PEARL ON CLOUD

PTT GAS STATION IN CHIANG MAI,  A RENOVATED PROJECT BY SHER MAKER WHICH GOT THE IDEA FROM THE COMBINATION OF KNOWLEDGE, EXPERIMENTATION, AND SKILLS OF LOCAL CERAMIC MANUFACTURERS

TEXT: JANJITRA HORWONGSAKUL
PHOTO: RUNGKIT CHAROENWAT

เวลาขับรถทางไกล “ปั๊มน้ำมัน” เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่นักเดินทางหลายคนเลือกเป็นจุดแวะพัก เพราะนอกจากการเติมน้ำมันแล้ว ยังสามารถพักเติมพลังกายแวะหาน้ำและขนมขบเคี้ยว ในร้านสะดวกซื้อที่ตั้งอยู่ภายในปั๊มได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งนอกเหนือจากการสังเกตแถบสีต่างๆ บนอาคารที่บ่งบอกถึงแบรนด์ของปั๊มแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากเราไม่เคยสังเกตลักษณะอาคารที่เกิดขึ้นภายในปั๊ม เพราะส่วนใหญ่ลักษณะของอาคารประเภทนี้ก็มีความคล้ายคลึงกันหมด แต่กับปั๊ม ปตท. บนถนนสารภี จังหวัดเชียงใหม่แห่งนี้แตกต่างออกไป เพราะ façade สีมุกอันสวยงามที่ห่อหุ้มอยู่บนอาคารร้านสะดวกซื้อนั้นดึงดูดความสนใจจนไม่อาจละสายตาได้ และเกิดคำถามในใจที่ว่า เหตุใดจึงต้องสร้างอัตลักษณ์ให้กับอาคารเหล่านี้ด้วย ทั้งๆ ที่ปกติก็มีผู้เข้ามาใช้งานมากมายอยู่แล้ว

“ปตท. ไม่ได้มองว่าปั๊มเป็นแค่ปั๊มแต่มองเป็นจุดหมายปลายทางแห่งหนึ่งของนักเดินทาง เขาจะไม่ปรับปรุงก็ได้ แต่เขาเลือกที่จะทำเพื่อให้อะไรกับสังคม” คือส่วนหนึ่งของบทสนทนาที่ พัชรดา อินแปลง สถาปนิกจาก Sher Maker เล่าให้ art4d ฟังถึงจุดเริ่มต้นที่ได้มาออกแบบรีโนเวทปั๊มแห่งนี้ ก่อนจะเล่าถึงแนวคิดการออกแบบรูปทรงโค้งเว้าของ ‘กระเบื้องเซรามิกเคลือบสีมุก’ ทั้งหมด 3,500 ชิ้น ว่าเป็นฝีมือช่างท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ ที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานระหว่างความรู้ การทดลอง และทักษะของผู้ผลิตเซรามิกในเชียงใหม่ที่มาทำงานร่วมกันถึง 3 สตูดิโอ ได้แก่ Chatchaiwat Pottery Studio แม่ริมเซรามิก และ Sarapee Ceramics arts and designs


Courtesy of Sher Maker

สถาปนิกเลือกสีมุกเป็นพระเอกหลักในการเคลือบกระเบื้องเซรามิกทั้งหมดของ façade นี้ เนื่องจากพื้นฐานของสีมุกเป็นสีขาวนวล เมื่อสะท้อนจังหวะแสงจากธรรมชาติ วัสดุนี้จะเชื่อมโยงกับสีของท้องฟ้าและเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามช่วงเวลาเวลาภายในหนึ่งวัน เสมือนให้สภาพแวดล้อมเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบ นอกจากนั้นรูปทรงที่มีความโค้งเว้าของกระเบื้องแต่ละแผ่น ยังช่วยทำให้เอฟเฟ็กต์แสงที่สะท้อนออกมามีความนิ่มนวลมากขึ้น ซึ่งด้วยตำแหน่งของ façade ที่อยู่สูงประมาณตึก 3 ชั้น จึงแทบไม่ส่งผลกระทบต่อการมองเห็นของคนขับรถบนท้องถนนและในปั๊มน้ำมันแม้แต่น้อย


“อัตลักษณ์ของปั๊มจริงๆ คนผ่าน คนเห็น คนจำ แต่คนจะจดจำได้ด้วยการใช้งานหรือเปล่า? เป็นสิ่งที่เราต้องคิดต่อ” พัชรดากล่าวถึงบทสรุปของโปรเจ็คต์รีโนเวทพื้นที่สาธารณะอย่างปั๊มน้ำมัน การสร้างอัตลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมอาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้น อันนำไปสู่การออกแบบควบคู่กับการใช้งานที่เข้าใจผู้ใช้งานอย่างแท้จริง และไม่แน่ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า เมื่อปั๊มน้ำมันในต่างจังหวัดทุกที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สะท้อนอัตลักษณ์ของพื้นที่นั้นๆ ปั๊มน้ำมันอาจจะกลายมาเป็นแลนด์มาร์คที่เราๆ ต้องแห่กันไปเช็คอินกันก็เป็นได้

สามารถติดตามรายละเอียดของวัสดุ กระเบื้องเซรามิกเคลือบสีมุก ได้ในคอลัมน์ MATERIAL เร็วๆ นี้

shermaker.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *