นักประดิษฐ์ นักออกแบบ ศิลปิน? art4d ชวนเป๋ ธนวัต มณีนาวามาพูดคุยถึงบทบาทอันหลากหลายของเขา เพื่อหาคำตอบว่า จริงๆ แล้ว สตูดิโอ TAM:DA ของเขานั้นกำลังทำอะไรอยู่กันแน่
TEXT: PRATARN TEERATADA
PHOTO COURTESY OF TAM:DA STUDIO
(For English, press here)
เมื่อพูดถึง TAM:DA STUDIO ของ เป๋ ธนวัต มณีนาวา เราจะมีความรู้สึกว่ามันคือสปิริตของ นักประดิษฐ์ นักออกแบบ และศิลปิน มารวมตัวกันทดลองสร้างสิ่งนั้น สิ่งนี้ ทำไม่หยุด ทำไปเรื่อย เอาของเก่ามาทำเป็นสิ่งใหม่ขึ้นมา และสิ่งใหม่นั้นดันมีคาแรคเตอร์ มีอารมณ์ ความรู้สึก ความสนุก มีเทสต์บางอย่างที่เล่าเรื่องน่าจดจำ วันนี้ art4d ชวนเป๋มาเล่าเรื่องราวของทำดะ ว่าตกลงเขาทำอะไรกันแน่
art4d: อะไรคือแรงบันดาลใจที่ขับให้คุณสนใจสร้างงานแบบ maker อย่างจริงจัง
Thanawat Maneenawa: แรงบันดาลใจน่าจะมาจากการเป็นคนช่างคิด คิดไปเรื่อย ด้วยความที่ทำงาน creative ด้านอีเว้นท์มาก่อน ชอบจับเอาโน่นนี่ ของใกล้ตัวมาทำเล่นสนุก ทำงานดีไซน์บ้าง งานอาร์ตบ้าง ทำหมด เลยเป็นที่มาของชื่อ ทำดะ
art4d: คุณแบ่งประเภทผลงานที่สร้างขึ้นอย่างไร
TM: ผมแบ่งการทำงานเป็น 3 แบบ แบบแรกคือ ทำสนุกๆ เอามันส์ แล้วแต่กระแส สถานการณ์ต่างๆ ช่วงนั้นๆ ทำลงเพจสนุกๆ แบบที่สองคือทำขาย ถ้าช่วงไหนเจอวัสดุที่น่าสนใจ ดูแล้วเอามาทำอะไรได้ก็จะนำมาผลิตเป็นโปรดักท์ขาย อีกแบบสุดท้ายคือทำเป็นโปรเจ็กต์ มีหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นลูกค้าแบรนด์ต่างๆ องค์กรเพื่อสังคม ศิลปะเพื่อชุมชน
art4d: มีงานชิ้นใดหรือโปรเจ็คต์ไหนบ้างที่คุณนับว่าเป็น signature style
TM: ทุกชิ้นเลยเราไม่ได้ยึดติดกับรูปลักษณ์แต่เราเน้นเรื่องการนำวัสดุที่นำมาเล่นกับความคิดสร้างสรรค์ในคอนเซ็ปต์หรือไอเดียที่ได้รับจากลูกค้า
art4d: ตอนนี้คุณกำลังสร้างงานอะไรอยู่บ้าง
TM: ตอนนี้เน้นไปทางงานโปรเจ็กต์ ที่เพิ่งเปิดตัวไปสดๆ ร้อนๆ ก็เป็น “ยักษ์” ตั้งที่ Ecotopia Pavilion Bukit jalil Malaysia แล้วก็ที่กำลังทำอยู่ก็เป็นชิ้นงานศิลปะตกแต่งออฟฟิศให้กับลูกค้า Food Delivery เจ้าหนึ่ง
art4d: มีความทรงจำไหนที่อยากจะถ่ายทอดประสบการณ์ให้น้องๆ รุ่นหลังบ้าง
TM: ตั้งแต่จับสิ่งของต่างๆ มาทำงาน มีงานนึงที่อยากเล่า คืองานออกแบบอุปกรณ์ช่วยเหลือในชีวิตประจำวันให้เด็กพิการทางสมองของมูลนิธิเพื่อเด็กพิการร่วมกับ Creative Citizen และ สสส. ไม่ว่าจะเป็นที่จับปากกา ดินสอ แปรง แก้วน้ำ หลังออกแบบก็ต้องมีการทำและเอาไปบริจาคให้เด็กพิการทั่วประเทศ แต่ก็ต้องมีการทดลองว่าใช้ได้จริง วันที่ทดลองเด็กๆ เค้ามีความสุขมาก ผู้ปกครองก็ดีใจ หลังจากนั้นก็จะมีอาสาสมัครมาช่วยกันทำตอนนั้นประมาณเป็นหมื่นชิ้นได้ วันนั้นรู้สึกอิ่มใจมาก อยากบอกว่าถ้าเราได้ใช้ความสามารถ ความถนัดที่เรามีในการทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นได้ มันรู้สึกดีมาก
ผมชอบงานประดิษฐ์เเบบนี้มากครับ ทำให้เราคิดไอเดียออกมาได้เเบบไรขีดจำกัด