4TH WALL

4thWall bar

Taste Space ออกแบบบาร์ให้สอดคล้องกับแนวคิด retro-futurism ซึ่งประยุกต์จากองค์ประกอบของภาพยนตร์ช่วง 1960s ตามความหลงใหลของเจ้าของโครงการ

TEXT: SURAWIT BOONJOO
PHOTO: ADISORN RUANGSIRIDECHA

(For English, press here)

มวลบรรยากาศที่ขับเน้นด้วยสีสัน วัสดุ และรูปลักษณ์ ที่โดดเด่น ตัดแยกจากความต่อเนื่องของพื้นที่โดยรอบ ณ บริเวณมุมจุดบรรจบของสองแนวผนังสีเขียวหม่น นี่คือบริเวณทางเข้าบาร์คลาสสิกค็อกเทล 4th Wall ที่ตั้งอยู่ชั้นสองของโรงแรม LUXX Langsuan กรุงเทพมหานคร ซึ่งเปิดให้บริการในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา เป็นผลงานออกแบบจากออฟฟิศที่ปรึกษาทางด้านการออกแบบภายใน Taste Space โดย กิจธเนศ ขจรรัตนเดช  ซึ่งต้องการส่งมอบและเสริมสร้างประสบการณ์ ‘neighbourhood bar’ ที่ผู้ให้และผู้ใช้บริการจะสามารถสัมผัสถึงบรรยากาศใกล้ชิดเป็นกันเอง เสมือนทั้งหมดนั่งล้อมวงสังสรรค์ร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ผ่านท่วงท่าการสื่อสาร และถ่ายทอดออกมาโดยใช้วากยสัมพันธ์ของภาษาการออกแบบเข้ามาแทรกแซง ตัดผ่านกาลเวลา เพื่อปะติดปะต่อ เชื่อมร้อยความเป็นอดีตและปัจจุบันเข้าไว้ด้วยกันภายใต้รูปประโยคแนวคิด ‘retro-futurism’

4thWall bar

4th Wall กำแพงลำดับที่สี่ เป็นศัพท์เฉพาะทางด้านภาพยนตร์และการละคร สำหรับใช้อธิบายถึงแผ่นผนังที่ไม่ปรากฏให้เห็นของแนวกำแพงส่วนหน้าระหว่างผู้แสดงกับผู้ชมและกล้อง หากแต่ยังคงคั่นขวางเป็นโครงสร้างซึ่งประกอบขึ้นจากช่วงระยะห่างอันเบาบางที่แน่นหนัก แนวกำแพงลำดับที่สี่นี้ ได้กลายเป็นแนวทางหลักสำคัญ อีกทั้งเป็นหมุดหมายเริ่มต้นในการออกแบบ ซึ่งจะต้องทลายลงเพื่อร่นระยะห่างของการปฏิสัมพันธ์ ส่งมอบความรู้สึกเป็นกันเอง และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้สอดสัมพันธ์ อีกทั้งสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นประสบการณ์การสังสรรค์ ณ ร้านเครื่องดื่มใกล้บ้าน

ขณะเดียวกันนั้น แต่ละองค์ประกอบด้านรูปทรง สีสัน รวมไปถึงการจัดวางรูปแบบในกระบวนการออกแบบตกแต่งพื้นที่ ถูกนำเสนอผ่านรูปลักษณ์ ‘ย้อนยุค แต่ก็ล้ำสมัย’ ด้วยสถานะองค์ประกอบภาพฉากหลังที่จะเข้าโอบซ้อน พร้อมกับตอบรับและเอื้อต่อการก่อประกอบสู่ภาพลักษณ์บรรยากาศหลักของบาร์ให้สามารถปรากฏได้อย่างเด่นชัดและสมบูรณ์แบบ ภายใต้กรอบทัศนะนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า แผ่นผนังสีเขียวได้ถูกจัดวางประหนึ่งแนวฉากหน้าที่คั่นแยกสองห้วงมิติเวลาด้วยเช่นกัน

4thWall bar4

เมื่อผ่านแนวกั้นนั้นแล้ว นักออกแบบจาก Taste Space ยังพยายามเตรียมความพร้อมในการหล่อหลอมอารมณ์การรู้ของการข้ามย้อนกลับไปสู่ห้วงเวลาในอดีต ด้วยการออกแบบให้ผู้ใช้บริการต้องเดินไปตามช่องทางเดินที่ทอดยาว ซึ่งขนาบข้างด้วยแผงผนังที่ราวกับถอดแบบบานประตูวางเรียงไปอย่างต่อเนื่อง โดยบริเวณส่วนกระจกวงรีได้มีการติดตั้งแสงไฟที่ไล่ปรับเปลี่ยนสีสันอยู่เสมอ เส้นสายตลอดทั้งพื้นที่มีความโค้งมนนำไปสู่ยังส่วนปลายสุดของห้องที่ติดตั้งโทรทัศน์เครื่องขนาดย่อมที่ฉายภาพยนตร์ยุค 1960s วนซ้ำ อีกส่วนสำคัญในการอ้างอิงและเป็นแรงบันดาลใจให้กับทั้งส่วนประกอบ รวมถึงภาพลักษณ์องค์รวมที่พาย้อนไปสัมผัสกับบรรยากาศงานออกแบบ ตกแต่ง และสถาปัตยกรรมในยุค 1960s อีกครั้งภายหลังแหวกแง้มม่านกัน

4thWall bar

4thWall bar4thWall bar

ด้วยความหลงใหลในภาพยนตร์ยุค 1960s ของเจ้าของโครงการ ได้ทำให้การชมภาพยนตร์ในยุคนั้นหลากหลายเรื่องจากการแนะนำของเจ้าของโครงการ กลายเป็นอีกส่วนที่ถูกใช้ในการศึกษาทำความเข้าใจเรื่อง mood and tone ที่ได้นำมาปรับประยุกต์ใช้กับการออกแบบ ประกอบกับการค้นคว้าในส่วนอื่นอีกมากมาย กระทั่งเข้าใจและตกผลึกจนสามารถเลือกหยิบเสนอเพียงเฉพาะส่วนขององค์ประกอบอันเป็นภาพจำแทนรูปแบบบยุคสมัยหรืองานออกแบบนั้นๆ ออกมาผสานรวมเรียงต่อกันได้อย่างเด่นชัดและสอดคล้องกัน

4thWall bar

มุมมองแรกหลังออกจากแนวอุโมงค์ที่สีเขียวสดใสอันสว่างจ้า ม่านสายตาก็จะปรับให้เข้ากับแสงไฟสลัวของทั้งพื้นที่ภายใน จุดนำสายตาหลักที่จะสามารถสังเกตเห็นก็คือส่วนบาร์ขนาดใหญ่ที่ตั้งเป็นแนวเส้นกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งปลายมุมด้านซ้ายล่างถูกตัดเฉียงออก ล้อรับกับปลายมุมเดียวกันของส่วนผนังด้านนอกสุด ส่วนบาร์ตั้งอยู่บริเวณกลางพื้นที่ ห้อมล้อมด้วยเก้าอี้นั่งทรงกลมรอบล้อมเคาน์เตอร์บาร์ และชุดเฟอร์นิเจอร์ที่วางเรียงคู่ขนานไปตามแนวผนัง เว้นเพียงส่วนผนังด้านหลังของเคาน์เตอร์บาร์สำหรับใช้เป็นพื้นที่การเก็บของ ด้วยรูปแบบการจัดเรียงหันหน้าล้อมเข้าสู่จุดร่วมสายตาที่ตั้งของบาร์นั้น ก็เพื่อตอบโต้กับการทำลายกำแพงลำดับที่สี่ หากแต่ด้วยท่าทีที่ตรงกันข้ามกับในตอนต้น

4thWall bar4thWall bar4thWall bar4thWall bar

องค์ประกอบงานตกแต่งพื้นที่บาร์ได้รับการจัดวางเรียงให้อยู่ในท่วงจังหวะที่ได้รับการไตร่ตรองมาอย่างเหมาะสม ซึ่งสามารถนำเสนอสร้างความรู้สึกและการหวนย้อนราวกับอยู่ท่ามกลางห้วงเวลาในอดีต โดดเด่นด้วยพลวัตอันต่อเนื่องที่ไม่เป็นเนื้อเดียวกันของการต่อเชื่อมแต่ละส่วนจากภาพแทนแห่งยุคสมัยเข้าไว้ด้วยกัน กิจธเนศอธิบายถึงแนวทางการเลือกเสนอรูปลักษณ์ของงานออกแบบโปรเจ็กต์นี้ไว้ว่า เขาได้เลือกใช้รูปแบบพร้อมกับวัสดุคอนกรีตสำหรับส่วนออกแบบเพดานในรูปแบบหลุมฝ้าหยุบสี่เหลี่ยมเรียงต่อกัน ประกอบกับคู่สีสันส้มเขียว ภาพแทนของ ‘brutalism’ ซึ่งเข้ามามีบทบาทในการสร้างความต่อเนื่อง เชื่อมสมานให้กับรอยแยกระหว่างความขัดแย้งกันจนเกินไปในงานออกแบบสองช่วงเวลา

4thWall bar

4thWall bar

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีการเลือกใช้ไฟทรงกลมและโค้งที่จัดวางเรียงต่อองค์ประกอบเดิมเป็นชุดอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับวัสดุปิดผิวกรอบนอกพลาสติกและอะคริลิก ทั้งหมดล้วนสะท้อนภาพงานตกแต่งที่แฝงกลิ่นอายแบบ ‘retro’ ร่วมกับแนวทางการทำซ้ำองค์ประกอบเดิมในช่วงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ขณะที่รูปทรงวงรีซึ่งถอดแบบจากรูปทรงจอโทรทัศน์โค้งมน ปรับประยุกต์ใช้ในการตกแต่งส่วนต่างๆ ทั้งระหว่างโถงทางเดินหรืองานตกแต่งกระจกเงาในรูปทรงเลียนแบบโทรทัศน์ซึ่งเรียงต่อกันบนผนังของพื้นที่บาร์ ร่วมไปกับไฟส่องสว่างที่ปรับเปลี่ยนเคลื่อนไหวและติดตั้งเป็นเส้นแนวตั้งต่อเนื่องกัน ทั้งสองส่วนหลังนี้ได้ฉายภาพแทนช่วงเวลาแห่งอนาคตแบบ ‘futuristic’ ซึ่งทาบทับซ้อนเข้าอีกชั้นในพื้นที่

การผสานทาบแต่ละองค์ประกอบต่างรูปแบบและยุคสมัยเข้าไว้ต่อกันนั้น ได้แสดงให้เห็นในหลากหลายการบิดแปลงรวมวัสดุเข้ากับรูปทรง การสอดประสานล้อรับและต่อเนื่องของเส้นสาย หรือปรับสีสันให้อยู่ในช่วงเฉดที่ตอบรับซึ่งกันและกัน ไม่ตัดแยกออกจากกัน ประกอบกับเนื่องด้วยต้องการคงความสลัว ไม่สว่างจนเกินไป คู่สีตรงข้ามที่ถูกเลือกใช้จึงอยู่ในโทนเข้มหม่น และจุดช่วงสันแกนคอนกรีตบนเพดานที่ถ่ายทอดด้วยเส้นสายที่โค้งมน นับเป็นหนึ่งในจุดการผสานร่วมคาแร็กเตอร์ในสองรูปแบบเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นงานออกแบบที่ถ่ายทอดในรูปแบบลูกผสม

4thWall bar

เมื่อมองย้อนกลับจากบริเวณสระว่ายน้ำในส่วนหลังของอาคาร แผ่นผนังส่วนที่หันขนานกับด้านดังกล่าวในส่วนบนเหนือโซฟาได้ติดตั้งเป็นแผ่นกระจกใสสีชาที่ช่วยกรองแสงและสามารถมองย้อนเห็นด้านนอกได้ หากมองย้อนกลับจากด้านตรงข้ามก็จะเห็นเป็นกรอบมุมมองที่เก็บส่วนองค์ประกอบงานตกแต่งและนำเสนอภาพพื้นที่อันล้ำสมัย ราวกับหลุดมาจากห้วงเวลาอื่นตั้งตระหง่านอยู่ อีกทั้งยังยอกย้อนกลับไปสู่ความเป็นภาพยนตร์ที่ฉายแสดงฉากเดิมซ้ำวนซำ้ไปอย่างต่อเนื่อง

แม้ 4th Wall จะโดดเด่นด้วยการเลือกสร้างภาพจำและบอกเล่าด้วยประโยคที่เรียงต่อขึ้นด้วยชุดคำจากภาษาการออกแบบต่างห้วงเวลา จนเกิดเป็นรูปแบบที่มีรูปลักษณ์แบบลูกผสม ไม่ได้เกิดจากการออกแบบเฉพาะผิวเปลือกนอกเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้สัมพันธ์กับการใช้งานและแนวคิดเท่านั้น แต่กระบวนการผสมผสานรวมหลากหลายแนวทางการออกแบบเข้าไว้นี้ ท้ายที่สุดแล้วการนิยามจำกัดความให้กับงานออกแบบชิ้นนี้ ก็จะยังคงสามารถประกอบสร้างได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน บรรยากาศที่ถูกสรรค์สร้างขึ้นอย่างจำเพาะ ก็สามารถจะถูกสำรวจและรับรู้ปรับเปลี่ยนไปตามมุมมองของตำแหน่งแห่งที่และเวลาที่แตกต่างกันอยู่เสมอ

4thWall bar

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ได้แฝงเร้นด้วยกลิ่นอายของภูมิทัศน์ปี 1960 อันเป็นจุดร่วมของทุกองค์ประกอบไว้อย่างแนบแน่น และแน่นอนว่า ‘retro-futurism + brutalism’ นิยามล่าสุดของกิจธเนศ อาจจะเพียงพอแล้วสำหรับการจำกัดความ หรือพร้อมจะกลายเป็นอื่นและนิยามสร้างตัวตนใหม่อยู่เสมอ

tastespace.co
facebook.com/tastespace.co

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *