NOT TOO VIRGIN DESIGN LAB

ดีไซน์แล็บที่นำวัสดุรีไซเคิลและวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นของตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ และแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของงานออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและตอบโจทย์กับคนรักดีไซน์ไปพร้อมๆ กัน

TEXT : SURAWIT BOONJOO
PHOTO COURTESY OF NOT TOO VIRGIN DESIGN LAB EXCEPT AS NOTED

(For English, press here

“We provide new possibilities for transforming recycled and greener materials through good designs.”

จุดเริ่มต้นจากความต้องการเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านเพื่อนำกลับไปตกแต่งที่พักที่กรุงเทพมหานคร ก่อนเดินทางกลับจากประเทศอังกฤษหลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ได้นำสองผู้ก่อตั้ง เก้ ขวัญจันทร์ สงขกุล และไอซ์ ศิรดา กุลไพศาล ไปพบกับผลงานออกแบบชิ้นหนึ่งซึ่งทำขึ้นด้วยวัสดุพลาสติกรีไซเคิล กลายเป็นต้นทางของการออกสำรวจหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของวัสดุ ตามความสนใจการมองหาวัสดุทางเลือกที่ยั่งยืน และเป็นมิตรไม่เฉพาะเพียงกับสิ่งแวดล้อม แต่รวมถึงผู้ใช้งานด้วย จากวิสัยทัศน์นี้เอง Not too Virgin Design Lab จึงถือกำเนิดขึ้น

“ในประเทศไทยอาจจะยังไม่มีเรื่องแบบนี้ และอาจจะไม่มีเฟอร์นิเจอร์ที่ทำมาจากพลาสติกรีไซเคิล หรือเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่คำนึงถึงความยั่งยืนอย่างแท้จริงขึ้นมา ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่เราอยากทำ โดยเราอาจจะไม่ได้มีความรู้ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์โดยตรง แต่ถ้าเราชูเรื่องวัสดุขึ้นมา นี่ก็อาจจะใช้เป็นจุดขายของเราได้”

Kwanchan Sonkakul (Left) and Sirada Kulpaisan (Right)

Not too Virgin Design Lab วางบทบาทตนเองในสถานะผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุทางเลือกใหม่ ซึ่งเริ่มจากการศึกษา และเรียนรู้ด้วยการเป็นผู้ใช้งานจริง ด้วยความต้องการให้ Not too Virgin Design Lab กลายเป็นพื้นที่ศูนย์รวมของวัสดุ ประเภทวัสดุรีไซเคิล และ/หรือวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีจุดยืนในการเลือกใช้วัสดุที่ไม่เหมือนใครและต้องมีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ตอกย้ำด้วยความหมายของ ‘not too virgin’ คือการเลือกใช้วัสดุที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว

ขวัญจันทร์และศิรดาเริ่มต้นด้วยการพัฒนาเครื่องจักรสำหรับผลิตแผ่นพลาสติกรีไซเคิลร่วมกับองค์กร Precious Plastic ที่ให้คำปรึกษา และความรู้กับชุมชนต่างๆ เรื่องการรีไซเคิลและการเพิ่มมูลค่าให้กับขยะพลาสติก แผ่นพลาสติกรีไซเคิลนี้ผลิตขึ้นจากขยะพลาสติก HDPE จำพวกฝาขวดน้ำ ขวดแชมพู หรือกล่องใส่อาหาร ซึ่งโดดเด่นด้วยสีสันและลวดลายที่หลากหลายจากการนำเศษฝาพลาสติกราว 10,000 ฝา ผ่านกรรมวิธีแยกเฉดสี นำมาบด และขึ้นรูปทรงเป็นแผ่นด้วยเครื่องจักรที่ให้ความร้อนสูง เพื่อเป็นตัวช่วยให้พลาสติกหลอมละลายรวมเป็นเนื้อเดียวกัน ด้วยกระบวนการดังกล่าว ทำให้แผ่นพลาสติกรีไซเคิลนั้นมีความคงทนและแข็งแรงมากยิ่งขึ้น

เนื่องด้วยแผ่นพลาสติกรีไซเคิลทุกแผ่นผลิตด้วยกระบวนการทำมือเกือบจะในทุกขั้นตอน ส่งผลให้ทั้งในการจัดวางแพทเทิร์นสีสันและลวดลายสามารถสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างมากมายและหลากหลาย มีความยืดหยุ่นทั้งขนาดและรูปทรง แผ่นพลาสติกรีไซเคิลนี้สามารถนำไปพัฒนาต่อยอด ดัดแปลงเป็นสิ่งต่างๆ ได้อย่างมากมาย เช่นประกอบเป็นเฟอร์นิเจอร์ ในรูปแบบโต๊ะ เก้าอี้ หรือชั้นวาง

นอกจากความโดดเด่นจากการช่วยลดขยะและนำกลับมาใช้ใหม่อย่างยั่งยืน แผ่นพลาสติกรีไซเคิลยังโดดเด่นในด้านสีสันที่สดใส และสามารถเลียนแบบลวดลายของพื้นผิวอื่นๆ แต่ออกมาในรูปลักษณ์ที่สดใส หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยในปัจจุบันแผ่นพลาสติกรีไซเคิลนั้นก็มีลวดลายคล้ายคลึงกับหินขัดเทอราซโซ ในจุดนี้เองที่ช่วยเน้นย้ำให้เห็นอีกหนึ่งคุณสมบัติในการลอกเลียนลวดลาย แต่สามารถปรับเปลี่ยนให้สีสันสดใสและจัดจ้านยิ่งขึ้นได้ ตอบสนองการนำไปปรับใช้ในรูปแบบต่างๆ

และในช่วงเวลาใกล้ๆ กันนี้เอง ขวัญจันทร์กับศิรดายังได้พบกับ ‘เจสโมไนท์’ (Jesmonite) อีกหนึ่งวัสดุ ซึ่งโดดเด่นด้วยสีสันที่หลากหลาย และมีคุณสมบัติของวัสดุตรงตามวิสัยทัศน์ของพวกเธอ แม้จะเริ่มต้นจากความสนใจและทดลองใช้ด้วยตนเอง ก่อนประดิษฐ์เป็นของใช้และของแต่งบ้านจำหน่าย ในปัจจุบัน Not too Virgin Design Lab ยังได้กลายเป็นผู้แทนจัดจำหน่ายเจสโมไนท์เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยอีกด้วย

เจสโมไนท์ (Jesmonite) เป็นวัสดุทางเลือกที่ไม่เพียงแต่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ยังเป็นวัสดุที่คำนึงถึงผู้ใช้งานทั้งคนทำและคนใช้เป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญ ซึ่งสอดรับไปกับความต้องการของสองผู้ก่อตั้งที่อยากให้มีวัสดุทางเลือกอื่นสำหรับนักเรียน นักศึกษา รวมถึงบุคคลทั่วไปสามารถเลือกใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานของตนเองได้โดยปราศจากสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เนื่องจากคุณสมบัติมีน้ำเป็นส่วนผสม ปราศจากสารทำละลาย และสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ซึ่งทำให้เกิดมลพิษในอากาศ

Jesmonite มีพื้นผิวเนียนลื่นคงทนแข็งแรง ซึ่งมาพร้อมกับสีสันที่หลากหลาย และรองรับลวดลาย รวมถึงการขึ้นรูปได้อย่างมากมาย เนื่องด้วยลักษณะของวัสดุที่เมื่อผสมสารประกอบสองส่วน ส่วนผงกับของเหลวเข้าด้วยกัน ก็จะมีเนื้อวัสดุที่หนืดเหลว รองรับการผสมสีสัน สร้างสรรค์ลวดลายได้อย่างอิสระ โดยมีลายหินอ่อนและหินขัดเทอราซโซเป็นที่นิยมในปัจจุบัน และด้วยระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง เจสโมไนท์สามารถแข็งตัวกลายเป็นวัสดุที่แข็งแรงทนทาน

วัสดุทางเลือกชนิดนี้มีลักษณะการทำงานคล้ายคลึงกับคอนกรีต แต่ไร้สารพิษ และสามารถใช้แทนวัสดุดังกล่าวในการสร้างสรรค์ผลงานออกแบบต่างๆ รวมถึงวัสดุก่อสร้างแบบดั้งเดิมหรือผลิตภัณฑ์จากเรซิน เจสโมไนท์มีอยู่อย่างหลากหลายสูตร เพื่อรองรับรูปแบบการใช้งานเฉพาะรูปแบบที่แตกต่างกัน โดย Not too Virgin Design Lab ได้เลือกนำสูตร Jesmonite AC100 มาไว้เป็นเพียงตัวเลือกเดียว เพราะรองรับการใช้งานได้อย่างหลากหลายทั้งในการออกแบบขนาดเล็ก อย่างเครื่องประดับ ของตกแต่งบ้าน หรือเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงตกแต่งภายใน เช่น ส่วนท็อปเคาน์เตอร์บาร์ กระทั่งผลงานศิลปะประเภทประติมากรรม หรือศิลปะจัดวาง และอื่นๆ อีกมากมาย ตามคำนิยามที่บอกว่า “ความเป็นไปได้อันไร้ขอบเขตของวัสดุ”

“เราคิดว่าทุกวันนี้ของใหม่มันมีเยอะมากเลย รวมถึงของที่เกิดขึ้นจากของใหม่ นับวันขยะมันยิ่งเพิ่มมากยิ่งขึ้น นับวันมีแต่สิ่งของต่างๆ มากยิ่งขึ้น สิ่งแวดล้อมก็แย่ลง เราก็คิดไว้ว่า ถ้ามีของอะไรที่สวยด้วยแล้วก็เป็นมิตรด้วย มันก็น่าจะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในปัจจุบัน”

การมุ่งเน้นเฟ้นหา ‘not too virgin / วัสดุที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว’ รวมเข้าไว้เป็นศูนย์กลางของดีไซน์แล็บ นอกจากจะลดการสร้างวัสดุใหม่ ๆ ที่กำลังจะกลายเป็นขยะในอนาคตแล้ว ยังเป็นการย้อนกระบวนการหยิบเอาสิ่งปลายทางอย่างขยะพลาสติกมาเป็นต้นทางการเริ่มสร้างสรรค์ ซึ่งไม่เพียงแต่จะลดการเพิ่มขึ้นของสิ่งใหม่ แต่ยังลดปริมาณสิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้าให้น้อยลงไปพร้อมๆ กัน ขณะเดียวกันนั้นก็พัฒนาและนำเสนอรูปแบบการนำไปใช้อีกด้วย โดยไม่นานมานี้ Not too Virgin Design Lab ได้ทำงานร่วมกับสตูดิโอออกแบบกว่า 7 แห่ง นำวัสดุทางเลือกใหม่ทั้งสองสร้างสรรค์เป็นผลงานเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านประเภทต่างๆ จัดแสดงในนิทรรศการ ‘POP THE CHERRY’ ที่ hidey.house ระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม – 28 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา

Photo courtesy of hidey.house

แม้ในปัจจุบัน Not too Virgin Design Lab พื้นที่ดีไซน์แล็บที่กำลังทดลองค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ของวัสดุจะมีวัสดุทางเลือกอยู่เพียงสองชนิด อย่างแผ่นพลาสติกรีไซเคิลและเจสโมไนท์ แต่ในอนาคต ขวัญจันทร์กับศิรดา ก็ยังคงพยายามสืบเสาะพัฒนาหาวัสดุทางเลือกใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง และสำหรับทั้งสองผู้ก่อตั้ง จะเริ่มด้วยการเป็นผู้ใช้งานและเข้าใจถึงความเป็นวัสดุนั้นๆ อย่างเชี่ยวชาญเสียก่อน จึงจะนำเข้ามาบรรจุเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้อื่นต่อไป

facebook.com/nottoovirgindesignlab

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *