GOLDEN PIN CONCEPT DESIGN AWARD 2019

ANNOUNCING THE FINAL RESULT THIS DECEMBER, THE 7 DESIGN CONCEPTS FROM THE 45 DESIGN MARK WINNERS ARE NOW SHORTLISTED AS THE FINALISTS TO WIN ‘BEST DESIGN’ OF THIS YEAR’S GOLDEN PIN CONCEPT DESIGN AWARD

TEXT: PAPHOP KERDSUP
PHOTO COURTESY OF THE DESIGNERS

(For English, press here)

หลังจากที่ประกาศรายชื่อผลงานที่ผ่านเข้ารอบได้เป็น Design Mark Winners ทั้ง 45 ผลงาน ของรางวัล Golden Pin Concept Design Award 2019 ไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในที่สุดผลงานออกแบบเชิงแนวความคิด โดยนักออกแบบที่พูดภาษาจีนเป็นหลัก (Huaren) ก็ถูกคัดเหลือเพียง 7 ผลงานแล้ว โดยผลงานออกแบบซึ่งประกอบไปด้วยสาขา Product Design 1 ผลงาน สาขา Communication Design 5 ผลงาน และสาขา Integration Design 1 ผลงาน ที่สามารถผ่านเข้ารอบสุดท้ายมาได้นั้น จะได้ไปร่วมลุ้นรางวัล Best Design กันต่อ พร้อมๆ กับผลงานออกแบบ (ที่ถูกสร้าง/ผลิตขึ้นจริง) อีก 64 ชิ้น ในรายการ Golden Pin Design Award 2019 ในงานประกาศผลรางวัลซึ่งจะจัดขึ้นวันที่ 5 ธันวาคม ที่จะถึงนี้

เป็นเรื่องน่าคิดเหมือนกันที่รายชื่อผู้เข้ารอบสุดท้ายของ Golden Pin Concept Design Award ในปีนี้ มีเพียงผลงานออกแบบในสาขา Product Design, Communication Design และ Integration Design เท่านั้น ขาดแต่เพียงผลงานในสาขาที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมและการออกแบบพื้นที่อย่าง Spatial Design ไป เป็นไปได้ว่าเพราะความสนใจในปีนี้ของการตัดสินผลงานนั้นมุ่งพิจารณาไปยังผลงานออกแบบที่สามารถสะท้อนถึงเรื่องความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมได้เป็นหลัก การสื่อสารถึงประเด็นข้างต้นผ่านผลงานที่มีลักษณะจับต้องได้อย่างงานออกแบบผลิตภัณฑ์และงานออกแบบนิเทศศิลป์นั้นย่อมจะชัดเจนและเข้าถึงได้ง่ายกว่าผลงานแนว speculative design ในสาขา Spatial Design อย่างปฏิเสธไม่ได้

ในบรรดาคอมเมนต์ของคณะกรรมการตัดสินที่มีตั้งแต่นักออกแบบผู้ก่อตั้ง bod design corp. อย่าง David Wang จนถึง Wei-Hsiung Chan ผู้ก่อตั้งนิตยสาร Business Next Magazine นั้น มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือผลงานโดยส่วนใหญ่ที่ถูกคัดเลือกนั้นพุ่งความสนใจไปที่ “การค้นพบตัวเอง” (self-discovery) ซึ่งประเด็นที่ว่านี้สามารถจะถูกขยายหรือถูกขุดลึกลงไปสู่ประเด็นที่ใหญ่กว่าอย่างปัญหาทางสังคมได้ น่าสนใจเหมือนกันที่ผลงานอนิเมชั่นทั้ง 3 ชิ้น ที่ผ่านเข้ารอบมาในสาขา Communication Design ในปีนี้ ต่างก็เป็นผลงานของนักออกแบบชาวจีนแผ่นดินใหญ่ด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งแต่ละผลงานไม่เพียงนำเสนอผลงานออกมาด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่น่าสนใจเท่านั้น แต่ยังหยิบยกประเด็นทางสังคมทั้งความรุนแรงในครอบครัว หรือแม้แต่ความรู้สึกแปลกแยกจากบริบทเมือง มาบอกเล่าผ่านภาพเคลื่อนไหวได้อย่างแยบยล

นอกจากผลงานที่ถูกส่งเข้ามาโดยนักออกแบบผู้ใช้ภาษาจีนเป็นหลักในภูมิภาคเอเชียแล้ว (ซึ่งแน่นอนว่าโดยส่วนใหญ่แล้วคือประเทศจีนและประเทศไต้หวัน) ผลงานที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายของ Golden Pin Concept Design Award 2019 ในสาขา Integration Design มาเพียงหนึ่งเดียวในปีนี้ กลับเป็นผลงานของนักออกแบบ—ที่น่าจะพูดภาษาจีนได้คล่องปรื๋อ—จากประเทศเยอรมนี! หากอยากรู้ว่าผลงานแขนกลในชื่อ Unfolding Space ของ Jakob Kilian นั้นทำงานอย่างไร หรือผลงานออกแบบอีก 6 ชิ้นที่เข้ารอบนั้นคืออะไรบ้าง สามารถอ่านรายละเอียดของแต่ผลงานได้ดังนี้…

THE 7 FINALISTS OF BEST OF GOLDEN PIN CONCEPT DESIGN AWARD 2019

SOUND LAB / Product Design
Po-Han Wu and Min-Shuo Hsu (Taiwan)

ด้วยความเชื่อว่ามาตรฐานทางการศึกษาที่เป็นอยู่คือสิ่งที่บดบังและปิดกั้นจิตนาการของเด็กๆ ผู้ออกแบบจึงสร้างสรรค์เวิร์คช็อปทางดนตรีแบบ DIY ที่ประกอบไปด้วยสิ่งที่หาได้ภายในบ้านอย่างอย่างท่อ วาล์ว และชิ้นส่วนที่ผลิตขึ้นจากเทคโนโลยีการพิมพ์แบบสามมิติ ซึ่งกระตุ้นจินตนาการของเด็กและช่วยให้พวกเขาสร้างเครื่องดนตรีที่สร้างเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ด้วยตนเอง ผลงานนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเด็กๆไ ม่ต้องการหนังสือตำราหนาๆ เพื่อเรียนรู้ที่จะมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เสมอไป

Weapon Font / Communication Design
Tin-Han Lin (Taiwan)

การออกแบบฟอนท์ภาษาจีนกลางนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากรูปทรงของดาบในสมัย “จ้านกว๋อ” (战国–Zhànguó) หรือ ยุครณรัฐ หนึ่งในยุคโบราณของจีน (475-221 ก่อนคริสตกาล) และช่วงฤดูใบไม้ผลิและใบไม้ร่วงก่อนหน้า (771-476 ก่อนคริสตกาล) ตัวฟอนท์ถูกออกแบบให้มีโครงสร้างเรียบนิ่งมั่นคงและขอบที่แหลมคม อันเป็นลักษณะที่ทำให้มันเป็นตัวเลือกที่เหมาะกับการใช้งานในแพลทฟอร์มอย่างเกม ภาพยนตร์ และสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับสงครามในยุคโบราณกาล

Chuan Dao Tourism Sightseeing Ticket Design / Communication Design
Jui-Hung Weng, Ya-Ling Wang, You-Ning Hou, and Fang-Yu Cao (Taiwan)

ภาพประกอบที่อัดแน่นไปด้วยรายละเอียดบนตั๋วเหล่านี้ บอกเล่าถึงจิตวิญญาณที่ฝังอยู่ในแลนด์มาร์คแต่ละแห่งของประเทศไต้หวันที่สามารถเดินทางไปถึงได้ด้วยรถไฟ ผู้ออกแบบให้ความสำคัญกับการใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ ภูเขา และนกหลากสายพันธุ์ เพื่อสื่อสารภาพของความงามทางธรรมชาติของแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ

«swaddle» / Communication Design
Yu-Jiao Hu, Fei-Fei Li, and Xiao-Han Shen (China)

หนังสั้นเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวของเด็กสาวผู้ใช้แรงงานและเติบโตในสังคมจีนสมัยใหม่ ที่บังคับให้เธอต้องทอดทิ้งความฝันของการเป็นนักเขียน ตัวละครและภาพหลังอันสวยงามนั้นถูกวาดขึ้นด้วยมือทั้งหมด เน้นย้ำถึงอารมณ์และความรู้สึกร่วมของเรื่องเล่าที่กระตุ้นความคิดของผู้ชมได้อย่างมีพลัง

Deadline / Communication Design
Yi-Meng Li (China)

“การใช้ชีวิตในปัจจุบันนั้นเต็มไปด้วยความกดดันและสิ่งล่อใจ ทำให้ผู้คนต้องถูกกักขังไว้ในพื้นที่อันคับแคบ พร้อมความรู้สึกของการอยากวิ่งหนีเพียงเพื่อจะได้มีชีวิตอยู่รอดต่อไป พวกเขาค่อยๆ กลายเป็นร่างกายที่เปลือยเปล่า และสูญเสียตนเองไปทีละนิด นี่คือการเรียกร้องให้ผู้คนข้ามผ่านสิ่งที่พวกเขาเป็น กลับไปสู่ธรรมชาติ และไล่ล่าหาสิ่งที่ใจพวกเขาปรารถนาอย่างแท้จริง” Deadline คือชื่อภาพยนตร์สั้นที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเพลง ‘The Call’ ของวงดนตรีอินดี้สัญชาติเบลเยี่ยมชื่อ Dan San

primary / Communication Design
En-Tin Chen and Ya-Qiong Li (China)

ด้วยฉากหลังที่เต็มไปด้วยหุ่นจำลองหน้าตาประหลาดๆ และสิ่งของประกอบฉากขนาดจิ๋ว ภาพยนตร์ stop motion เรื่องนี้แสดงภาพชีวิตของไก่หน้าตาพิกลตัวหนึ่งที่ตัดจงอยปากและถอนขนตัวเองออกเพื่อปลอมตัวเป็นมนุษย์เพศหญิงและใช้ชีวิตอยู่ในสังคมของมนุษย์ เมื่อเวลาผ่านไป เจ้าไก่ได้ทำความรู้จักกับไก่กำมะลออีกตัวหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้การปลอมตัวเหมือนกับตน ก่อนที่ทั้งสองจะตระหนักได้ว่าเมื่ออยู่ด้วยกัน พวกมันสามารถจะเป็นใครก็ได้ที่อยากเป็น ด้วยเรื่องราวอันแสนอบอุ่นและตอนจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง primary สอนให้เราพอใจและมีความสุขกับสิ่งที่เราเป็น แทนที่จะใช้ชีวิตอยู่กับความอับอายและเปลี่ยวเหงา

Unfolding Space / Integration Design
Jakob Kilian (Germany)

Unfolding Space คือผลงานออกแบบที่ช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาในเรื่องของการมองเห็น สามารถสำรวจและมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมได้ในมิติที่หลากหลายขึ้น และช่วยให้พวกเขาปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยได้ดีกว่าเดิม เซ็นเซอร์ 3D Depth ที่แขนกลจะทำการอ่านและสร้างลวดลายของการสั่นไหวลงบนมือผู้ใช้ ตำแหน่งของการสั่นจะช่วยบอกตำแหน่งของวัตถุจริงในพื้นที่ และระดับของการสั่นจะเป็นตัวบอกระยะห่างระหว่างผู้ใช้กับตัววัตถุดังกล่าว

goldenpin.org.tw

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *