BAAN SOM TUM BANG NA BRANCH, THE RECENT PROJECT BY SUPAR STUDIO, PROVIDES US THE HEARTWARMING HOME-DINING EXPERIENCE IN A BANG NA NEIGHBORHOOD GARDEN
TEXT: JANJITRA HORWONGSAKUL
PHOTO: KETSIREE WONGWAN EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
หลายคนคงรู้มาว่า “บ้านส้มตำ” ไม่ได้มีจุดเด่นที่รสชาติอาหารเพียงอย่างเดียว แต่คำว่า “บ้าน” (ในชื่อบ้านส้มตำ) น้ันยังบ่งบอกถึงไดเร็คชั่นที่ทางร้านยึดถือ นั่นคือการให้ความสำคัญกับการออกแบบสภาพแวดล้อมการกินดื่ม ไม่ว่าจะในแง่ของการตกแต่งภายใน หรืออาณาบริเวณรอบๆ ร้าน ที่ร่มรื่นและให้ประสบการณ์คล้ายกับการกินข้าวในบ้านอย่างไรอย่างนั้น
หลังจากสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ระลอกแรกเริ่มดีขึ้น บ้านส้มตำ ก็ได้ฤกษ์เปิดสาขาที่ 10 ในย่านบางนา ซึ่งสุวภัทร ชูดวง สถาปนิกผู้ก่อตั้ง Supar Studio และครอบครัวในฐานะเจ้าของร้านและผู้ออกแบบ ตั้งใจให้สาขานี้เป็นเหมือน flagship store สะท้อนตัวตนของแบรนด์บ้านส้มตำที่มีมานานกว่า 15 ปี โดยความพิเศษของสาขานี้คือขนาดของร้าน ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 4 ไร่ ประกอบไปด้วยพื้นที่สามส่วนหลักๆ ได้แก่ ร้านบ้านส้มตำ หอมคาเฟ่ (Horme Cafe) และพื้นที่สีเขียวระดับคอมมูนิตี้ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างร้านส้มตำและคาเฟ่ ที่ทำหน้าที่เป็นสวนระดับย่านแห่งใหม่สำหรับชาวบางนาไปพร้อมกัน
จากพื้นที่ว่างที่ไม่มีแม้แต่ต้นไม้สักหนึ่งต้น การวางสถาปัตยกรรมระหว่างบ้านส้มตำกับหอมคาเฟ่ ไปพร้อมๆ กับการออกแบบภูมิทัศน์จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เป้าหมายหลักของสุวภัทรครั้งนี้คือ การทำให้พื้นที่ของฟังก์ชั่นทั้งสามเชื่อมต่อกันอย่างลื่นไหล เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน และเกิดความสัมพันธ์เกื้อหนุนทั้งด้านเส้นสายการออกแบบและการใช้งาน รวมถึงการสร้างมูฟเมนต์ให้คนอยากเดินไปเดินมาระหว่างพื้นที่โดยรอบ
ลักษณะของตัวอาคารที่ถูกเชื่อมต่อในรูปแบบ spiral shape เกิดจากการประกอบคาเฟ่ที่มีเคานท์เตอร์บาร์และผังภายในเป็นวงกลม และการวางโต๊ะของร้านบ้านส้มตำที่มีลักษณะเป็นแถวเป็นแนว (และมีภาพลักษณ์ของแบรนด์เป็นหลังคาจั่วเข้าด้วยกัน) อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ตัวอาคารและสวนด้านหน้านั้นยังถูกออกแบบให้ค่อยๆ ยกระดับจากคาเฟ่ขึ้นไปอย่างช้าๆ ทำให้ตัวอาคารของบ้านส้มตำและสวนมีระดับสูงกว่าคาเฟ่ 1.50 เมตร ซึ่งเป็นระดับที่พอดีกับระดับสายตากับตอนที่นั่งอยู่ภายในคาเฟ่ เมื่อมองออกไปยังตัวอาคารของบ้านส้มตำจะให้ความรู้สึกถึงความอบอุ่น เหมือนถูกโอบล้อมไปด้วยธรรมชาติ
ด้วยความเข้าใจในธุรกิจ และประสบการณ์จากบ้านส้มตำในสาขาที่ผ่านมา บรรยากาศอบอุ่นเฉกเช่นบ้านในสาขาก่อนๆ จึงถูกถ่ายโอนมาไว้ในร้านสาขานี้ด้วย สุวภัทรบอกกับ art4d ว่า หัวใจของการทำอาหารกับการออกแบบสถาปัตยกรรมมีสิ่งหนึ่งที่คล้ายกัน คือการเข้าใจวัตถุดิบหรือวัสดุ และการควบคุมให้ผลลัพธ์แสดงถึงความเป็นตัวตนออกมา สำหรับงานนี้ก็ใช้วัสดุพื้นฐานที่หาได้ง่ายๆ และนำมาใช้แบบอย่างเปิดเผย และใส่ความสนุกสนานลงไปผ่านลักษณะการใช้งานใหม่ๆ ที่แปลกตายิ่งขึ้น “อย่างไม้อัดที่ถูกนำมาใช้กับวงกบหน้าต่างก็โชว์แนวสันไม้ไปเลย” เช่นเดียวกันกับเหล็กที่ถูกนำมาบิดโค้งตามฟอร์มอาคารได้อย่างลื่นไหล หรือหลังคาเมทัลชีทเป็นเหล็กรีดรูปร่างสี่เหลี่ยมคางหมูที่หมุนแนบไปตามอาคาร และยังมีการเลือกใช้ดินที่ให้สัมผัสที่ละเอียดนุ่มแทนปูนก่อผนังในส่วนที่มีความเว้าและโค้ง นอกจากนี้ยังใช้ระบบโครงสร้างเดียวในการออกแบบสถาปัตยกรรมทั้งหมด เพื่อให้ผลลัพธ์ของงานออกแบบดูเรียบง่ายและเชื่อมต่อเส้นสายไปยังสวนได้อย่างไม่ติดขัด
สวนกึ่งสาธารณะนี้ได้ภูมิสถาปนิกอย่าง Shma SoEn มาร่วมออกแบบ โดยพื้นที่ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนหลักๆ คือ สวนด้านหน้าและด้านหลัง สวนด้านหน้าเป็นโซนของต้นไม้มีกลิ่นหอม เช่น ต้นศุภโชค ต้นปีบ ต้นจำปี ต้นแก้วที่ออกดอกสีขาวทั้งปี ส่วนสวนด้านหลังเป็นโซนของไม้ดอกที่มีสีสันสวยงาม และมีสนามหญ้าโล่งเพื่อรองรับการจัดกิจกรรมหรือเปิดให้เช่าพื้นที่ในอนาคต เช่น งานแต่งงาน และงานอีเวนต์ต่างๆ
“การทำอาหารไม่จำเป็นต้องอธิบายเยอะแค่ผลลัพธ์อร่อยก็คือจบ เช่นเดียวกับงานสถาปัตยกรรมที่ดูเรียบง่าย ร่มรื่น ไม่ต้องประดับอะไรเยอะ แต่มันก็สื่อสารออกมาได้ดีตรงกับสิ่งที่เราต้องการ อย่างน้อยโปรเจ็คต์นี้ก็ทำให้คนบางนามีพื้นที่หายใจเพิ่มขึ้น มีจุดพักและสามารถใช้เวลาร่วมกันได้แตกต่างจากที่มีอยู่ เกิดระบบนิเวศของพื้นที่ที่เกื้อหนุนและสนับสนุนซึ่งกันและกันไปไม่สิ้นสุด” สุวภัทรทิ้งท้ายกับ art4d