BAUHAUS LIVE IN BANGKOK

BAUHAUS IMAGINISTA INVITES AUDIENCE TO DELVE INTO THE PHILOSOPHY OF THE LEGENDARY ART AND DESIGN SCHOOL IN CELEBRATION OF ITS 100TH ANNIVERSARY

TEXT: RAWIRUJ SURADIN
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here)

Bauhaus เป็นสถาบันออกแบบในประเทศเยอรมนี ที่ผ่านช่วงเวลาการส่งอิทธิพลของแนวคิดหลายอย่างในช่วงต้นทศวรรษที่ 20 ทั้งแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับศิลปะและการออกแบบโดยตรงอย่าง Arts and Crafts movement, Neues Bauen (New Building) movement, Soviet Constructivism และอิทธิพลของแนวคิดที่เข้มข้นมากในช่วงเวลานั้นอย่าง Socialism และ Communism รวมถึงการกลับไปให้ความสำคัญกับวิธีคิดที่ไม่ใช่กระแสหลักอย่าง Spiritualism

Bauhaus Imaginista เป็นนิทรรศการที่เดินทางไปหลายเมืองทั่วโลก ซึ่ง Goethe-Institut จัดขึ้นในโอกาสครบรอบ 100 ปีของสถาบัน Bauhaus ในปี 2019 นิทรรศการแบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ส่วนและทั้งสี่ส่วนคลี่คลายมาจากผลงาน 4 ชิ้น ผลงานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ Bauhaus

ส่วนแรก Corresponding With เริ่มต้นจาก Bauhaus Manifesto โดย Walter Gropius งานเขียน manifesto ฉบับแรกที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมที่ชี้ให้เห็นถึงแนวคิดในการเชื่อมโยง “สถาปนิก” “ช่างฝีมือ” และ “ศิลปิน” เข้าด้วยกัน ชุมชนความคิดใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสถาปัตยกรรม “สิ่งก่อสร้างเป็นเป้าหมายสูงสุดของศิลปะทั้งมวล” เนื้อหาในนิทรรศการกล่าวถึงความสัมพันธ์ของ Bauhaus ในยุคเริ่มต้น หลังจากก่อตั้งในปี 1919 สถาบันด้านการออกแบบแห่งนี้เชื่อมโยงกับแนวคิด modernism อย่างชัดเจน และยังให้ความสำคัญกับวิธีคิดและวิถีปฏิบัติของช่างฝีมือ และนอกจาก Bauhaus ก็ยังมีสถาบันอื่นที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันอย่าง โรงเรียนศิลปะ Kala Bhavana ใน Visva-Bharati University เมืองศานตินิเกตัน ประเทศอินเดีย ก่อตั้งโดยนักปรัชญาชาวอินเดีย Robindronath Ţhakur (รพินทรนาถ ฐากุร) ในปีเดียวกัน และสถาบัน Seikatsu Kōsei Kenkyūsho (Research Institute for Life Design) ก่อตั้งโดย Renshichiro Kawakita ในปี 1931 ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น Shinkenchiku Kōgei Gakuin (School of New Architecture and Design) ในภายหลัง ความสัมพันธ์ของสถาบันเหล่านี้ถูกเล่าผ่านผลงานที่เกิดขึ้นทั้งจากครูและนักเรียน รวมถึงเอกสารประกอบการเรียนที่หาดูยาก

Learning From ซึ่งเป็นส่วนที่สองของนิทรรศการ คลี่คลายมาจากงาน Teppich (Carpet) ของ Paul Klee ในปี 1927 เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาและการรับเอาวัตถุหรือวิธีคิดทางวัฒนธรรมที่อยู่นอกเหนือออกไปจากแนวคิด modernism กระแสหลัก โดยเฉพาะแหล่งที่มาที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่โลกตะวันตก (แต่ยังรวมถึงจารีตประเพณียุโรปแบบพื้นถิ่น) รวมถึงผลงานจากศิลปินชายขอบและเด็ก โดยเฉพาะความสนใจในวัตถุยุคก่อนสมัยใหม่ที่ยังคงแพร่หลายหลังจาก Bauhaus ปิดตัวลงในปี 1933 นอกจากนี้ความสนใจของ Bauhaus ที่ตั้งคำถามกับความเป็นศิลปะชั้นสูงและชั้นต่ำยังนำไปสู่คำถามอื่นๆ อย่างเช่น เรื่องขั้วตรงข้ามระหว่างความเป็นตะวันตก/ไม่ใช่ตะวันตก ความเป็นเรา/ความเป็นอื่น ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับคำถามเรื่องการหยิบยืมและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างการล่าอาณานิคมในอดีตทั้งในยุโรป อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้

Marcel Breuer’s collage ein bauhaus-film. fünf jahre lang (a bauhaus film. five years long) เป็นจุดเริ่มต้นของ Moving Away เนื้อหาส่วนที่สามของนิทรรศการ ม้วนฟิล์มของ Breuer นำเสนอพัฒนาการในการออกแบบเก้าอี้จากชิ้นงานที่ผลิตด้วยมือไปจนถึงต้นแบบที่ทำด้วยเครื่องจักรโรงงาน การย้ายสถานที่ของ Bauhaus ก่อนจะปิดตัวลงในปี 1933 จากการขึ้นมามีอำนาจของพรรคนาซีที่นำไปสู่การอพยพของครูและนักเรียนใน Bauhaus ออกจากประเทศเยอรมัน และการอพยพของบุคลากรเหล่านี้นำแนวคิดกระจายออกไปยังพื้นที่อื่นๆ สิ่งเหล่านี้สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงในบทสนทนาด้านการออกแบบในช่วงต้นทศวรรษที่ 20 ซึ่งสัมพันธ์กับสภาพสังคมและภูมิศาสตร์ในแต่ละพื้นที่ ผ่านกรณีศึกษาจากสหภาพโซเวียต อินเดีย จีน ไต้หวัน เกาหลีเหนือ และไนจีเรีย

Still Undead ส่วนสุดท้ายของนิทรรศการเริ่มต้นมาจาก Reflektorische Farblichtspiele (Reflective colored light plays, 1922) ผลงานของ Kurt Schwerdtfeger ซึ่งเคยจัดแสดงในอพาร์ตเมนต์ของ Wassily Kadinsky ถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่นำไปสู่สื่อศิลปะที่ถูกเรียกว่า Expanded Cinema (จากหนังสือของนักทฤษฎีศิลปะ Gene Youngblood ในชื่อเดียวกัน) การเคลื่อนไหวผ่านแสงเงาของรูปทรงนามธรรมและเสียงในงานชิ้นนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การตามรอยการทดลองที่เกี่ยวข้องกับ แสง เสียง และเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในโรงเรียนศิลปะและมหาวิทยาลัยในปัจจุบันหลายแห่ง เช่น New Bauhaus ในเมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา หรืออย่าง The Centre for Advanced Visual Studies (CVAS) and the Media Lab ของ MIT ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา

นิทรรศการในกรุงเทพมหานครนี้ จัดขึ้นที่ชั้น 4 ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กล่องไม้หลายกล่องซึ่งประกอบร่างขึ้นจากแผ่นไม้ทรงจัตุรัสย้อมผิวสีแดงอ่อนชื่อ Bauhaus Jukebox ผลงานประติมากรรมของ Luca Frei ศิลปินชาวสวิตเซอร์แลนด์ ถูกวางกระจายตัวอยู่ในพื้นที่นิทรรศการ ทำหน้าที่เป็นชั้นวาง รองรับเอกสารและแผ่นข้อมูลของเนื้อหาทั้ง 4 ส่วนที่กล่าวมา รวมถึงสเตชั่นสำหรับสั่งพิมพ์เนื้อหาจากคลังข้อมูลออนไลน์ และเครื่องเล่น VR ที่ทำให้ผู้ชมเกิดปฏิสัมพันธ์กับบรรยากาศของ Bauhaus ในรูปแบบเสมือนจริง สิ่งพิมพ์ที่หยิบจับได้ในนิทรรศการเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคลังข้อมูลทั้งหมด ที่รวบรวมบทความ ผลงานวิชาการ งานวิจัย เอกสาร บันทึกการสัมภาษณ์ รูปถ่าย ฯลฯ ที่มีอยู่แล้วในอดีต และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากนิทรรศการซึ่งสามารถเข้าถึงได้จากแหล่งข้อมูลออนไลน์ของ Bauhaus Imaginista (bauhaus-imaginista.org

ความพิเศษของ Bauhaus Imaginista ที่เคลื่อนตัวไปจัดแสดงยังเมืองต่างๆ คือ มันทำให้เห็นความสัมพันธ์ของแนวคิด Bauhaus กับพื้นที่ในแต่ละแห่ง สถาบันที่พัฒนาต่อมาจนกลายเป็นแนวคิดสำคัญอย่าง Bauhaus ได้ถูกเชื่อมโยงและส่งอิทธิพลต่อผู้คนทั้งสถาปนิก ศิลปิน นักวิชาการ และนักศึกษาจำนวนมาก และ Bauhaus Imaginista ก็ทำให้เราได้เห็นว่าแนวคิดจากสถาบันออกแบบที่ทรงอิทธิพลนี้ส่งผลอะไรบ้างกับสิ่งอื่นที่แวดล้อมทั้งในแง่สังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา การเมือง ฯลฯ และยังได้เห็นว่าในทางกลับกัน การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยแวดล้อมเหล่านั้นทำให้ Bauhaus เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

 

bauhaus-imaginista.org
goethe.de/th
bacc.or.th

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *