BY USING TEXTURAL SENSE INTO SPACE, BERLIN-BASED SO & SO STUDIO INCORPORATED A NEW APPROACH OF UNIVERSAL DESIGN IN THEIR LATEST PROJECT ‘CASA MAC’, THE HOUSE FOR A BLIND WOMAN THAT ALLOWS FOR HER TO LIVE WITH EASE
TEXT: TUNYAPORN HONGTONG
PHOTO: STEFANO CALGARO
(For English, press here)
Casa Mac ถูกออกแบบขึ้นบนโจทย์สำคัญสองข้อ ข้อแรก-มันจะเป็นบ้านหลังใหม่ของสุภาพสตรีผู้พิการทางสายตาคนหนึ่งในเมือง Thiene ประเทศอิตาลี และสอง-ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา สุภาพสตรีคนนี้ไม่เคยย้ายไปอาศัยอยู่ที่ไหนเลย นอกจากบ้านหลังเก่าที่เธอสามารถใช้ชีวิตทำกิจกรรมต่างๆ และเดินไปมาได้อย่างปลอดภัยจากการจดจำและความเคยชิน ดังนั้นเมื่อครึ่งศตวรรษผ่านไปและเธอจะต้องมาเริ่มต้นใช้ชีวิตในบ้านหลังใหม่ บ้านหลังที่ว่านี้จึงจำเป็นต้องเป็นงานออกแบบที่เอื้อให้เธอเข้าใจการใช้งานได้โดยง่าย จนสามารถปรับตัวเข้ากับพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว
So & So Studio สตูดิโอออกแบบจากเบอร์ลินที่เข้ามารับผิดชอบโปรเจ็คต์นี้ เริ่มต้นตีโจทย์ด้วยการออกแบบพื้นที่ให้เรียบง่ายที่สุด ทางเข้าบ้านสามทางจากโรงรถ ประตูหน้าบ้าน และชานบ้านด้านหลัง นำทางเข้ามายังทางเดินหลักภายในบ้านและเชื่อมต่อไปยังพื้นที่หลักสองส่วน นั่นคือ ห้องนอนและห้องครัว รวมทั้งต่อเนื่องไปยังพื้นที่อื่นๆ คือ ห้องนอนแขก ห้องน้ำ และห้องนั่งเล่น พวกเขายังให้ความสำคัญกับเรื่องรายละเอียดหลายอย่างที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเจ้าของบ้านที่มาพร้อมความต้องการพิเศษ เช่น เอาธรณีประตูออกทั้งหมด และพยายามไม่เปลี่ยนแปลงวัสดุที่ใช้ภายในบ้านหากไม่จำเป็น เพื่อให้พื้นที่เกิดความต่อเนื่องลื่นไหลไปทั่วทั้งบ้าน
ผิวสัมผัสของวัสดุที่สถาปนิกเลือกใช้เป็นอีกรายละเอียดสำคัญที่ช่วยให้บ้านหลังนี้กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเจ้าของบ้าน พวกเขานำเอากระเบื้องที่มีผิวสัมผัสมาเรียงเป็นรูปทรงต่างๆ บนพื้น เพื่อสร้างภาษาที่ช่วยนำทางให้แก่เจ้าของบ้าน เช่น รูปทรงขีดแนวนอนหมายถึง “หยุด” รูปทรงขีดแนวตั้งหมายถึง “ไปต่อ” และรูปทรงตัว I และ ตัว T (ไม่ติดกัน) หมายถึงพื้นที่การใช้งานที่หลากหลาย เรียกว่าเป็นการออกแบบ wayfinding ที่เป็น glyphic alphabet เพื่อการใช้งานสำหรับผู้พิการทางสายตาโดยเฉพาะ
อีกหนึ่งรายละเอียดที่น่าสนใจในโปรเจ็คต์การออกแบบ Casa Mac น่าจะอยู่ที่ระหว่างกระบวนการทำงานออกแบบของ So & So Studio เพราะเมื่อเจ้าของบ้านมาพร้อมความต้องการพิเศษเช่นนี้ พวกเขาจึงจำเป็นต้องทำความรู้จักการใช้ชีวิตของเธอในทุกช่วงเวลาของแต่ละวัน เพื่อที่จะแปลออกมาเป็นงานออกแบบที่เหมาะสมและใช้ประโยชน์ได้อย่างมีศักยภาพ แต่แน่นอนว่าการสื่อสารระหว่างสถาปนิกและเจ้าของบ้านมีอุปสรรคตรงที่ไม่สามารถใช้ภาพที่มองเห็นด้วยตาอธิบายรายละเอียดได้ พวกเขาจึงต้องทำโมเดลขึ้นมา โดยเป็นโมเดลที่ลงรายละเอียดตามดรอว์อิ้ง หรือที่เรียกว่า ‘drawdel’ และให้เจ้าของบ้านใช้นิ้วสัมผัสไปบน drawdel เพื่อเข้าใจรายละเอียดต่างๆ ที่สถาปนิกอธิบาย
นอกจากนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้เจ้าของบ้านคุ้นเคยกับพื้นผิววัสดุต่างๆ ที่จะใช้ภายในบ้าน พวกเขายังให้เธอเรียนรู้พื้นผิวต่างๆ จากการสัมผัสตัวอย่างวัสดุและโมเดล และเมื่อถึงเวลาย้ายเข้าไปในบ้านหลังใหม่ พื้นที่ที่ออกแบบอย่างเรียบง่ายลื่นไหลและทำความรู้จักได้ในเวลาไม่มาก เจ้าของบ้านจึงปรับตัวเข้าหาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่ So & So Studio บอกว่าทำให้โปรเจ็คต์ครั้งนี้ประสบความสำเร็จมากที่สุด