THE LATEST PUBLICATION PROJECT BETWEEN VOLUME AND STEFAN RIEKELES BRINGS VISIONARY ARCHITECTURE IN JAPANESE ANIMES SUCH AS AKIRA OR GHOST IN THE SHELL TO THE FORE AND GIVES US A GLIMPSE OF HOW THESE VISIONARY IMAGES INFLUENCE OUR REAL WORLD
TEXT: PAPHOP KERDSUP
PHOTO COURTESY OF VOLUME
(For English, press here)
4 ปีก่อน Stefan Riekeles คิวเรเตอร์และอดีตผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์เทศกาล Japan Media Arts Festival Dortmund ประจำปี 2011 สร้างความฮือฮาให้กับวงการสถาปัตยกรรมในเวลานั้นด้วยการพาภาพวาดต้นฉบับของอนิเมะญี่ปุ่นเดินทางลัดฟ้าไปจัดแสดงที่ Tchoban Foundation พิพิธภัณฑ์ภาพวาดทางสถาปัตยกรรมในเบอร์ลิน ภายใต้นิทรรศการ Anime Architecture พร้อมกับชวนให้ผู้ชมร่วมตั้งคำถามถึงบทบาทเมืองและสถาปัตยกรรมที่ถูกนำเสนอในอนิเมะ ว่าการมอง project ไปข้างหน้าผ่านสายตาของนักวาดการ์ตูนนั้นส่งอิทธิพลมาสู่งานออกแบบในยุคหลังๆ แค่ไหน
Ghost in the Shell, Tekkon Kinkreet, Rebuild of Evangelion รายชื่อเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างแค่บางส่วนของอนิเมะที่ถูกเลือกไปจัดแสดงในเวลานั้น แน่นอนว่าถ้าใครที่คุ้นๆ กับอนิเมะเหล่านี้กันมาบ้างน่าจะพอรู้ว่าภาพที่เราเห็นนั้นเป็นการนำเสนอคำว่า “อนาคต” ผ่านเครื่องมืออย่าง design fiction ได้น่าสนใจแค่ไหน ภาพของเมืองในโลก dystopia ที่ปนกลิ่นไซไฟใน AKIRA ผลงานสร้างชื่อของ Katsuhiro Otomo น่าจะเป็นสิ่งที่เราคุ้นกันมากที่สุด ซึ่งอนิเมะเรื่องนี้ถือเป็นหนึ่งในผลงานสำคัญที่เป็นต้นแบบของแนวคิด Japanese cyberpunk ที่บูมขึ้นมาในช่วงทศวรรษที่ 1980s เลยทีเดียว
ล่าสุดหลังจากที่ปล่อย Proto Anime Cut: Archive – Spaces and Visions in Japanese Animation ออกมาเมื่อเกือบ 9 ปีก่อน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกๆ ที่ Riekeles นำต้นฉบับของอนิเมะจากญี่ปุ่นไปแนะนำให้ผู้อ่านชาวยุโรปได้ยลโฉมกัน พร้อมกับนิทรรศการ Anime Architecture ในอีก 5 ปีถัดมา หนังสือในชื่อเดียวกันกับนิทรรศการที่ Tchoban Foundation ก็เริ่มเปิดให้พรีออเดอร์ฉบับ Collector’s Edition แล้วผ่านแพลตฟอร์มของ Volume เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาในราคา 75 ปอนด์ หรือประมาณ 3,000 บาท
ความพิเศษของ Anime Architecture ฉบับ Collector’s Edition นี้นอกจากปกแข็งและกล่อง slipcase คือคุณภาพการพิมพ์ที่ช่วยชูให้ภาพวาดต้นฉบับไม่ว่าจะเป็นสเก็ตช์ภาพร่าง ภาพก่อนและหลังลงสี หรือแม้แต่ storyboard ของอนิเมะแต่ละเรื่อง พร้อมกับที่แต่ละเล่มจะถูกลงหมายเลขประจำเล่มนั้นไว้เพื่อให้เพิ่มมูลค่าความเป็น “ฉบับนักสะสม” ของมันด้วย เพราะความพิเศษที่ไม่ได้มาบ่อยๆ นี้เองที่ทำให้หนังสือที่ทำหนัาที่กึ่งๆ เป็นแคตตาล็อกของนิทรรศการ Anime Architecture เล่มนี้ได้รับความนิยมอย่างล้มหลามจนจำนวนพิมพ์ทั้ง 1,000 ฉบับนั้นหมดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วในเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์
สำหรับคนที่พลาดไม่ทันจองเล่ม Collector’s Editor ตอนนี้ก็คงได้แต่รอว่า Volume และ Riekeles จะปล่อยฉบับพิมพ์ทั่วไปในราคาที่จับต้องได้ออกมาหลังจากนี้อีกเมื่อไหร่กัน ระหว่างนี้ถ้าใครอยากจะทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้สามารถไปดูได้ที่ vol.co/product/anime-architecture
หรือถ้าใครอยากรู้ว่าแนวคิดเบื้องหลังนิทรรศการ รวมทั้งภาพบรรยากาศที่ Anime Architecture ได้ทัวร์ไปจัดแสดงยังที่ต่างๆ เป็นยังไง สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ทาง anime-architecture.org