สนามเด็กเล่นคือสถานที่พัฒนาทักษะของเด็กในหลายมิติ ในโอกาสวันเด็กปีนี้เราชวนสตูดิโอ EKAR Architects, pbm, PHTAA Living Design และ Plan Architect มาวาดฝันกันว่าสนามเด็กเล่นในอนาคตจะเป็นอย่างไร
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
IMAGE COURTESY OF THE DESIGNER
(For English, press here)
สนามเด็กเล่นคือสถานที่พัฒนาทักษะของเด็กในหลายมิติ ทั้งร่างกาย อารมณ์ การเข้าสังคม แต่เมื่อโลกก้าวสู่การเปลี่ยนแปลง และปัญหาในโลกก็แตกต่างซับซ้อนไปจากเดิมอย่างมากมาย ทักษะที่เด็กควรมีก็เปลี่ยนไปด้วย แล้วรูปแบบของสนามเด็กเล่นในอนาคตจะเป็นอย่างไร?
ในโอกาสวันเด็กปีนี้ art4d เลยชวนสตูดิโอ EKAR Architects, pbm, PHTAA Living Design และ Plan Architect มาวาดฝันกันว่าสนามเด็กเล่นในอนาคตจะเป็นอย่างไร
EKAR Architects
สวนนั่งนาน / สนามเด็กเล่น (Pause garden / Playground)
ทุกวันนี้ที่บ้านเรา คำว่า ‘สนามเด็กเล่น’ แทบไม่มีอยู่จริง เราจะได้เล่นในสนามเด็กเล่น ถ้าเราไปโรงเรียน หรือเรามีกำลังพอได้มีบ้านในหมู่บ้านจัดสรร
สนามเด็กเล่นวันนี้ ถูกย้ายไปอยู่ในห้าง ตามร้านอาหาร ในโรงแรมหรู
พื้นที่ที่เด็กควรจะได้ใช้ทุกคน กลับกลายเป็นของที่มีราคาที่ต้องจ่าย
มันน่าจะดี ที่มี ‘พื้นที่สาธารณะ’ ที่ให้เด็กได้ปลดปล่อยจินตนาการ พัฒนาสมอง พัฒนากล้ามเนื้อทุกมัด สร้างทักษะการมีปฎิสัมพันธ์ เรียนรู้ธรรมชาติ เรียนรู้ความผิดพลาด พัฒนาภาวะทางอารมณ์
โดยพื้นที่เดียวกันนั้นก็เป็นพื้นที่ปลอดภัยของเด็ก และเป็นที่ให้พ่อแม่ได้หยุดพักผ่อน ได้ใช้เวลาส่วนตัวตามที่ต้องการ หรืออาจจะนั่งคุยสังสรรค์กันกับเพื่อนๆ ในช่วงเวลาที่ลูกเล่น แต่ก็ยังคอยดูแลอยู่ห่างๆ ได้
สนามที่เด็กได้เล่น คือ สวนที่ผู้ใหญ่ได้พัก
ekar-architects.com
facebook.com/ekar.architects
pbm
พื้นที่มีขอบแต่ไร้เขต (The Playscape of Boundless Maze)
ในยุคที่โลกเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน ความสำคัญในการสร้างสรรค์สนามเด็กเล่นจึงไม่ได้อยู่ที่การสร้างสนามเด็กเล่นที่มีเครื่องเล่นหลากหลายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงไอเดียสำหรับพื้นที่เล่นที่มีความยืดหยุ่น สามารถสัมผัส ประยุกต์ และสนุกได้หลายวิธี เพื่อเปิดกว้างให้เด็กๆ ได้สำรวจจากมุมมองที่แตกต่างกันไป โดยไม่ถูกจำกัดด้วยแบบแผนที่ตายตัว เว้นที่ว่างอย่างอิสระเพื่อต่อยอดกับมิติและทักษะต่างๆ ในอนาคต รองรับกับความต้องการและความคาดหวังที่เปลี่ยนไปของเด็กในอนาคต เพื่อให้พื้นที่เล่นเป็นที่ที่ไม่เพียงแต่สนุก แต่ยังเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้และพัฒนาอย่างไม่มีขีดจำกัด
pbm.co.th
facebook.com/pbm.co.th
PHTAA Living Design
loop
ในอนาคตเด็กก็ยังต้องการสนามเด็กเล่นที่ฝึกการตัดสินใจ สมองและร่างกาย ออกแบบวิธีการเล่นได้เองหรือลำดับการเล่นจากกติกาที่ถูกสร้างมาร่วมกัน
loop เป็นสนามเด็กเล่นที่ไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบ สามารถเข้ามาเล่นช่วงไหนก็ได้ไม่มีวิธีการเล่นที่ชัดเจน จะเข้าไปในอุโมงค์ loop ก็ได้หรือจะเล่นด้านนอก loop ก็ได้ เหมือนเราออกแบบครึ่งหนึ่งและเด็กสามารถออกแบบวิธีหรือลำดับการเล่นอีกครึ่งหนึ่งได้เหมือนกัน
phtaa.com
facebook.com/PHTAAlivingdesign
Plan Architect
Urban Playground
Urban Playground เป็นแนวคิดที่จะสร้างบรรยากาศของเมืองให้เป็นสนามที่ เด็ก ผู้ใหญ่ และคนทุกทุกวัยในสังคมได้เล่นสนุก เป็นการปรับใช้พื้นที่ที่ไม่ได้ใช้งานอย่างดาดฟ้าของทุกทุกอาคารเชื่อมต่อถึงกัน สร้างเป็นเครือข่ายพื้นที่สาธารณะและพื้นที่เล่นของเมือง เพราะการรักษาความเป็นเด็กไว้ในทุกทุกวัยไว้ น่าจะส่งเสริมบรรยากาศสังคมในอนาคตให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น