ROTTERDAM-BASED DESIGN STUDIO SHIFT ARCHITECTURE URBANISM HAS CREATED THE MOBILE HYPERLOCAL MICRO MARKETS WHERE WE CAN EASILY BUY FRESH PRODUCE CLOSER TO OUR HOMES, WHILE KEEPING THE SOCIAL DISTANCE FROM OTHER SHOPPERS
TEXT: SUTEE NAKARAKORNKUL
PHOTO COURTESY OF SHIFT ARCHITECTURE URBANISM
(For English, press here)
ในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนี้ หลายคนคงคิดเหมือนกันว่าสิ่งที่มนุษย์ต้องการมากที่สุดอาจจะเป็นอะไรก็ได้ที่เรียบง่ายและไม่ซับซ้อนมากนัก โดยเฉพาะเรื่องของอาหารการกิน
Shift Architecture Urbanism สตูดิโอจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ชวนให้เราจินตนาการถึงตลาดเคลื่อนที่ที่ช่วยให้เราสามารถซื้อหาของสดจากตลาดได้ไม่ยาก ในโปรเจ็คต์ Hyperlocal Micro Markets ซึ่งนอกจากจะตั้งอยู่ใกล้บ้านแล้ว เรายังสามารถรักษา social distance กับลูกค้ารายอื่นๆ ได้เช่นกัน
โปรเจ็คต์นี้ถูกพัฒนาขึ้น หลังจากเมืองขนาดใหญ่หลายๆ แห่งในโลกล้วนประสบกับชะตากรรมแบบเดียวกัน คือการประกาศหยุดให้บริการของตลาดสดขนาดใหญ่ ปลายทางของคนจำนวนมากที่ต้องการอาหารสดและวัตถุดิบในครัวเรือน จึงไปอยู่ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแทน และนั่นก็นำมาซึ่งความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่เพิ่มมากขึ้น (และดูจะไม่เป็นการกระจายรายได้ไปสู่ธุรกิจรายย่อย)
คอนเซ็ปต์ของ Hyperlocal Micro Markets คือการกระจายสินค้าจากตลาดขนาดใหญ่ที่ยังเปิดให้บริการอยู่บ้าง เข้าไปยังชุมชนต่างๆ ทั่วเมือง ในรูปแบบของตลาดขนาดย่อม โดยแต่ละยูนิตจะมีขนาดพื้นที่เท่ากัน ซึ่งกำหนดด้วยกริด 16 ช่อง ตีเส้นด้วย marking tape ซึ่งง่ายต่อการติดตั้งและรื้อถอน มีทางเข้าเพียงทางเดียว แต่ออกได้สองทาง มาพร้อมกับแผงขายสินค้า 3 แผงจัดเรียงขนาบข้างแต่ละด้าน แต่ละแผงประกอบด้วยเคาน์เตอร์ 2 ตัว ตัวแรกสำหรับการสั่งซื้อ อีกตัวสำหรับรับสินค้า กติกาก็คือเข้าได้ครั้งละไม่เกิน 6 คน และสี่เหลี่ยมแต่ละช่องเป็นพื้นที่สำหรับ 1 คนเท่านั้น เพื่อให้การสัญจรภายในตลาดเป็นไปอย่างคล่องตัวและรักษาระยะห่างระหว่างกันได้พอดิบพอดี
แม้ว่าจะเป็นไอเดียที่ฟังดูเรียบง่ายและมีประสิทธิภาพ แต่หลายๆ คนก็ออกมาบอกว่าตัวคอนเซ็ปต์ต้นแบบนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เช่น ความหลากหลายของสินค้าที่มีแค่ 3 ประเภทคือผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ หรือการทำงานที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน แถมทุกวันนี้การสั่งสินค้าออนไลน์จากร้านค้าและห้างสรรพสินค้าก็ยังเป็นอะไรที่สะดวกกว่ามาก ยิ่งเป็นบ้านเรายิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย เพราะสุดยอดนวัตกรรมอย่าง “รถพุ่มพวง” ได้ถือกำเนิดมาก่อนกาลแล้ว
อย่างไรก็ดีนี่ก็ถือเป็นคอนเซ็ปต์ที่น่าสนใจ ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับชุมชนขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองและห้างสรรพสินค้าพอสมควร โดยเฉพาะในภาวะที่เราจำเป็นต้องต่างคนต่างอยู่ (ร่วมกัน) แบบนี้ไปอีกสักระยะ