IN 1996, THE NEW WING OF THE PTT’S HEAD OFFICE HAS FINALLY BEEN COMPLETED. PLAN ARCHITECTS EXPLAIN HOW THEY MANAGED TO RETAIN THE SPIRIT OF THE UNION WHILE ADOPTING A MODERNIST APPROACH
ส่วนต่อเติมของอาคารสำนักงานใหญ่ ปตท. บนถนนวิภาวดี-รังสิต ที่สร้างแล้วเสร็จในปี 2539 จากผลงานการออกแบบโดย Plan Architect ได้แสดงให้เราเห็นถึงวิธีการรักษาความต่อเนื่องระหว่างกลุ่มอาคารเดิมที่เกิดมาในยุคสมัย Postmodernism กำลังเฟื่องฟูในเมืองไทย และส่วนต่อเติมใหม่ ภายใต้วิธีการออกแบบแบบ Modernism
(For English, please scroll down)
ปล่องสูงสีทองดั่งเปลวเพลิงของโรงกลั่นน้ำมันบนยอดสูงของอาคารสำนักงานใหญ่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือที่รู้จักกันดีในนาม ปตท. น้ำมันไทยเพื่อไทย อาจถือได้ว่าเป็นการประกาศความเป็นองค์กรและบทบาทในหน้าที่แห่งสหภาพของตนเองในตัวงานสถาปัตยกรรมอย่างชัดเจนอยู่สักหน่อย ความเหมาะสมกับตนเองบ้างในโอกาสต่างๆ คงไม่ใช่ประเด็นที่จะหยิบยกมากล่าว ณ ที่นี้แต่อย่างใด รูปแบบดังกล่าวที่นับว่าเป็นแนวทางของ Symbolic Postmodernism เป็นเพียงแนวทางหนึ่งในหลากรสชาติของสถาปัตยกรรมไทย ที่ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2526 เป็นต้นมา ซึ่งนับเป็นยุคทองของหมู่มวลสถาปนิกน้อยใหญ่ ที่ได้สบโอกาส “ผลิต” อาคารสูงกันคนละไม้คนละมืออย่างน่าเอ็นดู เพื่อให้ทันกับสถานการณ์การเร่งสร้างเมือง แบบ “NICS” หรืออุตสาหกรรมใหญ่อย่างพี่ไทยเรา
ตึก ปตท. นั้นนับได้ว่าเป็นอาคารสูงรุ่นบุกเบิกบนถนนวิภาวดี-รังสิตในยุคนั้น เกิดไล่เลี่ยมาพร้อมๆ กับตึกการบินไทยที่อยู่ถัดมา คือประมาณปี พ.ศ. 2531 ตึกทั้งสองนี้เรียกได้ว่าเป็นรุ่นบุกเบิกของภาวะการกระจายตัวออกจากโครงข่ายธุรกิจใจกลางเมืองหรือ CBD – Center Business District ขึ้นสู่ทางเหนือ กระทั่งวันนี้ 8 ปีผ่านไปจนถนนวิภาวดี-รังสิตเส้นเดียวกันได้กลับกลายเป็น CBD ไปแล้วเรียบร้อย ซึ่งก็ไม่น่าแปลกอะไรสำหรับเมืองอย่างกรุงเทพฯ ที่ตึกสูงๆ มักจะขึ้นค้ำหัวชาวบ้านตาดำๆ ถึงในพื้นที่ก่อนกฎหมายผังเมืองเสมอ จะว่าสายเกินไปหรือเปล่าไม่ทราบได้ หายเมาควันอีกทีก็มีตึกสูงพรวดพราดขึ้นมืดฟ้ามัวดินเต็มไปหมดแล้ว
องค์ประกอบเดิมถูกหยิบยืมนำมาใช้ในอาคารใหม่ ในรูปแบบที่ระมัดระวังกว่าเดิม
ตึก ปตท. เริ่มแรกมีความโดดเด่นตั้งแต่การวางผังบริเวณที่น่าสนใจและสมบูรณ์ในตัวเอง สำหรับกลุ่มอาคาร ขนาดใหญ่เช่นนี้ ส่วนฐานอาคารรูปโค้งครึ่งวงกลมที่โอบล้อมทางเข้าด้านหน้านั้น ดูยิ่งใหญ่สมฐานะสหภาพแห่งชาติ และทำให้ตัวอาคารสำนักงานสูงที่ติดอยู่ที่ปลายโค้งอีกด้านทำมุมเกือบ 45 องศากับถนนใหญ่ ได้มุมมองปะทะจากหลายด้าน ทั้งใกล้และไกล รูปร่างที่ดันรูปสามเหลี่ยมเป็นตัวสร้างแกนโค้งดังกล่าวที่เกิดขึ้นและจบลงในตัวเอง เหมือนกับอาคารเกือบจะทุกแห่งในกรุงเทพฯ ที่ผังบริเวณไม่จำเป็นต้องหมายถึงส่วนหนึ่งของผังเมืองเสมอไป มีบ้างบางครั้งที่สถาปนิกพยายามสรรหาแกนโครงข่ายของเมืองกรุงเทพฯ กะมาลากขึ้นเป็นฟอร์มเจ็บๆ ให้เปิดฝันกันบ้าง ก็ให้จนปัญญา เพราะเมืองเราไม่ได้มี grid อย่างใครเขา
อาคาร ปตท. เดิมเกิดมาในยุคสมัย Postmodernism กำลังเฟื่องฟูในเมืองไทย ถึงขีดสุดเมื่อประมาณ พ.ศ. 2530 โดยรับเอามาจากตะวันตกแบบดื้อๆ ไม่ได้เกิดจากการพัฒนาอิริยาบทมาแต่ไหน มาถึงปั๊บก็รุ่งแบบเด็กเส้น และก็มีรูปแบบแตกแขนงออกไปหลายแนว สับสนปนเปกันวุ่นวายยิ่งกว่าแบคทีเรียของสาวยาคูลท์ โดยเฉพาะงานพวกบ้านจัดสรรหรืออาคารสำนักงาน กลุ่มบริษัทแปลน (Plan Architect) ก็เป็นผู้หนึ่งที่ยึดแนว Postmodernism อยู่ค่อนข้างเหนียวแน่นในช่วงนั้น แปลนใช้ Postmodern แนวพหุนิยม อันเต็มไปด้วยความหลากหลายของสี วัสดุ และปริภูมิในงานขนาดเล็ก เช่น อาคาร โรงเรียนอนุบาลรักลูก สำนักงานแปลนทอยส์ หรือแม้แต่บ้านของแปลนเอง ที่สำนักงานบนถนนสาธร ในขณะที่อาคารขนาดใหญ่อย่างตึก ปตท. นั้นแสดงออกในแนวทาง Postmodernism แบบเน้นสัญลักษณ์ ด้วยการบอกเป็นนัยกึ่งภาพปล่องเปลวเพลิงสีทองของโรงกลั่นน้ำมันดังที่กล่าว (บางคนอาจไพล่ดูกลายเป็นซิปวีนัสไปได้) เพื่อนร่วมรุ่นเดียวกันที่ ชัดเจนก็เห็นจะเป็นตึกหุ่นยนต์หน้าตาปรือ หรือ Bank of Asia ของสถาปนิก SJA + 3D นั่นเอง
แรงดึงดูดของโค้งเก่าและโค้งใหม่
ดังนั้น เป็นที่น่าสนใจไม่น้อยว่า ส่วนต่อเติมของอาคารขนาดใหญ่ในยุค Symbolic Postmodernism กับเงื่อนไขเวลาปัจจุบัน จะมีคำตอบเป็นอย่างไร จะแสดงออกถึงความเป็นสหภาพได้ชัดเจนเหมือนเก่าหรือไม่ ดูเหมือนการจัดวางอาคารลงในบริเวณที่เหลือจะไม่ใช่ปัญหาหนักสำหรับแปลน เพราะเศษที่ดินรูปสามเหลี่ยม (อีกแล้ว) ที่เหลืออยู่ไม่ให้ทางเลือกมากนัก ที่น่าสนใจกลับอยู่ที่ภาษาของอาคารใหญ่จากรูปร่างภายนอก ได้เปลี่ยนกลับไปเป็น modernism อีก ครั้ง โดยไม่ได้สื่อความหมายอื่นใดสักนิด นอกจากยอมเป็นฉากกระจกโค้งยืนอยู่ด้านหลัง โดยต่อต้านการสื่่อสัญลักษณ์ (anti-metaphor) ใดๆ ทั้งปวง นัยว่าอาจไม่อยากโฉ่งฉ่างไปกว่าเดิม (ถ้าให้มากกว่านี้ มีหวังของใหม่ต้องพ่นไฟได้) และเป็นไปตามยุคสมัยที่สถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ เริ่มมีแนวโน้มที่จะสงบเสงี่ยมเรียบร้อย เพราะ street furniture และบริบทของเมืองกรุงเทพฯ นั้นยุ่งยากมากพออยู่แล้ว ง่ายๆ ให้ดูเสาไฟฟ้าตามถนนเป็นตัวอย่าง
space ที่น่าสนใจกลับตกมาอยู่ที่ช่องว่างแคบๆ ระหว่างอาคารเก่าและอาคารใหม่ ที่สร้างแรงดึงดูดกันขึ้นระหว่างโค้งเก่ากับใหม่ แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรนอกจากเป็นที่เดินผ่าน เนื่องจากผนังด้านหนึ่งของอาคารเก่าเป็นบริเวณห้องเครื่องไปเสีย ไม่อย่างนั้นถ้าได้ตั้งโต๊ะกาแฟสัก 2 – 3 ตัวคงได้บรรยากาศไม่น้อย
ส่วนต่อเติมที่กลับใจมาใช้องค์ประกอบในแนว Modernism
ตัวอาคาร ใหม่รูปสามเหลี่ยม ถูกคว้านออกเป็น atrium กลวงโล่งตลอดความสูง 7 ชั้น โดยมีแสงธรรมชาติส่องสว่างจากด้านบน เพิ่มผิวสัมผัสภายนอกให้กับเนื้อที่ทำงานซึ่งมีสัดส่วนขนาดใหญ่ กระนั้นก็ตามมีเนื้อที่บางส่วนที่ถูกตัดแบ่งออกเป็นชั้นขนาดใหญ่เกินไป ทำให้การจัดแบ่งห้องภายในยังดูสับสนอยู่บ้าง ทั้งนี้เนื่องจากความจำเป็นภายหลังที่ ยกเลิกการจัดเนื้อที่ภายในแบบ open plan office ที่สถาปนิกตั้งใจไว้แต่แรก
ราบเรียบแบบ modernism อยู่ได้ไม่นาน แปลนก็ปล่อยโครงเหล็กสัญลักษณ์ของสถานีสำรวจและขุดเจาะน้ำมันทั้งแท่ง เข้าไปใช้เป็นปล่องลิฟต์กลาง atrium เพื่อเรียกร้องความรู้สึกร่วมของสหภาพให้กลับมาอีกครั้งหนึ่งในภาษาที่ระมัดระวังกว่าเดิม โครงเหล็กถักห่อหุ้มลิฟต์แก้วเป็นส่วนสร้างความเคลื่อนไหวให้กับ space นอกเหนือไปจากคุณภาพของแสงที่เปลี่ยนแปลงตามเวลาตลอดวัน
รูปทรงยิมเนเซียมรูปไข่บนดาดฟ้า เกิดจากแกนที่ลงพบกันพอดีของเนื้อที่ชั้นบน ที่ว่างภายในถูกเน้นเป็นรูปร่างวงรีอย่างชัดเจนขึ้นด้วยแนว indirect lighting รอบของฝ้าเพดานองค์ ประกอบและสัดส่วนภายนอกอื่นๆ บางอย่างถูกหยิบยืมมาใช้จากอาคารเดิม แต่มีการเปลี่ยนแปลงเทคนิคการก่อสร้างให้สอดคล้องกับยุคสมัย เช่น รูปแบบของช่องหน้าต่างขนาดแคบยาวที่เกิดจากระบบ tube in tube เสาโดยรอบเส้นรอบรูปของตึกเดิมก็ถูกเปลี่ยน เป็นแผ่นระนาบ precast เจาะ ช่องเลียนลักษณะเดิมให้เห็นเป็นภาพลวงของ depth (ความลึก) ที่เกิดจากโครงสร้างเสาของอาคารในสมัยก่อน ซึ่งเป็นหลักการที่สถาปนิกอย่าง Kohn, Peterson & Fox (KPF) นิยมใช้ในงานของตนเช่นเดียวกัน
เป็นที่เห็นตรงกันว่าการสร้างนั้นไม่ใช่สิ่งง่าย แต่การสานต่อนั้นกลับยากและท้าทายยิ่งกว่า โดยเฉพาะการสานต่องาน สถาปัตยกรรม เนื่องด้วยมีมิติของเวลาและยุคสมัยเข้ามาเป็นเงื่อนสำคัญให้ต้องแก้ การเริ่มต้นด้วยภาษาและส่วน ประกอบที่เข้มข้น ชัดเจน อาจจะไม่ยากแต่ก็ไม่ง่ายนักที่จะพากันไปตลอดรอดฝั่ง
การเริ่มต้นที่ดี ก็ยังไม่ใช่สิ่งที่รับประกันการสานต่อที่สำเร็จเสมอไปอีกด้วย สถาปนิกส่วนใหญ่จึงมักจะชอบสร้างขึ้นใหม่มากกว่า บางทีก็เพื่อปิดบังความรับผิดชอบและตัดขั้นตอนการทำความเข้าใจในรากฐานเดิม สถาปัตยกรรมแบบใหม่ล่าสุดจึงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและจะเกิดขึ้นได้ง่ายยิ่งขึ้น ถ้าเป็นเมืองที่ขาดแนวทางและมีคนที่ขาดรากฐานความรู้ความเข้าใจในการเริ่มต้นวางแผนที่ดีแต่แรก
The new annex building of the Petroleum Authority of Thailand (PTT) has added an extra dimension to Bangkok’s sky-line. Most importantly, it is a Modernist response to the Post Modernist appeal of the existing PTT building.
This intriguing juxtaposition of styles was instigated by Plan Architects when they were asked to design an annex to accompany PTT’s Headquarter Building.
The task was not as simple as it might seem. The existing building displays a sculpture of a symbolic flame of gold on its roof and sports a grand mid-circle entrance foyer-two distinctive elements which combine to give the building a monumental feel. To create a new addition which would retain the grandiose spirit of the main building was no easy undertaking. Added to these difficulties were the design restrictions created by a triangular-shaped site.
In response to such potentially problematic conditions, the exterior language of the new building returns to the tradition of Modernism. Unlike the main building, which was erected during the height of Thai architecture’s Post Modern era in 1987, the annex stands simply-a rotunda glass background bearing no symbols.
Plan Architects were among many groups in the 80s who had converted to a Post Modernist style. This is especially true with the trend of pluralism, where multiple choices of colours and materials were utilized in small- scale buildings. Among examples of their Post Modernist profiles are Plan Toys Office and Plan Architects House on Sathorn Road.
The change of application evident in this new PTT building is the group’s return to simplicity. A simplicity which does not override or add too much complexity to the existing surroundings. It seems that such an anti- metaphor approach coincides with our contemporary times. Most big buildings are keeping a low profile, refraining from adding to the existing clutter of street furniture and busy landscape of the city.
It is generally agreed that creation is not an easy process, but expansion is even harder, especially in the challenging realm of architecture.
Originally published on art4d#13 (March, 1996)
Post Views: 1,164