SCENIC ARCHITECTURE OFFICE

Dongyuan Qianxun Community Center l Photo: Dongyuan Design

กุลธิดา ทรงกิตติภักดี และ Jenchieh Hung พาเราไปดู ‘รูปทรง’ ที่ปรากฏในผลงานของ Scenic Architecture ผ่านส่วนหนึ่งของบทวิเคราะห์ผลงานทั้ง 12 ชิ้นในหนังสือ The Rebirth of Form-Type อันชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการและจุดเปลี่ยนของสถาปัตยกรรมในประเทศจีนตั้งแต่ยุค 2000s

TEXT: KULTHIDA SONGKITTIPAKDEE & JENCHIEH HUNG
PHOTO COURTESY OF SCENIC ARCHITECTURE OFFICE except as noted

(For English, press here

หากย้อนไปในยุค 2000s (ระหว่างปี ค.. 2000-2009) ที่ผ่านมานั้น เศรษฐกิจในประเทศจีนมีการก้าวกระโดดเป็นอย่างมาก รวมทั้งได้มีการจัดงานระดับประเทศตามหัวเมืองใหญ่ที่มุ่งหวังให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาเมือง ไปจนถึงการผลักดันให้เกิดความศิวิไลซ์ใหม่สำหรับคนเมือง ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานโอลิมปิกที่ปักกิ่งในปี 2008 หรือการจัดงานเวิลด์เอ็กซ์โปที่เซี่ยงไฮ้ในปี 2010 และงานเอเชียนเกมส์ที่กว่างโจวในปีเดียวกัน แรงกระเพื่อมมหึมาของประเทศจีนในช่วงนั้น ได้เกิดงานสร้างอาคารและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ กระจายทั่วเมือง ยิ่งไปกว่านั้นการเปิดประเทศของรัฐบาลจีนเพื่อแสดงศักยภาพสู่นานาอารยประเทศ ยังนำพาให้เกิดผลงานการออกแบบอาคารโดยสถาปนิกต่างชาติที่มีชื่อเสียงระดับโลก อาทิเช่น Herzog & de Meuron สถาปนิกชาวสวิสที่ออกแบบสนามกีฬาแห่งชาติปักกิ่ง (National Stadium, 2008), ตึกระฟ้าศูนย์การเงินโลกเซี่ยงไฮ้ (Shanghai World Financial Center, 2008) ออกแบบโดย Kohn Pedersen Fox Associates (KPF) จากอเมริกา รวมถึงโรงอุปรากรกว่างโจว (Guangzhou Opera House, 2010) ที่ออกแบบโดย Zaha Hadid จากอังกฤษ เป็นต้น

การเปิดประเทศในยุค 2000s นี้เอง นอกจากการเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจและการเจริญเติบโตของเมืองอย่างยิ่งยวดแล้ว กระตุ้นให้สถาปนิกจีนที่เกิดในช่วง 1970s ซึ่งขณะนั้นสำเร็จการศึกษาหรือทำงานอยู่ในต่างประเทศตัดสินใจกลับมายังบ้านเกิดและก่อตั้งบริษัทของพวกเขา ก่อให้เกิดกลุ่มสถาปนิกแนวหน้ายุคใหม่ในจีนที่มีบทบาทต่อการออกแบบสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในปัจจุบันมากมาย ไม่ว่าจะเป็น จาง เคอ (Zhang Ke), หม่า เยี่ยนซง (Ma Yansong) และหลี่ หู่ (Li Hu) ที่ก่อตั้งบริษัทสถาปนิกของพวกเขาในเมืองหลวงปักกิ่ง เป็นต้น ขณะที่อีกฟากหนึ่งของประเทศในเมืองเศรษฐกิจอย่างเซี่ยงไฮ้ ก็ถือกำเนิดสถาปนิกยุคใหม่ที่มีพื้นฐานการศึกษาหรือการทำงานจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ จู้ เสี่ยวเฟิง (Zhu Xiaofeng) ผู้ก่อตั้งสตูดิโอออกแบบ Scenic Architecture Office หรือเรียกเป็นภาษาจีนว่า ซานสุ่ยซิ่ว (山水秀) ที่หมายถึง ภูมิประเทศ

Photo: Hanzhi Gao

จู้ เสี่ยวเฟิง ใช้ชีวิตในอเมริกามาเป็นเวลา 7 ปี ซึ่งที่นั่นเขาจบการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University)และทำงานที่ KPF สำนักงานนิวยอร์ก เขากลับมาประเทศจีนและก่อตั้งสตูดิโอออกแบบของตนเองที่เซี่ยงไฮ้ในปี 2004 ด้วยความตั้งใจที่จะสำรวจสถาปัตยกรรมซึ่งรวมวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมและร่วมสมัยในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta) ครอบคลุมเมืองเซี่ยงไฮ้และมณฑลเจียงซู สถานที่ที่เขาได้เติบโตมา โดยมุ่งหมายว่าจะนำแนวความคิดและวิธีการทำงานแบบตะวันตกมาปรับใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานสถาปัตยกรรมของเขาอันเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างร่างกายและจิตใจ’ (Body and Mind) ‘สภาวะแห่งความเป็นอยู่’ (Ontology) และการปฏิสัมพันธ์’ (Interaction) เสี่ยวเฟิง ได้วิเคราะห์หลักการแก่นแท้ของความสัมพันธ์ทั้ง 3 ส่วนนี้ ไว้ในหนังสือชื่อ ‘The Rebirth of Form-Type’ ที่เขาคัดเลือก 12 ผลงานของ Scenic Architecture Office ตลอดระยะเวลา 18 ปีที่เปิดออฟฟิศมา โดยทั้ง 12 โครงการนั้นถูกจำแนกผ่านทางรูปฟอร์มที่ต่างกันไป 3 แบบ อันได้แก่ถิ่นฐานของลาน’ (Courtyard Settlement) ‘หน่วยชีวิตอันอิสระ’ (Free Cells) และส่วนต่อขยายของบ้าน’ (Extension of Homes) ลักษณะทั้ง 3 แบบ จะเป็นตัวกำหนดกรอบอาคารและการวางผังอาคาร ที่เขาเชื่อว่ารูปทรงเหล่านั้น สามารถกลายเป็นสื่อกลางแห่งความทรงจำทางวัฒนธรรม พลังงาน และการเชื่อมต่อที่ไม่หยุดนิ่งระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม โดยขยายความได้ดังนี้

Feature works of Scenic Architecture office

การตั้งถิ่นฐานของลาน (Courtyard Settlement) 

การวางอาคารในรูปแบบนี้จะเน้นการโอบล้อมเพื่อสร้างพื้นที่ใหม่ที่เอื้อให้เกิดความสงบ การเข้าถึงแก่นแท้ของพื้นที่ และเกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและธรรมชาติ ดังเช่นสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของจีนที่มีลานเป็นตัวกำหนดการเข้าถึงและการแบ่งสัดส่วนของอาคาร ผลงาน Zhujiajiao Museum of Humanities & Arts สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในเมืองโบราณจูเจียเจี่ยว (Zhujiajiao) ชานเมืองเซี่ยงไฮ้ แสดงถึงความตั้งใจของเสี่ยวเฟิงที่ต้องการให้เกิดลักษณะของลานและการโอบล้อมของพื้นที่ เห็นได้ชัดจากการวางผังอาคารที่ห้องโถงกลาง ซึ่งถูกวางในตำแหน่งหัวใจของอาคาร ล้อมรอบด้วยกำแพงสีขาวและมีบันไดที่หุ้มด้วยไม้เสมือนประติมากรรมตั้งอยู่กลางลานภายใต้หลังคาสกายไลท์ นอกจากลักษณะของลานภายในในชั้นล่างแล้ว ยังมีลานที่ปรากฏบนชั้นสองสลับกับตัวอาคาร เกิดเป็นการเชื่อมต่อของหมู่อาคารโดยใช้ที่ว่างเป็นตัวเชื่อมโยง ซึ่งที่ว่างเหล่านั้นได้สะท้อนภาพธรรมชาติและความเป็นอยู่ของชุมชนภายนอกกลับเข้ามาในอาคารอีกด้วย

Diagram of Zhujiajiao Museum of Humanities & Arts

Zhujiajiao Museum of Humanities & Arts l Photo: Iwan Baan

Zhujiajiao Museum of Humanities & Arts l Photo: Iwan Baan

หน่วยชีวิตอันอิสระ (Free Cells)

เมื่อรูปฟอร์มที่สร้างกรอบล้อมอาคารถูกแตกแขนงออกมาเหลือเพียงการเชื่อมผ่านทางความรู้สึก โดยมีธรรมชาติที่สอดแทรกอยู่มาเกื้อหนุน สร้างความอิสระให้กับหน่วยชีวิตเหล่านั้น ผลงาน Shanghai Google Creators’ Society Center (Huaxin Business Center) คือการแตกแขนงความเป็นอยู่ที่สอดสัมพันธ์ไปกับบริบทโดยรอบ โครงการนี้ตั้งอยู่ริมถนนสายหลักในตัวเมืองเซี่ยงไฮ้ทางตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของต้นการบูรเก่าแก่ของเมืองจำนวน 6 ต้น การเปิดกว้างของพื้นที่และการอยู่ร่วมกับต้นไม้จึงเป็นแนวความคิดหลักที่เสี่ยวเฟิงนำมากำหนดในการออกแบบ การยกระดับอาคารในชั้นล่างแล้วห่อโครงสร้างด้วยแผ่นสเตนเลสสะท้อนเสมือนอาคารทั้ง 4 ลอยอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ และสอดแทรกไปตามที่ว่างระหว่างต้นไม้ รังสรรค์ให้เกิดความรู้สึกอันเป็นอิสระของสถาปัตยกรรมจากพันธการทั้งปวงที่สถาปนิกเป็นผู้กำหนดขึ้น

Huaxin Business Center Plan

Huaxin Business Center and surrounding l Photo: Su Shengliang

ส่วนต่อขยายของบ้าน (Extension of Homes)

ภาพของบ้านที่คุ้นเคยเมื่อต่อขยายรูปทรงหลังคาเกิดเป็นพื้นที่ใช้งานหรือที่ว่างภายใต้หลังคาเดียวกันสามารถสร้างความสัมพันธ์ของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่รำลึกถึงสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นได้อย่างน่าสนใจ Dongyuan Qianxun Community Center เป็นโครงการอาคารสาธารณะในเมืองซูโจว ที่เสี่ยวเฟิงทดลองใช้ระบบผนังรับน้ำหนักโดยใช้การซ้อนผนังแทนโครงสร้าง” (stacked walls as deep beams) มาเป็นตัวกำหนดพื้นที่อาคารและที่ว่าง ขณะที่หลังคาคอนกรีตเปลือยแบบกลับหัวสร้างความรู้สึกเหมือนอยู่ใต้น้ำ เชื่อมโยงไปสู่รูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมตามแนวสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีทางตะวันออกเฉียงใต้ (Jiangnan Houses) การซ้อนกันของผนังและลักษณะของรูปทรงหลังคาก่อให้เกิดสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่ยังคงไว้ซึ่งกลิ่นอายของวัฒนธรรมและการตอบสนองกับแสงและเงาจากธรรมชาติ

Bearing wall in Dongyuan Qianxun Community Center l Photo: Dongyuan Design

Dongyuan Qianxun Community Center Section

จากพื้นภูมิและความสนใจของสถาปนิกจีนที่เกิดในยุค 1970s ซึ่งได้รับอิทธิพลแนวความคิดจากตะวันตก ประกอบกับการค้นหาวัฒนธรรมดั้งเดิมของประเทศที่เกิดความไม่ชัดเจนในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม (Culture Revolution) เมื่อพวกเขายังเด็ก และการพัฒนาประเทศแบบสุดโต่งในช่วงที่พวกเขากำลังสร้างออฟฟิศของตนเองนั้น จึงส่งผลให้ปัจจุบันนี้เราสามารถเห็นผลงานการออกแบบของสถาปนิกจีนได้ชัดเจนเป็น 2 แนวทาง ทางที่หนึ่งคือการออกแบบอาคารสมัยใหม่ที่ยังมีกลิ่นอายรากเหง้าทางวัฒนธรรม ที่เราสามารถเห็นได้ชัดเจนในผลงานของ Scenic Architecture Office ขณะที่อีกทางหนึ่งนั้นคือการออกแบบที่แสดงถึงความสมัยใหม่และเทคโนโลยีในการผลิตที่ทัดเทียมหรือก้าวหน้ากว่าอารยประเทศ โดยทั้ง 2 แนวทางนั้น ยังคงพยายามหาความเป็นไปได้ในวัตถุดิบที่มีในประเทศ รากเหง้าที่ยังหลงเหลือ และความเป็นไปได้ในอนาคต คงน่าสนใจไม่น้อยถ้าหากว่าวันหนึ่งเราจะมีโอกาสได้เห็นผลงานการออกแบบของ Scenic Architecture Office ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่าง 2 แนวทางนี้เข้าด้วยกัน ที่จะทำให้ผลงานสถาปัตยกรรมของ จู้ เสี่ยวเฟิง นั้น เกิดการเชื่อมต่ออย่างไม่หยุดนิ่งระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม ไปจนถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง

Photo: Hanzhi Gao

scenicarchitecture.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *