art4d ชวน onion มาเผยถึงเบื้องหลังการออกแบบภายในทุกซอกทุกมุมของ ‘ศูนย์ประชุมแห่งชาติ’ แห่งนี้ ที่มีโจทย์สำคัญคือการเป็นหน้าตาของประเทศ การเป็นหอประชุมระดับนานาชาติ และการถ่ายทอดความเป็นไทยร่วมสมัยไปพร้อมๆ กัน
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
“อีก 3 ปีค่อยเจอกันใหม่”
คำประกาศจากศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่ว่า อาคารจะปิดตัวและใช้เวลา 3 ปี ยกเครื่องอาคารใหม่หมดจด เป็นประกาศที่แพร่สะพัดไปทั่วสื่อต่างๆ เมื่อปี 2562 ตอนที่มีข่าวออกมา หลายคนตั้งหน้าตั้งตารอว่าหน้าตาอาคารหลังใหม่จะออกมาเป็นอย่างไร จะก้าวผ่านอาคารหลังเก่าในตำนาน ที่ผสมผสานความเป็นไทยและความสากลอย่างลงตัวได้ไหม และยิ่งศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เป็นศูนย์ประชุมระดับสากลแห่งแรกของไทย ทั้งมีดีกรีเป็นถึง ‘ศูนย์ประชุมแห่งชาติ’ สายตาของคนไทยมหาศาลก็ยิ่งจับจ้องมาด้วยความคาดหวังอันพุ่งพรวด
“ตอนศูนย์ฯ ใกล้เปิดเรารู้สึกกดดันเหมือนกัน แต่พอเสร็จออกมาจริงๆ ก็ดีใจกับผลตอบรับ” อริศรา จักรธรานนท์ สถาปนิกจากสตูดิโอ onion เผยถึงความรู้สึกของเธอให้เราฟังหลังจากงานเสร็จสมบูรณ์
อาคารศูนย์ฯ สิริกิติ์หลังใหม่สร้างแทนที่อาคารเดิมซึ่งใช้งานมายาวนานกว่า 30 ปี ทีมงานที่อยู่เบื้องหลังงานดีไซน์อาคารใหม่มีสามทีมหลักๆ ด้วยกัน คือ Design 103 International สถาปนิกผู้ออกแบบงานสถาปัตยกรรมให้กับอาคารหลังเก่าที่ได้กลับมาออกแบบอาคารหลังใหม่อีกครั้ง Shma Company Limited ผู้ดูแลงานภูมิสถาปัตยกรรม และ onion ที่รับผิดชอบงานออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน
ผลงานนี้ได้รับเสียงชื่นชมจากสาธารณะชนอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะงานออกแบบสถาปัตยกรรมภายในที่สามารถฉายภาพความยิ่งใหญ่ภาคภูมิของศูนย์ฯ สิริกิติ์ ไปพร้อมๆ กับการเสนอความเป็นไทยในรูปแบบที่สดใหม่ ร่วมสมัย และยังสวยงามสะดุดตา จนอินฟลูฯ และบล็อกเกอร์แห่แหนกันมาถ่ายรูปกันไม่เว้นแต่ละวัน
แล้วอะไรคือไอเดียที่อยู่เบื้องหลังงานออกแบบอันสวยงาม? ครั้งนี้อริศราพาเราซอกแซกทุกจุดสำคัญของศูนย์ฯ สิริกิติ์โฉมใหม่ พร้อมเผยไอเดียเบื้องหลังการดีไซน์ให้ฟัง
“เราอยากทำให้ดีไซน์ที่ดูไทย แต่ก็รู้สึกเป็นสากล คนเข้ามาแล้วไม่รู้สึกเกร็ง และเราก็ให้น้ำหนักกับการเป็นสถานที่จัดประชุมที่ใช้งานได้ดีด้วย” อริศราเผยถึงแกนหลักในงานออกแบบนี้ นั่นคือการถ่ายทอดความเป็นไทยร่วมสมัยและการใช้งานที่ดี ถึงศูนย์ประชุมจะมีสเกลที่ใหญ่โต แต่ผู้คนจะต้องเดินไปส่วนต่างๆ ได้โดยไม่หลง ขณะเดียวกัน งานก็ต้องแสดงออกถึง ‘ความเป็นไทย’ เพราะศูนย์ประชุมเป็นเสมือนตัวแทนของชาติในการต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง การสอดแทรกอัตลักษณ์ไทยจึงเป็นการบอกเล่าตัวตนและสร้างความประทับใจให้เหล่าอาคันตุกะได้สัมผัสอย่างรวดเร็ว แต่ความเป็นไทยที่ onion อยากใส่ในงาน ก็ไม่ใช่ความเป็นไทยอันเก๋ากึ๊กเขร่งขรึม หรือใช้วิธีถอดหน้าจั่วหรือลายไทยมาแปะแบบดื้อๆ หากเป็นการสร้างบรรยากาศความเป็นไทยที่เป็นกันเองและดูสากล
ก่อนหน้าที่เราจะเจอกับอริศรา เราลองตระเวนดูพื้นที่แต่ละชั้นแบบเร็วๆ และเห็นว่าแต่ละส่วนต่างมีคาแรกเตอร์ตามแบบฉบับของตัวเอง เราเลยถามเธอว่า อะไรคือเบื้องหลังหน้าตาที่ต่างกันของแต่ละโซน
“งานออกแบบภายในที่นี่ได้แรงบันดาลใจจากชุดไทยและผ้าไทย พื้นที่แต่ละส่วนจะเริ่มต้นจากชุดที่ต่างกัน” อริศราเผย พร้อมเล่าต่อว่าผ้าไทยและชุดไทยถูกหยิบเป็นจุดตั้งต้นเนื่องจากทั้งสองอย่างเป็นงานศิลปะหัตถกรรมไทยที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงส่งเสริมและนำมาสวมใส่ให้ดูร่วมสมัยอยู่เสมอ และเนื่องจากชื่อของศูนย์ฯ สิริกิติ์ตั้งตามชื่อของพระองค์ การเลือกชุดไทยเป็นจุดเริ่มต้นก็ดูเหมาะสมเข้ากับบริบทของงาน
อาคารศูนย์ฯ สิริกิติ์หลังใหม่มีพื้นที่สำหรับจัดแสดงและจัดเลี้ยง 4 ชั้น บริเวณที่เราและอริศราพบกันคือชั้น LG ชั้นใต้ดินที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า MRT ชั้นนี้มีฮอลล์จัดแสดงขนาดใหญ่ที่มีเสาอยู่ด้านใน ภายนอกรายล้อมด้วยร้านรวงที่ให้ความรู้สึกไม่ต่างกับห้างสรรพสินค้า “ชั้นนี้มีบรรยากาศที่คึกคักที่สุด มีความสบายๆ เราเลยใช้ชุดผ้าขาวม้าเป็นคอนเซ็ปต์ของชั้นนี้”
ลายผ้าขาวม้าถูกถอดความออกมาเป็นลายเส้นตั้งเส้นนอนที่ผนังภายในฮอลล์จัดแสดง และลายพื้นกระเบื้องที่โถงด้านนอกฮอลล์จัดแสดง นอกจากการถอดลวดลายจากผ้าขาวม้า อริศรายังถอดความรู้สึกสบายๆ จากผ้าขาวม้าอีกเช่นกัน ผนังที่กรุด้านนอกฮอลล์จัดแสดง เป็นผนังซ้อนเกล็ดสีขาวที่คล้ายคลึงกับผนังไม้ซ้อนเกล็ดตามบ้านคนไทยทั่วไป ซึ่งช่วยสร้างบรรยากาศอันเป็นกันเอง แผ่นเกล็ดบนผนังทำมาจาก laminate postform สำเร็จรูปที่ดัดขอบให้โค้งเพื่อให้เกิดแสงเงาตกกระทบที่นุ่มนวล ขอบที่ว่าได้รับการออกแบบให้มีขนาดใหญ่พิเศษ เพื่อให้คนเห็นขอบได้อย่างชัดเจนแม้จะอยู่ในระยะไกล
ปีกอีกฝั่งของอาคารคือทางเดินเชื่อม MRT ยาวหลายร้อยเมตร อริศราออกแบบทางเดินให้เป็นเสมือนแกลเลอรีงานศิลปะที่มีงานชิ้นใหญ่มโหฬารติดด้านข้าง เพื่อไม่ให้คนเดินแล้วรู้สึกเหนื่อย งานติดตั้งก็มีทั้งงานใหม่ เช่น งานผ้าทอจากเพลินจันทร์ วิญญรัตน์ และงานที่ยกมาจากศูนย์เก่าเช่นประติมากรรมไม้จากจรูญ มาถนอม นอกจากจะช่วยสร้างสีสันระหว่างการเดินแล้ว ก็เป็นการแสดงการอยู่ร่วมกันระหว่างของเก่า และของใหม่ ที่ลงตัว
อย่างที่บอกไปว่าฟังก์ชันการใช้งานก็เป็นเรื่องที่ onion ให้ความสำคัญ ที่โถงภายนอกฮอลล์ อริศราชี้ไปที่ฝ้าที่มีภาษาการออกแบบสองอย่าง อย่างแรกคือฝ้าทึบ อย่างที่สองคือฝ้าโปร่งลักษณะเป็นซี่ โดยบริเวณที่เป็นฝ้าทึบ จะตรงกับประตูทางเข้าฮอลล์จัดงานพอดี กลายเป็นว่าองค์ประกอบตกแต่งเหล่านี้ช่วยบอกทางคนที่อยู่ในศูนย์ประชุมไปด้วย และหากมองไปที่กำแพงทั้งนอกฮอลล์และในฮอลล์ จะเห็นว่าส่วนที่ตรงกับประตูทางเดินไปห้องน้ำ ทางหนีไฟ หรือห้องต่างๆ ก็จะมีแพทเทิร์นผนังที่แปลกออกไปเช่นกัน
งานออกแบบอันสะดุดตาอีกจุดหนึ่งของชั้น LG ก็คือบันไดขนาดใหญ่ที่กว้างกว่า 50 เมตร บันไดมีลูกเล่นจากชุดเส้นบันไดสีดำที่ทับซ้อนบันไดใหญ่สีขาวอีกทีหนึ่ง ตรงนี้ยังเป็นโถงที่เปิดโล่งไปสู่อาคารชั้นบน และเป็นทางออกไปด้านนอกศูนย์ประชุม อริศราบอกว่าบันไดนี้ออกแบบมาเพื่อให้ศูนย์ประชุมผ่านมาตรฐานสากลเรื่องทางหนีไฟของศูนย์จัดประชุม บันไดจึงมีขนาดยาวเหยียดเพื่อเอื้อให้คนจำนวนมากอพยพหนีไฟได้อย่างปลอดภัย ชุดบันไดที่มีทั้งสีดำและขาว เป็นการแยกกันระหว่างบันไดที่เป็นเส้นทางเดิน นั่นคือบันไดสีดำ และบันไดที่คนสามารถนั่งพักให้หายเมื่อยได้ นั่นคือบันไดสีขาว เส้นบันไดสีดำที่พาดตัวเอียงอย่างอิสระ ช่วยสร้างความสนุกสนานให้สเปซนี้ได้ดีทีเดียว
เต็มอิ่มกับชั้นใต้ดินไปแล้ว อริศรานำเราเดินขึ้นบันไดเลื่อนไปชั้น G ชั้นนี้ได้รับการออกแบบโดยเริ่มจากชุดไทยประยุกต์โจงกระเบนที่มีความเป็นทางการ เพราะเป็นชั้นทางเข้าที่รถยนต์ของแขกระดับ VIP จะมาเทียบจอด และภายในก็มีฮอลล์จัดงานที่ใหญ่ที่สุด มีระดับฝ้าสูงที่สุดกว่า 13.5 เมตร และยังไม่มีเสาภายในสักต้นด้วย
ทันทีทันใดที่ขึ้นมาถึงชั้นนี้ อริศราก็พาเราไปดูกำแพงหินสีน้ำตาลอ่อนพื้นผิวหยักโค้งที่ห่อหุ้มฮอลล์จัดงาน นอกจากกำแพงจะสื่อถึงชุดไทยประยุกต์โจงกระเบนจากรอยหยักที่คล้ายรอยจีบบนชุดแล้ว อริศราเล่าว่าเธอยังออกแบบกำแพงให้มีกลิ่นอายคล้ายกำแพงโบราณสถานไทยเช่นกัน “เราอยากให้กำแพงนี้มีกลิ่นอายคล้ายกำแพงอิฐในโบราณสถานไทย เราเลยใช้หิน travertine จากตุรกี เพราะมีสีบลอนด์ๆ เหมือนอิฐ แต่ก็มีความรู้สึกสากลผสมกัน”
หินก้อนใหญ่ถูกตัดให้ได้ขนาดและนำมากรุบนโครงเหล็ก เกิดเป็นลวดลายเฉพาะตัวที่อริศราและทีมใช้สัญชาตญาณรังสรรค์ให้เกิดความรู้สึกไทย ลวดลายที่ว่าก็คล้ายกับลายหยักโค้งบนฐานอาคารสถาปัตยกรรมไทย แต่เป็นเวอร์ชันที่ลดทอนและเรียบง่ายขึ้น การเรียงหินจากแผ่นใหญ่ด้านล่าง ไปสู่แผ่นเล็กด้านบน ก็ให้ความรู้สึกที่หนักแน่น เหมือนกับฐานอาคารสถาปัตยกรรมไทยด้วย
โถงประตูทางเข้าหลักฝั่งถนนรัชดาก็เป็นไฮไลท์ที่อริศราภูมิใจนำเสนอ แม้ว่าในความเป็นจริงพื้นที่ของโถงทางเข้าจะไม่ได้ใหญ่โต แต่แผ่น mirror film สะท้อนแสงที่กรุอยู่บนฝ้าเพดานช่วยพรางสายตาให้สเปซดูโออ่ามากกว่าความเป็นจริงหลายเท่า กรอบกำแพงข้างบนรายล้อมด้วยผนังสีขาวหนาๆ และช่องเปิดสี่เหลี่ยมผืนผ้าหลายช่องที่วางเป็นกริดอย่างเป็นระเบียบ อริศราบอกว่าบริเวณนี้ได้ชื่อเล่นจากผู้รับเหมาว่าเป็นโถงพระ จากลักษณะหน้าตาของมันที่ได้อารมณ์คล้ายวัด
เงยหน้าไปดูข้างบนแล้ว อริศราชวนลดระดับสายตาลงมา เพื่อพบกับประตูเขียนลายรดน้ำรูปต้นกัลปพฤกษ์ที่เธอยกมาจากอาคารหลังเก่า องค์ประกอบอันเป็นเอกลักษณ์อันนี้อยู่ร่วมกันอย่างสง่างามกัับซุ้มประตูทางเข้าที่กรุด้วยแผ่น laminate โลหะสีทองแดงมันวาว กรอบประตูยังทำหน้าที่เป็นฉากหลังที่งดงามให้กับประติมากรรมโลกุตระที่อยู่ด้านนอกอาคาร นับเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่งานออกแบบใหม่ และงานศิลปะจากอาคารเก่าสามารถสอดผสานกันอย่างสวยงาม
อริศราพาเดินต่อไปที่โถงหน้าฮอลล์ฝั่งติดกับสวนเบญจกิติ ที่นี่รอยพับจีบอย่างในชุดโจงกระเบนปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนบนฝ้าเพดานที่มีแนวซี่พับโค้งลงมา แต่ละซี่ก็มีขอบขลิบสีทองทอดยาวตลอดแนว เสาที่ได้รับการออกแบบเป็นเสาหกเหลี่ยมก็เน้นย้ำเอฟเฟกต์การพับจีบในสเปซนี้ให้ชัดเจนขึ้นด้วย จะว่าไปแล้ว รอยหยักจีบที่เกิดขึ้นในสเปซนี้พรางสเปซให้ดูโปร่งเบาขึ้น คล้ายการย่อมุมในสถาปัตยกรรมไทยที่ช่วยลดความทึบตันและความแข็งเกร็งได้เป็นอย่างดีเหมือนกัน
นอกจากฮอลล์จัดแสดงสินค้า ศูนย์ประชุมแห่งนี้ก็มีพื้นที่จัดเลี้ยงหรือจัดประชุมขนาดย่อมที่ชั้น 1 และ 2 เช่นกัน อริศรานำทางเราไปที่ห้องบอลรูมชั้น 1 ซีกเหนือทางเชื่อมรถไฟฟ้า MRT ห้องนี้ได้รับการออกแบบในธีมชุดชาวเขาและเครื่องประดับเงิน ซึ่งก็เป็นงานศิลปหัตถกรรมที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงผลักดันและสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ทีม onion นำเอาเรขาคณิตของลูกเดือยที่ปักบนชุดชาวเขามาคลี่คลายเป็นแพทเทิร์นทั้งบนพรม ผนังฉลุไม้ หรือเป็นรูปทรงของมือจับประตูและดวงโคม รวมถึงเติมแต่งกลิ่นอายเครื่องประดับเงินด้วยการใช้สีโทนเทาดำและการใช้แผ่นเงินคล้ายแผ่นทองคำเปลวแปะบนฝ้าโค้งเว้าที่สุดแสนแฟนตาซี “ฮอลล์นี้จะมีความเท่ห์ และได้มู้ดที่สนุกสนานกว่าส่วนอื่นๆ” อริศราเสริม
ซีกตรงข้ามของอาคารในชั้นเดียวกันคือ Plenary Hall ที่พิเศษด้วยทิวทัศน์อันร่มรื่นเย็นตาของสวนเบญจกิติแบบพาโนรามา “ฮอลล์นี้เป็นฮอลล์ที่พิเศษที่สุด เพราะได้วิวบ่อน้ำและสวนที่สวยงาม เหมาะกับการจัดงานโอกาสพิเศษ หรืองานเลี้ยงหรูหรา” อริศราว่า “เราเลยออกแบบฮอลล์นี้โดยเอาชุดไทยจักรีและชุดไทยพระราชนิยมมาเป็นคอนเซ็ปต์ เพราะเป็นชุดที่มีความวิจิตร ปราณีต ดูหรูหรา เข้ากับคาแร็กเตอร์ของที่นี่”
ก่อนเข้าฮอลล์จะพบส่วน pre-function ที่กรุโดยรอบด้วยหิน sandstone สีละมุน พร้อมบันไดที่ได้การขนามนามจากชาวเน็ตว่า ‘บันไดนพนภา’ เพราะคล้ายบันไดที่ นพนภา นางร้ายในละครเรื่องแรงเงา ‘มีเรื่อง’ กับนางเอก
“เราไม่ได้ตั้งใจให้เป็นบันไดนพนภา” อริศราหัวเราะ “ตอนแรกสเปซนี้เป็นแค่โถงทางเข้าสูงชั้นเดียว แต่เราคิดว่าสเปซมันแบนไป เราเลยเสนอให้เจาะโถงเป็น double space และมีบันไดที่สามารถใช้งานได้หลายอย่าง เช่น เป็นที่ให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวได้เดินลงมาเจอกัน ส่วนเหตุผลที่บันไดเป็นบันไดแยกทาง ก็เพราะเป็นรูปแบบบันไดที่ประหยัดพื้นที่การใช้งาน”
พอเข้าไปในฮอลล์จะพบกับห้องขนาดใหญ่ กำแพงห้องฝั่งหนึ่งสามารถเปิดออกเพื่อให้พื้นที่ห้องขยายใหญ่มากขึ้น พร้อมเปิดรับวิวจากสวนเบญจกิติแบบเต็มตา แรงบันดาลใจจากชุดไทยจักรี ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นลายประจำยามรูปแบบลดทอนที่ปรากฏกายอย่างแน่นขนัดทั้งบนพรม บนผนัง และบนฝ้าเพดาน อริศราบอกว่า สเปซที่อัดแน่นด้วยลาย ก็คล้ายกับชุดไทยจักรีที่มีลายอัดแน่นอยู่ในผ้า ถึงผ้าจะเต็มไปด้วยลาย แต่เมื่อมองโดยรวมกลับดูสง่างามและลงตัว ฝ้าลามิเนตสีเงินลายประจำยามที่มีปีกหักลงเล็กน้อย ก็สร้างเอฟเฟ็กต์ประกายวิบวับเหมือนลายผ้าเวลาถูกแสงแดดตกกระทบเช่นกัน
หลังจากพาเดินไปตามส่วนสำคัญแทบทั้งหมดแล้ว อริศราก็พูดถึงงานดีไซน์อีกส่วนที่เธอชื่นชอบเป็นพิเศษ นั่นคือ ‘บันไดเลื่อน’
“บันไดเลื่อนฝั่งสวนเบญจกิติกับฝั่งรถไฟฟ้าจะมีสีไม่เหมือนกัน” อริศราเล่า “ฝั่งรถไฟฟ้าจะเป็นสีเงิน ส่วนฝั่งสวนเบญจกิติเป็นสีทอง เราแยกสีเพื่อช่วยให้คนไม่หลง บอกได้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหน”
บันไดเลื่อนยังมีดีเทลการดีไซน์ที่น่าสนใจโดยเฉพาะที่บันไดเลื่อนสีทอง ตัวบันไดเลื่อนล้อมรอบด้วยกรอบตระแกรงเหล็กแปะผิวด้วยทองคำเปลวสีทองอร่าม ลายในตะแกรงเป็นลายประจำยามเวอร์ชันลดทอนที่มีการไล่ขนาดเล็กใหญ่ แม้เราจะเดินอยู่ไกลๆ แต่กรอบที่ล้อมรอบก็ช่วยให้รู้ได้อย่างง่ายดายว่าบันไดเลื่อนตั้งอยู่ตรงไหนของอาคาร
หลังจากที่ได้เดินจนทั่ว จะเห็นว่าลายประจำยามคือแพทเทิร์นที่โผล่มาให้เห็นอยู่ตลอดๆ ตั้งแต่ Plenary Hall กรอบบันไดเลื่อน ไปจนถึงบริเวณอื่นๆ ลายกระเบื้องที่ lounge หน้าห้องประชุมชั้น 1 อริศราบอกอีกว่า ลายประจำยามยังถูกคลี่คลายไปอีกหลากหลายรูปแบบ อย่างเช่น เส้นหยักโค้งบนกรอบบันไดเลื่อนหรือบนฝ้าซี่ชั้น LG ที่ถอดเส้นสายจากลายประจำยาม หรือกรอบผนังห้องประชุมชั้น 1 และ 2 ที่มีความโค้งมน ซึ่งเป็นการถอดเส้นสายในระนาบ plan และ section “การใช้ลายประจำยามในส่วนต่างๆ ทำให้พื้นที่ที่มีคาแร็คเตอร์ต่างกัน ดูสอดคล้องและเป็นหนึ่งเดียวกัน” อริศราบอกถึงเหตุผล
สุดท้ายเราและอริศรามาเทียบท่ากันที่บันไดเลื่อนสีทอง ถึงเราจะรู้สึกเหนื่อยจนแทบหอบเพราะเดินเยอะมาก แต่อริศรายังเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง แถมจะไปเดินอีเวนท์ที่จัดในศูนย์ต่อด้วย ก่อนจากกันเราถามเธอว่าวิธีการออกแบบที่นี่แตกต่างจากงานที่ผ่านมาของ onion หรือเปล่า ที่ปกติมักจะทำงานสเกลไม่ใหญ่มาก เจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่ม แต่งานนี้เป็นงานขนาดใหญ่ยักษ์ และมีคนเข้ามาใช้งานหลากหลายกลุ่ม
“งานออกแบบก่อนหน้าเราอาจไม่ต้องกังวลว่าคนจะชอบไหม เพราะคนที่ไปดูงานเรา คือคนที่ชอบตัวตนเราอยู่แล้ว แต่งานนี้ คนที่มาเห็นงานเราจะมีร้อยพ่อพันแม่ และมีมุมมองต่างกัน เพราะฉะนั้นวิธีการออกแบบเลยแตกต่างกับงานอื่นๆ ตรงที่ต้องคำนึงถึงคนหลายฝ่ายที่เข้ามาใช้งาน” อริศรากล่าว หลักฐานที่แสดงว่างานรองรับคนหลายฝ่าย อย่างเช่น โทนสีภายในที่เป็นสีโทนกลางๆ ไม่ได้ฉูดฉาด อย่างเช่นชั้น LG ที่สีถูกควบคุมอยู่ในโทนขาว ดำ หรือชั้น G ที่กำแพงหิน Travertine โค้งเว้าเป็นสีน้ำตาลอ่อนๆ สีโทนกลางเอื้อให้คนที่เช่าพื้นที่สามารถจัดงานได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกลัวว่างานตกแต่งภายในจะไปรบกวน คนที่เข้ามาเดินก็ไม่รู้สึกเกะกะสายตาอีกเช่นกัน
แม้จะเป็นโปรเจ็คต์ระดับสาธารณชนที่มีสเกลใหญ่ยักษ์ของ onion งานแรก ผลงานนี้พิสูจน์แล้วว่า พวกเขาก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานออกมาให้ประทับใจคนหลากหลาย และที่สำคัญคือ สามารถถ่ายทอดความเป็นไทยร่วมสมัยที่แตกต่าง ไม่จำเจ จริงอยู่ที่งานอาจจะไม่ได้สมบูรณ์แบบทั้งหมด และมีข้อตำหนิจากผู้ใช้งานจริงบ้าง เช่น จำนวนที่นั่งพักที่ไม่เพียงพอจนคนต้องนั่งกันเรียงรายตามพื้นในวันที่มีคนมาร่วมงานมากๆ แต่งานออกแบบนี้ถือว่าเป็นการก้าวเดินก้าวแรกที่สง่างามของอาคารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์แห่งนี้ และเป็นผลงานที่คุ้มค่ากับการรอคอย