระหว่างโปรเจกต์ ที่สะท้อนโจทย์เฉพาะตัว แต่ความเหมือนเหล่านี้ ก็มีส่วนทำให้ บทความในวารสารอย่าง 2G แต่ละเล่ม แทบจะมีเนื้อหาซ้อนทับกัน จนบางทีผู้อ่านนึกว่าได้อ่านบทความนี้ไปแล้ว ใน Monograph เล่มอื่น
และในความเหมือนเหล่านี้นี่เอง ที่ทำให้ออฟฟิศอย่าง Fala Atelier ดูจะทั้งโดดเด่นและแปลกแตกต่าง ในเวลาเดียวกัน เราจึงจะมาค้นหากันว่า งานนิ่งๆ ที่ไม่นิ่ง งานเรียบๆ แต่แทรกสีสันลูกกวาด หรือแทรกส่วนประดับตกแต่งที่ออกจะประหลาดเหล่านี้ มีที่มาความคิดอย่างไร ตอบโจทย์อะไรที่แตกต่างจากสถาปนิกทีมอื่นๆ
Fala Atelier เป็นทีมสถาปนิกจากโปรตุเกส ที่นำทีมโดยสถาปนิกสามคน คือ Filipe Magalhães, Ana Luisa Soares และ Ahmed Belkhodja โดย Filipe และ Ana Luisa นั้นเรียนหนังสือด้วยกันที่ Porto, Ljubljana และ Tokyo ซึ่งประสบการณ์การศึกษาจากหากหลายสถานที่นี้เอง ที่มีส่วนทำให้แนวทางความคิดของทั้งสองคน ไม่ได้อยู่ในกรอบความคิดเดียวสถาปนิกยูโรเปียนส่วนใหญ่ ส่วน Ahmed นั้นเรียนหนังสือที่ ETH Zurich ก่อนที่จะไปเรียนเพิ่มเติมที่ Lausanne, Gothenburg และ Singapore
ทั้งสามคนมาเจอกัน ในฐานะสถาปนิกในออฟฟิศของ Harry Gugger ที่ Basel ซึ่ง Harry เคยเป็นหัวหน้าสถาปนิกคนสำคัญของ Herzog & de Meuron ก่อนที่จะแยกมาทำงานของตัวเอง ความพิเศษในประวัติการทำงานของทั้งสามคน นอกจากการเรียนหนังสือจากหลากหลายสถานที่แล้ว หลังจากที่ทำงานกับ Gugger ได้ระยะหนึ่ง ทั้งสามคนก็กระจายตัวกันไปทำงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่น โดย Filipe ทำงานกับ SANAA, Ana Luisa ทำงานกับ Toyo Ito และ Ahmed ทำงานกับ Atelier Bow Wow ซึ่งหลังจากทำงานในโตเกียวกันได้ระยะหนึ่ง ในปี 2013 ทั้งสามคนก็ตัดสินใจร่วมกันเปิดออฟฟิศ ภายใต้ชื่อ Fala Atelier โดยใช้ห้องที่ Nakagin Capsule Tower เป็นที่ทำการ โดยในระยะแรก งานของออฟฟิศส่วนมากจะเป็นงานเขียนทั้งนั้น
หลังจากทำงานภายใต้ชื่อ Fala Atelier ที่โตเกียวได้หนึ่งปี ทั้งสามคนก็ตัดสินเดินทางกลับมาเริ่มทำงานออกแบบกันอย่างจริงจังที่เมือง Porto ประเทศโปรตุเกสและก็ทำงานกันเรื่อยมา จนมีงานเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ
ความคิดและความสนใจที่มีอิทธิพลต่อ Filipe, Ana Luisa และ Ahmed ความคิดหนึ่งนั้นคือ การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ส่วนตัว หรือ Intimate Spaces กับวิสัยทัศน์แบบยูโธเปีย หรือ Utopia Vision ที่สานความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยย่อยในการอยู่อาศัย กับภาพของสังคมในอุดมคติ ภายใต้คำถามที่ว่า เราจะพัฒนาพื้นที่ส่วนตัวที่มีลักษณะเฉพาะของเรา โดยเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หรือมีส่วนร่วมในการสร้างภาพรวมในอุดมคติของสังคมได้อย่างไรบ้าง
ความคิดที่สำคัญที่สุดประเด็นหนึ่งที่ทำให้งานของ Fala Atelier แตกต่างออกไปคือ การทำงานจากสัญชาติญาณ ที่บางทีก็อธิบายเหตุผลไม่ได้ หรือไม่สามารถหาการวิเคราะห์มารองรับ แต่เป็นสัญชาติญาณที่มาจากการตีความการใช้สอย การใช้พื้นที่ และลักษณะเฉพาะของแต่ละงาน ผนวกกับการ “สื่อสาร” หรือ Rhetoric ที่สถาปนิกทั้งสามคน คิดว่าเป็นสิ่งสำคัญ โดย Fala Atelier อธิบายลักษณะการทำงานของตัวเองว่า เป็นการทำงานที่ไร้เดียงสา ซึ่งส่วนหนึ่งหมายถึงการให้น้ำหนักความสำคัญกับความคิดแรก ที่ทั้งสามคนมี ต่องานแต่ละงาน โดยที่อาจจะพิสูจน์ไม่ได้ด้วยซ้ำไปว่า ความคิดแรกนั้นมันจะดีหรือไม่ แต่พวกเขาเชื่อว่า ความคิดแรกนั้นเป็นความคิดที่บริสุทธิ์ ที่สามารถสร้างแนวทางให้กับแต่ละโปรเจกต์ แต่เมื่องานแต่ละงานถูกพัฒนาต่อ ก็แน่นอนว่า มันย่อมมีประเด็นอื่นๆ ที่ซับซ้อนเข้ามามีผลกับงาน หรือเข้ามาเป็นเครื่องมือในการทำงาน เพราะแต่ละโปรเจกต์ ก็ต้องตอบโจทย์ในโลกแห่งความเป็นจริงทั้งนั้น
งานของ Fala Atelier จึงปรากฏรูปขั้นต้น ในรูปแบบของภาพเขียนหรือคอลลาจที่มีมีความเป็นเด็ก สื่อสารอย่างตรงไปตรงมาและเข้าใจง่าย ภาษาที่เกิดขึ้นภายหลัง จึงเป็นภาษาที่เรียบน้อยของรูปทรง แต่ถูกแต่งเติม หรือเติมเต็ม ด้วยส่วนประดับตกแต่งที่มีสีสันหรือลวดลาย ที่ทั้งสามคนไม่ได้มองว่ามันเป็นสิ่งแปลกปลอมหรือสิ่งฉาบฉวยในงานสถาปัตยกรรม แต่มันเป็นเครื่องมือที่ทำให้ผู้คนเข้าใจ และสร้าง หรืออ่านความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับงานสถาปัตยกรรมได้ง่าย และภาษาของรูปทรงที่ตรงไปตรงมา ซื่อๆ เมื่อมันทำงานร่วมกับองค์ประกอบที่มีชีวิตชีวา หรือถูกมอบชีวิตให้ด้วยสีและลาย มันก็กลายเป็นการสื่อสาร ที่ทั้ง abstract หรือมีความเป็นนามธรรมแบบกลางๆ และ figurative หรือเชื่อมโยงเราเข้ากับภาพจำบางอย่างที่เราคุ้นเคย ในเวลาเดียวกัน
Fala Atelier เริ่มทำงานจากสเกลเล็กๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรืออาคารสาธารณะขนาดเล็ก ภาษาเหล่านี้ จึงดูจะเป็นคำตอบที่เป็นธรรมชาติ ไม่ขัดเขิน แต่เมื่ออฟฟิศเติบโตขึ้นรวดเร็วอย่างในปัจจุบัน และ Fala ต้องทำงานกับสเกลที่ใหญ่ขึ้น ก็เป็นเรื่องน่าติดตามว่า ออฟฟิศนี้จะยังสามารถสร้างภาษาที่ไร้เดียงสาได้อย่างไร
falaatelier.com