‘FOUR PLAYS,’ PUBLISHED IN ART4D #114 BACK IN 2005, WHEN TADAO ANDO HAS RECENTLY COMPLETED A NEW CHICHU ART MUSEUM ON THE REMOTE NAOSHIMA ISLAND. WRITTEN BY CHAIYOSH ISAVORAPANT WHO PAYS A VISIT
‘Four Plays,’ บทความที่ตีพิมพ์ใน art4d ฉบับที่ 114 ในปี 2548 เมื่อ Chichu Art Museum พิพิธภัณฑ์ศิลปะบนเกาะ Naoshima ที่ออกแบบโดย Tadao Ando เปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการ บทความโดย ชัยยศ อิษฏ์วรพันธุ์
TEXT: CHAIYOSH ISAVORAPANT
PHOTO: MITSUO MATSUOKA
(For English, press here)
คำถามที่ว่าศิลปะคืออะไร เป็นคำถามที่ผู้เกี่ยวข้องพยายามตอบกันมาตลอดศตวรรษที่ 20 และยังคงต่อเนื่องมาในศตวรรษที่ 21 คำถามดังกล่าวมีตั้งแต่ว่า ศิลปะเป็นตัวแทนของยุคสมัยได้อย่างไร เกี่ยวพันกับสังคม เศรษฐกิจ ขนาดไหน เป็นการสร้างสรรค์ของศิลปินจริงๆ หรือเป็นแค่อาศัยการพึ่งพิงกับวาทกรรม เราจะก็อปปี้ศิลปะได้ไหม ไปจนถึงคำถามที่อาจจะสั่นคลอนวงการอย่างที่ว่า ศิลปะนั้นมีเนื้อหาหรือไม่ภายใต้สิ่งที่เป็นรูปทรง และที่ยิ่งกว่านั้นคือศิลปะจะสัมพันธ์กับคนอย่างไร ทั้งในแง่ของการศึกษาและการใช้ประโยชน์
คำถามดังกล่าวย่อมเกี่ยวพันโดยตรงกับการออกแบบพิพิธภัณฑ์อันเป็นสถานที่จัดแสดงศิลปะ ในฐานะที่เป็นสถาปนิกที่ออกแบบพิพิธภัณฑ์จำนวนมาก ทาดาโอะ อันโด (Tadao Ando) ทำอะไรกับพิพิธภัณฑ์จิจู (Chichu Art Museum) สถานที่จัดแสดงงานศิลปะที่เรียกได้ว่าค่อนข้างห่างไกลเมืองใหญ่
แต่ก่อนที่จะดูสถาปัตยกรรมต้องดูที่ตัวศิลปะก่อน ที่จิจูจัดแสดงงานของศิลปินเพียงสามคนเท่านั้นคืองานห้าชิ้นของโมเน่ต์ (Claude Monet) ชุดวอเตอร์ลิลลี่ (Water Lilies) งานของวอลเตอร์ เดอ มาเรีย (Walter De Maria) ศิลปินอเมริกันที่เป็นอินสตอลเลชั่นกึ่งประติมากรรม และงานของ เจมส์ เทอร์เรล (James Turrell) ซึ่งทำงานด้วยแสงประเภทต่างๆ ในแง่ของประเภทงาน โมเน่ต์เป็นตัวแทนของคลาสสิค ในขณะที่สองคนหลังเป็นศิลปินร่วมสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยที่งานของเจมส์ เทอร์เรล นั้น งานศิลปะแสงของเขามีลักษณะเป็นการแสดงด้วยมีการเล่นกับรอบเวลา ทั้งหมดนี้ต้องกล่าวว่าในแง่ของการจัดแสดงงานต้องนับว่าที่นี่จัดอย่างไม่เหมือนพิพิธภัณฑ์ทั่วไป (unconventional) นอกจากนี้ยังเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีเงื่อนไขในการเข้าชม เช่น การไม่ส่งเสียง ห้ามถ่ายภาพอย่างเด็ดขาด ห้ามสเก็ตช์ ไปจนต้องถอดรองเท้าเมื่อเข้าชมงานของเจมส์ เทอร์เรล และโมเน่ต์ ก็ต้องเรียกว่าสวนกระแสพิพิธภัณฑ์แนวป๊อปปูล่าร์อย่างสิ้นเชิง
อันที่จริงจิจูเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการศิลปะบนเกาะนี้ โครงการทั้งหมดสามเฟสล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่บนเกาะนาโอชิม่า (Naoshima) ซึ่งเป็นหนึ่งในหมู่เกาะขนาดเล็กกระจัดกระจายอยู่บนทะเลในเซโตะ (Seto) ค่อนไปทางใต้ของเกาะฮอนชู (Honshu) นับโดยระยะทางนาโอชิม่าอยู่ห่างจากเมืองใหญ่ระดับโกเบ (Kobe) ประมาณสามถึงสี่ชั่วโมงเดินทาง อันประกอบด้วยรถไฟด่วน รถไฟธรรมดา เรือ และตบท้ายด้วยรถยนต์ เฟสแรกของโครงการทั้งหมดเป็นพิพิธภัณฑ์ชื่อ Naoshima Contemporary Art Museum ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดกลางจัดแสดงงานของศิลปินหลายคนทั้งต่างประเทศและญี่ปุ่นกว่าห้าสิบคน เฟสที่สองเป็นตัวเพิ่มเติมของเฟสแรกโดยที่มีบ้านพักเป็นเกสท์เฮ้าส์อยู่ด้วย นอกจากนี้ยังมีโครงการที่เรียกว่า ‘โครงการบ้าน’ ซึ่งเป็นการนำศิลปะไปจัดแสดงในหมู่บ้านบนเกาะ ทั้งหมดนี้เริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ. 1988 จน 1995 โดยที่สองเฟสแรกประสบความสำเร็จอย่างมากจึงมีการขยายโครงการมายังเฟสสาม ซึ่งก็คือจิจู
สำหรับสถาปัตยกรรมลักษณะเด่นที่สุดของจิจูเห็นจะเป็นการที่อาคารทั้งหมดถูกฝังตัวลงไปใต้ดิน เมื่อเดินผ่านประตูทางเข้าเราจะพบกับอุโมงค์แคบยาวค่อนข้างมืดมีแสงสว่างอยู่ที่ปลายสุด อุโมงค์นี้ทำหน้าที่ปรับประสาทการรับรู้ทั้งมวลของเราให้เกิดสมาธิกับพื้นที่ทั้งหมด เมื่อเดินเข้าใกล้เราจึงพบว่าแสงที่ปลายทางนั้นมาจากช่องเปิดประตูที่ปลายอุโมงค์ประตูแต่ไม่ประจันหน้ากับเรา อันเป็นเหตุที่เราไม่เห็นแต่แรก เนื่องเพราะมันซ่อนตัวอยู่ในช่องผนังทางขวามือ ผ่านประตูเข้าไปเราพบพื้นที่ภายในปริมาตรสี่เหลี่ยมจัตุรัสลักษณะแบบคอร์ตกลางบันไดเกาะติดกับผนังทำมุมเฉียงพาเราจากชั้นล่างขึ้นสู่ชั้นสอง ซึ่งเป็นบริเวณส่วนต้อนรับและร้านขายหนังสือของที่ระลึกขนาดเล็ก จากตรงนี้เราต้องผ่านทางเดินยาวที่มีหักมุมอีกช่วงหนึ่ง จึงจะพบพื้นที่ปริมาตรสามเหลี่ยมด้านเท่าลักษณะคอร์ตกลางความสูงสามชั้น คอร์ตสามเหลี่ยมนี้ไม่มีบันไดวนโดยรอบแบบคอร์ตสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ผ่านมาแล้ว แต่เป็นบันไดชิดผนังด้านเดียวที่ทำหน้าที่เป็นประตูทางเข้าสู่พื้นที่จัดแสดงงานศิลปะทั้งหมด จากชั้นหนึ่งเราจะพบทางเข้าสู่งานของวอลเตอร์ เดอ มาเรีย ชั้นสองพบทางเข้าซึ่งแยกกันไปสู่งานของเจมส์ เทอร์เรล และโมเน่ต์ โดยที่ทั้งสองพื้นที่นี้ยังมีพื้นที่ขนาดเล็กที่ค่อนข้างมืดเป็นตัวเชื่อมต่อจากทางเดินทั้งหลายอีกทีหนึ่ง จากพื้นที่จัดแสดงทั้งสองนี้จึงเป็นทางเดินเล็กๆ เชื่อมไปยังคาเฟ่ทีเรียที่เป็นจุดชมวิวอันสวยงามของผืนทะเล
อาจกล่าวได้ว่าการบรรยายอาคารทั้งหมดที่ทำมานี้ไม่มีส่วนที่เป็นภายนอกสถาปัตยกรรมอยู่เลย พื้นที่ภายในทั้งหมดปิดล้อมแยกตัวเองออกจากสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติอยู่แล้ว ส่วนที่เกี่ยวข้องกับภายนอกจริงๆ อย่างคอร์ตกลางทั้งสอง อันโดก็ยังฝังปริมาตรทั้งหมดของพื้นที่ลงไปในส่วนลาดของภูเขา นอกจากนี้ต้องกล่าวด้วยว่าถ้าไม่นับคอร์ตกลางที่เปิดสู่ท้องฟ้าพื้นที่ส่วนใหญ่มีแสงสว่างน้อยกว่ามาตรฐานที่เราเคยชินไปจนถึงค่อนข้างมืด สิ่งหนึ่งที่เด่นชัดมากของจิจูก็คือลักษณะของพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่คอร์ตกลางทั้งสองที่เป็นตัวปรับการรับรู้ของเราทั้งหมดในทางประโยชน์ใช้สอย (ซึ่งขอกล่าวไว้ในที่นี้ว่าเบาบางมาก แต่ที่เราต้องพูดขึ้นมาก็เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดขึ้น) พื้นที่นี้จะเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ภายในและพื้นที่ภายนอก (ซึ่งในที่นี้ไม่มีตัวตน) และเตรียมตัวปรับการรับรู้ทั้งหมดของเราในทางประสบการณ์ซึ่งนั่นก็คือความหมายของเอ็นกาว่า (engawa) ของสถาปัตยกรรมประเพณีญี่ปุ่น
อันโดพูดบ่อยๆ เกี่ยวกับการที่เขาพยายามสร้างพื้นที่นี้ในงานของเขา เช่นที่ Museum of Modern Art Fortworth (ตีพิมพ์ใน art4d vol. 96) ที่เขาใช้เอ็นกาว่าเป็นตัวเชื่อมทางราบระหว่างน้ำภายนอกกับพื้นที่จัดแสดงงานภายใน อันเป็นความพยายามเชื่อมต่อลักษณะประเพณีให้มีการแสดงออกแบบร่วมสมัยที่ให้ผลน่าตื่นตาตื่นใจมาแล้ว แต่ที่นี่สิ่งที่อันโดทำก็คือการพัฒนาต่อองค์ประกอบสถาปัตยกรรมนี้ให้ทรงความหมายในตัวเองที่ลุ่มลึกขึ้นภายใต้การแยกออกมาอย่างเด่นชัด และใช้รูปทรงเรขาคณิตที่สมบูรณ์แบบในตัวเอง (ปกติเอ็นกาว่าจะต้องถูกรับรู้ในฐานะส่วนหนึ่งของพื้นที่ภายใน ในแง่ของการออกแบบก่อสร้างและจะต้องวางตัวยาวตลอดขนานกับแผนผังห้องด้านใดด้านหนึ่ง) เมื่อไม่รวมตัวกับพื้นที่ภายใน เท่ากับอันโดได้ปลดปล่อยองค์ประกอบนี้ให้พร้อมที่จะเปิดกว้างในเชิงความหมายต่อไปอีกโสตหนึ่งด้วยเอ็นกาว่าใต้ดิน
นั่นเป็นเหตุให้เราต้องรับรู้อาคารหลังนี้ผ่านทางสัมผัสที่มากกว่าสายตาเพียงอย่างเดียว การที่พื้นที่ตัดขาดจากกันเป็นส่วนๆ (ทางเดินตัดขาดจากคอร์ต คอร์ตตัดขาดจากทางเข้า พื้นที่ชมงานชั้นหนึ่งตัดขาดจากชั้นสอง ฯลฯ) โดยใช้ปริมาตรของเรขาคณิตที่ไม่มีภายนอก บีบให้เราต้องสร้างความทรงจำเกี่ยวกับพื้นที่จากประสบการณ์เท่านั้น เราต้อง “จำ” พื้นที่เป็นส่วนๆ เพื่อมาประกอบสร้างขึ้นใหม่ภายใต้การรับรู้ของเราเองเพื่อสร้างประสบการณ์รวมขึ้นมา อันเป็นวิธีการเดียวกันกับที่เราใช้เมื่อ “ดูศิลปะ” นั่นเอง
การสร้างประสบการณ์ที่เราต้องหลอมรวมการรับรู้พื้นที่ที่ถูกตัดขาดเป็นส่วนๆ เข้าด้วยกัน ส่งผลให้ความพยายามเข้าถึงงานศิลปะชิ้นต่างๆ ของเราโดยใช้เส้นทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดจะค่อยๆ หายไป และกลายเป็นความรู้สึกที่อยากจะค่อยๆ ละเลียดกับความเต็มอิ่มของพื้นที่ขึ้นมาแทน
เมื่อกล่าวเช่นนี้ ก็อดที่จะทำให้เราต้องย้อนกลับไปพิจารณาถึงการทำงานและความหมายขององค์ประกอบพื้นฐานของสถาปัตยกรรมประเภทพิพิธภัณฑ์ไม่ได้ แม้ปัจจุบันเราจะมีตัวอย่างของงานประเภทที่สถาปัตยกรรมโดดเด่นมากจนกลบตัวงานศิลปะ (อย่างน้อยก็ในการรับรู้ของคนทั่วๆไป) อย่างเช่น Guggenheim ที่บิลเบา และตัวอย่างที่สุดขั้วไปอีกทางหนึ่งคือความพยายามทำให้สถาปัตยกรรมหายตัวไป (disappear) อย่าง MoMA หลังใหม่ที่ออกแบบโดย โยชิโอะ ทานิกุจิ (Yoshio Taniguchi) แต่อย่างน้อยที่สุดพื้นที่ของอาคารประเภทนี้เท่าที่เราเคยชินก็คือต้องจัดแสดงศิลปะ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการขีดเส้นแบ่งเขตแดนทางความหมายระหว่างพื้นที่กับอาคาร สิ่งที่อันโดทำที่จิจูเป็นการสลายเส้นแบ่งนี้แล้วทำให้ตัวอาคารเป็นส่วนหนึ่งของงานที่แสดงอยู่ไปเสียเลย หรือพูดง่ายๆ ว่าเมื่อเราไปจิจู เราจะไปชมงานศิลปะของศิลปินสี่คน คือโมเน่ต์, เดอ มาเรีย, เทอร์เรล และอันโด (ความจริงต้องสลับลำดับเป็นอันโดเป็นอันดับแรกในแง่การเข้าชม) ซึ่งประเด็นนี้เมื่อกล่าวในแง่ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมต้องบอกว่าอันโดพาเราย้อนกลับไปสู่คอนเซ็ปต์ของอาคารยุคเริ่มแรก เมื่อศิลปะประเภทต่างๆ กับตัวอาคารไม่ได้แยกความหมายออกจากกันต่างล้วนเป็นส่วนหนึ่งของระบบความคิดที่มองไม่เห็น (ที่ภาษาปัจจุบันเราเรียกว่าแนวความคิดในการออกแบบ) ที่ก่อรูปขึ้นเป็นรูปธรรมที่จับต้องรู้สึกได้
ซึ่งตอกย้ำประเด็นนี้ด้วยการที่จิจูไม่มีทิศทางที่แน่นอนในแง่การรับรู้พื้นที่ ทั้งในแง่บน ล่าง เหนือ ใต้ หน้า หลัง ฯลฯ นอกเหนือจากทางเข้า ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวที่เราพอจะรู้ว่า จะทำอย่างไรพื้นที่ทั้งหมดเปิดกว้างในแง่การรับรู้ เราจะเดินทางไหน ชมงานของใคร ตามลำดับไหน ล้วนเป็นเรื่องของเราทั้งสิ้น และเป็นส่วนหนึ่งของความสามารถของสถาปนิก (นอกเหนือจากการจัดโปรแกรม) ในการใช้รูปทรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอร์ตสามเหลี่ยมและสี่เหลี่ยมจัตุรัส ปกติอันโดจะใช้พื้นที่วงกลมหรือวงรีเมื่อจะออกแบบพื้นที่นี้ ตัวอย่างก็เช่นที่เฟสแรกของนาโอชิม่า แต่วงกลมนั้นเป็นรูปทรงจะมีทิศทางไหลเวียนบังคับรูปทรงสามเหลี่ยมด้านเท่า และสี่เหลี่ยมจัตุรัสจะมีแรงกระทำเท่ากันจากทุกทิศทางแต่ไม่หมุนวน ดังนั้นจึงต้องนับว่าไร้ทิศทางในตัวเอง
เมื่อเทียบกับเฟสแรกที่ครึ่งหนึ่งของอาคารถูกฝังลงใต้ดินและแสดงงานของศิลปินจำนวนมาก อันเป็นคอนเซ็ปต์พื้นฐานของพิพิธภัณฑ์ที่ทำกันมาโดยทั่วไป ที่นี่อาคารทั้งหมดอยู่ใต้ดินและจัดแสดงงานของศิลปินจำนวนน้อย การรับรู้จึงเน้นที่สมาธิและการทำให้อาคารกลายเป็นผลงานศิลปะในตัวเองเป็นหลัก
นอกจากนี้การที่จิจูไม่มีพื้นที่ภายนอกเพราะอาคารทั้งหมดฝังอยู่ใต้ดิน ส่วนของอาคารที่เปิดสู่ธรรมชาติจึงเป็นการเปิดจากภายในสู่ธรรมชาติเลย โดยเปรียบเทียบกับโมเดิร์นนิสซึมที่พยายามจะเล่นกับความสัมพันธ์ระหว่างภายในและภายนอก (โดยใช้ธรรมชาติในฐานะปัจจัยเอื้ออำนวยบางอย่าง เช่น แสง) อยู่ห่างๆ ที่จิจูจะตัดพื้นที่ภายนอกออกไปเสียแล้วทำให้พื้นที่ภายในสัมพันธ์กับธรรมชาติโดยตรง ซึ่งเมื่อพิจารณาในแง่ความหมาย พื้นฐานของอาคารประเภทนี้ที่นอกจากเน้นจัดแสดงแล้ว ยังต้องเน้นการป้องกันงานศิลปะภายในจากธรรมชาติอีกด้วย จิจูจึงกลับตรรกะของธรรมชาติจากสิ่งที่ต้องป้องกันกลายมาเป็นผู้ทำหน้าที่ป้องกัน รวมทั้งยังทำหน้าที่ผู้ให้เวลากับพื้นที่ไปพร้อมๆ กัน
พิพิธภัณฑ์ที่จิจูจะเป็นหลักไมล์สำคัญในการออกแบบอาคารประเภทนี้ อยากจะขอทำนายอนาคตด้วยการยืมคำกล่าวของนักประวัติศาสตร์อย่างอาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เคยเอ่ยถึงหนังสือเล่มหนึ่งมาใช้ว่า ต่อไปนี้ในแง่ของคอนเซ็ปต์การออกแบบพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัย ต้องกล่าวว่าพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ออกแบบก่อนหรือหลังจิจู
กลับมาที่คำถามว่าศิลปะคืออะไร จิจูบอกกับเราว่ายังไงก็ตามศิลปะเป็นเรื่องของการทดลองนำเสนอวิสัยทัศน์ของมนุษย์ในด้านใดด้านหนึ่ง และโดยเหตุที่เป็นการทดลอง คุณค่าจึงอยู่ที่การที่มันสามารถเปิดมุมมองให้คนอื่นๆ นำไปคิดต่อ การที่ความตั้งใจหลักขององค์กรพิพิธภัณฑ์จิจูคือการขบคิดใหม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ การขบคิดใหม่ในที่นี้จึงเป็นการขบคิดผ่านศิลปะและยืนยันกับเราผ่านการก่อรูปพื้นที่ว่า ศิลปะสามารถแสดงออกได้ตั้งแต่พื้นฐานความเป็นสถาปัตยกรรมพิพิธภัณฑ์เลย
Originally published in art4d #114, April 2005