Khao Yai Private Meditation Centre วิหารที่สถิตของพระพุทธรูปซึ่งรายล้อมด้วยสถานที่ปฏิบัติสมาธิท่ามกลางธรรมชาติ อันมาจากการตั้งคำถามว่าทำอย่างไรให้อุดมคติของสถาปัตยกรรมไทยไปได้กับความเป็นสากล
TEXT: KORRAKOT LORDKAM
PHOTO: W WORKSPACE EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
ผืนป่าเขาใหญ่ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา นอกจากจะเป็นจุดหมายด้านการท่องเที่ยวพักผ่อนเชิงธรรมชาติมาเป็นเวลานาน ยังเป็นจุดหมายอันดับต้นๆ ในการเป็นสถานที่ผ่อนคลายจิตใจด้วยกิจกรรมเชิงศาสนา เพราะประกอบด้วยพุทธศาสนสถานและสถานปฏิบัติธรรมมากมายหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือ สถานปฏิบัติธรรมส่วนตัวที่ออกแบบโดย DBALP (Duangrit Bunnag Architect Limited) แห่งนี้ ก็ยึดพื้นที่ตีนเขาด้านหนึ่งของเขาใหญ่ สร้างวิหารที่สถิตของพระพุทธรูปองค์ใหญ่ รายล้อมด้วยสถานที่ปฏิบัติสมาธิท่ามกลางธรรมชาติ ที่นี่ นอกจากสถาปัตยกรรมจะได้เป็นสถานที่โอบอุ้มจิตวิญญาณตามประสงค์ของครอบครัวใหญ่เจ้าของสถานที่ ยังสะท้อนปรัชญาพุทธศาสนาที่ดำรงอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน แต่ด้วยภาษาสมัยใหม่ด้วยในเวลาเดียวกัน
สถานปฏิบัติธรรมส่วนตัวแห่งนี้เป็นสถานที่ส่วนบุคคลของครอบครัวนักธุรกิจครอบครัวใหญ่ จิตใจที่ศรัทธาประกอบกับความต้องการพื้นที่ส่วนตัวของครอบครัวเพื่อปฏิบัติและประกอบกิจกรรมทางศาสนา จึงเป็นที่มาของการออกแบบและก่อสร้างเขตปฏิบัติธรรมแห่งนี้ขึ้น
ในเบื้องต้น โครงการที่แล้วเสร็จทั้งหมดจะแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ ได้แก่ โซนประกอบกิจกรรมทางศาสนา โซนกุฏิสำหรับพระสงฆ์ และโซนห้องพักสำหรับฆราวาส โซนสำหรับประกอบกิจกรรมทางศาสนานั้นประกอบด้วยวิหารที่สถิตของพระพุทธรูปองค์ใหญ่เป็นอาคารประธาน มีลานกลางแจ้งในใจกลางเชื่อมต่อและแบ่งออกไปยังส่วนใช้งานอื่นๆ ได้แก่ อาคารห้องสมุดและห้องปฏิบัติธรรมรวมในอาคารเดียวกันอยู่ฟากหนึ่ง กับอาคารโรงอาหารอยู่อีกฟากหนึ่ง ทั้งหมดแยกห่างมาเล็กน้อยจากโซนกุฏิสำหรับพระสงฆ์ ซึ่งประกอบด้วยอาคารกุฏิ 10 หลัง วางเรียงรายอยู่รอบหนองน้ำ อันเป็นหนองน้ำที่ขุดขึ้นใหม่เพื่อรองรับน้ำยามฝนหลาก
แยกถัดออกไปไกลอีกหนึ่งลานกว้างเป็นโซนบ้านพักอาศัยสำหรับฆราวาส แบ่งออกเป็น 2 อาคารหญิงและชาย รองรับได้หลังละราว 20 – 30 คน ทั้งหมดนี้ ดวงฤทธิ์ บุนนาค เล่าว่าออกแบบภายใต้แนวคิดเดียวกันคือให้อาคารกลืนไปกับแลนด์สเคปกว้างที่เก็บต้นไม้น้อยใหญ่เดิมไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และในขณะเดียวกันก็คงรูปลักษณ์ภายนอกของอาคารทั้งหลายให้มีความเรียบง่าย เป็นอาคารทรงกล่องหลังคาเรียบแบนตามคติสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ด้วยไม่ต้องการให้มีภาษาทางสถาปัตยกรรมอื่นใดมาเติมความหมายอื่นที่อาจล้นเกิน
อย่างไรก็ตาม อาคารรูปลักษณ์ทรงกล่องทั้งหลายนั้น เห็นได้ชัดว่าถูกออกแบบให้ต่างจากตัววิหารอันเป็นอาคารประธานที่มีความสำคัญทางสถาปัตยกรรมที่สุดในโครงการก็ว่าได้ โดยสำหรับแนวคิดการออกแบบอาคารวิหารนี้ ดวงฤทธิ์อธิบายว่า
“เป้าหมายของโครงการนี้ หลักๆ แล้วก็คือการทำวิหารหลังนี้ แต่เราไม่ต้องการออกแบบวิหารนี้ให้เหมือนรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยประเพณีโดยตรง เราต้องการค้นหาวิธีการเข้าถึง (Approach) การออกแบบสถาปัตยกรรมไทยเช่นนี้ใหม่ โดยไม่ต้องมีรูปแบบแบบประเพณี แต่ยังให้มีความเข้าใจและมีคุณค่าเป็นอาคารทางศาสนาได้ และมีความเป็นสากลด้วยในเวลาเดียวกัน”
ดวงฤทธิ์เล่าว่า เขาได้ค้นพบวิธีการออกแบบการเข้าถึงอาคารทางศาสนาที่เป็นรูปแบบใหม่นี้ ผ่านการเดินทางไปชมอนุสรณ์สถานทางพระพุทธศาสนา มรดกโลก ‘โบโรบูดูร์’ หรือที่คนไทยมักรู้จักในชื่อ บุโรพุทโธ ณ ประเทศอินโดนีเซีย ในส่วนเจดีย์หินทรงระฆังโปร่งที่รายล้อมศาสนสถาน โดยลายฉลุรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดบนเจดีย์อันกลายเป็นสัญลักษณ์และภาพจำของสถานที่นั้น เป็นสิ่งที่ให้ผลลัพธ์ทางสถาปัตยกรรมที่น่าทึ่งและทรงพลัง เขาเปรียบลักษณะความโปร่งแต่ยังมีบางอย่างกั้นไว้ว่าเป็นดั่งการอุปมา (Analogy) ของกระจก กล่าวคือ สำหรับเขา ลักษณะความโปร่งแต่ยังปิดซ่อนบางอย่างเป็นชั้นๆ ไว้นั้น เป็นผลลัพธ์ทางสถาปัตยกรรมที่คล้ายกับเอฟเฟ็กต์ของวัสดุกระจก อันเป็นวิธีการที่เขาต้องการนำมาประยุกต์ใช้กับสถาปัตยกรรมเชิงศาสนาที่เขาออกแบบแห่งนี้นั่นเอง
วิหารที่สถิตตั้งของพระพุทธรูปองค์ประธานของสถานที่แห่งนี้ เป็นอาคารที่สถาปนิกต้องการประยุกต์ใช้ภาษาทางสถาปัตยกรรมดังกล่าว โดยในเบื้องต้น อาคารถูกออกแบบโดยอ้างอิงขนาดและสัดส่วนทั้งขนาดผังและความสูงโดยรวมทั้งหมดจากวิหารของวัดไทยรูปแบบประเพณี ทำให้รูปลักษณ์โดยรวมไม่ได้แตกต่างไปจากวิหารในพุทธศาสนสถานทั้งหลายที่เป็นที่คุ้นเคย การอ้างอิงถึงรูปแบบอาคารดั้งเดิมนั้นยังรวมไปถึงการคงไว้ซึ่งหลังคาจั่วขนาดใหญ่ และรวมถึงการเข้าถึงอาคารที่ไม่ให้เข้าถึงอาคารได้จากด้านข้าง แต่ให้เข้าถึงจากด้านสกัดดังเดิมด้วย
สิ่งที่ถูกประยุกต์ไปจากวิหารแบบประเพณีคือการออกแบบให้อาคารเป็นวิหารที่ไม่มีผนัง แต่พื้นที่จะถูกปิดล้อมด้วยเสาเรียงรายไปโดยรอบแทน องค์ประกอบของเสาทั้งหมดนี้นี่เองที่แนวคิดที่ได้จากโบโรบูดูร์ถูกนำมาประยุกต์ใช้ กล่าวคือ สถาปนิกออกแบบให้อาคารนี้ประกอบขึ้นจากแนวของโครงสร้างเสาซ้อนกันสามแนว แต่ละแนวจะวางซ้อนสับหว่างกันระหว่างชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นใน โดยมีเหตุผลหลักคือการสร้างมุมมอง ที่การซ้อนชั้นกันของเสาทั้งหมดนั้นจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ทางสายตาคล้ายกับที่ได้จากเจดีย์โปร่งที่โบโรบูดูร์ หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นการออกแบบที่ทำให้ส่วนผนังทึบภายนอกของวิหารถูกแทนที่ความโปร่งที่อุปมาถึงกระจก เป็นการสร้างการมองทะลุผ่านการซ้อนชั้นกันคล้ายผลลัพธ์ที่ได้จากกระจก หรือเป็นผนัง ‘กระจกที่ไร้กระจก’ (a glass without a real glass) ตามคำอธิบายของสถาปนิกนั่นเอง
นอกจากนี้ สถาปนิกยังได้ตั้งใจเปิดเผยและแสดงการซ้อนกันของโครงสร้าง ผ่านการเปิดฝ้าให้เห็นการต่อกันของโครงสร้างที่ซ้อนชั้นกันอยู่ โดยโครงสร้างทั้งหมดเป็นโครงสร้างเหล็กที่กรุด้วยไม้สนสวีเดนที่ได้จากป่าปลูก 100 เปอร์เซ็นต์ ที่ผ่านกระบวนการผลิตที่เอื้อให้ไม้คงทนแข็งแรงในระยะยาว การหุ้มโครงสร้างด้วยไม้ นอกจากจะเป็นความพยายามแสดงถึงการใช้วัสดุธรรมชาติที่ได้จากการควบคุมดูแลให้ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ไม้ยังทำให้รูปลักษณ์อาคารดูเป็นมิตร
แม้วิหารจะมีขนาดใหญ่โต แต่การทำให้สถาปัตยกรรมดูสัมผัสและใกล้ชิดได้ ก็เป็นอีกแนวความคิดหนึ่งที่ดวงฤทธิ์ต้องการสื่อสารผ่านสถาปัตยกรรมเชิงศาสนาชิ้นนี้ ดังที่เขากล่าวว่า
“วิหารนี้มีความสำคัญกับผมมาก ในแง่ที่ให้ผมได้สำรวจสถาปัตยกรรมไทย ได้สำรวจงานอุดมคติของไทย แล้วทำอย่างไรให้คตินี้ไปได้กับความเป็นสากล หรือคือการที่รากแบบไทยนั้นไปได้กับความเป็นสากล ไปได้โดยไม่เป็นการจำลองแค่ภาพลักษณ์ภายนอกนั้นเป็นอย่างไร จุดมุ่งหมายของวิหารนี้ คือไม่ได้อยากให้สถาปัตยกรรมมันข่มเรา แน่นอนเรายังคงยังอยากให้อาคารมีความอลังการเหมือนอาคารเชิงพุทธศาสนาตามคติของไทย แต่เราอยากให้มันมีความใกล้ชิด สนิทสนม (intimate) และให้ดูมีความถ่อมตน (humble) คือแตะต้องได้ พูดคุยได้ สัมผัสได้ คือมีความอลังการ แต่ใกล้ชิด”
ดวงฤทธิ์ยังกล่าวต่อว่า งานชิ้นนี้นอกจากจะทำเขาได้สำรวจงานสถาปัตยกรรมไทยประเพณี ยังให้โอกาสในการสำรวจปรัชญาพุทธศาสนา ที่เขาก็สนใจและมีอิทธิพลกับชีวิต ที่ท้ายที่สุด เขาเปรียบว่าการเข้าหาสถาปัตยกรรมไทยจากต่างมุมเช่นการออกแบบอาคารนี้ ก็ไม่ต่างจากการเข้าหาพุทธศาสนา ที่ในมุมมองของเขานั้นเป็นปรัชญากว้างใหญ่ เข้าถึงได้จากหลายด้าน โดยอาจไม่จำเป็นต้องเข้าถึงด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งที่ตายตัว
“สำหรับผม พุทธศาสนาเป็นปรัชญาที่ใหญ่มาก คนจะเข้าหาจากด้านไหนก็ย่อมได้ ตัวอาคารว่าด้วยเรื่องของความสมดุล ความเรียบง่าย ความสง่างาม และความสงบ ซึ่งหากเดินเข้าไปในวิหารนี้ ความสงบแบบพุทธก็แน่นอนว่ามีอยู่ ไม่ได้ให้ความตื่นเต้นหรือหวือหวา งานนี้จึงเป็นการตีความพุทธศาสนาแบบที่ผมเห็น แบบที่ผมก็เข้าหาจากด้านหนึ่ง ที่คงไม่ได้เป็นการตีความพุทธศาสนาทั้งมวล” ดวงฤทธิ์เล่าปิดท้าย