Archermit สตูดิโอจากประเทศจีน เชื่อมโยงคนท้องถิ่นเข้ากับการพัฒนาเมืองให้ร่วมสมัย ด้วยอาคารหน้าตาแปลกใหม่ และรักษาความเป็นท้องถิ่น ด้วยการจำลองธรรมชาติผ่านหลากหลายองค์ประกอบ
TEXT: KORRAKOT LORDKAM
PHOTO CREDIT AS NOTED
(For English, press here)
50 กิโลเมตรทางทิศเหนือจากตัวเมืองเฉิงตู นครหลวงของมณฑลเสฉวนทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน หมู่บ้านหลงเหมินซาน (Longmenshan Town) ในที่ตั้งของเมืองเผิงโจว ซ่อนตัวอยู่ในธรรมชาติและหุบเขาขนาดใหญ่ เพิ่งได้ต้อนรับอาคารสาธารณะเชิงวัฒนธรรมแห่งใหม่ Woyun Platform ออกแบบโดย Archermit ที่จำลองโลกธรรมชาติผ่านหลากหลายองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม ที่ไม่เพียงสะท้อนความพยายามสร้างความกลมกลืนของสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในสถานที่ตั้งในชนบทภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘แอบเอนไปในเมฆหมอก’ (recline amongst the clouds) แต่ยังแสดงถึงความพยายามเชื่องโยงผู้คนบนหุบเขาสูง ภายใต้การเข้ามาของหลายนโยบายและโครงการการพัฒนาประเทศ
ความท้าทายอย่างหนึ่งที่พื้นที่ชนบทในโลกศตวรรษ 21 มีร่วมกัน คือการรุกคืบของการกลายเป็นเมือง เฉิงตูนอกจากจะมีตัวเมืองที่ใหญ่และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศจีน ตัวนครเองยังประกอบไปด้วยเขตพื้นที่ชนบทที่เป็นภูเขาและที่ราบสูงขนาดใหญ่ที่มีจำนวนประชาชากรเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญ พื้นที่เหล่านี้ไม่ได้ถูกเพิกเฉยแต่อยู่ในแผนสำคัญของการพัฒนาของจีนมานานหลายปี โดยหลักๆ แล้ว แนวคิดการพัฒนาพื้นที่ชนบทของเฉิงตูนั้นเริ่มต้นในปี 2003 ในนามการพัฒนาแบบเชื่อมโยงพื้นที่เมืองและชนบทหรือที่เรียกว่า urban-rural integration โดยเฉพาะหลังจากปี 2008 เมื่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.9 ริกเตอร์ได้สร้างความเสียหายอย่างมากแก่บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจีน พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดอย่างพื้นที่ห่างไกลในภูเขาของมณฑลเสฉวนก็ได้กลายเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นไปอีก โดยนอกเหนือจากการฟื้นฟูความเสียหาย พื้นที่นี้ก็ได้กลายเป็นพื้นที่แห่งโอกาสเพื่อรองรับการปรับใช้นโยบายต่างๆ โดยเฉพาะแนวคิดและนโยบายการลดช่องว่างระหว่างพื้นที่เมืองและชนบท
Woyun Platform แม้จะเป็นโครงการที่เพิ่งถูกออกแบบและก่อสร้างเสร็จในปี 2021 แต่ตัวโครงการก็นับได้ว่าเป็นภาพตัวแทนหนึ่งของความพยามเชื่อมโยงโลกภายนอกและภายในเข้าหากันที่ชัดเจน ยิ่งเมื่อพิจารณาจากสถานที่ตั้ง หมู่บ้าน Longmenshan Town ซึ่งแต่เดิมชื่อว่า Dabao Town แต่ได้รับการเปลี่ยนชื่อตามสถานที่ตั้งอย่างเทือกเขาหลงเหมินซานเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว นอกจากนั้น ตัวหมู่บ้านเองก็มีการปรับบ้านเป็นโฮมสเตย์รองรับการท่องเที่ยวที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ช่วงราวปี 2005 ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ จึงสอดคล้องกับจุดประสงค์ของโครงการ Woyun Platform อันได้แก่ แนวคิดการเชื่อมผู้คนในหมู่บ้านเล็กๆ รอบๆ และผู้คนหน้าใหม่เข้าด้วยกัน รวมถึงสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมใหม่ๆ ผ่านพื้นที่นิทรรศการ ดีไซน์ และเทคโนโลยี โดยคาดหวังว่า ที่นี่จะกลายเป็นสถาปัตยกรรม ‘สาธารณะ’ เพื่อทุกคนโดยแท้จริง
ในรายละเอียด Woyun Platform มีหลายองค์ประกอบที่แสดงถึงการเชื่อมโยงโลกภายในและภายนอกในหลายแง่มุม ในเบื้องต้น แนวความคิดหลักทางสถาปัตยกรรมของที่นี่อ้างอิงถึงอุทยานแห่งชาติแพนด้ายักษ์ (Giant Panda National Park) ที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียง โดยสถาปนิกผู้ออกแบบได้ยกเอา 3 ลักษณะทางธรรมชาติของพื้นที่ป่าและเทือกเขามาใช้ ได้แก่ ป่าไผ่ เมฆหมอกที่กระจายอยู่ทั่วไป และเทือกเขาสูงใหญ่ที่ถูกหิมะปกคลุม โดยลักษณะทางธรรมชาติเหล่านี้ได้ถูกนำมาจัดเรียงเป็นธีมของแต่ละชั้นอาคารขนาดพื้นที่ใช้สอยราว 2200 ตารางเมตรตั้งแต่ชั้น 1 ถึงชั้น 3 ตามลำดับ
‘ป่าไผ่’ ในที่นี้ จะสามารถสังเกตได้จากเสาทรงกลมสีขาวที่กระจายอยู่ทั่วบนพื้นที่ชั้น 1 อันเป็นพื้นที่ใต้ถุนที่ปกคลุมด้วยเพดานรูปโดมกลับหัวขนาดใหญ่ ต่อเนื่องไปกับแลนด์สเคปที่โดยรวมมีไว้เพื่อรองรับกิจกรรมอเนกประสงค์ บนชั้นนี้ยังปรากฏการจำลองหมอกและเมฆกระจายอยู่ทั่วไป สร้างบรรยากาศแบบธรรมชาติสอดคล้องไปกับป่าไผ่จำลอง เมฆหมอกเหล่านี้จะล่องลอยขึ้นไปถึงพื้นที่ชั้น 2 อันเป็นส่วนเริ่มต้นของพื้นที่ใช้สอยหลัก ซึ่งประกอบด้วยส่วนต้อนรับและห้องนิทรรศการหลากหลายห้องที่เล่าเรื่องราวของโลกธรรมชาติและแพนด้ายักษ์อันเป็นหัวใจของที่มาของสถานที่นี้
ถัดจากนั้น บนชั้น 3 จะเป็นอีกหนึ่งห้องนิทรรศการที่ถูกห้อมล้อมโดยลานกว้างที่ปกคลุมผืนน้ำรอบอาคาร อันตั้งใจให้เป็นส่วนพักผ่อนและชมทิวทัศน์อันกว้างใหญ่ของหุบเขา โดยรูปทรงของหลังคาบนชั้นนี้ รวมถึงรูปลักษณ์ของอาคารสีขาวโดยรวมนั้นล้อไปกับลักษณะทางธรรมชาติประการสุดท้าย คือเทือกเขาสูงใหญ่ที่ถูกปกคลุมด้วยหิมะสีขาว ในแง่หนึ่ง หลังคาสีขาวโค้งนี้เป็นภาพจำลองของยอดเขาที่โผล่พ้นเหนือก้อนเมฆเฉกเช่นเดียวกับลักษณะของเทือกเขาหลงเหมินซานในฉากหลัง ในอีกแง่หนึ่ง ลักษณะของงานออกแบบเช่นนี้ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงการใช้เครื่องมือสมัยใหม่อย่าง parametric design มาออกแบบอาคารที่ต้องการให้เชื่อมโยงกับบริบทดั้งเดิมและแสดงให้เห็นความสำคัญของการมาถึงของสิ่งใหม่ในเวลาเดียวกัน
การใช้ดีไซน์และเทคโนโลยีมาเล่าเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับบริบทดั้งเดิมเช่นนี้ ยังเห็นได้จากอีกหลายองค์ประกอบของอาคาร หนึ่งในนั้นคือการออกแบบฝ้าโค้งรูปโดมกลับหัวให้สามารถเปลี่ยนสภาพเป็นท้องฟ้าจำลองในยามค่ำคืนด้วยหลอดไฟ LED จำนวนนับไม่ถ้วน โดยแนวความคิดหลักของสถาปนิกคือการให้ท้องของฝ้าโดมกลับหัวนี้ได้กลายเป็นตัวแทนของท้องฟ้าของหมู่บ้านที่จะประดับประดาไปด้วยดวงดาวอยู่เสมอไม่ว่าฟ้าในวันนั้นจะสดใสหรือครึ้มไปด้วยเมฆก็ตาม
นอกจากนั้น แต่ละสเปซภายในอาคารก็ยังถูกออกแบบให้มอบประสบการณ์แสงสีเสียงแบบมัลติมีเดียผ่านการใช้สื่อดีไซน์ และเทคโนโลยีต่างๆ เช่น การใช้โปรเจคเตอร์ฉายภาพความหลากหลายทางธรรมชาติในเทือกเขา อันจะสะท้อนไปกับกำแพงกระจกแสดงคลื่นน้ำที่สื่อถึงแม่น้ำที่ไหลผ่านหุบเขาที่จะปรากฏเป็นประสบการณ์ของการใช้สเปซโดยรวม รวมถึงเฟอร์นิเจอร์และงานออกแบบภายในหลายส่วนก็อ้างอิงรูปลักษณ์และสีสันของหมีแพนด้ามาปรากฏกระจายอยู่โดยทั่วไปในอาคารด้วย
การปรากฏขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมทั้งหลายดังที่ได้กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นความพยายามในการใช้ดีไซน์และเทคโนโลยีสื่อสารเรื่องราวของสถานที่ตั้งในชนบท โดยกล่าวได้ว่าธรรมชาติในที่นี้ได้ถูกถอดเป็นรหัสและถูกนำมาประกอบและนำเสนอใหม่ทั้งในเชิงภาษาภาพและประสาทสัมผัสอื่น หากทว่าสิ่งที่ถูกเลือกมานำเสนอนั้นจะต้องเป็นสิ่งที่สื่อสารได้ในวงกว้างขึ้น และสื่อสารกับผู้มาเยือนจากที่อื่นได้ด้วย การอ้างอิงลักษณะทางธรรมชาติในการออกแบบอย่างป่าไผ่ เมฆหมอก รวมถึงภูเขา หรือแม้แต่สัตว์ที่มีความหมายในระดับประเทศอย่างแพนด้ายักษ์ก็ดี กล่าวได้ว่าทำให้ความสำคัญของที่นี่ไม่ได้หยุดอยู่แค่การเป็นอาคารตัวแทนหมู่บ้านเพียงอย่างเดียว แต่ตัวสถาปัตยกรรมได้ทำให้สถานที่นี้ได้รับบทบาทใหม่คือการเป็นดังสื่อแทนความหมายอื่นอันสำคัญเทียบเท่าหรืออาจมากกว่าวิถีชีวิตทั่วไปของผู้อยู่อาศัยเดิมเอง สถาปัตยกรรมที่ตั้งใจสื่อเรื่องราวที่มากกว่าวิถีชีวิตธรรมดาของคนในหมู่บ้านเช่นนี้ จึงสะท้อนกระบวนการการสร้างความหมายภายใต้อุดมการณ์บางประการ ที่สอดคล้องเกี่ยวเนื่องกับการกำหนดนโยบายมาจากส่วนกลางในด้านการพัฒนาประเทศในภาพรวม