Tag: EDL Laminates
MOVIES ON DESIGN ‘LIVING TOGETHER IN 2020’
เมื่อวันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา Movies on Design ครั้งแรกของปี 2020 ได้จัดขึ้นที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งในครั้งนี้เราได้เดินทางไปพร้อมกับทีมงานจาก EDL ที่นำผลิตภัณฑ์วัสดุปิดพื้นผิวลามิเนตหลากหลายรุ่นไปให้เหล่านักออกแบบรุ่นใหม่ได้สัมผัสกันถึงในงาน พร้อมทั้งคอยให้คำแนะนำคุณสมบัติและการใช้งานผลิตภัณฑ์อย่างใกล้ชิด
ภาพยนตร์ที่เราได้เตรียมไปฉายในครั้งนี้คือ Where Architects Live (2014) และ The Human Shelter (2018) แม้ภาพยนตร์สารคดีทั้ง 2 เรื่อง จะมีประเด็นหลักว่าด้วย บ้านและที่อยู่อาศัย เหมือนกัน แต่ก็ทำให้เราได้เห็นความแตกต่างของมุมมองที่ผู้คนมีต่อบ้าน ผ่านบทสัมภาษณ์ของคนธรรมดา ไปจนถึงเหล่าสถาปนิกชื่อดังระดับโลก
นอกจากนี้ เรายังได้ฟังมุมมองของสถาปนิกและนักออกแบบชาวไทย ที่มาร่วมเสวนากันในหัวข้อ ‘Living Together in 2020’ ซึ่งได้รับเกียรติจาก เดชา อรรจนานันท์ จาก Thinkk studio ผศ.ดร.รัฐพงษ์ อังกสิทธิ์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัชรดา อินแปลง จาก SHER MAKER และ ผศ.ปวิตร มหาสารินันทน์ รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยก่อนเริ่มการเสวนา พัตรพิมล โชติเศวตอนันต์ กรรมการผู้จัดการ EDL LAMINATES CO., LTD. ได้มอบของที่ระลึกให้กับวิทยากรทั้ง 3 ท่านด้วย
สำหรับ session การเสวนาหัวข้อ ‘Living Together in 2020’ นอกจากวิทยากรจะมาบอกเล่าถึงความรู้สึกหลังชมภาพยนตร์แล้ว ทั้ง 3 ท่าน ยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่อง บ้าน ทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ไปจนถึงบทบาทของนักออกแบบท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อม ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเหล่านักออกแบบได้ดีทีเดียว เราจึงรวบรวมมาให้ทุกคนได้อ่านกันแบบเต็มๆ ที่นี่
ชมภาพยนตร์เรื่อง Where Architects Live แล้วได้รับแรงบันดาลใจอะไรบ้าง
พัชรดา อินแปลง: จริงๆ มีสตูดิโอหนึ่งที่ตามมาตั้งแต่ตอนเป็นนักศึกษาเลยก็คือ Bijoy Jain จาก Studio Mumbai เพราะชอบงานของเขามาก อีกท่านก็คือสถาปนิกชาวบราซิล Marcio Kogan จาก Studio mk27 ซึ่งก่อนที่จะได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ก็รู้สึกหนักใจเล็กน้อยเพราะสถาปนิกที่อยู่ในลิสต์กระจายตัวและมีผลงานที่แตกต่างกันไปคนละทางเลย บางคนก็มีทัศนคติเกี่ยวกับการอยู่อาศัยที่แปลกมาก บางคนก็มีความเป็นมนุษย์มาก ดีที่ได้เห็นความหลากหลายเหล่านี้ curator คัดมาได้หลากหลายดี
ทำไมถึงชอบสถาปนิก 2 ท่านนี้ตั้งแต่ตอนเป็นนักศึกษา และงานของพวกเขามีอิทธิพลกับงานของคุณพัชรดาในปัจจุบันบ้างหรือไม่
พัชรดา: ถ้าเราดูงานแถบละตินอเมริกาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา งานของคนนี้จะต้องผ่านตาบ้าง ในสารคดีไม่ได้ถ่ายโรงงานของเขาเยอะ เขาจะถ่ายบรรยากาศการอยู่อาศัยของเขา แต่ว่าถ้าไปค้นหาดูจะรู้เลยว่าสภาพการอยู่อาศัยของเขาเป็นอย่างนั้น ที่เขาบอกว่าเซาเปาโลวุ่นวาย รถติด แต่งานของเขาสวยมาก นั่นหมายความว่าสภาพแวดล้อมอาจไม่ได้ดี 100% แต่เขาผลักงานออกมาได้ดีมากๆ
คุณเดชาและคุณรัฐพงษ์ชอบงานของสถาปนิกท่านใดเป็นพิเศษ
เดชา อรรจนานันท์: จริงๆ ก็ชอบหลายคน แต่ก็ไม่เคยเห็นเบื้องหลังที่ทำงานกับที่บ้านว่าเป็นอย่างไร สิ่งที่ได้รับจากการชมภาพยนตร์ทั้งหมดเหมือนจะตอกย้ำถึงวิธีการคิดที่หลากหลายจากคนหลายๆ กลุ่ม หลายๆ ความเชื่อ ถึงแม้จะเป็นสถาปนิกเหมือนกัน วิธีคิด วิธีการเรียนอาจจะคล้ายกันมาก่อนโดยพื้นฐาน แต่ด้วยสิ่งที่เขาเชื่อ สิ่งที่เขาสัมผัส หรือสิ่งที่เขาเลือกจะโฟกัสแตกต่างกัน ซึ่งมันก็ทำให้ส่วนผสมของการทำงานต่างกันออกไป บางคนเลือกที่จะโฟกัสของบางอย่าง ในขณะที่อีกคนอาจจะไม่ได้สนใจเลย ไม่ได้คิดว่าบ้านคือสิ่งที่ต้องสะสมหรือเก็บอะไรไว้ด้วยซ้ำ ก็แล้วแต่ว่าสิ่งที่คนๆ นั้นเชื่อหรือให้คุณค่ามันคืออะไร ก็รู้สึกชอบในเรื่องของความหลากหลายที่เราสามารถเอามาใช้กับงานของเรา
ผศ.ดร.รัฐพงษ์ อังกสิทธิ์: เรื่องแบบนี้มันเป็นไปตามวัย สมัยเรียนเราจะชอบงานที่มันวุ่นวาย ยุ่งยาก เพราะรู้สึกว่าเรียบๆ มันน่าเบื่อ แต่เมื่อเราโตมากขึ้น งานที่ผมชอบกลับกลายเป็นแบบ Studio Mumbai ที่ให้ sense of place และมีชีวิต นั่นคือสิ่งที่เขาสร้างแรงบันดาลใจ ในภาพยนตร์เขาก็กล่าวถึงเรื่องน้ำ ว่าเป็นบ่อเกิดของชีวิต มันเกี่ยวข้องกับชีวิตของคน ซึ่งผมประทับใจและมีอิทธิพลต่อการออกแบบด้วย อย่างสเปซหรือพื้นที่ในบ้านแบบไหนที่เหมาะสมกับชีวิตแบบเราๆ โดยเฉพาะชีวิตในเมืองเชียงใหม่ที่ไม่ใช่เมืองใหญ่
บ้านของสถาปนิกทั้ง 3 ท่านเป็นอย่างไร และสะท้อนถึงสไตล์การทำงานของแต่ละท่านอย่างไรบ้าง
พัชรดา: อย่างที่ Zaha Hadid ได้กล่าวในภาพยนตร์ว่าบ้านหลังแรกเป็นเสมือน manifesto ของสถาปนิก มันจริงมากเลยนะ สถาปนิกจำนวนมากที่ออกแบบบ้านหลังแรกให้ตัวเองแล้วต้องเป็น manifesto ของแนวความคิด เพื่อสื่อว่าฉันจะทำงานแบบนี้ แต่ต้องดูด้วยว่าสถาปนิกในภาพยนตร์แต่ละคนนั้นมีการศึกษามาแบบนั้น และหลายๆ คนก็ย้ายตัวเองไปตามเมืองต่างๆ ไม่ได้อยู่เมืองใดเมืองหนึ่งนาน อย่างบ้านของตัวเองนี่ธรรมดามากเลยนะ เป็นบ้านชั้นเดียวธรรมดา มีหมา 2 ตัว ออกแบบเอง ต้นไม้ก็ขึ้นรกๆ ไม่ได้มีการจัดภูมิทัศน์อะไร เอาเท่าที่เราใช้งานจริง
มีคอนเซ็ปต์ไหม
พัชรดา: ไม่มี คือสถาปนิกจะแปลกๆ นิดหนึ่ง เวลาออกแบบให้ลูกค้า เราจะพยายามผลักบางอย่างไปจนสุด แต่เวลากลับมาทำบ้านของตัวเอง บ้านเราจะธรรมดามาก ธรรมดาจนน่าแปลกใจ ดูอย่างบ้านหลังสุดท้ายของ Le Corbusier ก็ธรรมดามาก เป็นบ้านหลังเล็กๆ อยู่ริมทะเลสาบ แทบจะดูไม่ออกเลยด้วยซ้ำว่าเป็นบ้านที่สถาปนิกออกแบบ เพราะฉะนั้นวิธีคิดของสถาปนิกมันมีความสุดโต่งบางอย่าง บ้านจะเป็น manifesto ไปเลย หรือว่าจะเป็นบ้านธรรมดาไปเลย ไม่ค่อยมีใครอยู่ตรงกลางเท่าไหร่ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งไปเลย
เดชา: จริงๆ เป็นหลังที่สอง บ้านหลังแรกอยู่กับพ่อ แม่ และพี่สาว ตัวบ้านมีห้องเล็กๆ เป็นสตูดิโอทำงาน พอมีคนเยอะขึ้น เริ่มมีเฟอร์นิเจอร์ต้นแบบที่ขึ้นเป็นตัวอย่าง ก็เลยย้ายมาหลังที่สอง เป็นบ้านที่ซื้อมาและทำการรีโนเวท แต่น้ำหนักของบ้านหลังที่สองก็ยังคงโฟกัสไปที่ออฟฟิศมากกว่าตัวที่พักอาศัยด้านบน เพราะเราใช้เวลากับการทำงานมากกว่า หลังเลิกงานก็ยังอยู่ข้างล่าง ใช้ห้องประชุมเป็นที่นั่งรับประทานอาหารกับน้องๆ ในออฟฟิศ แต่ก็ยังอยากมีบ้านหลังที่สาม เพื่อที่จะแก้ปัญหา ณ ตอนนี้ที่เราเจออะไรหลายๆ อย่าง และเริ่มอยากจะโฟกัสกับชีวิตกับการอยู่อาศัยมากขึ้น บ้านในตอนนี้ก็ทำหน้าที่เหมือนเป็นพื้นที่ทดลองเล็กๆ ของเรา ในการที่จะมีเฟอร์นิเจอร์ต้นแบบมาลองใช้ก่อน
รัฐพงษ์: ผมเป็นคนเชียงใหม่ ซึ่งทุกวันก็ยังอยู่บ้านหลังเดิมที่เคยอยู่ตั้งแต่เด็ก บ้านหลังนี้มีความน่าสนใจ เป็นบ้านสไตล์ยุโรปอายุประมาณ 30 ปี บ้านมีการต่อเติม มีการขยายตัว ตัวเองก็มีครอบครัวแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในบ้านหลังเดิมนี้ ซึ่งทางครอบครัวก็ให้ต่อเติมบ้านอีกข้างหนึ่ง โดยมีโจทย์ว่าจะต้องคงกรอบอาคารให้คล้ายกับตัวอาคารเดิม ซึ่งตัวบ้านเดิมก็เรียบง่ายอยู่แล้ว ฟังก์ชั่นการใช้งานก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไรมาก จะมีเพิ่มเติมก็คือที่เก็บของ เพราะผมมีหนังสือเยอะ เอาจริงๆ บ้านหลังที่สองของผมก็คือคณะ เพราะผมเรียนที่นี่ โตที่นี่ เวลาที่ใช้ส่วนใหญ่ก็อยู่ที่คณะมากกว่า บางครั้งวันเสาร์อาทิตย์ก็มานั่งทำงาน
ผมฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าสถาปนิกมักจะเรื่องมากกับคนอื่น เรามักจะค้นหาอะไรบางอย่างให้ลูกค้าของเรา แต่เราจะพยายามไม่เรื่องมากกับตัวเอง ผมต้องสอนทุกวัน กลับบ้านมาก็เหนื่อยแล้ว พอถึงจุดหนึ่งเราก็แค่อยากจะกลับไปบ้านแล้วนั่งพักผ่อน ดู Netflix เปิดแอร์เย็นๆ หรือเปิดหน้าต่างให้ลมผ่านก็เท่านั้น สถาปนิกส่วนใหญ่ไม่ซีเรียสเรื่องที่พักของตัวเองหรอก ผมมองว่าอย่างนั้น
ผศ.ดร.รัฐพงษ์ อังกสิทธิ์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เวลาที่ใช้ในแต่ละวันมักทำงานให้กับคนอื่น ทำให้เราใช้เวลากับที่อยู่อาศัยในบ้านของเราค่อนข้างน้อย จึงไม่ได้คิดจะสร้างอะไรมากมายนักใช่หรือเปล่า
พัชรดา: น่าจะเป็นวิถีของชีวิตคนปัจจุบัน งานกับชีวิตไม่น่าจะขาดออกจากกันได้แล้ว
จากปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องฝุ่น ส่งผลถึงกระบวนการคิดและการออกแบบสถาปัตยกรรมอย่างไรบ้าง
พัชรดา: มีผล โดยแบ่งเป็น 2 ระดับ ถ้าเป็นการออกแบบอาคารที่พักอาศัยก็จะแนะนำให้ลูกค้าเหลือสเปซไว้ส่วนหนึ่งสำหรับพัดลมดูดอากาศแบบง่ายๆ อย่างที่เขาบอกกันว่ามันเป็นปัญหาที่จะไม่จบในเร็วๆ นี้ โดยเฉพาะเชียงใหม่ที่จะมีช่วงที่อากาศเป็นแบบนี้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าจะออกแบบบ้านที่เชียงใหม่เราก็จะบอกเลยว่ามันมีวิธีทำการทำเครื่องดูดอากาศเล็กๆ เอาไว้ฟอก ซึ่งมีกลไกบางอย่างที่ทำให้เราสามารถเสียบสิ่งนี้ไว้ในสเปซของบ้านได้ ด้วยการใช้พื้นที่ 5-10% ของบ้าน ห้องนั้นอาจทำหน้าที่เป็นห้องเก็บของ ซึ่งมีวิธีการทำให้เป็นห้องสะอาดก่อนจะเข้าตัวบ้านได้ ก็จะแนะนำวิธีการนี้ให้ลูกค้าที่มีกำลัง แต่ปัญหาที่เราเจอมันใหญ่กว่านั้นโดยเฉพาะในอาคารสาธารณะ ยกตัวอย่างจากการทำงานร่วมกับฝ่ายดูแลภาพลักษณ์ขององค์กรหนึ่ง ถึงแม้เขาจะมีมาตรการแก้ไขทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว แต่ผ่านไป 1 ปี ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย มันเป็นเรื่องยากมากที่จะทำบางอย่างให้มันเห็นผลในระยะอันใกล้ สิ่งสำคัญคือต้องทำให้ตัวเองมีกำลังใจที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ ไม่หมดหวังกับอากาศแบบนี้ในจังหวัดของเรา นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำได้ และถ้ามีสิ่งใดที่เราทำให้กับอาคารบ้านช่องที่เราออกแบบได้ เราก็จะทำ
มีเทคนิคอะไรพอจะแบ่งปันได้ไหม
พัชรดา: มีการทำวิจัยจากศูนย์วิจัยคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งแนะนำถึงโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งที่นำโมเดลนี้ไปใช้ ด้วยการใช้พื้นที่กั้นก่อนเข้าห้องประมาณ 5 – 10 % ในการติดตั้งเครื่องดูดอากาศ เป็นพัดลมแบบง่ายๆ พร้อมตัวกรองโดยคำนึงถึงทิศทางลมที่ถูกต้องด้วย ซึ่งก็จะมีลำดับการติดตั้งง่ายๆ อยู่ อาจจะใช้เป็นผนังเบาก็ได้ ห้องนี้ก็จะทำหน้าที่เป็นห้องฟอกอากาศก่อนเข้าอาคาร อาจารย์และวิศวกรเครื่องกลที่ทำงานด้วยกันแนะนำว่า ถ้าออกแบบก็ลองศึกษาเรื่องนี้ดู เพราะว่าถ้ารวมพื้นที่นี้เข้ากับแบบบ้านได้ มันก็น่าจะดีขึ้น
เดชา: ยกตัวอย่างจากสิ่งที่ผมสัมผัสมาตลอดช่วงการทำงาน 5 – 10 ปีที่ผ่านมา ยังไม่ค่อยมีคนเข้ามาติดต่อเราในลักษณะงานที่เป็น sustainable ช่วยประหยัดพลังงาน หรือขอวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสักเท่าไหร่ แต่พอ 2 – 3 ปีนี้ เริ่มรู้สึกว่าผู้บริโภคต้องการและส่งผลกับนักออกแบบแล้ว เราต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ ต้องมีวิธีคิด ใส่ใจเรื่องวัสดุในการทำงาน ในปีนี้ก็มีโครงการที่ติดต่อมาในแง่ของการนำเศษวัสดุเหลือใช้มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์ วัสดุตกแต่งอาคาร คิดว่าถึงจุดที่ต้องคิดและระวังกันจริงๆ แล้ว ทั้งผู้บริโภค ทั้งผู้ผลิต ทั้งนักออกแบบ ทั้งการอยู่อาศัย ไปจนถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ในฐานะนักออกแบบ พวกเราเป็นคนที่ชี้ว่าเราจะใช้อะไร ไมใช้อะไร ซึ่งมีผลอย่างมากถ้าเราใส่ใจ รับผิดชอบต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากวัสดุต่างๆ ที่เลือกใช้จากกระบวนการผลิตที่เราคิดค้นให้ยั่งยืนจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบด้านสถาปัตยกรรมหรือผลิตภัณฑ์
(ขวา) เดชา อรรจนานันท์ จาก Thinkk studio
มลพิษทางการอากาศมีความเกี่ยวข้องกับหลักสูตรการเรียนการสอนด้านสถาปัตยกรรมมากน้อยแค่ไหน
รัฐพงษ์: ขอเสริมจากคุณพัชรดา เรื่องระบบ positive pressure อาจารย์ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ไปสำรวจอาคารในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งไม่มีเครื่องปรับอากาศ แต่ใช้วิธีดูดอากาศจากภายนอกเข้ามาผ่านตัวกรอง ตรงกันข้ามกับห้องรักษาหรือห้องกักกันผู้ป่วยที่เรียกว่า negative pressure คือ เป็นห้องที่มีลมเข้าอย่างเดียว ไม่มีลมออก เชื้อโรคก็จะไม่ออกข้างนอก จะเห็นว่าแค่ปรับหลักการดูดลมก็สามารถนำมาใช้ได้ ซึ่งปัจจุบันบ้านหลังปัจจุบันของผมก็เพิ่มระบบ positive pressure นี้ไปด้วยในห้องกลางของบ้าน เป็นปั๊มต่อเข้ากับตัวกรอง ดูดอากาศดีเข้ามาแล้วดันฝุ่นออก มันทำหน้าที่เหมือน plug-in เพิ่มเติมจากระบบปรับอากาศ
ย้อนกลับมาที่คำถาม ผมว่าคนไทยลืมง่าย เพราะฉะนั้นพอผ่านช่วงนี้ไปเขาก็จะลืม เท้าความไปถึงธรรมชาติของชาวนาหรือเกษตรกรที่อยู่รอบนอก ที่ต้องทำการปรับหน้าดินก่อนช่วงเพาะปลูก เพราะฉะนั้นเขาจะต้องเผาตอหรือซังข้าวโพด แต่สมัยก่อนคนเผาไม่เยอะ ดังนั้นมันจึงมาเร็วไปเร็ว อาจจะส่งผลสักอาทิตย์หนึ่ง พอฝนตกก็จบ เป็นฤดูกาลตามวัฎจักรของชีวิต แต่พอมาตอนหลังปริมาณมันมากเกินไป เราไม่สามารถทำให้มันสลายไปได้ตามกาลเวลา อย่างที่หลายๆ ท่านได้กล่าวถึงการแก้ปัญหาระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาวก็ยังไม่สามารถช่วยได้ ถ้าหน้าหนาวก็เปิดหน้าต่างให้ลมมันผ่าน แต่เมื่อถึงฤดูหมอกควัน เพื่อป้องกันชีวิตของคนที่อยู่ในอาคารก็ต้องมีระบบที่ช่วยกรองอากาศให้ผู้ใช้อาคารอยู่รอดได้ มันเป็นหน้าที่ของสถาปนิกที่เราต้องพูดกับลูกค้าว่า คุณควรติดตั้ง positive pressure นะ สถาปนิกต้องมองเห็นอนาคตและคิดถึงสภาพของคนที่อยู่ในอาคาร เหล่านี้บรรจุอยู่ในหลักสูตรให้นักศึกษาได้เรียนด้วย
จากหัวข้อ Living Together หรือการอยู่ร่วมกัน แต่ละท่านคิดว่าปัจจุบันเราอยู่ร่วมกันอย่างไร แบบใดบ้าง และท่ามกลางสภาพสังคมในอนาคตวิธีที่เราอยู่ร่วมกันจะเป็นอย่างไร
เดชา: อยากลองชวนคิดว่าการอยู่อาศัยในอนาคตจะทำให้โอกาสที่คนมาเจอกันได้ยิ่งน้อยลง เพราะว่าเราจัดการทุกอย่างได้ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ความท้าทายของการออกแบบก็คือจะทำอย่างไรให้ความเป็นอยู่ของคนไม่หดหู่ รู้สึกดีที่จะอยู่บ้าน เพราะเขาไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกจากบ้าน หรือสภาพแวดล้อมที่สร้างหรือเอื้อให้เกิดการเชื่อมต่อกันระหว่างคนที่ไม่รู้จักกัน ให้ได้ช่วยเหลือกันหรือเปิดโอกาสให้เกิดบทสนทนาโดยใช้วิธีบางอย่างของนักออกแบบในอนาคต
รัฐพงษ์: ปัจจุบันนี้ social media ทำให้ชีวิตเราสะดวกขึ้น แต่จะทำให้เราขาดประสบการณ์ ประสบการณ์จะกลายเป็นข้อได้เปรียบ เพราะว่าทุกอย่างเราเห็นผ่านหน้าจอ โลกอยู่ใกล้เราก็จริงแต่มันไม่มอบประสบการณ์ ย้อนกลับมาที่ว่าแล้วอนาคตเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ผมว่าในครอบครัวเราจะโฟกัสที่ community มากขึ้น ถึงแม้เทคโนโลยีจะทันสมัยก็ตาม แต่คนเราจะเริ่มย้อนกลับมาหาประสบการณ์ที่มีคุณภาพมากขึ้น ใส่ใจการมีประสบการณ์ร่วมกันมากขึ้น การพูดคุยแบบ face to face ธุรกิจต่างๆ ที่ตอนนี้เป็นออนไลน์หมด สุดท้ายก็จะกลับมาเป็นออฟไลน์ ยิ่งเราอยู่ไกลแค่ไหนเราก็ยิ่งโหยหาสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามากเท่านั้น
พัชรดา: เวลามีใครชวนคุยเรื่องอนาคตอันใกล้จะเป็นอย่างไร หรือสังคมจะขับเคลื่อนไปในทิศทางใด หรือคนเราจะใช้ชีวิตอย่างไรในอีก 10 ปีข้างหน้า ตัวเองก็ยังสงสัยและไม่มีวิธีตอบที่ชัดเจนว่ามันควรจะเป็นอย่างไร ในระหว่างที่เราใช้ชีวิตและทำงานไปด้วยนี้เป็นช่วงเวลาของการค้นหาไปด้วยว่า ภาษาที่ควรจะเกิดขึ้นในการออกแบบในอีก 10 – 20 ปีข้างหน้าคืออะไร เราก็ยังอยู่ในการบวนการตั้งคำถามและหาคำตอบอยู่เสมอ ไม่ได้มีคำตอบสำหรับอนาคตที่ชัดเจนขนาดนั้น แค่อยู่ให้รอดในสภาวะสังคมแบบนี้ก็ยากมากแล้ว มีหลายมิติที่เข้ามากำกับการใช้ชีวิตของคนมากขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น
จากการที่คนเราโหยหาประสบการณ์จริงเหมือนอย่างที่เห็นใน social media สิ่งนี้มีผลกระทบต่อการออกแบบหรือไม่
พัชรดา: มีบทความเกี่ยวกับเรื่อง Instagramable ว่าด้วย Instagram ทำลายโลกของการออกแบบซึ่งน่าสนใจมาก ผู้เขียนบทความทำงานด้านการจัดนิทรรศการ ซึ่งตัวงานมักอยู่เพียงไม่กี่สัปดาห์ และการได้รับโจทย์จากลูกค้าให้เน้นเรื่องความสวยงามเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นในวงการสถาปัตยกรรม ที่อาคารหนึ่งมีอายุการใช้งานสิบปี จะส่งผลอย่างไร ซึ่งก็มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ส่วนตัวก็กลับมานั่งคิดถึงบรีฟของลูกค้า ที่บอกว่าอยากได้งานสวยๆ มีคนจำได้ และเราต้องศึกษาหนักมากว่าโปรแกรมที่แท้จริงในงานสถาปัตยกรรมคืออะไรกันแน่ เป็นโจทย์ที่ตีคู่กันมากับการออกแบบ และประเด็นเหล่านี้มักมาพร้อมกับปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์ กลายเป็นความยากของนักออกแบบในอนาคต
เดชา: สิ่งที่ผมสัมผัสได้คือลูกค้ามักจะมองหานักออกแบบที่ทำงานได้หลายอย่างมากขึ้น สมัยก่อนจะแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน อย่างเอเจนซี่ สถาปัตยกรรม ออกแบบภายใน เฟอร์นิเจอร์ โปรดักท์ กราฟิก หรือเว็บไซต์ แต่เดี๋ยวนี้มีแนวโน้มที่จะติดต่อแบบ multi-disciplinary design studio เพื่อทำอะไรหลายอย่างในโปรเจ็คต์เดียว งานจะยากและท้าทายมากขึ้น ต้องมีความรอบรู้ในเชิงธุรกิจ สภาพแวดล้อม สังคม และปัจจัยต่างๆ
เทคโนโลยี 5G กำลังจะเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก 5G หรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ใช้ระบบสั่งการด้วยเสียงอย่าง Alexa เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นเรื่องที่สถาปนิกและนักออกแบบควรจะต้องรู้ไว้หรือไม่ และจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของเราอย่างไร
พัชรดา: ของพวกนี้เป็นสิ่งใหม่ที่จะเข้ามาอยู่ในบ้านเพื่อความสะดวกสบาย โดยเฉพาะคนที่ชื่นชอบ gadget แต่ไม่ได้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับชีวิตมากนัก ระบบพวกนี้ก็น่าจะมีอยู่ในบางบ้าน แต่คิดว่าคนไทยไม่ได้นิยมระบบเหล่านี้เท่าไหร่
เดชา: อยากให้มองในมุมที่เทคโนโลยีเหล่านี้จะเข้ามาอำนวยความสะดวก ช่วยเชื่อมต่อโลกภายนอก การจัดการชีวิต ความปลอดภัยมากกว่าที่จะเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ว่าอย่างไรที่อยู่อาศัยก็ต้องการความเป็นมนุษย์ ความไม่สมบูรณ์แบบ และคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในนั้นจริงๆ ในฐานะนักออกแบบ เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ได้สร้างผลกระทบมากนัก ที่สำคัญก็คือจะใส่ระบบเหล่านี้เข้าไปในบ้านอย่างไร โดยที่คนก็ยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ
ในอนาคต แนวโน้มคนจะมีบ้านเป็นหลังๆ หรืออาศัยในคอนโดมิเนียมมากกว่ากัน
พัชรดา: ตอนไปเรียนที่ลาดกระบัง ขนาดอยู่นอกเมืองแล้วก็ยังแปลกใจว่าทำไมคนเราสามารถอยู่บนถนนได้มากกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน ต้นทุนทางเวลาของคนเชียงใหม่ถูกกว่าคนกรุงเทพฯ เพราะเราไม่ต้องเสียเวลาขนาดนั้น คนเชียงใหม่จึงน่าจะอยู่เป็นบ้านเดี่ยวกัน อาคารอย่างคอนโดมิเนียมหรือ mixed-use น่าจะยังไม่เป็นที่สนใจเท่าไหร่นัก
เดชา: เท่าที่คุยกับหลายๆ คนก็รู้สึกว่า ถ้าปัญหาภายในกรุงเทพฯ ทั้งรถติด มลภาวะ ไม่ถูกจัดการให้ดีขึ้น สุดท้ายแล้วกรุงเทพฯ ก็จะเป็นแค่เมืองที่ใช้ชีวิตอยู่แค่ระยะหนึ่งแล้วก็ย้ายออก อย่างผมเองถ้ารู้สึกว่าวันหนึ่งเราพร้อมและไม่มีเหตุจำเป็นให้ต้องอยู่ในกรุงเทพฯ ก็คงจะย้ายออกมา
และนี่คือ Movies on Design ครั้งพิเศษ ที่ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก แบรนด์ EDL ตลอดจนพันธมิตร ได้แก่ กรรมาธิการสถาปนิกล้านนา สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และที่ขาดไม่ได้คือนักศึกษาและผู้สนใจทุกคนที่ให้การตอบรับกับการมาเยือนเชียงใหม่ครั้งแรกของเราเป็นอย่างดี
Movies on Design ครั้งต่อไป จะเดินทางไปจัดที่ไหน และเราจะคัดเลือกภาพยนตร์เรื่องใดมาให้ชมกันบ้าง สามารถติดตามข่าวสารได้ทาง art4d.com หรือ Facebook: art4d