BOOBUN POCKET CAFÉ

คาเฟ่เครื่องดื่มและขนมปัง BOO BUN สาขานครสวรรค์ ซึ่งสื่อสารความงามและลักษณะเฉพาะของไม้แต่ละชนิดออกมาได้อย่างมีสเน่ห์ ภายใต้ฝีมือการออกแบบของ CUP.Scale Studio

TEXT: PICHAPOHN SINGNIMITTRAKUL
PHOTO: CHAMAIPHORN LAMAIPHAN & SANTI ARAMWIBUL

(For English, press here)

“พอจะคุ้นๆ ร้านขนมปังเจ้าดังเมืองอุทัยธานีชื่อ BOO BUN บ้างไหม Boobun Pocket Café คือเจ้าของเดียวกับร้านนั้น” ศานติ อร่ามวิบูลย์ จาก CUP.Scale Studio ผู้ออกแบบร้านกาแฟและร้านขนมปัง Boobun Pocket Café สาขานครสวรรค์ เริ่มบทสนทนาด้วยการแนะนำความเป็นมาและคาแร็คเตอร์ของร้านสาขานี้ ที่ไม่ต้องการเป็นแค่ร้านขายกาแฟและขนมปังเหมือนสาขาอื่นๆ เท่านั้น แต่ต้องการให้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ลับๆ สำหรับสร้างแรงบันดาลใจในการคิดสูตรขนมปัง เบื้องหลังความอร่อยที่จะถูกกระจายไปยัง BOO BUN ทุกๆ สาขาในอนาคต

เส้นเรื่องของร้านนี้เริ่มจากไอเดียการสานฝันของเจ้าของร้าน ที่อยากจะมีบ้านหรือโปรเจกต์อาคารไม้เป็นของตนเอง ผนวกกับเล็งเห็นว่าบริเวณรอบตัวบ้านที่นครสวรรค์นั้นยังพอมีพื้นที่ว่างเหลือระหว่างอาคารที่อาจสามารถแทรกคาเฟ่เล็กๆ ให้ซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ตรงนั้นได้ จึงทำการติดต่อ โอ๊ต-ศานติ อร่ามวิบูลย์ มาเป็นผู้สานฝันให้กับเขา โดยกำหนดโจทย์ที่ท้าทายให้เพียง 1 ข้อ นั่นคือการนำไม้ที่เขาสะสมไว้มาใช้ในการก่อสร้างครั้งนี้ทั้งหมด 

ฟังดูเผินๆ อาจคิดว่าการนำไม้ที่เจ้าของร้านสะสมเอาไว้มาใช้งานก็ดูเป็นโจทย์ทั่วไปและอาจเป็นข้อดีเสียด้วยซ้ำ เพราะไม้เก่าเหล่านั้นได้หยุดหดตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้วและคงนำมาใช้งานได้ไม่ยาก แต่หากไปดูวัสดุจริงที่หน้างานจะพบว่าไม้ที่เจ้าของร้านสะสมไว้ส่วนใหญ่เป็นไม้ที่ได้มาจากการรื้อถอนอาคารไม้เก่า ซึ่งทำให้ไม้ที่ได้มีขนาดไม่เต็มแผ่น หรือมีความยาวเพียง 1-1.2 เมตรต่อแผ่น จากที่ปกติการใช้งานจะอยู่ที่ 2-3 เมตร ศานติจึงพลิกแพลงดีไซน์ด้วยการนำไม้เหล่านั้นมาซอยย่อยเป็นแผ่นเล็กๆ แล้วใช้วิธีการตีซ้อนเกล็ดแบบบ้านพื้นถิ่นอย่างที่เห็น 

ส่วนเฉดสีและลวดลายของไม้ที่ดูจะไม่เท่ากันเท่าไหร่นัก ก็น่าจะพอเดากันได้ว่าไม้ที่นำมาใช้เป็นไม้คนละชนิด ซึ่งเป็นความตั้งใจของศานติที่ต้องการให้ทุกคนเข้าใจเช่นนั้น จึงเป็นเหตุผลให้ไม่มีการย้อมสีไม้ เพื่อที่จะสื่อให้เห็นลักษณะเฉพาะ รวมถึงความงามของไม้แต่ละชนิดที่มีความงามในตัวเอง โดยไม้ที่นำมาใช้ทั้งหมดนั้นประกอบไปด้วย ไม้เต็ง ไม้แดง และไม้ยาง “ในส่วนของมุมอาคารที่เห็นเป็นโค้งๆ ตรงนั้นเราไม่ได้ดัดไม้นะ เพราะรู้อยู่แล้วว่าไม้ไทยมันดัดไม่ได้ แถมไม้เราก็ยังมีแต่ไม้ที่คละๆ มา ช่างไม้ที่เราติดต่อมาเค้าก็เก่งประมาณหนึ่ง เค้าจะรู้ดีว่าความสามารถของไม้แต่ละชนิดจะต้องเอาไปใช้งานส่วนไหน อย่างไม้ยางก็จะเน้นนำไปใช้กับโครงสร้างใหญ่ๆ”

สำหรับฟอร์มอาคารที่เห็นเป็นเลเยอร์ไล่ระดับขึ้นไปเป็นชั้นๆ ส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการของเจ้าของร้านที่ฝันอยากจะมีบ้านต้นไม้ในวัยเด็กที่มักจะมีลักษณะเป็นเลเยอร์คล้ายๆ กันนี้ รวมถึงขนาดพื้นที่ของไซต์ที่ค่อนข้างเล็กมากเพียง 10×10 เมตร จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่ตัวอาคารจะถูกวางให้ไล่ระดับกันขึ้นไป โดยเป็นการยกระดับพื้นทีละส่วน อ้างอิงทีละ 60 ซม. วนขึ้นไปเรื่อยๆ รวมแล้วได้ 4 ชั้น นอกจากนี้ศานติยังเล่าเสริมเรื่องฟอร์มอาคารให้ฟังว่า หากออกแบบอาคารให้มีลักษณะเป็นกล่องทึบตัน ก็อาจเกิดมุมอับหรือทำให้ลมในส่วนบ้านไม่ถ่ายเท จึงเสนอเจ้าของร้านว่าจะออกแบบให้ดูคล้ายกับพาวิลเลียน มีการเปิดโล่งพื้นที่ชั้น 1 ให้เป็น open air คล้ายใต้ถุนเรือน เพื่อให้ลมสามารถหมุนเวียนและช่วยถ่ายเทอากาศ ส่วนเรื่องของแสงธรรมชาติ ศานติเลือกเปิดรับแสงจากด้านบนเป็นหลัก เพราะอาคารโดยรอบเป็นอาคารสูงล้อมไว้ถึง 3 ทิศทาง ทำให้แสงธรรมชาติในระหว่างวันไม่สามารถส่องเข้ามาอย่างทั่วถึง แต่ขณะเดียวกันข้อดีของมันก็คือเงาของอาคารทุกหลังจะทับซ้อนกันและช่วยบังแดดยามบ่ายให้กับตัวอาคารที่เป็นคาเฟ่

“แสงที่ส่องลงมาจากช่องแสงด้านบน ตรงนี้ก็ทำหน้าที่ให้ความสว่างระหว่างวันไป ส่วนกิมมิกอีกจุดที่เราตั้งใจออกแบบให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอกตัวร้าน ก็คือการออกแบบสวนเล็กๆ เอาไว้ข้างอาคาร โดยส่วนนี้เราจะมีช่องเปิดขนาดใหญ่ที่สามารถมองออกไปเห็นต้นไม้ได้ รวมถึงตอนนั้นเราคิดเล่นๆ ว่าถ้าเพดานเปิดโชว์แปและวัสดุกันความร้อนไปเลยจะเป็นอย่างไร ตัววัสดุกันความร้อนที่มีผิวเงาและสามารถสะท้อนแสงได้ จะสะท้อนสีของต้นไม้ขึ้นมาได้ไหม อันนี้เราก็ลองเสนอเจ้าของร้าน ซึ่งเขาไม่ได้ขัดอะไร ก็เลยเป็นการทดลองออกแบบร่วมกัน แล้วมันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ สีของต้นไม้มันสะท้อนขึ้นมาที่วัสดุกันความร้อน มันก็เห็นเป็นสีเขียวๆ ขึ้นมา”

ภายใต้ความตั้งใจของเจ้าของร้านที่อยากจะให้ Boobun Pocket Café เป็นเหมือนพื้นที่ทดลองอะไรบางอย่าง ซึ่งเชื่อว่าในการออกแบบครั้งนี้พื้นที่แห่งนี้คงไม่ใช่แค่พื้นที่สำหรับทดลองสูตรขนมปังใหม่ๆ เพื่อแทรกเข้าไปในตำรา BOO BUN อีกต่อไป เพราะแม้แต่สถาปัตยกรรมก็ยังมีการลองผิดลองถูก และยังทดลองจากความสงสัยใคร่รู้ จนได้คำตอบร่วมกัน อย่างการสะท้อนสีของต้นไม้ขึ้นมาบนวัสดุกันความร้อน ซึ่งทำให้ Boobun Pocket Café แห่งนี้ได้เป็นพื้นที่ทดลองของเจ้าของร้านและสถาปนิกในเวลาเดียวกัน

instagram.com/cup_scale.artist

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *