NOW IN ITS 10TH EDITION, AN ARTS-SCIENCES BIENNALE “EXPERIMENTA” IS A MAJOR EVENT IN THE SOUTHEASTERN FRENCH CITY OF GRENOBLE, A SCIENTIFIC TOWN WHERE PEOPLE STOP BY ON THEIR WAY TO AND FROM THE ALPS
TEXT: PAWIT MAHASARINAND
PHOTO: PAWIT MAHASARINAND EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
ปีคริสตศักราชหารสองลงตัวแบบนี้ เรารู้ดีว่าถ้าสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลาย เราจะได้ชมงานเทศกาลศิลปะขนาดใหญ่ที่จะจัดในเวลาใกล้เคียงกันอย่างน้อยสามงาน ไม่ว่าจะเรียก biennial หรือ biennale ก็ตาม ในขณะเดียวกันมหกรรมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมก็จัดขึ้นทุกปี จนหลายๆ คนเริ่มคิดว่าจัดเทศกาลหรือมหกรรมที่รวมทั้งศิลปะและวิทยาศาสตร์หลากหลายสาขาบ้างได้ไหม ก็ไหนๆ เราก็ใช้สมองทั้งสองซีกไปพร้อมๆ กันอยู่แล้ว
ตัวอย่างต่างแดนที่จัดทุกสองปีมาเป็นครั้งที่ 10 แล้วก็คือ เทศกาลศิลปะและวิทยาศาสตร์ Experimenta ระหว่างวันที่ 11 ถึง 21 กุมภาพันธ์ 2563 ที่เมืองเกรอโนบล์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส เมืองรองที่เป็นหลักในด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเห็นนักท่องเที่ยวหอบหิ้วอุปกรณ์สกีลงรถไฟขึ้นรถรางต่อรถเมล์ได้ทั้งวัน ผู้จัดหลัก 2 หน่วยงาน ได้แก่ Hexagone Scène Nationale Arts Sciences โรงละครแห่งชาติแห่งหนึ่ง และเป็นแห่งเดียวที่มีโครงการวิจัยและจัดแสดงงานด้านวิทยาศาสตร์ และ CEA ที่ไม่ใช่ผู้จัด Design Week แต่เป็นคณะกรรมาธิการพลังงานนิวเคลียร์และพลังงานทางเลือก ที่แรกเริ่มก่อตั้งเมื่อหลายทศวรรษก่อนค้นคว้าวิจัยเฉพาะพลังงานแบบแรก แต่ภายหลังเพิ่มพันธกิจเข้าไป โดยไม่ต้องเปลี่ยนชื่อย่อ ก็ไหนๆ atomique กับ alternatives ก็ย่อได้ด้วยอักษร A เหมือนกัน Hexagone กับ CEA ไม่ได้ทำงานร่วมกันสองปีครั้งตอนที่มี arts-sciences biennale นี้ แต่ร่วมงานกันมาตลอดตั้งแต่ปี 2550 ในโครงการ L’Atelier Arts Sciences ที่สนับสนุนให้ศิลปินกว่า 70 คนมาพำนักและทำงานวิจัยในกว่า 50 โครงการร่วมกับนักวิทยาศาสตร์กว่า 250 คนจากทั่วยุโรป นอกจากนั้น Experimenta ยังได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาลเมืองเกรอโนบล์ รัฐบาลของแคว้น กระทรวงวัฒนธรรมและการสื่อสาร รวมทั้งโครงการ Creative Europe ของรัฐบาลสหภาพยุโรป
le salon เป็นนิทรรศการที่รวบรวมผลการทดลองและการค้นคว้าวิจัยจากการทำงานร่วมกันของนักวิทยาศาสตร์หลากสาขาและศิลปินหลายความถนัด ทั้งที่มาจาก Atelier และที่เสนอเข้ามาผ่าน open call จัดแสดงในรูปแบบต่างๆ เช่น ศิลปะจัดวาง เกม เวิร์คช็อป การแสดงสั้นๆ และการให้ผู้ชมได้ทดลองประสบการณ์ VR และ AR ตัวอย่างใกล้ตัวและแสบจมูกที่สุดตั้งแต่ก้าวเข้าสู่ le salon ก็คือ “Carbon Black” นิทรรศการภาพถ่ายขาว-ดำ ที่ศิลปินฝรั่งเศสเดินทางข้ามช่องแคบไปถ่ายภาพมลภาวะทางอากาศที่มี PM 2.5 มาที่สหราชอาณาจักร แล้วนำฝุ่นควันที่ติดมาที่หน้ากากไปให้นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาเลียนสังเคราะห์เป็นหมึกพิมพ์ภาพถ่ายเหล่านั้นออกมา น่าคิดเล่นๆ ว่าถ้าโครงการนี้ได้มากรุงเทพฯ หมึกคงพอพิมพ์ได้หลายร้อยภาพ อาจจัดเป็นนิทรรศการใหญ่ เต็มชั้น 9 หอศิลป์กรุงเทพฯ เลยก็ได้
ในช่วงเวลาเดียวกัน le forum ที่หอประชุมในอาคารข้างๆ ก็มีการเสวนาในหัวข้อต่างๆ ตั้งแต่เช้ายันค่ำ เช่น “Artistic Imaginations and Artificial Intelligence” “It’s Not Me, It’s the AI” และ “Challenges and Practices for Art and Science Projects at School” เป็นต้น ซึ่งในแต่ละหัวข้อวิทยากรก็เป็นผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขา ไม่ได้ใช้ศัพท์เทคนิคที่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ และยังมีเวลาให้ผู้เข้าฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ที่นั่งใกล้ๆ แล้วสรุปเป็นข้อสังเกตหรือคำถามส่งขึ้นเวทีให้วิทยากรอภิปรายต่อด้วย
ในช่วงค่ำๆ les spectacles นำเสนอการแสดงบนเวทีหลายรูปแบบ เช่น ละครพูด การแสดง ดนตรี กายกรรม เป็นต้น ทั้งหมดมีการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง กลุ่มเป้าหมายก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ใหญ่และนักศึกษามหาวิทยาลัยเท่านั้น อย่างการแสดง “Babylab Languages—Variations” ที่คุณพ่อคุณแม่อุ้มลูกตัวน้อยๆ ไปฟังดนตรีที่พิสูจน์ให้เห็นว่าเสียงและดนตรีมีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้ภาษาของเด็กๆ ตามงานวิจัยของนักร้องชาวฝรั่งเศส น่าสังเกตว่าศิลปินและนักวิทยาศาสตร์หลายๆ คนได้นำเสนอผลงานทั้งในส่วนที่เป็น le salon le forum และ les spectacles นั่นคือได้อธิบายรายละเอียดงานอย่างเต็มที่และได้แสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมผ่านสื่อต่างๆ ตามที่เหมาะกับเนื้อหาของงานนั่นเอง
กลับมาที่สนามบินชาร์ล เดอ โกล ใส่หน้ากากอนามัย ซื้อช็อคโกแลตสอดไส้หรือ pralines ฝากคุณแม่กับแม่คุณคนละกล่อง อ่านฝากล่องได้ความว่าร้านนี้เขาเป็นร้านขายยามาก่อน ด้วยความที่อยากให้เด็กๆ มีความสุขในการกินยาก็เลยทดลองนำช็อคโกแลตมาหุ้มยา รุ่นลูกพัฒนาต่อนำของกินได้สารพัดมาแทนยาจนประสบความสำเร็จเลิกขายยามาเป็นร้อยปีแล้ว เรื่องนี้ทำให้นึกในทางกลับกันไปถึงคำพูดของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ที่ว่า “นิยามของความบ้า ก็คือ การทำอะไรซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่หวังว่าจะได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างไป” ด้วยเหตุนี้ art4d และพันธมิตรจากหลายสาขาและภาคส่วนจะเปิดตัวโครงการใหม่ TranZ สนับสนุนการทำงานข้ามสาขาศิลปะ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่สาขาเดียวทำไม่ได้