FEEL LIKE A SEASIDE HOLIDAY

WITH ITS ELONGATED BALCONY, VARIVANA RESORT BY POAR INVITES US TO COME INTO CONTACT WITH NATURAL WIND, LIGHT, AND THE SURROUNDING ENVIRONMENT LIKE NEVER BEFORE

TEXT: RAWIRUJ SURADIN
PHOTO: PATCHARA WONGBOONSIN

(For English, press here)

Varivana เป็นรีสอร์ท 4 ดาว ขนาด 3,500 ตารางเมตร จำนวน 40 ห้อง บนเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่วางตัวอยู่บนภูเขาใจกลางพื้นที่สวนมะพร้าว การเข้าถึงพื้นที่จากถนนที่อยู่ต่ำกว่าและแนวต้นไม้ในโครงการบดบังรีสอร์ทจากถนนหลัก ทำให้รีสอร์ทเผยตัวให้เห็นอย่างเต็มตาเป็นครั้งแรกหลังจากเลี้ยวเข้าสู่ถนนทางเข้า

วารี (vari) แปลว่าน้ำ และวานา (vana) ซึ่งแปลว่าป่า สอดคล้องกับการผสานภาพทิวทัศน์ของผืนน้ำ ต้นไม้และภูเขา เข้ากับลมทะเล แสงแดดและความสงบเป็นส่วนตัวของโปรเจ็คต์นี้

สถาปัตยกรรมในรีสอร์ทแบ่งเป็น 4 ส่วน ส่วนล็อบบี้มีเพียงหลังคาวางอยู่บนห้องสี่เหลี่ยมสีเทากลางระเบียงกว้าง พื้นที่โล่งในส่วนนี้ดูเหมือนไม่มีผนัง แต่ยังคงมีความรู้สึกถูกโอบล้อมอยู่จากแนวภูเขาที่เป็นตัวกำหนดขอบเขตให้กับพื้นที่ เมื่อฟังก์ชั่นการทำงานของล็อบบี้ถูกตัดทอนให้เหลือเพียงพื้นที่ที่จำเป็น ออฟฟิศในส่วนนี้เลยเป็นเพียงห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ทำหน้าที่เป็นฐานรองรับหลังคาไปในตัว อีก 3 ส่วนที่เหลือคืออาคารแบบทางเดินด้านเดียว (single loaded corridor) ขนาด 4 ชั้น 3 อาคาร ซึ่งเชื่อมต่อกันด้วยโครงสร้างเหล็ก พื้นผิวส่วนใหญ่ของอาคารทั้งหมดเป็นปูนเปลือยที่มีรายละเอียดเป็นรอยไม้แบบไม้มะพร้าวตามอย่างวิธีการก่อสร้างของคนในพื้นที่ นอกจากพื้นที่ส่วนสปาซึ่งอยู่ใต้ล็อบบี้ พื้นที่ส่วนกลางอื่นๆ ถูกวางไว้บนดาดฟ้าของอาคารทั้งสามหลัง ทั้งลานโยคะ ห้องอาหารและสระว่ายน้ำที่อยู่บนดาดฟ้าของอาคารที่ใกล้ทะเลมากที่สุดเพื่อให้ได้รับทัศนียภาพของทิวต้นมะพร้าวและแนวหาดของเกาะที่เปิดออกสู่ทะเล

สถาปัตยกรรม ภูมิทัศน์ และงานออกแบบภายในทั้งหมดของโครงการออกแบบโดย POAR | Patchara + Ornnicha Architects บริษัทออกแบบสถาปัตยกรรม ซึ่งก่อตั้งโดย พัชระ วงศ์บุญสิน และ อรณิชา ดุริยะประพันธ์ ซึ่งโจทย์สำคัญสำหรับการออกแบบครั้งนี้คือการสร้างจุดขายให้กับโครงการที่ไม่ได้มีพื้นที่ติดทะเลสถาปัตยกรรมที่สามารถสร้างสิ่งที่มาทดแทนประสบการณ์การพักผ่อนในพื้นที่ริมหาด “คำตอบของคำถามที่ว่าก็คือประสบการณ์ภายใน และประสบการณ์ภายนอกห้องพัก” อรณิชากล่าว

ประสบการณ์ภายในเกิดขึ้นจากการออกแบบให้พื้นที่ส่วนตัวของห้องพักสามารถสัมผัสกับลมทะเลผ่านช่องเปิดในห้องและสัมผัสกับแสงแดดผ่านระเบียงส่วนตัว ห้องพักแต่ละห้องมีประตูสองชั้น ชั้นแรกมีไว้สร้างความเป็นส่วนตัว เพื่อให้แขกที่มาพักสามารถเปิดประตูชั้นที่สองหรือหน้าต่างทั้งสองด้านของห้องพักให้ลมไหลผ่านได้ การไหลของลมยังเกิดขึ้นจากช่องลมระหว่างประตูทั้งสองที่เจาะทะลุขึ้นไปตั้งแต่ชั้นล่างสุดจนถึงดาดฟ้าของอาคาร นอกจากการจัดการกับปัจจัยธรรมชาติเพื่อตัวสถาปัตยกรรมเอง พัชระยังเสริมว่า หากตัวสถาปัตยกรรมเองไม่มีการจัดการกับลมที่ดี ตัวมันเองก็จะบังลมที่จะไหลผ่านไปยังที่อื่นๆ ในบริเวณนั้นด้วย การคำนึงถึงความพิเศษเฉพาะตัวของปัจจัยธรรมชาติทำให้สถาปัตยกรรมกลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ และวิธีคิดนี้ยังนำไปสู่การเรียงตัวของห้องพักที่เหลื่อมกันไปมา ซึ่งนอกจากจะเกี่ยวข้องกับการจัดการกับปริมาณแสงแดดที่ได้รับ วิธีการวางแปลนห้องพักนี้ยังช่วยลดทอนขนาดของอาคารในการรับรู้เชิงพื้นที่เพื่อให้ตัวสถาปัตยกรรมกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมอีกด้วย

ระเบียงส่วนตัวของห้องพักที่เป็นจุดเด่นของโครงการเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทิศทางของระเบียงห้องพักในรูปแบบปกติให้เป็นโครงสร้างที่ยื่นออกไปตามแนวยาว ระยะ 2.5 เมตร จากตัวห้องพักซึ่งช่วยในการรับลมและแสงแดดเช้า-บ่าย และสร้างประสบการณ์การพักผ่อนบนพื้นที่ของระเบียงในรูปแบบใหม่ พัชระอธิบายว่าสิ่งนี้อาจไม่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงการใช้งานพื้นที่ แต่ในเชิงประสบการณ์ การนั่งพักผ่อนหรือนอนเหยียดตัวยาวๆ บนปลายระเบียงที่ยื่นยาวออกไปกลางอากาศเป็นประสบการณ์ใหม่และแตกต่างไปจากเดิมมาก

สถาปนิกมองว่ามนุษย์เราสามารถมีประสบการณ์ และ “สัมผัส” สิ่งแวดล้อมได้ในหลายทาง และความพิเศษของการพักผ่อนบริเวณชายทะเลก็ประกอบขึ้นจากประสาทสัมผัสหลายๆ อย่างรวมกัน ในหลายครั้งการนั่งอยู่ในห้องของอาคารที่เปิดโอกาสให้เราสัมผัสกับความพิเศษนั้นได้เพียงแค่การมองเห็นทิวทัศน์เพียงอย่างเดียวเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย “ลมและแสงธรรมชาติควรถูกดึงให้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ได้” พัชระกล่าวถึงวิธีคิดที่ใช้มาโดยตลอด เป้าหมายของ POAR คือการคิดถึง usage หรือการใช้งานแบบใหม่ ไปพร้อมๆ กับการค้นหาความเป็นไปได้ในเชิงสถาปัตยกรรม อรณิชาทิ้งท้ายว่า “การสร้างประสบการณ์นั้นต้องใช้ทุกองค์ประกอบมาเสริมกัน ทั้งตัวห้องพัก พื้นที่ส่วนกลาง วิธีการเข้าถึงและการใช้งานพื้นที่ สิ่งเหล่านี้รวมถึงสิ่งอื่นๆ ทั้งหมดของโครงการ ทำให้เกิดประสบการณ์ที่พิเศษของรีสอร์ทแห่งนี้ขึ้นมาได้” เป้าหมายทางสถาปัตยกรรมของ POAR นำไปสู่การออกแบบที่ผสานความงาม การใช้งานและสภาพแวดล้อมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรม โดยที่ไม่มองว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งสำคัญไปกว่ากัน

poar.co

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *