LANDSCAPE COLLABORATION

A GROUP OF EXPERIENCED LANDSCAPE ARCHITECTS WHO ESTABLISHED THEIR OWN STUDIO IN ORDER TO SET UP A COLLABORATIVE DESIGN PRACTICE

TEXT: JAKSIN NOYRAIPHOOM
PORTRAIT: KETSIREE WONGWAN
PHOTO: RUNGKIT CHAROENWAT EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

ในยุคนี้ทัศนคติและความเข้าใจต่อวิชาชีพภูมิสถาปนิกเริ่มเปลี่ยนไปแล้ว และถือว่าเปลี่ยนไปในทางที่ดีเสียด้วย นั่นคือคนทั่วไปเริ่มเข้าใจกันแล้วว่ามันไม่ใช่แค่งานจัดสวน หากแต่เป็นงานที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมเมืองโดยตรง ความเปลี่ยนแปลงที่ว่ามานี้ ส่งผลให้เกิดผลงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจเป็นจำนวนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หนึ่งในนั้นคือ Landscape Collaboration สตูดิโอออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมที่แม้จะเพิ่งก่อตั้งในปี 2016 แต่ก็มีผลงานภูมิสถาปัตยกรรมออกมาสู่สายตาสาธารณะชนจำนวนไม่น้อยทีเดียว

ผู้ก่อตั้ง Landscape Collaboration (จากซ้ายไปขวา) สมเกียรติ โชควิจิตรกุล ธัชพล สุนทราจารย์ และบุณฑริกา วรรณพิณ

Landscape Collaboration เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของ 3 ภูมิสภาปนิก ธัชพล สุนทราจารย์ บุณฑริกา วรรณพิณ และสมเกียรติ โชควิจิตรกุล สิ่งที่พวกเขายึดเป็นหลักการทำงานคือการให้ความสำคัญกับการทำงานออกแบบร่วมกันเป็นทีม ซึ่งเป็นที่มาของการใช้คำว่า collaboration (การร่วมมือ) เป็นส่วนหนึ่งในชื่อบริษัท “เราเป็นองค์กรที่ทำงานออกแบบ ดังนั้นหัวใจของมันควรจะอยู่ที่กระบวนการทำงาน ซึ่งเราเลือกใช้คำว่า collaboration เพราะมันตอบในสิ่งที่พวกเราเชื่อ คือเป็นคีย์สำคัญ ที่ทำให้ได้งานที่น่าสนใจออกมามากกว่าการยึดกับเฉพาะตัวบุคคล มีคนๆ เดียวมาชี้ขาด เพราะเราเชื่อว่ามันเป็นกระบวนการที่เราใช้ในการทำงานของเรา เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างกันออกไป” ธัชพลบอกกับ art4d

งานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมให้แก่สำนักงานใหญ่ SCG

ในการแบ่งหน้าที่กันทำงานนั้น ทั้งสามคนทำหน้าที่เดียวกันคือตำแหน่ง principals คือเรียกได้ว่าช่วยกันดูภาพรวมทั้งหมดของบริษัทไปพร้อมๆ กัน “คำว่า collaboration คือการทำงานแบบที่ไม่ได้มีผู้นำคนเดียวแล้วทุกคนตาม หรือไม่ได้แบ่งตามลำดับศักดิ์ แต่มันคือการทำงานร่วมกันของคนที่มีของแล้วก็เอามารวมกัน เอามาผสมกันแล้วเกิดเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เป็นส่วนผสมที่ผสมออกมาได้หลากหลาย” ผลจากการทำงานในรูปแบบที่พวกเขาเรียกว่า collaboration นั้นนำมาสู่งานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมหลายๆ รูปแบบ ทั้งที่เป็นโครงการที่พักอาศัย หมู่บ้าน คอนโดมิเนียม โครงการพาณิชยกรรม โครงการขององค์กรขนาดใหญ่ และโครงการสาธารณะ โดยผลงานแต่ละชิ้นงานล้วนมีความโดดเด่นที่แตกต่างกันไป

ผลงานที่ทำให้ Landscape Collaboration ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างส่วนใหญ่จะเป็นการออกแบบให้กับองค์กรขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมบริเวณอาคารสำนักงานใหญ่ของ SCG ที่โดดเด่นเรื่องการใช้เส้นสายที่พริ้วไหว ผสานกับพื้นที่สีเขียวและความเป็นธรรมชาติได้อย่างลงตัว จากการออกแบบให้กับองค์กรใหญ่ๆ อีกหลายแห่ง พวกเขาได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “ปัจจุบันนี้คนเข้าใจงานภูมิสถาปัตยกรรมมากขึ้น ถ้าเป็นเมื่อก่อนเขาอาจจะไม่สนใจ และอาจมองงานแลนด์สเคปเป็นแค่ต้นไม้ แต่ที่เราเจอมาคือหลายๆ องค์กรเริ่มให้ความสำคัญในส่วนของสภาพแวดล้อมกันแล้ว ซึ่งมันก็หมายความว่าพวกเขาในฐานะเอกชนไม่จำเป็นต้องรอภาครัฐอีกต่อไปแล้ว แต่สามารถมอบพื้นที่สีเขียวให้เมืองด้วยตัวพวกเขาเอง”

ลู่วิ่งที่ลัดเลาะไปตามทุ่งดอกไม้ในโครงการ Mega Park ที่สถาปนิก และเจ้าของโครงการคัดเลือกพันธุ์ไม้หายากมาเป็นพิเศษ

นอกจากการให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีม อีกสิ่งที่บริษัทแห่งนี้พยายามมุ่งเน้นมาตลอดคือ การทำหน้าที่เป็น “ตัวกลาง” ในการผสานพื้นที่ธรรมชาติเข้ากับวิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบันที่ดูเหมือนจะเริ่มห่างไกลธรรมชาติขึ้นเรื่อยๆ โดยทั้งสามคนเห็นตรงกันว่า ภูมิสถาปนิกนั้นควรจะเป็นคนที่เข้าใจเรื่องของธรรมชาติเป็นอย่างดี และเข้าใจกระบวนการของคนที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ รวมถึงต้องทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่ดีในการทำงานร่วมกับหลายๆ ฝ่ายอีกด้วย

“ทุกวันนี้สิ่งแวดล้อมมันเปลี่ยนไป และคนเริ่มรู้สึกได้ว่าสิ่งเหล่านี้มันสำคัญกับชีวิต เรื่องของสิ่งแวดล้อมก็เป็นสิ่งที่บริษัทเราคำนึงถึง และต้องการจะส่งกลับคืนให้กับผู้คนในสังคม ไม่ใช่แต่แค่เรื่องการออกแบบเพื่อสนองความสวยงามหรือการใช้สอยเพียงอย่างเดียว ถ้ามันได้คืนกลับในเรื่องของสิ่งแวดล้อมบ้าง มันก็เป็นจุดยืนหนึ่งของบริษัทเราที่เราพยายามที่จะทำมาโดยตลอด” บุณฑริกากล่าว ผลงานออกแบบที่สะท้อนความตั้งใจในการคืนสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับสังคมได้ดีคงจะเป็นโครงการ Mega Park ซึ่งเป็นการออกแบบพื้นที่สวนสาธารณะ ภายในโครงการพาณิชยกรรมขนาดใหญ่อย่าง เมกา บางนา

ทางเดินวนรอบต้นไม้ และเขาวงกตน้ำพุ ใน Mega Park เป็นองค์ประกอบที่สถาปนิกตั้งใจออกแบบขึ้นมาเพื่อทำให้เกิดกิจกรรมรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นในสวนสาธารณะ และเป็นกิจกรรมทางเลือกแก่ครอบครัวที่มาพักผ่อนหย่อนใจ

ความมุ่งหมายของสวนแห่งนี้คือต้องการที่จะคืนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับผู้คน และเมื่อมันเป็นเรื่องของส่วนรวม กระบวนการออกแบบในครั้งนี้จึงจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วม ทางโครงการได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายมาอย่างชัดเจน คือ เด็กวัย 6-14 ปี ซึ่งทางผู้ออกแบบก็ได้มีการทำเวิร์คช็อปร่วมกับทางเจ้าของโครงการ และเด็กๆ ลูกๆ หลานของพนักงานในโครงการ เพื่อให้ทราบถึงพฤติกรรมและความต้องการของเด็กๆ ที่จะช่วยนำไปสู่ผลลัพธ์ที่สอดคล้องและตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีการทำงานร่วมกับเจ้าของโครงการที่ต้องการให้สวนแห่งนี้มีพันธุ์ไม้ที่แปลกและหายากแตกต่างจากสวนในประเทศไทยทั่วไป ช่วยสร้างบรรยากาศที่มีความน่าสนใจ ช่วยเสริมสร้างความรู้และกระตุ้นจินตนาการให้กับเด็กๆ ได้ดี

กระบวนการออกแบบ Mega Park มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของเด็กๆ เพื่อให้ได้งานออกแบบที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานมากที่สุด | Photo: Somkiet Chokvijitkul

“เราเชื่อว่าภูมิสถาปนิกนั้นมีบทบาทที่พิเศษ เพราะเรามีความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและนำมาสังเคราะห์ร่วมกับเรื่องอื่นๆ ได้ดี คืองานเรามันเป็นงานที่เกี่ยวกับการสร้างสภาพแวดล้อม ถ้าเป็นสถาปนิกจะสร้างสเปซจากสิ่งปลูกสร้าง แต่ภูมิสถาปนิกเราใช้ living material หรือวัสดุที่มีชีวิต ในการสร้างสเปซ ซึ่งพวกนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ” ธัชพลกล่าว ซึ่งก็สอดคล้องกับมุมมองของบุณฑริกา ที่มองว่า “สิ่งหนึ่งที่งานแลนด์สเคปมันน่าสนใจคือเรื่องของเวลา อย่างสถาปัตยกรรมเมื่อเวลาผ่านไปมันก็จะต้องโทรมลงๆ แต่กับต้นไม้ยิ่งเวลาผ่านไปมันจะยิ่งสวยขึ้น” และน่าจะอธิบายภาพรวมแนวคิดและมุมมองในการออกแบบของ Landscape Collaboration ได้เป็นอย่างดี

landscapecollaboration.com
fb.com/landscapecollaboration

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *