รู้จักกับแนวคิด all-gender restroom ห้องน้ำสำหรับทุกเพศ และต้นแบบที่น่าสนใจของห้องน้ำนี้
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO CREDIT AS NOTED
(For English, press here)
“ยอมรับว่าเสียความรู้สึกมาก ๆ ที่สระรุจิรวงศ์ไม่อนุญาตให้เราใช้ห้องน้ำหญิง”
ต้นปี 2563 เว็บไซต์ประชาไทเสนอข่าวนักศึกษาหญิงข้ามเพศคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ถูกเชิญออกจากห้องน้ำหญิงของสระน้ำ เพียงเพราะเธอเป็นคนข้ามเพศ¹
แม้จะมีรูปร่างหน้าตาเป็นเหมือนกับ ‘ผู้หญิง’ แต่เธอต้องจำใจใช้ห้องน้ำ ‘สำหรับผู้ชาย’ ทำธุระส่วนตัว กว่าที่จะสบายใจที่จะเข้าไป เธอต้องยืนรอให้ผู้ชายในห้องน้ำเหลือจำนวนน้อยที่สุด และข้างบนคือข้อความที่เธอโพสตัดพ้อลงบนเฟสบุ๊คส่วนตัว
ในยุคนี้ แนวคิดและการแสดงออกทางเพศของผู้คนไปไกลกว่าคำว่า ‘ชาย’ กับ ‘หญิง’ การแบ่งประเภทห้องน้ำด้วยสองคำนี้ก็กำลังถูกท้าทาย เพราะบางคนไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็นหญิง เป็นชาย ให้เลือกเข้าห้องน้ำแบบไหน ก็ไม่ได้สบายใจที่จะเข้าทั้งคู่ เพราะถ้าเข้าไปก็อาจโดนไล่ออกมา โดนคนอื่นลวนลามทางสายตา หรือโดนมองว่าจะไปลวนลามคนอื่นอีก แทนที่จะได้ปลดทุกข์ กลับเป็นทุกข์เสียยิ่งกว่าเดิม
จากงานสำรวจของ National Center for Transgender Equality ในประเทศสหรัฐอเมริกา ปี 2015 ที่สอบถามประสบการณ์การใช้ห้องน้ำสาธารณะจากกลุ่มคนข้ามเพศ (transgender) พบว่า ในกลุ่มตัวอย่าง 27,715 คน มีกว่า 12% ที่เคยโดนคุกคามทางวาจา 1% เคยโดนคุกคามทางกาย และมีถึง 9% ที่เคยโดนปฏิเสธไม่ให้เข้าห้องน้ำในปีที่ผ่านมา²
all-gender restroom หรือห้องน้ำสำหรับทุกเพศ เลยกลายเป็นคอนเซ็ปต์ที่ผู้คนหยิบยกมาพูดคุย เพราะเชื่อว่า ไม่เพียงห้องน้ำนี้จะช่วยให้คนนอกกรอบ ชาย หญิง รู้สึกสบายใจจะเข้าใช้ ห้องน้ำยังเป็นที่ให้ผู้คนไม่ว่าเพศไหน ได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน
All-gender restroom ไม่มีหญิง ไม่มีชาย เพราะเป็นห้องน้ำของทุกเพศ
all-gender restroom คือห้องน้ำที่ทุกเพศทุกคนเข้ามาใช้งานได้ บางที่อาจเรียกว่า unisex restroom, gender-inclusive restroom หรือ mixed-sex ซึ่งทั้งหมดก็มีใจความไม่ต่างกับ all-gender restroom แนวคิดนี้ไม่ใช่แนวคิดใหม่อะไร เพราะมันเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา จีน ญี่ปุ่น อาจมีคำถามตามมาว่า แล้วทำไมไม่สร้างห้องน้ำสำหรับเพศอื่นๆ แยกเพิ่มไปจากชายหญิงละ คำตอบคือการสร้างห้องน้ำเพศแยกออกไป ยิ่งทำให้คนเพศอื่นรู้สึกแปลกแยก และถูกมองว่าเป็นอันตราย³ จะดีกว่าไหมถ้าห้องน้ำมีแบบเดียว แต่สามารถเข้าใช้ได้ทุกคน
เราอาจแบ่ง all-gender restroom เป็นประเภทใหญ่ๆ ได้เป็นสองแบบ อย่างแรกคือ single-user หรือห้องน้ำห้องเดี่ยวที่ใช้งานได้คนเดียว เป็นรูปแบบห้องน้ำที่มีทั่วไป ไม่ว่าใครก็เคยเจอ อย่างเช่นห้องน้ำในบ้าน หรือห้องน้ำบนเครื่องบิน
อีกประเภทคือห้องน้ำ multi-user คือห้องน้ำที่คนเข้ามาใช้งานพร้อมกันหลายคน มีทั้งองค์ประกอบที่คนใช้งานร่วมกันเช่น อ่างล้างมือ และองค์ประกอบที่แต่ละคนแยกไปใช้งานส่วนตัว เช่น ห้องส้วม ว่าง่ายๆ ห้องน้ำแบบนี้ก็เหมือนห้องน้ำชาย ห้องน้ำหญิงที่เราพบในอาคารสาธารณะ
ห้องน้ำ all-gender restroom รูปแบบ multi-user ถูกยกมาถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่าตกลงห้องน้ำจะเป็นประโยชน์ หรือเป็นโทษมากกว่ากันแน่ ฝั่งที่สนับสนุนมองว่า นอกจากห้องน้ำจะเอื้อให้คนทุกเพศใช้งานได้อย่างสบายใจ ห้องน้ำยังเป็นประโยชน์กับผู้ปกครอง หรือพี่เลี้ยง ที่ต้องเข้าไปประกบกับลูกหรือผู้สูงวัยต่างเพศ ไม่เพียงเท่านั้น มีงานวิจัยเสนอด้วยว่าห้องน้ำ all-gender restroom จะช่วยลดเวลาการรอเข้าห้องน้ำของผู้หญิงลง⁴
ฝ่ายคัดค้านจะแสดงกังวลเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้งาน โดยเฉพาะเด็กที่มาคนเดียว หรือผู้หญิง เพราะคนเหล่านี้ต้องแชร์ห้องน้ำกับผู้ชาย ในบางภูมิภาคที่ยังยึดข้อห้ามทางศาสนาหนักแน่น หรือมีความรุนแรงต่อคนหลากหลายทางเพศ การสร้างห้องน้ำสำหรับทุกเพศคงไม่ใช่ไอเดียที่ดีนัก เพราะความรุนแรงอาจเกิดขึ้นได้มากกว่าเดิม⁵
ถึงอย่างนั้น ก็มีข้อโต้แย้งเรื่องความปลอดภัยอยู่เหมือนกัน เพราะห้องน้ำ all-gender restroom ที่มีผู้คนมาใช้งานเยอะเมื่อเทียบกับห้องน้ำแบ่งเพศ เวลามีคนใช้งานตลอดๆ ความเสี่ยงการเกิดอันตรายและการคุกคามทางเพศก็อาจลดลงไป⁶
ต้นแบบที่น่าสนใจของ all-gender restroom
การถกเถียงเรื่อง all-gender restroom ก็ยังดำเนินต่อไป ถึงยังไม่มีแม่แบบมาตรฐานสากลของ all-gender restroom แต่ก็มีกลุ่มนักออกแบบที่ผุดไอเดียห้องน้ำใหม่ๆ มาท้าทาย
Stalled! เป็นการวมตัวกันของ นักออกแบบ นักประวัติศาสตร์ นักกฎหมาย ในสหรัฐอเมริกา เพื่อคิดค้นรูปแบบห้องน้ำใหม่ ที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับทุกคน แทนที่ Stalled! จะมุ่งออกแบบห้องน้ำ all-gender restroom พวกเขามองไปถึงคำว่า inclusive restroom หรือห้องน้ำที่เปิดกว้าง ครอบคลุมคนในหลายมิติ เช่น ศาสนา หรือความพิการทางร่างกายด้วย
หนึ่งในต้นแบบห้องน้ำที่ Stalled! เสนอ คือการปรับปรุงห้องน้ำเดิมของ Gallaudet University มหาวิทยาลัยคนหูหนวกในสหรัฐอเมริกา ทางกลุ่มเลือกปรับปรุงห้องน้ำสองส่วนด้วยกันคือที่อาคารชั้นบน และชั้นล่าง
สำหรับห้องน้ำชั้นบน Stalled! นำกำแพงที่แบ่งกั้นห้องน้ำชายและหญิงออก เพื่อเชื่อมห้องน้ำทั้งหมดให้เป็นห้องเดียว ห้องน้ำข้างในจัดวางใหม่อยู่สองฝั่งของทางเดิน มีทั้งห้องน้ำธรรมดา ห้องน้ำคนพิการ แต่ละห้องมีแนวกำแพงสูงจรดฝ้า เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวให้คนด้านใน สุดสองฝั่งทางเดินคือห้องน้ำ ‘caregiving room’ ที่มีอ่างล้างมือและกระจกในตัว เหมาะสำหรับคนต้องการความเป็นส่วนตัวที่สุด
ที่น่าสนใจคือ Stalled! รื้อกำแพงระหว่างห้องน้ำและทางเดินด้านนอกออก และเพิ่มส่วนนั่งเล่นด้านหน้า พวกเขามองว่าความปลอดภัยไม่ได้เกิดจากการปิดกั้น แต่เกิดจากการสอดส่องตรวจตาของคนหลายคนที่ร่วมใช้งาน หากห้องน้ำไม่ได้เป็นพื้นที่ปิด คนก็จะไม่กล้าทำอันตรายข้างใน จากความคุ้นเคยของเราที่มักมองว่าห้องน้ำคือจุดอับในตึก Stalled! กำลังบอกว่าห้องน้ำสามารถเป็นพื้นที่สร้างความมีชีวิตชีวา และพัฒนาสภาพแวดล้อมโดยรวมของตึกให้ดีขึ้นได้ด้วย
Stalled! เสนอรูปแบบห้องน้ำที่ชั้นล่างของตึกเช่นกัน ครั้งนี้ได้สร้างและทดลองใช้จริง เดิมทีพื้นที่ปรับปรุงคือห้องเก็บของซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับประตูทางเข้า Stalled! ปรับเปลี่ยนพื้นที่นี้ให้กลายเป็นห้องน้ำสองห้อง พร้อมทำพื้นที่นั่งเล่นด้านหน้า เพื่อเติมแต่งความเป็นมิตร และความมีชีวิตชีวาให้ทางเข้าของตึก
สำหรับตัวห้องน้ำ นอกจาก Stalled! จะออกแบบโดยคิดถึงผู้ใช้งานคนพิการและผู้สูงอายุแล้ว ก็เสริมถาดพับสำหรับเปลี่ยนผ้าอ้อมรองรับคนมีลูก รวมถึงมีที่ชำระล้างสำหรับชาวมุสลิมที่ต้องการทำละหมาดเช่นกัน ห้องน้ำทาด้วยสีน้ำเงินบางส่วน ซึ่งเป็นสีที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย และตัดกับสีผิวมนุษย์ ช่วยให้เห็นท่าทางภาษามือชัดเจนขึ้น
นอกจากไอเดียเหล่านี้ Stalled! เคยเสนอต้นแบบห้องน้ำสำหรับสนามบิน รวมถึงมีบทความเนิร์ดๆ ที่พูดถึงห้องน้ำ และเพศในเว็บไซต์ของพวกเขา เพื่อเป็นความรู้ให้คนที่สนใจในประเด็น inclusive restroom หรือ all-gender restroom
all-gender restroom กับสังคมไทย
ถึงเราจะไม่เคยเห็น all-gender restroom ในอาคารสาธารณะไทย แต่ใช่ว่าสังคมจะไม่ตื่นตัวในประเด็นนี้เลย ที่ผ่านมาเคยมีกลุ่มคนมากมายออกมาขับเคลื่อนเรื่อง all-gender restroom เช่น สภานักศึกษามหิดลที่เคยเปิดลงประชามติ ปรับปรุงห้องน้ำในมหาวิทยาลัย⁷ หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เคยเสนอเรื่องไปถึงคณะรัฐมนตรีให้สร้างห้องน้ำสาธารณะสำหรับทุกเพศ⁸
จะว่าไป การปลุกปั้นห้องน้ำสาธารณะสำหรับทุกเพศขึ้นมาจริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องแก้ไปถึงกฎหมายควบคุมอาคาร กฎหมายที่มีในตอนนี้ยังกำหนดจำนวนห้องน้ำที่ต้องมีในอาคารตามเพศหญิง ชาย ไม่ได้ครอบคลุมถึงกรณีที่เป็นห้องน้ำสำหรับทุกเพศ ดังนั้น ไอเดีย all-gender restroom ยังตกเป็นที่ถกเถียงและถูกทดสอบต่อไปในสังคมไทย เราอาจจะฟันธงไม่ได้ว่าห้องน้ำจะเวิร์ค หรือสมบูรณ์แบบ แต่อย่างน้อยการเอาไอเดียมาพูดคุย มาทดลอง ก็เป็นก้าวแรกที่ดีในการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนหลากหลาย เพราะวันนี้ ‘เพศ’ ไม่ได้มีเพียงคำว่า ‘ชาย’ กับ ‘หญิง’ อีกต่อไป
_
อ้างอิง
1 https://prachatai.com/journal/2020/01/85924
2 https://www.reuters.com/article/us-usa-lgbt-survey-idUSKBN13X0BK
3 https://transequality.org/issues/resources/transgender-people-and-bathroom-access
4 https://www.researchgate.net/publication/343082440_The_gender-neutral_bathroom_a_new_frame_and_some_nudges
5 https://washmatters.wateraid.org/blog/sanitation-and-gender-looking-beyond-the-binary
6 https://www.stalled.online/approaches
7 https://www.prachachat.net/education/news-964553
8 https://www.thaipost.net/x-cite-news/96491/