ART AFTER THE STORM

REACHING THEIR 9TH EDITION THIS YEAR, ART ISLANDS TOKYO 2019 HAS KEPT ITS INDEPENDENT WAY OF ORGANIZING ART FESTIVALS, RESULTING IN INTERESTING ARTWORKS THAT ARE OUTSTANDINGLY INCORPORATED WITH THE OSHIMA ISLANDS CONTEXT

TEXT & PHOTO: NAPAT CHARITBUTRA

(For English, press here)

เกาะโอชิมะ (ชื่อเต็ม Izu Oshima) ตั้งอยู่ห่างจากโตเกียวไปทางตอนใต้ประมาณ 120 กิโลเมตร เดิมทีมันเคยเป็นเมืองท่าที่สำคัญและร่ำรวยที่สุดในญี่ปุ่นช่วงเอโดะ ร่องรอยของความเจริญจนถึงขีดสุดยังคงมีให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นบ้านญี่ปุ่นอันโอ่อ่า หรือโรงน้ำชาตึก 3 ชั้นที่ว่ากันว่ามีเกอิชาสาวถึง 300 คน โอชิมะรอดพ้นภัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แบบแทบจะไม่โดนระเบิดของอเมริกาแม้แต่ลูกเดียว (แถมหลังจากสงครามยังมีกระแสว่าจะแยกตัวเป็นอิสระจากรัฐบาลญี่ปุ่นด้วย) ปัจจุบันเกาะโอชิมะมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ แถมนอกจากนั้น ในภาพยนตร์ The Return of Godzilla (1984) เกาะนี้ยังเป็นที่ที่รัฐบาลญี่ปุ่นใช้เป็นที่คุมขัง Godzilla อีกด้วย

ใช่แล้ว ที่กล่าวมานี้ไม่ได้จะบอกว่าโอชิมะนั้นพิเศษกว่าที่อื่นๆ ในประเทศญี่ปุ่น ทุกๆ พื้นที่นั้นมีประวัติศาสตร์เป็นของตัวเองและสะท้อนออกมาผ่านงานศิลปะได้อย่างน่าสนใจอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลดังๆ อย่าง Setouchi Triennale, Echigo-Tsumari Art Triennale หรือเทศกาลศิลปะอินดี้ รายการอื่นๆ ที่เริ่มมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในตอนนี้


คาแร็คเตอร์ที่สัมผัสได้จาก ART ISLANDS TOKYO คือความ “อิสระ” ในการจัดงาน ในด้านการเติบโตของเทศกาลนั้น ART ISLANDS TOKYO ถูกจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2011 โดยมี Yoshiki Takata ศิลปินชาวญี่ปุ่นเป็นแม่งาน “มันเริ่มต้นง่ายๆ ว่า ผมไปแสดงงานต่างประเทศ แล้วเพื่อนศิลปินหลายๆ คนสนใจอยากจะจัดงานในญี่ปุ่นบ้าง ซึ่งด้วยทุนสนับสนุนที่มีไม่มากนัก ผมจึงเลือกเกาะโอชิมะเป็นที่จัดงาน” Takata บอกกับ art4d ว่าเขามองเห็นศักยภาพบางอย่างของเกาะโอชิมะ โดยเฉพาะ “ที่ว่าง” จำนวนมากที่เอื้อให้ศิลปินและศิลปะสามารถแทรกตัวเข้าไปอยู่ในพื้นที่ได้

“ประชากรของเกาะลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อ 30 ปีก่อน บนเกาะเคยมีคนอยู่ 12,000 คน แต่ตอนนี้เหลือแค่ 7,600 คน เพราะคนรุ่นใหม่ๆ พากันย้ายไปอยู่ในกรุงโตเกียวกันหมด” ที่ว่างบนเกาะเกิดขึ้นจากปัญหาคลาสสิคที่เกิดขึ้นกับแทบจะทุกๆ พื้นที่ชนบทในญี่ปุ่นและผลกระทบของการลดลงของประชากรก็ส่งผลให้บ้านหลายๆ หลังบนเกาะถูกทิ้งร้าง โรงเรียนหลายๆ แห่งบนเกาะต้องปิดตัวลง หนึ่งในนั้นก็คือ Oshima Municipal Former Habu Elementary School ซึ่งถูกใช้เป็นสถานที่จัดงานหลัก และฐานที่มั่นของเทศกาลในหลายๆ ปีที่ผ่านมา รวมถึง The Jinnomaru House บ้านญี่ปุ่นหลังใหญ่ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นบ้านของเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดบนเกาะโอชิมะ


Yoshiki Takata

จากงานครั้งแรกปี 2011 ที่จัดขึ้นเป็นนิทรรศการเล็กๆ กระจายอยู่ในพื้นที่ท่าเรือฮาบุ ปีต่อๆ มา ART ISLANDS TOKYO ก็ค่อยๆ ขยายเป็นงานสเกล international จากคอนเน็คชั่นที่ Takata มีกับเพื่อนๆ ศิลปิน และมีขอบเขตการจัดงานขยายไปถึงเกาะโดยรอบนั่นคือ เกาะนิอิจิมะ และเกาะชิคิเนะชิมะ โดยเฉพาะครั้งนี้ซึ่งถือเป็นงานครั้งที่ 9 นั้นมีศิลปินสนใจมาเข้าร่วมถึง 29 คน

“เราไม่อยากนิยามงานด้วยคำใหญ่ๆ อย่าง เทศกาลศิลปะ ผมรู้สึกว่ามันเป็นเหมือนโครงการศิลปินในพำนักบนเกาะโอชิมะมากกว่า” วิธีการบริหารงานของ Takata คือการเชิญศิลปินมาใช้ชีวิตบนเกาะ เขาบอกกับ art4d ว่า เงื่อนไขสำคัญคือศิลปินต้องมาตัวเปล่า เก็บตัวอยู่บนเกาะที่เดินทางไปไหนไม่ค่อยสะดวกแห่งนี้ และเริ่มทำงานกับพื้นที่ตั้งแต่ศูนย์ กับบรรยากาศ ประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะกับวัสดุที่หาได้ในพื้นที่ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากเอาการสำหรับศิลปินบางคน และน่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้งาน site specific หลายๆ ชิ้น ในเทศกาลครั้งนี้มีหน้าตาไม่หวือหวาแต่มีปฏิสัมพันธ์กับบริบทได้อย่างน่าสนใจ

Katachi no hajimari, Kotoba no hajimari (2019) โดย Junichi Nagata คือหนึ่งในผลงานที่เล่นกับบริบทได้ดี ศิลปินเลือกที่ว่างเปล่าที่พักวัสดุก่อสร้างและหินปูนกองพะเนิน (ที่เต็มไปด้วยฝุ่น) เป็นไซต์และทำงานศิลปะตรงนั้นด้วยการนำแผ่นเหล็กที่ตัดเป็นรูปทรงนามธรรมไปปักไว้บนกองหินที่ว่า “ผมตั้งคำถามว่ารูปทรง หรือคำๆ แรกที่มนุษย์คิดขึ้นมามันคืออะไร” ศิลปินบอกกับ art4d และเสริมว่า “มีคนมองเห็นมันเป็นรูปเสี้ยวครึ่งล่างของวงกลม บางคนมองเป็นพระจันทร์ แล้วคุณมองเห็นเป็นอะไรล่ะ?” แวบแรกเราเห็นเป็นเสาโทริอิวัดชินโต และเริ่มเห็นอะไรมากขึ้น เมื่อเข้าใจว่าไม่เพียงแค่ท้องฟ้า หรือภาพรางเลือนของป่าธรรมชาติข้างหลังที่สะท้อนอยู่บนผิวกระจก แต่เขาหินปูนทั้งลูกที่เราปีนขึ้นไปเช่นกันที่ล้อรับกันกับเกาะทั้งเกาะที่อยู่ห่างออกไปกลางทะเล

“อดีต” คืออีกเนื้อหาที่ถูกนำกลับมาเล่าได้น่าสนใจ Harue Takami ศิลปินเจ้าของผลงาน Between Sky and Earth (2019) มีความหลังกับพิพิธภัณฑ์โอโดริโกะโนะซาโตะที่เธอเลือกเป็นสถานที่จัดงาน พิพิธภัณฑ์ที่ว่านี้คือโรงน้ำชาตึก 3 ชั้น ที่พูดถึงไปในย่อหน้าแรก ซึ่งในปัจจุบันพื้นที่แทบทั้งหมดถูกใช้แสดงกิจกรรมในโรงน้ำชาเมื่อหลายร้อยปีก่อน เต็มไปด้วยหุ่นเกอิชาจำลองที่คอยปรนนิบัติหุ่นแขกผู้มาเยือน ศิลปินเลือกห้องพักคนรับใช้ปลายทางเดินชั้นสองเป็นที่จัดแสดงผลงาน โดยโปรยผ้าที่ตัดเป็นชิ้นเล็กจำนวน 20 กิโลกรัม ลงบนพื้นห้องจนเต็มพื้นที่ เศษผ้าดังกล่าวมี 5 สี คือ เหลือง เขียว แดง ขาว ม่วง ซึ่งเป็นสีประจำเทศกาลบนเกาะโอชิมะ ไม่แน่ใจว่ามีความหมายเชิงวัฒนธรรมในสีที่ว่านี้หรือไม่ แต่เราคิดว่ามันคงเกี่ยวข้องกับความเป็นโรงน้ำชาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะแม่ของศิลปินเองนั้นก็เคยมีอาชีพเป็นเกอิชา

Sara Cohen คือศิลปินอีกคนที่ทำงานกับความทรงจำของพื้นที่ As a landscape of forgotten elements (2019) ตั้งอยู่ในห้องเรียนห้องหนึ่งใน Oshima Municipal Former Habu Elementary School ที่ถูกจัดสรรเป็นห้องโชว์ผลงานของศิลปินแต่ละคน “เราคิดถึงบรรยากาศเดิมของห้องเรียนมันจะมีเกมเด็กๆ เกมหนึ่งที่เราชอบเล่นกัน” เชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยเอากระดาษเปียกๆ ปาขึ้นไปติดบนเพดานห้องแก้เซงกันตอนยังเป็นนักเรียน Cohen สร้าง “ร่องรอย” นี้ขึ้นมาอีกครั้งในห้องเรียนที่ถูกทิ้งร้าง กระดาษถูกทำให้เป็นฟอร์มต่างๆ แปะตามฝาผนังและเพดานห้อง เป็นเรื่องน่าเสียดายและน่าสนใจไปพร้อมกันที่เราไปไม่ทันเห็นฟอร์มของกระดาษเปียกเหล่านั้น เราไปถึงเกาะโอชิมะสองวันให้หลังจากที่พายุไต้ฝุ่นฟ้าใสพัดผ่านโตเกียว หน้าต่างห้องนิทรรศการแตกกระจาย เศษกระจกเกลื่อนเต็มพื้นพรม เช่นกันกับผลงานศิลปะที่ไม่รอดพ้นแรงพายุ As a landscape of forgotten elements สำหรับเราจึงกลายเป็น “ร่องรอย” ของ “ร่องรอยอดีต” ไปโดยปริยาย 

มีหลายผลงานพูดถึงธรรมชาติ และบางชิ้นก็ถูกธรรมชาติทำลายไปเป็นที่เรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็น Island-hopping (2019) โดย Ayumi Tonokura ที่ศิลปินนำเขม่าจากภูเขาไฟหลายๆ แห่ง ใช้เป็นสีน้ำลาวาสำหรับทำเพ้นท์ติ้ง หรืองาน abstract painting ของ Sadaharu Horio ศิลปินญี่ปุ่นชื่อดังผู้ล่วงลับ มูลค่า 10 ล้านเยน ที่โดนผลกระทบจากพายุเต็มๆ บางชิ้นรอดปลอดภัยจากพายุ อย่างเช่น EARTH (2019) โดย Katsuyoshi Ogata ที่เล่นกับสายไฟฟ้าบนเกาะ ด้วยการเอาเส้นไม้ไผ่ยาว 500 เมตร มาพันรอบป่าธรรมชาติ (ที่ถูกล้อมด้วยถนนคอนกรีตอีกที) เป็นนามนัยถึงการส่งพลังของธรรมชาติ พร้อมๆ กับเป็นภาพแทนชีพจรที่ค่อยๆ อ่อนลงทุกวันของป่าไม้

ART ISLANDS TOKYO มีความอิสระอย่างที่เกริ่นไปแต่แรก นอกจากนั้นยังทำให้เกิดวัฒนธรรมการจัดงานและวิธีการทำงานร่วมกันของศิลปินที่น่าสนใจ กับที่ ART ISLANDS TOKYO ไม่มีใครทำหน้าที่เป็น “คิวเรเตอร์” ผู้ตั้งธีมเทศกาลเป็นแนวทางให้ศิลปินสร้างงานศิลปะล้อรับเกาะเกี่ยวไปกับหัวข้อนั้น แต่ใช้วิธีการพูดคุยถกเถียงระหว่างศิลปิน หรือในอีกทำนองหนึ่งคือการ “อยู่ร่วมกัน” เป็นกลไกในการควบคุมการทำงานของศิลปินแต่ละคน

ต้องรอดูกันต่อไปว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ART ISLANDS TOKYO จะเติบโตไปในทิศทางไหน แต่เราคิดว่าเทศกาลนี้เหมาะทีเดียวสำหรับศิลปินไทยรุ่นใหม่ๆ ที่อยากจะทำงานกับไซต์สวยๆ บริบทที่น่าสนใจ และสภาพแวดล้อมการทำงานที่เปิดกว้าง ลอง apply ผลงานศิลปินดูกัน เผื่อปีหน้าจะได้เจอกันที่ ART ISLANDS TOKYO 2020

art-islands-tokyo.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *