CULVERT GUESTHOUSE BY NENDO : A CRITIQUE

Photo: Daici Ano

ไกรพล ชัยเนตร จาก Alkhemist Architects พาเราสำรวจอาคาร Culvert Guesthouse จาก  nendo ที่นิยามว่าเป็น product design ขนาดยักษ์ เพื่อค้นหาว่า nendo ทำอาคารนี้ไปเพื่ออะไรกันแน่ 

TEXT: KRAIPOL JAYANETRA
PHOTO CREDIT AS NOTED

(For English, press here

ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา บริษัทออกแบบสัญชาติญี่ปุ่น nendo ได้เผยแพร่ผลงานสถาปัตยกรรมแนวคอนเซ็ปต์จ๋าๆที่ชื่อว่า Culvert Guesthouse โดยงานชินนี้เป็นสถานที่แสดงผลงาน product design ของทางบริษัท ผ่านการใช้งานสองส่วนคือส่วนของโปรแกรม archive กับ โปรแกรม guesthouse และเพื่อแสดงถึง identity ของบริษัท ที่นิยมนำสิ่งของธรรมดาๆ มาดัดแปลงวิธีการใช้งาน จนเกิดเป็นงานออกแบบที่เล่นกับความคลุมเครือ ระหว่างความคุ้นเคยและความแปลกตา ในงานชิ้นนี้ก็เช่นกัน nendo เลือกใช้เทคนิคการก่อสร้างที่ปกติจะใช้ในงานระบบโครงสร้างสาธารณูปโภค แต่ไม่ค่อยได้ใช้ในงานอาคารพักอาศัยขนาดเล็ก คืองานคอนกรีตสำเร็จรูป (precast) ชนิดอัดแรง (prestressed) ที่อยู่ในรูปทรงแบบท่อ มาเป็นองค์ประกอบหลักในการออกแบบ

Sketch

ทางผู้ออกแบบเลือกประกอบท่อคอนกรีตหน้าตัด 2×2.3 เมตร ออกเป็นกลุ่มท่อยาวๆ 5 แท่ง และจัดวางท่อยาวสามแท่งไว้ด้านล่าง และวางซ้อนอีกสองแท่งขัดเป็นแนวฉากกับแนวท่อด้านล่างที่ชั้นสอง และปิดที่ว่างระหว่างการขัดกันด้วยหลังคาแบบแบนเรียบเกิดเป็นพื้นที่คอร์ทยาร์ด เนื่องจากสิ่งก่อสร้างงานนี้น่าจะถูกใช้เป็นโชว์รูมหรือบ้านตัวอย่างมากกว่าที่จะใช้เป็นที่อยู่อาศัยจริงๆ ทาง nendo จึงเลือกที่จะจัดวางพื้นที่ระหว่างส่วน archive กับ ส่วน guesthouse ในแบบที่กระจัดกระจายไม่มีลำดับขั้นที่ชัดเจน แต่มีการปิดกั้นแบ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัวของแต่ละโปรแกรมแยกขาดจากกัน 

ทางผู้เขียนยอมรับว่า เมื่อได้เห็นภาพงานนี้เป็นครั้งแรก ภาพแท่งสีขาวดูน้อยๆ นิ่งๆ ที่แฝงไปด้วยความดุดัน แล ความละมุนตา ดูคล้ายกับเป็นโมเดล หรือ product design ขนาดยักษ์ ไปตั้งอยู่กลางป่าสนแดง ดูเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีพลังและน่าติดตาม เมื่อสืบค้นไปจนถึงคำอธิบายงาน พบประโยคสุดท้ายที่ว่า 

“The resulting space is less architectural, but rather a project that combines civil engineering concepts with product design details.”

ดูเหมือนทาง nendo พยายามสื่อว่างานนี้เป็นงาน product design มากกว่าจะเป็นงานสถาปัตยกรรม อย่างไรก็ดีผู้เขียนคิดว่านี่คือจุดที่มีความย้อนแย้ง ที่อ้างว่างานชิ้นนี้เป็นงาน product design แต่ในเชิงของสเกลแล้วหนีไม่พ้นที่จะยืมฟอร์มของงานสถาปัตยกรรมมาใช้ คาแร็กเตอร์หลายๆ อย่างของงานชิ้นนี้ชวนให้นึกถึงงานสถาปัตยกรรมหลายๆ งาน เช่น งาน VitraHaus ของ Herzog & de Meuron ที่เอารูปทรงบ้านทรงจั่วมาบิดและวางซ้อนทับกัน หรืองาน Hemeroscopium House ของ Ensamble Studio ที่นำสิ่งก่อสร้างโครงสร้างสะพานมาประยุกต์ใช้ในสิ่งก่อสร้างประเภทพักอาศัย และงาน Pilotis in a Forest House ของ Go Hasegawa ที่พยายามสร้างคอร์ทยาร์ดขึ้นในพื้นที่ป่า ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้ว งานที่กล่าวมาเป็นงานสถาปัตยกรรมแนว high concept ที่ประสบความสำเร็จในการหาจุดร่วมระหว่างการสร้างคอนเซ็ปต์ การเลือกใช้เทคโนโลยี และการบริหารคุณภาพของสเปซในการใช้งาน จนเกิดเป็นงานที่มีความแปลกใหม่ แต่ยังมีความชัดเจน (clarity) พอที่จะเข้าใจได้ว่ามันถูกออกแบบและสร้างขึ้นในรูปแบบและแนวทางนี้เพื่ออะไร

จากประเด็นความย้อนแย้งนี้ ผู้เขียนคิดว่าการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ Culvert Guesthouse กับงานทั้งสามที่กล่าวมาข้างต้น จะช่วยตั้งคำถามได้ว่า หาก nendo จะปฏิเสธที่จะใช้คำว่าสถาปัตยกรรมกับงานชิ้นนี้แล้ว เรายังจะสามารถเข้าใจได้หรือไม่ ว่างานชิ้นนี้ถูกสร้างมาในรูปแบบและแนวทางนี้เพื่ออะไร 

สำหรับผู้เขียน คุณภาพของที่ว่าง คือ หนึ่งในสาระสำคัญที่สุดที่ช่วยให้เราเข้าใจถึงจุดประสงค์ของการดำรงอยู่ของงานชิ้นนั้นๆ หากเริ่มวิเคราะห์จากเรื่องโปรแกรมก่อน งาน VitraHaus โดย Herzog & de Meuron เป็นงานที่มีความใกล้เคียงกันกับ Culvert Guesthouse ทั้งในเชิงของโปรแกรม ฟอร์มแบบ linear และเทคนิคการวางซ้อน ถ้าไม่รวมขนาดพื้นที่ใช้สอยภายในที่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยยะ สิ่งที่แตกต่างระหว่างงานสองชิ้นนี้คือ Herzog & de Meuron เลือกที่จะให้ความสนใจใช้รูปทรงธรรมดาๆ อย่างรูปทรงสี่เหลี่ยมทรงจั่วคล้ายบ้าน เป็นเครื่องมือที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้งานและโปรแกรมการ display เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งภายในของบริษัท Vitra  ซึ่งการเลือกใช้สัดส่วนฟอร์มจั่วที่มีขนาดหน้าตัดใหญ่ใกล้เคียงกับเป็นโถงห้องนั่งเล่นภายในบ้านพักอาศัยนั้นช่วยกระตุ้นให้ผู้ใช้งานเข้าใจและสามารถจินตนาการการใช้งานสินค้าที่แสดงอยู่ไปใช้ในที่อื่นได้ ส่วนหลักการของการซ้อนทับของแท่งท่อ ทาง Herzog & de Meuron ไม่ได้เลือกที่จะใช้การก่อสร้างแบบ prefab เป็นหน้าตัดอาคารแบบเดียว แต่เลือกที่จะใช้คอนกรีตหล่อในที่ เพื่อสร้างความยืดหยุ่นในการจัดการเรียงซ้อน ตัดเจาะ หรือวางอมโครงสร้างท่อทรงจั่วเหล่านั้นให้เกิดเป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่หลากหลาย เช่น ส่วนที่นั่ง บันได เวที กรอบหน้าต่าง และอื่นๆ ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการนำสายตาให้เกิดการเคลื่อนไหว หรือเชื้อเชิญให้ผู้ใช้งานหยุดนิ่งนั่งชม เกิดเป็นผลลัพธ์ที่ว่างที่มีความซุกซนมีชีวิตชีวา ชวนให้เรารู้สึกดีในการหยิบวัตถุที่แสดงอยู่ 

ในทางกลับกันถ้าโปรแกรมส่วน archive และ guesthouse คือสิ่งสำคัญที่สุดในงาน Culvert Guesthouse การเลือกใช้โครงสร้างสะพานที่มีสัดส่วนหน้าตัดขนาด 2×2.3 เมตร มาเป็นตัวกำหนดแนวทางในการออกแบบ ก็ดูจะเป็นทางเลือกที่ทำให้การออกแบบโดยรวมดูเข้าใจได้ยากขึ้น เพราะสัดส่วนนี้เป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับตู้คอนเทนเนอร์มากกว่าเป็นสัดส่วนของห้องพักอาศัยหรือแกลเลอรี สัดส่วนนี้อึดอัดไม่มี่ที่ว่างให้ผู้ชมสามารถเดินถอยหลังเพื่อชื่นชมตัวผลงานที่นำมาแสดงได้ดี และ ท่อหน้าตัดนี้ก็ไม่ใช่ขนาดที่ดีของห้องนอนด้วย

Photo: Takumi Ota

Photo: Daici Ano

และหากเปรียบเทียบถึงภาพลักษณ์เชิงประติมากรรมของทั้งสองงาน ถ้ามองอย่างผิวเผิน งาน VitraHaus อาจจะทำความเข้าใจได้ยากว่าทำไมอาคารจึงมีรูปทรงอย่างนี้ แต่เมื่อเราได้เข้าไปใช้งานภายในแล้ว เราสามารถเข้าใจได้ว่ามันมีหลักการและเหตุผลในการเรียงท่อ ระหว่างการสร้างภาพลักษณ์ภายนอกและการสร้างความลื่นไหลเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ภายในและพื้นที่ภายนอก ทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง สำหรับงาน Culvert Guesthouse แล้วการเรียงท่อเหมือนเป็นแค่ความพยายามที่จะสร้างกรอบการอ่านพื้นที่ว่างเฉพาะบริเวณคอร์ทยาร์ดเสียมากกว่า ท่อแต่ละท่อในงานนี้ดูตัดขาดจากกันไม่ได้มีความเชื่อมต่อเชิงพื้นที่แต่อย่างใด ดังนั้น การที่ผู้ออกแบบบอกว่าการเรียงซ้อนกันของแนวท่อนี้มีแนวคิดหลักที่ช่วยให้การใช้งานของ archive นั้นดีขึ้นก็ดูจะฟังไม่ขึ้น เพราะต่อให้ท่อทั้งหมดนี้ เอามาวางอยู่ที่ชั้นหนึ่งทั้งหมดแบบไม่ต้องซ้อนกันเลย คุณภาพของห้อง archive หรือความสัมพันธ์ในการเชื่อมต่อ archive กับห้องอื่นๆ ก็ดูแทบจะไม่แตกต่างจากที่เป็นอยู่

จากสองประเด็นนี้ ผู้เขียนมีคำถามว่าทำไมผู้ออกแบบจึงต้องลงทุนคิดและใช้ระบบการก่อสร้างที่ยุ่งยากเพื่อผลลัพธ์ ที่จริงๆ แล้วสามารถเอาตู้คอนเทนเนอร์มาเรียงต่อกันก็สามารถได้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกัน หรือจะเปลี่ยนระบบการก่อสร้างเพื่อทำให้งานได้สัดส่วนที่เหมาะสมกับการใช้งานมากขึ้น ปัญหาของการคิดให้โครงสร้างท่อเป็นระบบสำเร็จรูปทำซ้ำส่งผลให้งานนี้อาจจะดูสวยในความนิ่ง แต่กลายเป็นข้อบังคับที่ไปลดโอกาสให้ห้องแต่ละห้องทำงานได้ดีขึ้น เป็นการคิดแบบ minimalism ที่ไม่ใช่การลดทอนเพื่อเปิดโอกาสความเป็นไปได้ในการจินตนาการ แต่เป็นการลดทอนที่ลดทอนความเป็นไปได้การใช้งาน

Photo: Takumi Ota

Photo: Takumi Ota

ในประเด็นต่อมา ถ้าเรามองว่าโปรแกรมไม่ใช่สิ่งสำคัญของงานนี้ แต่สาระหลักคือการเชิดชูการใช้อัตลักษณ์ของโครงสร้างสาธารณูปโภคกับงานสเกลที่พักอาศัย ประเด็นนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงงาน Hemeroscopium House ของ Ensamble Studio ซึ่งดูจะสร้างภาพให้ผู้ชมจดจำในความสุดโต่งในการใช้โครงสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า จากการใช้โครงสร้างคานและท่อขนาดใหญ่ที่ใช้ในการก่อสร้างสะพานหรือท่อระบายน้ำมาเป็นจุดเด่นของงาน โดยสถาปนิกไม่ได้จำกัดการใช้โครงสร้างในการสร้างอาณาเขตของห้อง แต่เลือกที่จะใช้โครงสร้างเหล่านี้เป็นผนังในการกั้นห้อง และออกแบบจัดเรียงวางโครงสร้าง i-beam เพื่อสร้างสมดุลทางโครงสร้างในการรองรับโครงสร้าง u-beam ขนาดหน้าตัด 2.4×1.7 เมตร ที่ใช้เป็นสระว่ายน้ำและยื่นพุ่งออกไปกลางอากาศถึง 8 เมตร เกิดเป็นภาพที่ชวนหวาดเสียวหากคนที่ว่ายน้ำออกไปเกาะตรงปลายขอบสระ 

ซึ่งหากเปรียบเทียบกับงาน Culvert Guesthouse ที่พยายามทำให้ท่อนั้นมีความสะอาดเป็นสีขาว แต่ทุกอย่างดูเหมือนกันหมด ไม่หลงเหลือรายละเอียดของรูปทรงที่ทำให้เข้าใจว่าโครงสร้างนี้มีวิธีการก่อสร้างแบบเดียวกับโครงสร้างคอนกรีตอัดแรงของสะพาน ผู้เขียนมองว่างาน Culvert Guesthouse จริงๆ แล้วสามารถใช้โครงสร้างเหล็กแบบถักที่กรุปิดด้วยงานฉาบผนังสีขาวมาแทนที่โครงสร้างสะพานก็จะได้ภาพลักษณ์ที่เหมือนเดิม

Photo: Daici Ano

สำหรับผู้เขียน สิ่งที่ดูเป็นการออกแบบที่ดูได้ผลที่สุดสำหรับงานนี้ (หากไม่นับว่ามันต้องทำหน้าที่ร่วมกับอะไร) กลับคือสิ่งที่เป็นสาระรองของงานคือพื้นที่คอร์ทยาร์ด กล่าวคือโดยปกติแล้ว คอร์ทยาร์ดนั้นจะถูกใช้ในงานสถาปัตยกรรมที่อยู่ในเมืองที่ถูกกำหนดด้วยกำแพงล้อมรอบและเปิดพื้นที่ด้านบน เพื่อให้เกิดความรู้สึกโปร่งโล่งเชื่อมต่อพื้นที่ภายในกับท้องฟ้าภายนอก แต่ nendo เลือกที่จะบิดวิธีการใช้งานที่ว่างประเภทนี้ใหม่ ด้วยการสร้างหลังคาปิดกันการเชื่อมต่อแนวดิ่ง และไม่เปิดช่องเจาะในท่อ ปฏิเสธการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างที่ว่างในอาคารกับพื้นที่กึ่งภายนอกของคอร์ทยาร์ด แต่เลือกที่จะเชื่อมพื้นที่กึ่งภายนอกนี้กับบริบทภายนอกในแนวราบ ผ่านกรอบกระจกที่อยู่ระหว่างตัวแท่งโครงสร้างท่อและหลังคา ผู้เขียนมองว่าพื้นที่คอร์ทยาร์ดเกิดภาพคล้ายๆ กับภาพตัดปะ (montage) ระหว่างผนังสีขาวโล่ง ความเป็นธรรมชาติของป่าสน และภาพสะท้อนระหว่างสองสิ่งบนกระจก เกิดเป็นภาพคอร์ทยาร์ดที่แปลกตาและน่าสนใจ ชวนให้นึกถึงภาพ montage ของ Mies van der Rohe 

Photo: Daici Ano

แต่อย่างไรก็ดี ผู้เขียนลองจินตนาการว่าถ้าหากเปลี่ยนวิธีการล้อมกรอบคอร์ทยาร์ดด้วยท่อโครงสร้างที่มีความยุ่งยากในการจัดการคุณภาพพื้นที่ภายในมาเป็นกำแพงสีขาวขนาดใหญ่แทน effect ของพื้นที่คอร์ทยาร์ดก็น่าจะยังอยู่เหมือนเดิม ทำให้รู้สึกว่า เหตุผลในการเลือกใช้เทคนิคการก่อสร้างกับการให้ความสำคัญกับความเป็นประติมากรรมโดยรวมของอาคาร และคุณภาพการใช้งานของพื้นที่ภายในและคอร์ทยาร์ด ดูแล้วไม่ได้ทำงานสอดคล้องเกื้อหนุนกัน 

หากเปรียบเทียบกับงาน Pilotis in a Forest House ของ Go Hasegawa ซึ่งเป็นบ้านพักตากอากาศที่ตั้งอยู่ในป่าเหมือนกัน สถาปนิกเลือกใช้แนวคิดที่คอร์ทยาร์ดมีป่าและธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งในการล้อมและกำหนดขอบเขตพื้นที่เป็นคำถามตั้งต้นในการเริ่มออกแบบ ทำให้เขาสามารถคิดและให้ความสำคัญในการเลือกที่จะออกแบบบ้านคล้ายๆ แนวบ้านใต้ถุนที่อยู่สูงขึ้นจากพื้นดินถึง 6 เมตร และเพื่อให้ที่ว่างนี้ดูโล่งเหมือนกับไม่มีสิ่งก่อสร้างมาเป็นกำแพงโอบรัดใดๆ โดยใช้โครงสร้างและวัสดุที่มีความเบาอย่างเหล็กและไม้มาเป็นวัสดุหลัก เพื่อทำให้บ้านกล่องขนาด 10×10 เมตร ยืนอยู่เบาเสาขนาดเล็กมากได้ เหตุผลในการอยู่ร่วมกันระหว่างคอนเซ็ปต์ เทคโนโลยีการก่อสร้าง และ คุณภาพของที่ว่างในงานนั้นดูเหมือนจะเกื้อหนุนกันได้ดี หากเราเปลี่ยนประเภทของวัสดุโครงสร้างไป ทั้งคอนเซ็ปต์และคุณภาพของที่ว่างก็ไม่น่าจะออกมาได้ดีเท่ากับที่เป็นอยู่

Photo: Takumi Ota

Photo: Takumi Ota

แม้ nendo จะเป็นผู้กล่าวเองว่างานชิ้นนี้เหมือนเป็นการทดลองในแนวทางการพัฒนา product design มากกว่าการคิดงานออกแบบเชิงสถาปัตยกรรม ซึ่งผู้เขียนขอชื่นชม และมองว่าการทำงานแบบ cross disciplinary เป็นสิ่งที่สำคัญในวงการออกแบบ เพราะในหลายๆ ครั้งมันสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จากมุมมองที่แตกต่างออกไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็ยังคิดว่าศาสตร์ทุกอย่างบนโลกนี้ก็ยังมี core value หรือคุณค่าเฉพาะตัวบางอย่างที่แตกต่างจากศาสตร์อื่นๆ ซึ่งสำหรับสถาปัตยกรรมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นงานทั่วๆ ไปหรืองาน high concept ที่พยายามท้าทายขนบเดิมๆ ของศาสตร์นั้น การคิดงานในเชิง functional art และการให้ความสำคัญกับการออกแบบเหมือนเอาตัวเราเองเข้าไปอยู่ในที่ว่าง ก็ยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ที่ช่วยให้เราเข้าใจถึงเหตุของการดำรงอยู่ของงานชิ้นนั้น ซึ่งสำหรับงานชิ้นนี้ หากผู้ออกแบบให้ความสำคัญกับ core value ทางสถาปัตยกรรมในการออกแบบ ผลลัพธ์น่าจะออกมาเป็นงานแนวคอนเซ็ปต์ที่ทั้งน่าตื่นตา มีความท้าทายความเข้าใจว่าอะไรคือสถาปัตยกรรม และมีประสิทธิภาพในการใช้งาน เกิดเป็นงานลูกผสมที่ทรงพลังและน่าจดจำมากกว่าที่เป็นอยู่ก็เป็นได้

Photo: Takumi Ota

 

nendo.jp/en

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *